สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในนามสมาชิกวง "ดิ อินโนเซ้นท์" เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น "โอม ชาตรี คงสุวรรณ" ก็ได้ผันตัวเองจากเบื้องหน้าไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย อาทิ เบิร์ด ธงชัย,คริสติน่า,ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดอล,มิสเตอร์ทีม,ตุ้ย ธีรภัทร์,ปาล์มมี่ และศิลปินดังอีกมากมาย
วันนี้เขากลับมาอีกครั้งกับผลงานอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกในชีวิต "Into the light" ลองมาดูกันว่ามุมมองของเขากับวงการเพลงไทยที่เขาสัมผัสมาร่วม 2 ทศวรรษนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด
"ผมว่าวงการเพลงบ้านเราทุกวันนี้แตกต่างจากเดิมครับ คือมันพัฒนาขึ้น แต่บ้านเราจะเป็นประเทศที่ยังตามต่างชาติอยู่ ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น เมื่อก่อนทั้งความพร้อมและเทคโนโลยีก็ไม่ค่อยเอื้อเท่าไหร่ การเล่นดนตรีก็ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวเยอะ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีทั้งคนฟัง คนผลิตหรือสื่อก็ดีขึ้นเยอะมาก ค่อนข้างไล่ตามประเทศอื่นเขาทัน แต่กับเรื่องเบสิคพื้นฐานเราก็ต้องพัฒนากันอยู่"
"ซึ่งมันจะส่งผลในเรื่องการที่เราจะเป็นผู้ตามมากขึ้น ถ้าเราดูเขาแล้วเราอยากทัดเทียมเขา การแข่งขันกับเขาถือเป็นเรื่องดี คือดนตรีมันมีความท้าทาย การแข่งขันกันแบบเชิงบวก อย่างการประกาศผลรางวัลแกรมมี่ แข่งกันว่าใครจะได้เข้าตากรรมการที่สุด แต่การดูเขาเยอะๆ แล้วแข่งขันกับเขาแล้วพัฒนาตนเองอันนี้เป็นเรื่องดี แต่การดูเขาและตามเขาอย่างเดียวอันนี้เป็นเรื่องไม่ดี"
และการที่เป็นผู้ตามวัฒนธรรมของต่างชาตินี่เอง ทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก คือมีแต่การก็อปปี้ทั้งเพลง ลุคส์ของศิลปิน จนไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเสียเลย
"คือถ้าตามอยู่ตลอด เราก็จะตามอยู่เรื่อยๆ การที่จะไม่วิ่งตาม เริ่มต้นเราต้องหยุดวิ่งตามก่อน พอเราหยุดแล้วเราก็มองว่าเราหยุดอยู่เฉยๆ หรือเปล่า ถ้าถามผมการที่เราหยุดตามแล้วอยู่เฉยๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องดีก็ได้ ซึ่งหยุดแล้วก็ไม่ทำอะไร ผมว่าเราต้องหยุดตั้งหลักนิดนึงแล้วก็วิ่งต่อไปในเส้นทางของตนเอง"
"อันนี้คือสิ่งที่ควรจะทำที่สุด คือเราอาจจะต้องลดการตามแฟชั่นของคนอื่นหน่อยแล้วหันกลับมามองนิดนึงว่าบ้านเราก็มีดี นักดนตรีบ้านเราก็มีดีๆ ไม่ใช่มีแต่เกาหลีญี่ปุ่น ก็เอาคนเก่งๆ บ้านเรามาส่งเสริมบ้าง แล้วก็ดันคนเหล่านั้นออกไปข้างนอกบ้าง เอาสิ่งดีๆ บ้านเราไปโชว์ที่เกาหลี ญี่ปุ่นบ้าง ก็ต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน แรกๆ อาจจะยังสะเปะสะปะนิดนึงแต่พอต่อๆ ไปก็จะชินเอง"
"คือต้องมีช่วงที่ตั้งหลักแล้วก็เดินไปข้างหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นงานดนตรีดังนั้นก็ต้องเริ่มที่คนตรี คือบางทีเราจะไปพูดหรือฝากไว้ที่นักธุรกิจอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะเขาไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาสร้างงานดนตรี ฉะนั้นนักธุรกิจเขาก็ทำธุรกิจ นักดนตรีก็ต้องเป็นคนที่ลุกขึ้นยืนแล้วก็ลงมือสร้าง นักดนตรีบางคนอาจจะโชคดีมีทุนทรัพย์เยอะก็ต้องเอามาสร้าง"
"อย่างกลุ่มเบเกอรี่ก็จะเป็นกลุ่มที่มีฐานะดี มีโอกาสสร้างงานดนตรีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการลงทุนอะไรมากเกินไป มันก็เป็นเรื่องดี แต่ที่นี้คือทุกวันนี้ผมก็หวังว่าคนดนตรีจะลุกขึ้นยืนแล้วก็เปิดโอกาสให้คนดนตรีด้วยกัน จะทำให้คนดนตรีจะได้รับการยอมรับจากคนที่เขาจะมีทุนทรัพย์ที่เขาจะส่งเสริม ไม่ใช่คนที่ลงทุนก็จะต่อโยงกับป็อปสตาร์อย่างเดียวมันก็จะไม่เกิดเรื่องใหม่"
"เพราะทุนคือสายป่านแต่ว่าไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง งานศิลปะบางอย่างไม่ได้เริ่มต้นที่ทุน คือทุนส่วนมากจะอยู่ที่มันสมองและเวลา สมมติศิลปินมีความสามารถ มีมันสมอง มีเวลาก็สามารถสร้างงานดีๆ ได้ แต่หลังจากจุดนั้นคือศิลปินไม่ใช่ว่าจะมีทุนทรัพย์กันทุกคน บางคนมีกำลัง มีเวลาแต่ว่าต้องกินอยู่ ต้องอยู่รอด ฉะนั้นคนในวงการที่มีโอกาสที่จะสนับสนุนให้ดูแลศิลปินที่เขามีความสามารถแต่ปล่อยให้เขาลำบาก ก็น่าเสียดายครับ แล้วคนที่เขามีโอกาสที่จะสร้างวงการเขาก็อาจจะท้อถอยและเลิกสร้างไป ซึ่งทุกวันนี้มีเยอะแยะ น่าเสียดายมาก"
ในสายตาของคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าวงการเพลงไทยได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างชัดเจน จากที่เคยเน้นฝีมือทางดนตรี ก็กลับกลายเป็นว่าคนที่จะมาเป็นศิลปินได้ สิ่งแรกคือต้องหน้าตาดี แต่สำหรับเรื่องนี้ในทัศนะคติของโอม ชาตรี เขามองว่า..."ผมมองว่ามันก็เหมือนเมื่อก่อนนะครับ เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณทั้ง 2 อย่างมันเยอะขึ้น คือเมื่อก่อนนักดนตรีดีๆ อาจจะมีไม่เยอะ คนร้องเพลงหล่อๆ ก็อาจจะมีไม่เยอะ แต่ว่ามีทั้ง 2 อย่าง แต่เดี๋ยวนี้เยอะขึ้น เพราะวงการเจริญขึ้น"
"ในยุคก่อนพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นนักร้อง ไม่อยากให้ลูกเป็นศิลปิน เพราะมันไม่เห็นทางไป แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนก็รู้สึกชื่นชมอาชีพนี้ แล้วมันก็มีทางไปได้ คนก็เลยเข้ามาในวงการกันเยอะ เลยทำให้ทั้ง 2 แบบมีเยอะคือนักดนตรีที่เก่งๆ ก็เยอะ และนักดนตรีที่เน้นหน้าตาก็เยอะ ดังนั้นวิธีแก้คนเราต้องมองคนที่เป็นตัวจริง เพราะส่วนมากงานดนตรีที่เขาขายหน้าตาก็จะอยู่ตามหน่วยงานที่เขามีสื่อเยอะๆ"
"เพราะการที่มีสื่อเยอะๆ ก็จะช่วยในการโปรโมทป็อปสตาร์ของเขา แต่ผมว่าทั้งคนฟังและสื่อต่างๆจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่แตกต่างกับคนที่มีคุณภาพ เพราะถ้าเราสนับสนุนคนที่มีฝีมือไม่ได้เน้นหน้าตา วงการของเราก็จะมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้จะต้องฝากด้วย"
กับศิลปินที่เน้นขายหน้าตา โอมมองว่ามันเป็นแค่โอกาส แต่ถ้าใครคิดจะมาเพื่อฉาบฉวย มันก็ไม่ใช่เรื่องดีกับวงการเพลงเท่าใด
"ผมว่าเขาอาจจะได้โอกาส เพราะงานดนตรีมันมีหลายแบบ มันมีงานที่แบบเน้นให้วัยรุ่นฟัง เน้นความสนุกสนาน ไม่ต้องเน้นฟังแล้วต้องซีเรียสอะไรกับอีกแบบที่สายดนตรีเขาจะเน้นว่าจริงจังหน่อย หนักแน่นเข้มข้น ดนตรีมันมีหลายประเภท เราไม่ได้พูดว่าอันไหนผิดอันไหนถูก แต่ว่าถ้าปริมาณคนที่ร้องเพลงแบบฉาบฉวยมีเยอะก็ไม่ใช่เรื่องดี ก็ต้องให้มีพอดีๆ"
"แต่จริงๆ บ้านเราคนที่เป็นแถวหน้าอย่างพี่ป้อม อัสนี คุณเสก โลโซก็ไม่ใช่คนหล่อ คือหลายๆ ครั้งที่ศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ไม่ใช่คนหล่อ แต่พี่เบิร์ดอาจจะหล่อ(หัวเราะ) ซึ่งพี่ป้อมก็ไม่ได้หล่ออย่างพี่เบิร์ด หรือคุณบอย โกสิยพงษ์ก็ไม่ใช่คนหล่อ ตรงนี้เราก็ต้องมองคนที่มีความสามารถสูงๆ เราก็ต้องมองตรงนี้ให้มากขึ้น เราต้องให้โอกาสกับคนที่เขามีความสามารถ"
"บางทีมันอาจเป็นเรื่องของการตลาด ซึ่งผมว่าการตลาดเป็นเรื่องดีนะครับ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ช่วยส่งเสริม ไม่ว่าใครก็ตามก็ต้องการส่งเสริมด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตติส ติสหนักขนาดไหนก็ต้องการกันสักหน่อย แต่การตลาดทุกวันนี้อาจจะค่อนข้างฉาบฉวยเพราะมันไม่ซับซ้อน สามารถทำการตลาดได้ง่ายและยืดได้เยอะ ซึ่งมันอาจจะเกิดความสำเร็จในด้านการตลาดแบบหนึ่ง"
"แต่เมื่อมันเป็นการตลาดในวงการเพลงมันทำให้สิ่งที่ควรได้รับการพัฒนาถ้าไม่ได้ถูกทำการตลาด มันก็จะเสียโอกาสไป ฉะนั้นผมมองว่าถ้ามีคนที่เขามองเห็นและให้การสนับสนุนด้านการตลาดกับศิลปินที่ไม่แนวร้องวัยรุ่นร้องเต้นอย่างเดียว วงการก็จะดีขึ้น"
ศิลปินทุกคนมีหน้าที่ๆ ต้องชัดเจนในการไปยื่นงานตัวเอง ถ้าเล่นดนตรีแล้วไม่รู้ว่าคนฟังนั้นจะฟังหรือเปล่า อันนี้ก็เหมือนกับเล่นดนตรีไปกับความว่างเปล่า..."นั่นคือสิ่งที่ศิลปินต้องรู้กลุ่มเป้าหมายก่อน อย่างผมเอง เราเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นนักกีต้าร์ เป็นนักดนตรี ผมจะไปกะเกณฑ์ให้น้องๆ วัยรุ่นมากรี๊ดกร๊าด มันก็ไม่แฟร์ ดังนั้นถ้าเราอยากให้เขาฟังงานเรา เราก็ต้องสร้างงานที่เข้าใจได้"
"ศิลปินทุกคนต้องมุ่งเข้าหากลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ขยายฐานและยื่นงานตัวเองให้กลุ่มเป้าหมาย ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างผมเอง ผมมองว่าคนที่ฟังงานดนตรีของผมก็น่าจะเป็นคนที่เขารู้จักเราเป็นพื้นฐาน และถ้าเราไปเล่นงานเพลงที่เขาไม่รู้จักเราเลย เขาก็อาจจะงงว่าเราเป็นใคร ทำอะไร เราก็ต้องรู้ก่อนว่าคนที่เขาฟังงานเราน่าจะเป็นคนประมาณไหน คนที่ชอบฟังดนตรีที่เน้นสีสันดนตรีหรือเน้นเนื้อหาที่แตกต่างน่าจะชอบฟังงานเรา"
แต่ถ้ามองลงไปให้ลึกในรายละเอียดของเพลง จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน "จิตวิญญาณ" ของความเป็นเพลงมันหายไปเพราะการที่มีคนฉาบฉวยเข้ามาเกาะกินอยู่ในวงการเพลงเป็นจำนวนไม่น้อย..."คือผมค่อนข้างเป็นคนเดินสายกลาง ชอบมองอะไรกลางๆ คืออันนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้เพราะว่าคนฟังเขาก็ฟังงานจากที่เขาได้ยิน แต่อาจเป็นเพราะว่าทั้งสื่อวิทยุ ทีวีอาจเปิดงานที่ไม่ได้เน้นทางเนื้อหาสาระมาก เน้นแต่ความบันเทิงอย่างเดียว"
"ฉะนั้นผู้ฟังอาจจะคิดว่ามันไม่ใช่งานที่ฟังแล้วเข้าถึงความรู้สึกมันจะเป็นแต่เรื่องรักอกหัก รักจีบกัน ซึ่งเรื่องรักพวกนี้มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในชีวิตคนเรา ฟังเพลงพวกนี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องรักเป็นเรื่องดี แต่การฟังอยู่ตลอดเวลาก็เป็นการหลอกตัวเองอยู่เหมือนกัน"
"สิ่งที่เราเห็นในวิทยุ ทีวีมันเป็นอย่างนั้นอยู่ คนฟังเขาอาจจะรู้สึกเบื่อที่ฟังแต่สิ่งซ้ำๆ กัน อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องจริง เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อันนี้เราก็ต้องแก้ด้วยการให้มีตัวเลือกมากขึ้น ถ้าเราใช้วิทยุและทีวีนำเสนอผลงานที่มันแตกต่างออกไป คนฟังก็จะรู้สึกต่างออกไป รู้สึกว่ามันมีการพูดคุยเรื่องอื่นบ้าง มีดนตรีแบบอื่นที่เล่นให้ดูในทีวีบ้าง"
เชื่อว่าด้วยความที่ยุคนี้เป็นยุคแห่ง "ทุนนิยม" จึงไม่เกิดการพัฒนาทางดนตรีสักเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครกล้าที่จะเสี่ยงมาลงทุน ทำให้วงการเพลงบ้านเราไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร
"คือทุกวันนี้วงการเพลงอาจจะเพิ่งเจอยุคที่มีทุนทรัพย์กันเยอะ อย่างค่ายใหญ่ๆ เขาก็จะมีทุนเยอะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เสียหมด พอมีทุนเยอะก็จะเกิดการชะลอตัวทางด้านการสร้าง เพราะว่าการสร้างงานเพลงทางด้านดนตรีในการที่ต้องกังวลเรื่องขาดทุน กำไรตลอดเวลามันทำให้ทุกอย่างไม่มีความกล้าเสี่ยง"
"ทุกคนก็จะทำสิ่งที่เซฟอย่างเดียว ออกเพลงก็ออกทีละเพลงไม่กล้าออกทีละชุด คนฟังก็งงเพราะว่าเคยฟังทีละ 10 เพลงแล้วมาฟังทีละเพลงก็ไม่รู้ว่าจะกรี๊ดใครดี ผมว่าช่วงนี้มันเป็นช่วงชะลอตัว น่าจะสักระยะหนึ่งถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยทุกอย่างที่มันทำอยู่ในยุคทุนนิยม กลัวขาดทุนกันหมดก็ไม่กล้าเสี่ยง"
จากวงการเพลงโดยรวมมาถึงงานส่วนตัวที่เขาทำร่วมกับทรูมิวสิค โดยเจ้าตัวบอกว่าเป็นการทำงานที่มีอิสระมากๆ
"อัลบั้มชุดนี้ผมทำงานภายใต้บริษัทเพลงชื่อมิสเตอร์มิวสิค (Mister Music) ซึ่งเป็นของผมเอง มันเป็นมิวสิคพับลิชชื่งเป็นมิวสิคโปรดักชั่น คือเราจะดูแลด้านดนตรีทุกอย่างที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การทำทีมกับเอเอฟรุ่น4 - 5 ก็จะทำกับมิสเตอร์มิวสิค และงานในอัลบั้ม Into The Light ก็จะเป็นของมิสเตอร์มิวสิคร่วมงานกับทางทรูมิวสิค พูดง่ายๆ คือ มิสเตอร์มิวสิค ก็คือมิสเตอร์ชาตรีนี่แหล่ะ ก็คือเป็นตัวแทนผม"
การได้มาทำงานกับทรูในครั้งนี้มีเหตุผลง่ายนิดเดียวเลยครับ คือทรูเขาบอกว่าอยากให้ผมเป็นตัวเองที่สุด เขาจะไม่ยุ่งกับงานดนตรีของเราเลย เขาให้เกียรติผม คือเขาเชื่อว่าเราสร้างงานที่ดีได้อยู่แล้ว ให้เราทำเต็มที่เลย ก็ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากๆ และผมก็ไม่ต้องยุ่งเรื่องการตลาดเลย ผมไม่ต้องไปสนใจเลยว่างานชุดนี้ขายได้กี่แผ่น เขาก็สนับสนุนในส่วนนี้ เราก็แฮปปี้ แล้วงานเพลงก็อยู่ที่เราเลย จะโปรโมทเพลงไหน จะเล่นคอนเสิร์ตยังไง เขาให้อิสระเต็มที่ คือจริงๆแล้วเราหาได้ยากมาก"
แต่ด้วยความที่ทรูเป็นองค์กรที่ไม่ได้เป็นค่ายใหญ่มากนัก ทำให้หลายคนมองว่าอาจเป็นการจำกัดกลุ่มคนฟังเฉพาะกลุ่มเกินไปหรือไม่ แต่งานนี้โอมกลับมองว่าพอใจในจุดเริ่มต้นและสามารถทำงานได้อย่างอิสระอย่างที่ต้องการ
"จริงๆ แล้วทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่ได้มาทุกด้าน ผมเลือกทำโปรเจ็กต์กับทรูในชุดแรกเพราะว่าอย่างน้อยมันมีความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมาย ถ้าผมไปคิดว่าทุกคนต้องได้ฟังงานผมทั้งหมดในเวลาอันสั้น เราก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขเดิม อาจจะต้องไปอยู่ค่ายใหญ่ๆทุกค่ายเลย ซึ่งอิสระในการทำงานของเราเองก็น้อยลง"
"เหตุผลที่เลือกทำงานกับทางทรูเพราะคิดว่าอิสระเต็มร้อยและกลุ่มเป้าหมายของเขาก็มีเพียงพอที่จะยื่นงานชุดหนึ่งได้ ผมมองว่ามันเป็นจุดเริ่ม อย่างเวลาที่เราทำงานกับค่ายเพลงใหญ่ๆ ทุกอย่างมันจะมีเส้นตาย มีการกำหนดเวลา อย่างเช่นพอ 3 - 4 เดือนก็จะไม่มีใครมาโปรโมตแล้ว ซึ่งสำหรับศิลปินแล้วไม่ใช่เรื่องดีเลย ศิลปินเขาน่าจะได้รับการดูแลงานของพวกเขาให้นานที่สุด"
"อย่างฝรั่งจะเห็นว่างานชุดหนึ่งเขาโปรโมทกันเป็นปี คงไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ทุนทรัพย์อย่างเดียว ผมก็เลยมองว่างานชุดนี้น่าจะให้คนได้ฟังไปนานๆ ผมก็เลยมองว่าการร่วมมือกับทรูเป็นช่วงสั้นๆ ก่อน แล้วทำให้ตัวงานค่อยๆ เผยแพร่ ผมก็จะมีโอกาสที่จะโปรโมทงานของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ก็เลยเป็นเรื่องที่ผมว่าโชคดีเหมือนกัน แทนที่เราจะโปรโมททีเดียว คือเริ่มแล้วค่อยขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ"
"แล้วการทำงานกับทรูมีความเป็นอิสระ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เราจะเดินได้ยาว ถ้าเราเริ่มต้นในวงกว้างจะไม่ค่อยอิสระและอายุก็สั้น อย่าง Into The Light ทุกคนจะเห็นว่างานนี้เล่นกันเป็นปี ปีกว่าอาจจะมีคอนเสิร์ตอีกทีก็ได้ ซึ่งมันเป็นอิสระอย่างมากในการที่จะเดิน"