โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ไม่ว่าเสียงปืนแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเงียบสงบลงไปเนิ่นนานแล้ว พร้อมๆ กับกลิ่นคาวเลือดและความตายที่จางหายไปในคืนวันที่ผ่านเลย แต่นั่นก็ดูเหมือนว่า วันเวลายังคงมิอาจลบเลือนภาพแห่งความโหดร้ายทารุณเหล่านั้นออกไปจากใจของใครหลายๆ คนได้หมดสิ้น
เช่นเดียวกับพฤติการณ์อันเหี้ยมโหดไร้มนุษยธรรมของกองทัพเยอรมนี หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า “นาซี” ที่กระทำต่อชนชาวยิวอย่างต่ำช้า ซึ่งมักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงได้ไม่จบสิ้น ตั้งแต่ในวงสนทนาเล็กๆ ตามร้านกาแฟริมถนน ไปจนถึงห้องประชุมอันหรูหราของนักประวัติศาสตร์การเมือง
เรื่องบางเรื่อง ต่อให้พ้นผ่านไปนานแค่ไหน แต่สิ่งที่มันฝากไว้ นอกจากความสูญเสียทางกาย ก็ยังมี “บาดแผลในใจ” ที่ยากจะหาโอสถขนานใดมาเยียวยารักษา...
และถึงแม้ว่าช่วงหลังๆ มานี้ จะมีคนทำหนังบางคนที่พยายาม “พลิกสายตา” มองหาด้านที่งดงามซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างอันมืดทมึนของกองทัพนาซีอยู่บ้าง (เช่น A Good German) แต่ถ้าดวลกันด้วย “จำนวนชิ้นงาน” จริงๆ หนังที่นำเสนอด้านที่สามานย์ของเยอรมนีย่อมมีมากกว่าอย่างไม่อาจปฏิเสธ
หรือว่าจริงๆ แล้ว นาซีจะต้องรับบทบาท “ผู้ร้าย” เช่นนี้ตลอดกาลและตลอดไป
บางที...พระเจ้าเท่านั้นที่มีคำตอบ ?...
จาก The Pianist มาจนถึง Black Book และจากยุคของ Schindler’s List มาจนถึงเรื่องราวของ The Lives of Others สิ่งที่เราได้เห็นจนเจนตาก็คือ ภาพแห่งความทารุณที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์อย่างไร้ความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะเหตุผลด้านความแตกต่างทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์
มันอาจเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ แต่คนคนหนึ่งก็จับปืนขึ้นมายิงคนอีกคนหนึ่งได้ เพียงเพราะว่าคนคนนั้นมี “บางสิ่งบางอย่าง” ที่แตกต่างไปจากตน...
THE COUNTERFEITERS เป็นหนังอีกเรื่องที่พาตัวเองเข้าไปสำรวจความต่ำช้าของทหารในบงการของฮิตเลอร์ หนังสัญชาติอิตาเลียนเรื่องนี้มีชื่อไปปรากฏบนเวทีประกวดออสการ์ในสาขาหนังต่างประเทศปีล่าสุด ก่อนจะหลุดเข้าเส้นชัยไปแบบ “ม้านอกสายตา”
อย่างไรก็ดี ผมเข้าใจว่า การที่คณะกรรมการออสการ์เลือกให้รางวัลแก่หนังเรื่องนี้คงไม่ใช่เพราะเหตุผลแค่ว่ามันเป็นหนังตีแผ่ผลพวงอันโหดร้ายของสงคราม เหมือน The Lives of Others (หนังที่ได้ออสการ์ในสาขาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว) ที่หากมองเพียงระดับพื้นผิว ก็คงเป็นอะไรไม่ได้มากไปกว่าหนังสงครามธรรมดาๆ แต่ถ้าดูอย่างพินิจพิจารณา จะเห็นว่า สิ่งที่ The Lives of Others พูดกับคนดูอย่างชัดถ้อยชัดคำที่สุดก็คือเรื่องของ “มนุษยธรรมในใจ”
ในทำนองเดียวกันนี้ THE COUNTERFEITERS ก็ไม่ได้หยุดตัวเองไว้แค่การนำเสนอว่าชาวยิวถูกทารุณกรรมมาอย่างไรบ้างในระหว่างช่วงสงครามโลก เพราะสิ่งที่เป็นกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้จริงๆ คือ “ความรู้สึกขัดแย้งในใจ” ของคนคนหนึ่งซึ่งถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านตัวละครหลักที่ชื่อ “ซาโลมอน” ผู้ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง (ในบรรดาตัวเลือกที่มีอยู่เพียง 2 ตัวเลือก) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเลือกทางไหน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดูจะเลวร้ายไม่ต่างกัน
ประเด็นแบบนี้ส่งผลให้ในท้ายที่สุด สิ่งที่ THE COUNTERFEITERS พูดได้เสียงดังมากที่สุด ไม่ได้เกี่ยวกับนาซี ฮิตเลอร์ หรือชาวยิวคนใดคนหนึ่ง แต่เกี่ยวโยงถึงมนุษย์ทุกๆ คนในแง่ที่ว่า ถ้าวันหนึ่ง เสียงของจิตสำนึกและความถูกต้อง ไม่พ้องกับเสียงของความอยู่รอดและชีวิตที่สุขสบาย มนุษย์จะเลือก “ฟัง” เสียงเสียงไหน? (ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่นักการเมืองในบางประเทศเลือกฟังเสียงแห่ง “ความสุขสบายส่วนตัว” มากกว่าเสียงของจิตสำนึกในเรื่องความถูกต้อง)
โดยเนื้อหาเรื่องราว ผลงานการเขียนบทและกำกับโดย “สเตฟาน รูโซวิตซ์กี้” ชิ้นนี้ พาผู้ชมย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 1936 ระหว่างที่ไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคุกรุ่น หนังโฟกัสไปที่แผนปฏิบัติการลับที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ปฏิบัติการเบิร์นฮาร์ด” ก่อตั้งขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสของเยอรมนีซึ่งมีเป้าหมายในการปลอมเงินปอนด์และเงินดอลลาร์เพื่อส่งเข้าไปทำลายระบบเศรษฐกิจของอังกฤษและอเมริกา มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สามารถปลอมเงินปอนด์ของอังกฤษได้เป็นจำนวนกว่า 132 ล้านปอนด์ ส่วนการปลอมเงินดอลลาร์นั้นยังทำไม่สำเร็จ เยอรมนีก็พ่ายแพ้สงครามไปก่อน
ครับ, โดยพล็อตเรื่อง ตัวหนังน่าจะเกี่ยวเนื่องกับรายละเอียดของการปลอมแปลงเงินเป็นหลัก แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะน้ำหนักของเรื่องราวดูจะไปตกอยู่กับตัวละครที่ชื่อ “ซาโลมอน” เกือบทั้งหมด (ไม่แปลกใจเลยที่คนคนนี้จะปรากฏตัวในหนังแทบทุกฉาก)
โดยอาชีพ “ซาโลมอน โซโรวิตช์” คือนักปลอมแปลงระดับมือพระกาฬ ในโลกนี้ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งไหนที่เขาทำปลอมขึ้นมาไม่ได้ ไล่ตั้งแต่ตราสัญลักษณ์ต่างๆ บัตรประจำตัวประชาชน ไปจนถึงพาสปอร์ต เขาปลอมแปลงได้ทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่ง...เงิน...
แต่ความอัจฉริยะที่ว่านี้ก็เป็นต้นเหตุนำเภทภัยมาให้เขาจนได้ ซาโลมอนถูกทหารนาซีจับกุมตัวในเช้าวันหนึ่งขณะกำลังนอนกกสาวนิรนาม เขาถูกนำตัวไปคุมขังในค่ายกักกันนักโทษชาวยิว ก่อนจะถูกโยกย้ายไปอยู่ค่ายแซ็กเซนเฮาเซ่น พร้อมกับรับตำแหน่งเป็นผู้คุมงานในปฏิบัติการเบิร์นฮาร์ด (ซึ่งมีนักโทษชาวยิวอีกจำนวนหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมงาน) และนับจากจุดนี้เป็นต้นไป หนังก็เริ่มเข้าสู่ช่วงสำคัญ...
ก็อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้นๆ นั่นแหละครับว่า ถึงแม้ว่าหน้าหนังของ THE COUNTERFEITERS ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับปฏิบัติการลวงโลกของกองทัพนาซี แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่หนังเรื่องนี้ขับเน้นออกมาเด่นชัดที่สุด กลับเป็นประเด็นของความรู้สึกขัดแย้งในใจของผู้คนซึ่งต้องทำงานรับใช้ศัตรูตัวเอง
เปรียบไปแล้ว ทั้งซาโลมอนและเพื่อนร่วมงานชาวยิวก็ดูไม่แตกต่างอย่างใดกับ “หมาล่าเนื้อ” ที่ถูกเจ้านายขุนเลี้ยงอย่างดีเพื่อภารกิจพิเศษ ดังที่เราจะเห็นได้ว่า ซาโลมอนและผองเพื่อนชาวยิวค่อนข้างมีชีวิตที่สุขสบายในค่ายแห่งนี้ (ที่นอนปูฟูกนุ่มหนา อาหารการกินก็ไม่เลว) แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนยืนอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะว่ากันตามจริง “หมาล่าเนื้อ” เหล่านี้พร้อมที่จะถูกฆ่าทิ้งได้ทุกเมื่อ ถ้าหากปฏิบัติการดังกล่าวประสบผลสำเร็จและยุติลง
แน่นอนครับว่า โฟกัสของเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่ซาโลมอนซึ่งต้องแบกรับความรู้สึกอันหนักอึ้งไว้ถึง 2 อย่างพร้อมๆ กัน ในทางหนึ่งเขาต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่นาซีมอบหมายให้ลุล่วง แต่อีกด้านที่หนักหน่วงยิ่งกว่า คือความรู้สึกผิดที่ต้องมาทำงานช่วยเหลือคนที่ตัวเองอยากจะ “ฆ่า” มากที่สุด!
หนังมีฉากที่นาซีปฏิบัติอย่างเลวๆ ชาวยิวให้เห็นอยู่ประปรายเหมือนหนังนาซีเรื่องอื่นๆ เพียงแต่ฉากทารุณกรรมในหนังเรื่องส่งผลสะท้อนถึง 2 ต่อ นั่นก็คือ นอกจากจะสร้างความรู้สึกแย่ๆ (ที่มีต่อนาซี) ให้เกิดกับคนดูแล้ว การได้เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกกระทำเยี่ยงสัตว์ไร้ค่ายังเป็นเหมือนแรงขับที่เร่งเร้ายั่วยุให้ซาโลมอนหมดสิ้นความอดทนและลุกขึ้นสู้กับพวกนาซี เหมือนกับที่เพื่อนคนหนึ่ง (บูร์เกอร์) ซึ่งคอยส่งเสียงเตือนสติซาโลมอนตลอดเวลาว่าเขากำลังทำงานรับใช้ศัตรู และเรียกร้องรบเร้าให้เขาลุกขึ้นสู้
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นคนซึ่งมีลักษณะของศิลปินอยู่ในตัว (เก็บซ่อนความรู้สึกเก่ง) บวกกับความเข้าใจสถานการณ์อะไรๆ ได้ดี ก็ส่งเสียงบอกซาโลมอนเช่นกันว่า การลุกขึ้นสู้กับศัตรูผู้มีปืนอยู่ในมือ มีแต่จะย่นระยะเวลาแห่งความตายให้เข้ามาถึงเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในบางมุม เราอาจจะเห็นว่า ซาโลมอนช่างเป็นคนที่เฉยชาไร้ความรู้สึกทุกข์ร้อน แต่การอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดขี่และขัดขืนอะไรไม่ได้แบบนั้น การทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนที่ “ไร้หัวใจ” ก็ดูจะช่วยเหลือเขาได้ไม่น้อย แม้ว่าลึกๆ เขาจะรู้สึกเจ็บปวดไม่ต่างไปจากนักโทษคนอื่นๆ และหนังก็เล่าให้เราได้เห็นว่า ซาโลมอนไม่ใช่คนไร้หัวใจ เขารู้สึกปวดร้าวกับการที่ตัวเองและผองเพื่อนชาวยิวถูกกระทำ แต่ก็เก็บงำความคับแค้นนั้นไว้เพียงในใจ...
ครับ, ว่ากันอย่างถึงที่สุด THE COUNTERFEITERS อาจเป็นเพียงเรื่องของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งฉลาดเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่บีบคั้นรอบด้าน แต่เอาเข้าจริงๆ “มโนธรรม” ของมนุษย์คนนั้นก็ไม่ได้ตายด้านเสียทีเดียว และในขณะที่ “โลกภายนอก” กำลังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม “โลกภายใน” ของซาโลมอนก็คุร้อนไม่ต่างจากสนามรบซึ่งมีคู่ประลองคนสำคัญคือ ความปรารถนาจะมีชีวิตรอด (ตามสัญชาตญาณมนุษย์) กับความรู้สึกผิดบาปและเจ็บปวดในการทำงานรับใช้คนเลวๆ
มีฉากช่วงท้ายๆ ฉากหนึ่งซึ่งคิดว่ามันช่วยอธิบาย “สิ่งที่อยู่ในใจ” จริงๆ ของซาโลมอนได้ค่อนข้างดีก็คือตอนที่เขาเอาเงิน (ปลอมๆ) ไปถลุงเล่นในวงไพ่จนหมดตัว นั่นไม่ใช่เพราะว่าเขาใช้เงินไม่เป็น แต่นัยยะของมันจริงๆ อาจต้องการสื่อให้เห็นความปรารถนาส่วนลึกของซาโลมอนที่อยากจะปลดเปลื้องความรู้สึกผิดบาปที่ติดค้างมากับเงินก้อนนั้น
ใช่หรือไม่ว่า ซาโลมอนใช้วงพนันเป็นเหมือน “แท่นพิธีกรรม” อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับชำระล้างความรู้สึกผิดในใจของตัวเอง?
และใช่หรือไม่ว่า เมื่อเงินก้อนนั้นหมดไป ความรู้สึกผิดในใจของเขาก็มลายหายไปด้วย?...
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้ ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ขณะที่ “หมาล่าเนื้อ” อย่างซาโลมอนทำงานรับใช้คนเลวเพราะไร้ทางเลือก (เขาเจ็บปวดและรู้สึกผิดบาป) แต่ในความเป็นจริง มี “หมาล่าเนื้อ” อีกกี่ตัวในโลกนี้ที่ยินดีทำงานรับใช้เจ้านายเลวๆ โดยไม่รู้สึกผิดบาปอะไรเลย
แน่นอนครับว่า พูดแบบนี้ ผมไม่ได้หมายถึงนักการเมืองคนใดคนหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันคือความท้าทายสำหรับมนุษย์ทุกๆ คนบนโลกใบนี้ในแง่ที่ว่า ถ้าหากคุณรู้ว่าใครเลวยังไง แล้วคุณจะจัดการอย่างไรกับคนเลวๆ คนนั้น...ปิดหูปิดตา ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือว่าจะลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน?
สิ่งที่น่าเศร้าใจมากๆ สำหรับโลกของเราใบนี้ก็คือว่า ในหลายๆ กรณี “เรา” หลายๆ คน ไม่ใช่แค่วางเฉยและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เพียงเท่านั้น แต่บ่อยครั้งยังยินดีที่จะทำงานรับใช้ “ปีศาจ” ราวกับเห็นว่าเป็น “พระเจ้า”...
และนี่ก็คือความงดงามที่ THE COUNTERFEITERS พูดกับคนดูได้ชัดเจนที่สุด...ด้วยความเคารพ...