xs
xsm
sm
md
lg

ดารากับความหน่อมแน้มเรื่องการเมือง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิ๊ก เนาวรัตน์
“นี่ก็เป็นเรื่องตลกอีกเรื่องหนึ่ง ที่มองว่าเพื่อชีวิตเท่านั้น พอเหตุการณ์ปกติก็มาด่าพวกเพื่อชีวิตอีกว่าเพื่อชีวิตใคร จริงๆ มันใครก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะพวกเพื่อชีวิต เบิร์ด ธงไชย จะเดินมาหา...มาให้กำลังใจก็ทำได้

และยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความเห็นในฐานะประชาชนนะครับ แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างเสรี ไม่จำเพาะพวกชีวิตหรอก เบิร์ดก็มาได้ ใครก็มาได้ทั้งนั้น อยู่ที่จะมารึเปล่า”


ส่วนหนึ่งของคำตอบจากนักร้อง - นักดนตรี “ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” เมื่อครั้งมาเล่นดนตรีให้กำลังใจกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย ครั้งรวมตัวกันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ต่อคำถามที่ว่าทำไมพอมีการเรื่องความขัดแย้งทางด้านการเมืองทีไรจะต้องเป็นศิลปินเพลงที่ถูกนิยามว่าเป็น “เพื่อชีวิต” เท่านั้น ที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็น?

เป็นที่รับรู้กันดีโดยทั่วไปว่าในต่างประเทศนั้น การมีส่วนร่วมของบรรดาคนดัง ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง ในการใช้สิทธิใช้เสียงของตนในฐานะของ “ประชาชน” คนหนึ่งต่อเหล่านักการเมืองทั้งหลายนั้นจัดได้ว่าเป็นไปในวงกว้างและค่อนข้างจะเปิดเผยต่อสาธารณะว่าใครรักใคร ใครสนับสนุนใคร ใครเชียร์ใคร

ทว่าในบ้านเรา เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาหรือกระทั่งในช่วงเวลานี้ที่กระแสของการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้มและมีคนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมทั้งกรรมกร นิสิต นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ สื่อ แต่เรื่องแปลกที่ดูจะไม่แปลกอีกต่อไปแล้ว ก็คือ การแสดงออกของดารา - นักร้องอย่างเปิดเผยโดยไม่แทงกั๊ก ไม่ว่าจะยืนอยู่ฟากไหนก็ตามต่างก็เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นเสียเหลือเกิน

โดยที่พอจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ก็อาทิ ตั้ว ศรัณยู, อ๊อฟ พงษ์พัฒน์, ปู พงษ์สิทธิ์, คาราวาน, หมู พงษ์เทพ, ฮิวโก้ จุลจักร, เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล่, จิ๊ก เนาวรัตน์, ดา ดารุณี, เป้า สายัณห์

“หลักๆ เลยผมว่าก็คงจะเป็นเรื่องของความกลัวนั่นแหละ...” แหล่งข่าวที่เป็นนักข่าวบันเทิงคนหนึ่งแสดงทัศนะ

“กลัวในที่นี้ไม่ใช่ว่ากลัวในเรื่องของสวัสดิภาพความปลอดภัยทางด้านร่างกายนะ แต่เป็นความกลัวในเรื่องของปากท้อง กลัวจะไม่มีงาน กลัวไม่มีคนจ้าง เพราะส่วนใหญ่ดารา นักร้องของบ้านเราพวกนี้ล้วนแล้วแต่มีสังกัด มีค่ายอยู่ แล้วค่ายพวกนี้บริษัทพวกนี้ลองคิดกันง่ายๆ นะว่า งานส่วนใหญ่ที่จะรับเข้ามาทำ เงินดีๆ ก็มาจากภาครัฐซึ่งก็เป็นภาคการเมืองโดยตรง”

“บางคนอยากจะพูด อยากแสดงความคิดเห็นแต่ก็กลัวว่าจะสร้างความไม่สบายใจให้กับต้นสังกัดหรือทางค่าย เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการตัดปัญหาเขาหรือเธอก็เลยไม่ยุ่งดีกว่า เพราะใครจะไปรู้ล่ะว่าถึงเวลาเลือกตั้งที ใครจะได้เป็นใหญ่ ใครจะเป็นรัฐบาล ขืนไปด่า ไปวิพากษ์วิจารณ์ก่อน เดี๋ยวก็ได้ตกงานกันพอดี”

“คือ ได้ยินคุณจักรภพพูดถึงเรื่องระบบอุปถัมภ์ ผมจะบอกว่าวงการบันเทิงนี่แหละระบบนี้ของแท้ มันรู้สึกแย่นะ เพราะพอถึงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งจะมีการณรงค์มีอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองทีคนพวกนี้ทั้งนั้นที่ออกมาลอยหน้าลอยตาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นตัวแทนบอกต้องใช้สิทธิ์อย่างนั้น ใช้เสียงอย่างนี้ ทั้งๆ ที่คุณไม่รู้จักเรื่องการเมืองโดยภาพรวมเลยสักนิด”
ตั้ว ศรัณยู
อย่างนี้พอจะบอกได้มั้ยว่าดารา-นักร้องไทยส่วนใหญ่ศักยภาพทางด้านฝีมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด?
“คือ มันน่าแปลกไง อย่างดารานักร้องบ้านเรานะเวลาทำอะไรที่เรียกว่าโกอินเตอร์แบบหวือๆ หวาๆ แล้วโดนตักเตือน ดารานักร้องพวกนี้ก็มักจะมองคนที่วิพากษ์วิจารณ์คนที่เขาห้ามด้วยความปรารถนาดีว่า เชย ล้าสมัย จำกัดสิทธิ แล้วบอกว่าเมืองนอกเมืองนาเขาไปถึงไหนกันแล้ว...อ้าว แล้วทีเรื่องการเมืองคุณทำไมคุณไม่กล้าที่จะเลียนแบบในการแสดงออกทางด้านความคิดเห็นแบบเขาบ้างล่ะ”

“แล้วอีกอย่างเรื่องนี้บางทีมันโน้มน้าวใจคนได้เยอะนะในกรณีที่ว่ามีการแบ่งพวก แบ่งความคิด เพราะหากฝ่ายไหนมีดารานักร้องที่ดูดี มีคุณภาพ มีฝีมือ มีความคิดก็ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า”

ด้านหญิงสาววัย 22 คนหนึ่ง ที่มาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งปักหลักประท้วงอยู่บริเวณถนนราชดำเนินนอกมาตั้งแต่คืนวันที่ 25 พ.ค. มองเรื่องนี้ว่า โดยส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ เพราะรู้สึกว่าดารา-นักร้องโดยส่วนใหญ่ของบ้านเราไม่สนใจเรื่องการเมืองสักเท่าไหร่อยู่แล้ว

“ก็ดีนะ คือ ถ้าไม่รู้เรื่องก็อย่าพูดเลยดีกว่าค่ะ เพราะบางทีเห็นหลายคนพูดแล้วมันเหมือนเป็นแค่การขอให้ได้เป็นข่าวแค่สร้างภาพน่ะ แต่อย่างพี่ตั้ว (ศรัณยู) นี่ หนูว่าเขาค่อนข้างจะติดตามข่าวมาเยอะ ไม่ได้ชมว่าเขามาอยู่ทางฟากเดียวกับหนูนะ แต่หนูว่าพี่เขาเก่งจริง มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วตรงนี้มันเป็นเสน่ห์นะ มันสร้างมูลค่าให้กับพี่เขาเยอะเลย”

“มันทำให้พี่เขากลายเป็นดาราที่ดูรอบรู้ มีความคิด เหมือนพี่ฮิวโก้ คือ ไม่ใช่พวกที่หน่อมแน้ม โชว์หล่อ ทำสวย แต่ไม่มีอะไรในหัวเลยแม้กระทั่งการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล บางคนตอบคำถามก็ไม่รู้เรื่อง ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ผิดอะไรหรอกนะที่จะไม่แสดงออกอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็อย่างที่หลายคนบอกนั่นแหละค่ะว่า เรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องที่มีผลกับคนทุกคนแล้วเราในฐานะของประชาชนคนหนึ่งจะไปปฏิเสธหรือไม่สนใจมันเลยก็คงไม่ได้”

บอก หากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลมาจากใจ ก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร
“ไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย เพราะถ้าคิดว่าบ้านเรามันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทุกคนก็ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและทุกคนก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พูดถึงตรงนี้มันก็จะโยงใยไปถึงเรื่องของความรู้ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาราบ้านเราไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหวเท่าไหร่กับเรื่องตรงนี้ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้มีเวลาดูข่าว”

“หนูว่ายิ่งหากการเมืองที่มันถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเนี่ย ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่าเดิมนิดนึงในการติดตามความเคลื่อนไหวว่าฝ่ายไหนมีแนวคิดอย่างไร แล้วมีวิธีการทำอย่างไร เพราะฉะนั้นคนพวกนี้เวลาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นกลาง รักกันไว้เถิด ซึ่งไม่ดีนะ ถ้าไม่ตอบก็ไม่ตอบสิ ก็บอกไปสิเรื่องนี้ผมโง่ หนูโง่เรื่องนี้ ตอบไม่ได้ค่ะไม่ได้อ่านข่าวเลย”

“เพราะบางทีการที่คุณบอกว่ารักกันเถิด หนูเป็นกลาง เพื่อเอาตัวรอด คุณอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปโดยปริยายอย่างไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างคนดีโดนคนชั่วต่อย คนดีเลยโวยวายจะเอาเรื่อง แล้วคุณไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะไม่ได้ตามข่าว มาถึงคุณก็บอกสมานฉันท์กันเถิดนะคะ ทะเลาะกันทำไมครับ แล้วคนที่เขาโดนต่อยเขารู้สึกอย่างไร”

“ไม่ได้ว่าดาราทุกคนนะคะ อันนี้เป็นตัวอย่างในประเด็นที่พวกดารา นักร้อง ที่ไม่รู้แล้วยังมาทำเป็นมีส่วนร่วมน่ะค่ะ คือดาราที่เขารู้เรื่องเขาก็มีอีกเยอะ แต่ก็อย่างที่ว่าเขาอาจติดในเรื่องของค่าย หรือต้นสังกัด ซึ่งถ้าว่ากันจริงๆ ก็น่าเห็นใจอยู่ค่ะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น