ดิฉันฝันถึงการเดินทางไกลบ่อยเท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย
เหตุผลของดิฉันคงไม่แตกต่างจากคนอื่น ก็แค่อยากเที่ยว อยากผจญภัย อยากพบปะผู้คนใหม่ๆ อยากเห็นโลกในมุมที่ต่างออกไป อยากพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยสักกระผีก เพื่อพิสูจน์ว่า สัญชาตญาณเอาตัวรอดยังคงใช้งานได้ดีหรือไม่ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ระยะหลังดิฉันสังเกตพบว่า มีสาเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแรงผลักดันให้อยากเดินทางที่แรงพอกัน นั่นคือ ความรู้สึกไม่พอใจในภาวะปัจจุบันของตนเอง เบื่องาน เบื่อบ้าน เบื่อคน ขอไปไกลๆ ไปให้พ้นๆ สักระยะ แล้วค่อยว่ากัน – อะไรอย่างนั้น
Kamome Diner (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Seagull Restaurant) เล่าเรื่องราวของผู้หญิงญี่ปุ่น 3 คนที่ระเห็จตัวเองไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียวด้วยเหตุผลประการหลัง
ซาจิ โยกย้ายจากบ้านเกิดไปเปิดร้านอาหารที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยให้เหตุผลว่า “เพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีอะไรให้ฉันทำอีกต่อไป”
มิโดริ สาวผมม้าร่างโย่งโก๊ะ เลือกเฮลซิงกิเป็นจุดหมายของการเดินทาง ภายหลังหลับตาเอานิ้วจิ้มบนแผนที่โลก แล้วนิ้วบังเอิญจิ้มถูกพื้นที่แผ่นดินฟินแลนด์
มาซาโกะ สาวใหญ่วัยกลางคน รับหน้าที่พยาบาลจำเป็นดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักมาทั้งชีวิต วันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ตายจากไป เธอพบว่าชีวิตที่ไร้ภาระให้แบกช่างว่างโหวง จึงตัดสินใจเดินทางสู่ฟินแลนด์ เพราะภาพของประเทศนี้ที่เคยเห็นในทีวี ทำให้เธอเกิดความเชื่อมั่นลึกล้ำว่า ผู้คนที่นี่ น่าจะมีความสุขที่สุดในโลก
หนังเล่าเรื่องของทั้งสามซึ่งไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน ทว่ามาพบปะเจอะเจอกันที่เฮลซิงกิ และในเวลาต่อมาก็ผูกพันข้องเกี่ยวกัน โดยมี ‘ซีกัล เรสเตอรองต์’ ร้านอาหารของซาจิ เป็นศูนย์กลางและแหล่งกำเนิดเรื่องราวทั้งหมด
Kamome Diner เป็นผลงานของ นาโอโกะ โอกิกามิ ผู้กำกับหญิงวัย 36 ปี (เกิดเมื่อปี 1972) ซึ่งก่อนหน้านี้โด่งดังหอมปากหอมคอในหมู่ผู้นิยมหนังฟอร์มเล็ก จากผลงานกำกับเรื่องแรกชื่อ Yoshino’s Barber Shop (หนังพล็อตน่ารัก เล่าเรื่องของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งเด็กผู้ชายล้วนตัดผมทรง ‘กะลาครอบ’ เหมือนกันหมด จนวันหนึ่ง มีเด็กชายคนหนึ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ หมอนี่มาจากเมืองใหญ่ จึงแต่งตัวทันสมัยเปี๊ยบ เหนืออื่นใดคือ ทรงผมของเขาเท่สุดๆ เด็กชายทั้งหมู่บ้านเห็นแล้วจึงเกิดอาการหวั่นไหวกับกะลาครอบบนหัวตัวเองไปทั้งบาง)
หนังดัดแปลงจากนิยายของ โยโกะ มุเร ออกฉายครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2006 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากสถาบันภาพยนตร์ญี่ปุ่น 1 สาขา คือ มาซาโกะ โมตาอิ ผู้รับบทมาซาโกะ (คุณป้าร้านขายบุหรี่ใน Always – Sunset on Third Street ทั้งสองภาค) ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
จุดเด่นของ Kamome Diner อยู่ที่ความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกอบอุ่น ตัวละครน่ารักน่าชัง มีอารมณ์ขันบางๆ พอให้ผู้ชมได้ยิ้มหัวกับตัวเองเป็นระยะๆ อีกทั้งยังแสดงถึงความพยายามบางอย่างที่จะเลี่ยงสูตรสำเร็จของหนังกลุ่ม ‘คนพลัดถิ่น’ หรือกระทั่งหนัง ‘ล้มได้ ก็ลุกเป็น’ โดยทั่วไป
ประการหลัง ขยายความได้ว่า หนังเลือกที่จะยึดเส้นเรื่องหลัก –คือ การเล่าถึงผู้หญิงทั้งสามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในร้านอาหาร- เป็นสำคัญ แล้วประคองหนังทั้งเรื่องให้เดินอยู่บนเส้นเรื่องนี้ โดยไม่เสียเวลาแวะข้างทางให้กับรายละเอียดจำพวก ตัวละครบื้อใบ้เมื่อไปอยู่แปลกที่แปลกถิ่น หรือมุขตลกที่เล่นกับความต่างทางวัฒนธรรมให้มากมาย (คือ มีอยู่บ้างประปราย แต่ยังเป็นมุขที่อยู่ในเรื่อง ไม่ใช่การสร้างฉากใดฉากหนึ่งขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นการเฉพาะ)
ที่สำคัญ แม้โครงเรื่องของหนังจะว่าด้วย ‘คนซึ่งประสบปัญหาบางประการในชีวิต - พบปะเจอะเจอเหตุการณ์บางอย่าง – เรียนรู้ ทำความเข้าใจ – ตั้งหลัก แล้วลุกขึ้นยืนใหม่’ ทว่าความแตกต่างของ Komame Diner กับหนังที่มีกรอบเนื้อหาเดียวกันทั่วไป ก็คือ การเลือกที่จะไม่อธิบายปมปัญหาของตัวละครให้ชัดเจนจะแจ้ง อีกทั้งยังไม่มีการสร้างเหตุการณ์ใหญ่ๆ เพื่อผลักดันตัวละครเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจในบั้นปลาย
พูดอีกแบบก็คือ ตามปรกติแล้ว หนังที่มีเนื้อหาแบบเดียวกัน มักจะต้องอธิบายว่า ตัวละครประสบเหตุการณ์อะไรมา มีปัญหาอะไรในชีวิต จากนั้นเมื่อเรื่องเดินทางถึงจุดคลี่คลาย ก็จะมีการสร้างเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นมาสักเหตุการณ์ (โดยมากมักจะเกี่ยวโยงกับปัญหาของตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) เพื่อสะท้อนให้ตัวละครตระหนักและเข้าใจปัญหาของตัวเอง
Kamome Diner เลือกที่จะเลี่ยงสูตรสำเร็จเช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างได้รับการบอกเล่าอย่างราบเรียบที่สุด ไม่มีฉากไหนตอนใดบีบคั้น ฟูมฟาย หรือเร้าอารมณ์จนน่ารำคาญ หนังอนุญาตให้ผู้ชมทราบคร่าวๆ เพียงแค่ว่า ตัวละครทั้งสามมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ต้องเดินทางจากบ้านเกิด แต่ไม่มีสักครั้งที่ให้พวกเธอร้องไห้โฮๆ ตัดพ้อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง นอกจากนั้นยังไม่มีคำอธิบายจะแจ้งว่า เงื่อนปมในใจของพวกเธอได้รับการคลี่คลายเช่นไร และอย่างไร
ในความเห็นของดิฉัน แนวทางที่นาโอโกะ โอกิกามิ – ผู้กำกับ เลือกใช้นั้น ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมาก พูดกันตามจริง บ่อยครั้งเราไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ไอ้ที่รู้สึกทุกข์ๆ นั้น เราทุกข์เรื่องอะไร นอกจากนั้น ในชีวิตจริง จะมีสักกี่ครั้งที่เราพบเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘จุดหักเหครั้งสำคัญ’ ที่ปลดเปลื้องความทุกข์ได้อย่างหมดจด
เหนืออื่นใดก็คือ ทั้งหมดทั้งมวลใน Komame Diner ท้ายที่สุดล้วนนำไปสู่สาระสำคัญของหนัง นั่นคือ การบอกผู้ชมว่า ‘ที่ไหนๆ ก็มีความทุกข์’ ทว่าที่สุดแล้ว ‘ไม่มีใครทุกข์ตั้งแต่ต้นจนอวสาน’
ในบทความชื่อ ‘ผ่านพบไม่ผูกพัน’ ของคุณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการเดินทางว่า “...ในหลายๆ ครั้งมันก็เป็นแค่การเปลี่ยนที่ร้องไห้ของผู้เพิ่งทำความรู้สึกดีๆ หล่นหาย” *
มาซาโกะคือตัวละครที่สะท้อนภาพดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุด เธอคือผู้ที่ครั้งหนึ่งเชื่อว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่ทุกผู้คนล้วนมีความสุข แต่เมื่อไปถึงที่นั่นจริง เธอจึงเรียนรู้ว่า สิ่งที่เคยเชื่อนั้น ไม่จริงสักนิด หญิงฟินแลนด์คนหนึ่งทุกข์เพราะถูกสามีทิ้ง ชายฟินแลนด์อีกคนทุกข์เพราะต้องสูญเสียกิจการร้านค้าที่ผูกพัน
“ที่ไหนๆ ก็มีความทุกข์” มาซาโกะรำพึงกับตัวเองหลังพบว่าคนฟินแลนด์ไม่ได้ยิ้มออกตลอดเวลาเหมือนอย่างที่คิด มากกว่านั้น เธอตระหนักว่า การเดินทางสู่ฟินแลนด์ แท้จริงแล้วก็แค่การ ‘เปลี่ยนที่ร้องไห้’ ให้กับตนเองเท่านั้น อะไรก็ตามที่เคยทำให้เธอรู้สึกทุกข์ร้อนเมื่ออยู่บ้าน แม้จะถอยหนีตีจากมันไปไกลถึงครึ่งโลก ก็ยังทำให้เธอทุกข์ร้อนเท่าเดิมไม่เปลี่ยน
อาจจะเป็นข้อเท็จจริงที่ชวนให้ห่อเหี่ยวชอบกล กระนั้นก็ตาม เป้าหมายสำคัญของ Diner Komame ก็หาใช่การช่วงชิงกำลังใจในการต่อสู้ปัญหาไปจากผู้ชม ตรงข้าม มันคือหนังที่ชวนให้ทุกคนเปิดหูเปิดตามองชีวิต ความสุข ความทุกข์ อย่างที่มันเป็นจริงๆ พร้อมกันนั้นยังหยิบยื่น ‘คาถาเด็ด’ ในการรับมือวิกฤตการณ์ต่างๆ ของชีวิตให้ผู้ชมด้วย
คาถาเด็ดที่ว่า ปรากฏอยู่ในคำพูดประโยคหนึ่งของซาจิ เจ้าของร้านซีกัล เรสเตอรองต์ ที่กล่าวไว้กับหลายคนในหลายวาระโอกาส
“เชื่อสิว่า เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง” ซาจิบอกตัวเองในวันที่ร้านอาหารยังคงร้างไร้ลูกค้าแม้จะเปิดทำการมาได้กว่าเดือน หลังจากนั้น เธอยังพูดประโยคเดียวกันกับมิโดริ กับมาซาโกะ กับลูกค้าอมทุกข์ที่ร้าน ฯลฯ
จะเรียกมันว่าการปลอบใจกันไปวันๆ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในความเห็นของดิฉัน คำพูดของซาจิและวิธีคิดของเธอ สำคัญมากในยามที่ชีวิตเผชิญหน้ากับวิกฤติคับขัน
คนเรา เสียอะไรเสียได้ แต่ห้ามเสียกำลังใจและความหวัง...ดิฉันเชื่ออย่างนั้น
คำพูดของซาจิ คือการกล่าวย้ำเตือนสติผู้ชมว่า ไม่ว่าสถานการณ์ตรงหน้าจะย่ำแย่เลวร้ายเพียงใดก็ตาม ห้ามหยุดเชื่อ และห้ามหยุดหวังเป็นอันขาดว่า แล้วสุดท้าย...อะไรๆ จะจบลงด้วยดี
..........
*หมายเหตุ บทความ ‘ผ่านพบไม่ผูกพัน’ พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ‘ผ่านพ้นจึงค้นพบ’ นิตยสาร Travel Guide ต่อมาถูกนำมารวมไว้ในหนังสือรวมบทความ ‘ผ่านพบไม่ผูกพัน’ จัดพิมพ์โดย ‘สำนักพิมพ์สามัญชน’