อีดิธ เพียฟ ได้รับการยกย่องให้เป็นนักร้องที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลที่สุดในวงการเพลงป๊อบของประเทศฝรั่งเศส
ตลอด 3 ทศวรรษที่อยู่ในวงการ (ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 30 ถึงต้นทศวรรษที่ 60) มีบทเพลงของเธอที่ได้รับการบันทึกเสียงและออกวางจำหน่ายนับร้อยเพลง เธอออกแสดงสดตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกานับครั้งไม่ถ้วน
หลายคนบอกว่า ความเยี่ยมยอดของอีดิธ อยู่ที่สุ้มเสียงที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของบทเพลงได้อย่างทรงพลัง เวลาที่เธอร้องเพลงสนุก เธอสามารถทำให้ผู้ฟังยิ้มตามไปกับเธอ แต่ในยามที่เธอร้องเพลงเศร้า ความเศร้าที่เธอส่งผ่านบทเพลง ก็ดูเหมือนจะเสียดแทรกทะลุสู่กลางใจผู้ฟังจนเจ็บปวดเศร้าสร้อยตามไปด้วย
ถ้อยคำสรรเสริญพลังเสียงของอีดิธ เพียฟ ที่งดงามที่สุด คือ คำกล่าวที่ว่า เสียงร้องของเธอมี ‘จิตวิญญาณแห่งปารีส’ บ้านเกิดเมืองนอนของเธอ แฝงเร้นซ่อนกายอยู่ภายในนั้นด้วย
ความนิยมที่อีดิธได้รับในบ้านเกิด สะท้อนให้เห็นในวันที่มีพิธีฝังศพของเธอ (ตุลาคม 1963) ว่ากันว่า วันนั้น แฟนๆ ที่นิยมรักใคร่ในตัวเธอและผลงานของเธอ รวมแล้วถึง 1 แสนคน พากันเดินทางออกจากบ้านมาร่วมไว้อาลัยให้แก่เธอเป็นครั้งสุดท้าย และจนทุกวันนี้ แม้อีดิธจะลาโลกไปแล้วถึงกว่า 4 ทศวรรษ ทว่าหลุมศพของเธอที่สุสานแปร์ ลาแชส ในนครปารีส ก็ยังมีผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมชมสักการะอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
เดิมทีเดียว ชื่อ La Vie en Rose ได้รับการจดจำในฐานะบทเพลงที่โด่งดังที่สุดของอีดิธ เพียฟ ทว่า ณ วันนี้ ชื่อเดียวกันกลับเป็นที่รู้จักในฐานะหนังสัญชาติฝรั่งเศสที่บอกเล่าเรื่องราวของอีดิธ เพียฟ ตั้งแต่เกิดจนถึงบั้นปลายสุดท้าย
หนังเป็นผลงานกำกับของ โอลิวิเยร์ ดาฮาน เปิดตัวที่ฝรั่งเศสในวันวาเลนไทน์ปีที่แล้ว และได้รับความนิยมอย่างคับคั่ง หนังครองอันดับ 1 บนตารางอันดับหนังทำเงินถึง 4 สัปดาห์ซ้อน มีสถิติระบุไว้ว่า ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังออกฉาย มีคนฝรั่งเศสที่ยอมควักกระเป๋าซื้อบัตรเข้าชมหนังเรื่องนี้ รวมแล้วร่วมๆ 5 ล้านคน
แน่นอน การที่หนังประสบความสำเร็จถึงเพียงนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อเสียงของอีดิธ เพียฟ เธอคือบุคคลระดับตำนาน คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ –หรือกว่านั้น- จำนวนมากปรารถนาจะเห็นภาพจำลองของเธอบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง ขณะเดียวกัน คนรุ่นหลังที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวของเธอก็มีอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม การที่หนังสร้างปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ ด้วย (หลายคนบอกว่า La Vie en Rose เป็นหนังฝรั่งเศสที่โด่งดังระดับนานาชาติมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา และนั่นไม่ถือว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด) แถมยังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์ ย่อมทำให้อนุมานได้ว่า ตัวหนังเอง ความเป็นหนังของมัน ก็น่าจะ ‘มีดี’ ไม่น้อย อีกทั้งยังน่าจะมีคุณลักษณะบางประการซึ่ง ‘เป็นสากล’ จนทำให้ผู้ชมที่แม้จะไม่เคยรู้จักอีดิธ เพียฟ หรือเพลงของเธอ ก็ยังสามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้โดยไม่ขัดเขิน
ในความเห็นของดิฉัน สิ่งที่โดดเด่นของ La Vie en Rose มีอยู่ 2-3 ประการด้วยกัน
แรกสุด ชีวิตของอีดิธ เพียฟ นั้นน่าสนใจและเต็มไปด้วยสีสัน สรุปให้คุณฟังคร่าวๆ จากที่หนังเล่าไว้ก็คือ เธอเกิดในครอบครัวยากจน (ปี 1915) ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูอย่างทิ้งขว้าง เคยใช้ชีวิตในวัยเด็กกับย่าซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดสถานค้าบริการ เคยป่วยด้วยโรคติดเชื้อจนตาเกือบบอด ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นอย่างสำมะเลเทเมา ดื่มเหล้าหัวราน้ำ คบค้าสมาคมกับนักเลงหัวไม้ หาค่าข้าวและค่าเหล้าด้วยการร้องเพลงเปิดหมวกตามถนน
แม้ในเวลาต่อมา อีดิธ เพียฟจะได้รับการผลักดันจนได้ดิบได้ดีบนเส้นทางสายดนตรีอาชีพ ทว่าชีวิตของเธอก็ยังต้องพบกับจุดพลิกผันอีกหลายครั้ง ทั้งการสูญเสียผู้มีพระคุณที่รักราวกับพ่อ (หนำซ้ำตัวเธอเองยังถูกดึงเข้าไปพัวพันกับความตายของเขา) สูญเสียชายผู้เป็นที่รักมากที่สุด ผ่านการลองผิด-ลองถูกในชีวิตคู่ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงถึง 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ติดเหล้า ติดมอร์ฟีน จนลงท้ายก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับและเสียชีวิตไปในที่สุด
จะว่าไป ชีวิตของอีดิธ เพียฟ ก็แทบไม่ต่างจากเรื่องในแนวทาง ‘ซินเดอเรลลา’ ซึ่งหญิงสาวผู้หนึ่งไต่เต้าจากซอกหลืบมุมอับของชีวิตจนกลายมาเป็นดาวเด่นในวงสังคม เพียงแต่ซินเดอเรลลาในแบบของอีดิธ เพียฟ ไม่ได้มีเพียงด้านชวนฝันสวยหรู ชีวิตสีชมพู เหมือนในเทพนิยายแต่เพียงด้านเดียว ทว่ามันคือซินเดลเรลลาในโลกของความเป็นจริง ที่กว่าจะได้ หรือกว่าจะเป็นอะไรสักอย่าง จำต้องผ่านและพบกับความสูญเสีย ความโศกเศร้า และอุบัติเหตุแห่งชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน
ประการถัดมา La Vie en Rose มีวิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจและผิดแผกแตกต่างจาก ‘หนังชีวประวัติ’ โดยทั่วไป กล่าวคือ วิธีที่โอลิวิเยร์ ดาฮาน เลือกใช้นั้น เหมือนจะเป็นการนำชีวิตของอีดิธ เพียฟ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งตาย มาชำแหละและแยกแยะออกเป็นส่วนๆ แล้วร้อยเรียงเข้าด้วยกันเสียใหม่โดยไม่สนใจลำดับเวลา ทว่ายึดเอา ‘อารมณ์’ ของเหตุการณ์นั้นๆ เป็นสำคัญ
เช่น ช่วงที่ต้องการแสดงให้เห็นด้านที่สดใส หนังก็จะหยิบเหตุการณ์แห่งความสุขสมหวัง 2-3 เหตุการณ์มาบอกเล่าติดต่อกัน เช่นเดียวกัน เมื่อต้องการแสดงด้านขมขื่นหม่นหมอง หนังก็จะเล่าถึงบางช่วงตอนแห่งความพลัดพรากสูญเสียของเธอ
วิธีการดังกล่าว อาจสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ชมในการติดตามเรื่องราวอยู่บ้าง ทว่ามันส่งผลดีในแง่ที่ว่า ทำให้อารมณ์ของหนังต่อเนื่องและลื่นไหล
จุดเด่นประการสุดท้าย และเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง ก็คือ การแสดงของ มาริยง โกติญาด์ ในบทอีดิธ เพียฟ ซึ่งเป็นการแสดงในแบบที่เรียกว่า ‘ฉายเดี่ยว’ เล่นมันตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวาระสุดท้าย
อีดิธ เพียฟตัวจริงเป็นอย่างไร ดิฉันไม่แน่ใจ แต่อีดิธ เพียฟ ในแบบของโกติญาด์ เป็นผู้หญิงที่ดื้อดึง แข็งกร้าว และสู้คนในบางมุม ขณะที่อีกมุมกลับดูตื่นกลัว เปราะบาง ไม่มั่นคง ราวกับพร้อมจะล้มครืนหักสลาย
เหนืออื่นใดก็คือ โกติญาด์ทำให้อีดิธ เพียฟ ของเธอ สง่างามไร้ที่ติยามอยู่บนเวที ฉากหนึ่งที่โกติญาด์แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ ฉากที่อีดิธขึ้นแสดงบนเวทีเป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงนั้นหนังเผยให้เห็นร่างกายที่ทรุดโทรมขนาดหนักของอีดิธ เธอป่วยหนัก เรี่ยวแรงจะยืนยังแทบไม่มี ที่ด้านหลังเวที อีดิธร้องขอผู้จัดการให้อนุญาตให้เธอกลับขึ้นแสดงบนเวที เป็นการอ้อนวอนอย่างสิ้นหวัง เป็นการขอร้องของผู้ที่รู้ตัวว่าไม่มีอะไรจะสูญเสีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับอนุญาตให้หวนคืนสู่เวทีอีกครั้ง โกติญาด์กลับลบภาพน่าเวทนาที่ผู้ชมเพิ่งได้เห็นเมื่อครู่ไปอย่างหมดจด เธอทำให้อีดิธ เพียฟ กลายเป็นสตรีที่งามสง่า เปี่ยมเสน่ห์ และที่สำคัญ เธอทำให้ผู้ชมตระหนักและเข้าใจว่า การร้องเพลงเป็นทั้งชีวิต ทั้งจิตใจ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนักร้องผู้เป็นตำนานผู้นี้
ไม่น่าแปลกใจที่มาริยง โกติญาด์ ตระเวนกวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกามาอย่างคับคั่ง (ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็คือ รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม) นักวิจารณ์หลายสำนักถึงกับยกย่องให้เป็น ‘การแสดงที่โดดเด่น ทรงพลัง และน่าตื่นตะลึงที่สุดในรอบหลายปี’
เมื่อเรื่องราวที่ดี ได้รับการถ่ายทอดโดยนักแสดงที่ดี และอยู่ในมือของผู้กำกับที่ปฏิบัติกับมันอย่าง ‘รู้ค่า’ จึงส่งผลให้ La Vie en Rose เป็นหนังที่ทรงพลัง โดดเด่น และน่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบปีอย่างไม่ต้องสงสัย