xs
xsm
sm
md
lg

Juno : ชีวิต...เอียงได้ ห้ามล้ม

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


* หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เปิดเผยบทสรุปของหนัง

มีคนเปรียบ ‘ชีวิต’ ว่าเป็นเหมือนอะไรต่ออะไรมากมาย บ้างว่ามันเหมือนกล่องช็อกโกแลต บ้างว่าเป็นรถไฟเหาะ บ้างบอกมันคือจักรยาน 10 สปีด เราต่างมีเกียร์ควบคุมความเร็วสภาพเยี่ยม แต่เราก็มักเลี่ยงหรือลืมที่จะใช้มัน

หนึ่งในคำเปรียบเปรยชีวิตที่ดิฉันฟังแล้วชอบ มาจากรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอบอกว่า ชีวิตเหมือนหอเอนปิซ่า มันอาจจะเอียง อาจตั้งไม่ตรง อาจดูเหมือนไม่มั่นคง แต่จนแล้วจนรอด มันก็ไม่เคยล้ม

ดู Juno จบ ดิฉันนึกถึงสิ่งที่รุ่นน้องพูดไว้ขึ้นมาติดหมัด หนังเล่าเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งชีวิตเผชิญมรสุมปัญหาลูกมหึมาเกินแบกรับ เธออนุญาตให้ตัวเองเอียงกะเท่เร่ตามแรงปะทะ แต่ไม่ปล่อยให้ตัวเองล้มครืนจนยืนต่อไม่ไหว

เด็กสาวคนดังกล่าวชื่อ จูโน เธออายุแค่ 16 ยังเรียนไม่ทันจบมัธยม วันหนึ่ง จะเป็นเพราะความเบื่อหน่ายไม่มีอะไรทำอย่างที่เธออยากจะเชื่อหรือเพราะเหตุผลใดที่ลึกซึ้งซับซ้อนกว่านั้นก็ตามแต่ จูโนชวนเด็กหนุ่มหยองๆ แหยๆ เพื่อนซี้ที่ชื่อ พอลี ให้มีเซ็กส์กัน และหลังจากนั้นเพียง 2 เดือน เธอก็พบว่าตัวเองตั้งท้อง

ทันทีที่รู้ จูโนเดินเข้าคลินิกทำแท้ง หวังจะกำจัดปัญหา ก่อนที่มันจะสร้างปัญหาให้ชีวิตของเธอมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจอบรรยากาศภายในคลินิกเข้าจริง จูโนก็เริ่มไม่แน่ใจ เพราะมันตลบอบอวลด้วยความรู้สึกหดหู่ ตึงเครียด กังวล สิ้นหวัง และเธอก็ทนไม่ได้ที่จะเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศเช่นนั้น

จูโนเปลี่ยนใจในที่สุด เธอตัดสินใจเก็บลูกไว้ สารภาพความจริงกับพ่อและแม่เลี้ยง แล้วตั้งหน้าตั้งตาหาพ่อแม่บุญธรรมที่จะรับอุปถัมภ์ทารกในครรภ์ของเธอหลังจากลืมตาออกมาดูโลก

การค้นหานำพาจูโนไปพบกับ มาร์ก และ วาเนสซา ลอริง คู่สามี-ภรรยาวัย 30 เศษที่อยากมีลูกใจจะขาดแต่กลับไม่เคยสมหวัง

พูดจาวิสาสะเพียงไม่นาน จูโนก็ตัดสินใจยกเด็กในท้องให้ครอบครัวลอริง เพราะทั้งคู่ดูเป็นคนดี น่าคบหา ฐานะก็ดี วาเนสซาเป็นผู้หญิงสะสวย อ่อนหวาน ใจดี ขณะที่มาร์กก็เป็นผู้ชาย ‘คูลๆ’ ที่เคยมีวงดนตรีของตัวเอง (ปัจจุบันเขาเป็นนักแต่งเพลงประกอบหนังโฆษณา ทำงานอยู่กับบ้าน) เป็นแฟนหนังสยองขวัญตัวฉกาจ หนำซ้ำยังสะสมกีตาร์เจ๋งๆ เอาไว้เพียบ

พูดอย่างรวบรัดก็คือ จูโนเลือกมาร์กกับวาเนสซาก็เพราะเชื่อว่าทั้งคู่จะเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบให้กับชีวิตน้อยๆ ในท้องของตน อย่างที่ตัวเธอเองไม่สามารถจะเป็นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป จูโนใกล้ชิดกับสามี-ภรรยาลอริงมากขึ้น และเธอก็พบว่า แท้จริงแล้วชีวิตคู่ของทั้งสองไม่ได้กลมเกลียวสมบูรณ์แบบอย่างที่คิด คราวที่พบกันหนแรก วาเนสซาบอกจูโนว่า เธอรู้เสมอว่าเธอเกิดมาเพื่อจะเป็นแม่คน และเธอก็พร้อมสำหรับการณ์นั้นมาโดยตลอด แต่เมื่อโอกาสที่จะมีลูกลอยมาอยู่ตรงหน้าจริง คำถามที่ผุดตามมาก็คือ มาร์ก สามีของเธอ พร้อมอย่างที่เธอพร้อมหรือไม่? เหนืออื่นใด เขายินดีรับบทพ่อและพ่อบ้าน แล้วปลดระวางความฝันถึงการเป็นนักดนตรีอาชีพอย่างที่เคยบอกกับเธอไว้ จริงหรือเปล่า?

Juno เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นที่ 2 ของ เจสัน ไรต์แมน ถัดจาก Thank You for Smoking (2005) หนังออกฉายอย่างเป็นทางการปลายปี 2007 และประสบความสำเร็จอย่างสนั่นหวั่นไหว เครดิตการเข้าชิงและได้รับรางวัลนั้นยาวเหยียด ส่วนรายได้นั้นไม่ต้องพูดถึง ถึงวันนี้หนังเก็บเข้ากระเป๋าเหนาะๆ ไปแล้วกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เสียงชื่นชมที่หนังได้รับ นอกจากจะตกอยู่กับเจสัน ไรต์แมน แล้ว ส่วนหนึ่งยังเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อไปถึงผู้หญิง 2 คนที่เป็นกำลังสำคัญของหนัง นั่นคือ เอลเลน เพจ สาวน้อยวัย 21 ผู้รับบทจูโน และ ดิอาโบล โคดี้ คนเขียนบทหน้าใหม่สดซิงผู้มีชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘โลดโผน’ และเต็มไปด้วยสีสัน

ประวัติของโคดี้แบบย่นย่อที่สุดก็คือ ชื่อจริงของเธอคือ บรู๊ก บิวซี เกิดเมื่อปี 1978 จบการด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยไอโอวา ต่อมาลาออกจากงานประจำที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งด้วยเหตุผลว่า ไม่รักและไม่มีทักษะด้านการจัดการ แล้วหันมายึดอาชีพเต้นระบำเปลื้องผ้าและพนักงานให้บริการเซ็กส์โฟนพักใหญ่ ในระหว่างนั้นก็นำประสบการณ์ชีวิตมาขีดๆ เขียนๆ ให้ใครต่อใครได้อ่าน เริ่มต้นจากในบล็อก ต่อมาก็นำมาพิมพ์ขายในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก และท้ายที่สุด เมื่อมีผู้ยุยงส่งเสริมให้เขียนบทหนัง เธอก็ไปซื้อหนังสือบทภาพยนตร์เรื่อง Ghost World มาถอดรหัสศึกษาวิชาเขียนบทด้วยตนเอง จนในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์เป็นบท Juno อย่างที่เห็น


ดิฉันไม่แน่ใจว่า โคดี้นำประสบการณ์ตรงของตนเองเข้ามาพัวพันปะปนกับเนื้อหาของหนังบ้างหรือไม่และมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่พอจะสัมผัสได้ก็คือ หนังอย่าง Juno นั้น หากเปรียบเป็นผู้หญิงสักคน ก็เป็นผู้หญิงที่ฉลาด ปากจัด ช่างประชดประชัน มีอารมณ์ขัน ที่สำคัญ ผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างโชกโชนและมากพอที่จะมองชีวิตอย่างคนที่เข้าใจ – ซึ่งก็ดูจะสอดพ้องกับตัวจริงของโคดี้เท่าที่เห็นผ่านสื่อต่างๆ ไม่น้อยทีเดียว

ในภาพรวม Juno เป็นหนังที่มีส่วนผสมของความตลกขบขันและความอบอุ่นประทับใจมากพอๆ กัน หนังโดดเด่นมากในแง่ของบทสนทนาที่คมคายชาญฉลาด (จนบางช่วงบางขณะดิฉันยังรู้สึกว่ามันคมและฉลาดเกินมนุษย์ปรกติจะพูดกัน) แฝงอารมณ์ขันชวนยิ้ม

เช่น ตอนหนึ่ง หลังจากที่จูโนไปสารภาพความจริงกับพ่อและแม่เลี้ยง ทันทีที่ฟังเรื่องทั้งหมดจบและลูกสาวตัวแสบเดินจากไป พ่อของจูโนก็บอกภรรยาว่า “ถ้าเจอไอ้พอลี ผมจะอัดมันให้น่วม” แต่ภรรยา –ซึ่งรู้ฤทธิ์ลูกเลี้ยงตัวเองดี- กลับบอกว่า “ไม่เอาน่า คุณก็รู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความคิดของพอลี”

หรืออีกตอน จูโนสารภาพกับพอลีว่าแท้จริงแล้วเธอรู้สึกกับเขาอย่างไร จูโนบอก “สำหรับฉัน เธอเป็นคนฉลาด และเธอก็เท่มาก ทั้งที่เธอไม่ได้พยายามทำตัวให้ดูเท่เลย” พอลีฟังแล้วทำหน้าขัดเขินวูบหนึ่งแล้วจึงตอบกลับไป “เธอเข้าใจผิดแล้ว ที่จริงฉันโคตรพยายามเลยต่างหาก”

ส่วนตัวอย่างฉากประทับใจ ตอนหนึ่งซึ่งดิฉันชอบเป็นการส่วนตัว คือ ฉากในโรงพยาบาล หลังจากจูโนคลอดลูกแล้ว เธอนอนพักอย่างอ่อนระโหยโดยมีพ่อนั่งดูแลอยู่เคียงข้าง ช่วงหนึ่งพ่อยกมือขึ้นลูบหัวเจ้าตัวแสบอย่างอ่อนโยน แล้วปลอบประโลมลูก –ซึ่งกำลังจะต้องยกเด็กที่เพิ่งคลอดออกมาให้คนอื่น- ด้วยคำพูดสั้นๆ เพียงแค่ว่า “วันหนึ่งข้างหน้า ในวัยและเวลาที่พร้อมกว่านี้ แกจะได้กลับมาที่นี่อีก...จะมีลูก ที่เป็นของแกเองจริงๆ”

พ้นจากที่กล่าวมา สิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังเป็นที่รักของใครต่อใครมากเพียงนั้น ก็คือ Juno เป็นหนังที่มองโลกในแง่ดีมาก อีกทั้งยังให้กำลังใจชีวิตอย่างร้ายกาจ

ตัวละครหลักๆ 3-4 คนในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นจูโนเองก็ตาม พ่อและแม่เลี้ยงของเธอก็ตาม รวมถึงวาเนสซา ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนแรกตั้งท้องก่อนวัยอันควร สองคนกลางมีลูกซึ่งตั้งท้องก่อนวัยอันควร และคนหลังสุดเพิ่งค้นพบว่าชีวิตสมรสของตนกำลังจะพังพินาศ แน่นอน ทุกปัญหาล้วนรุนแรงระดับ ‘โลกถล่ม’ สำหรับเจ้าตัว ทว่าแทนที่จะเหยียบย่ำซ้ำเติมตัวเอง ตัดพ้อต่อว่าโชคชะตา หรือปล่อยตัวจมจ่อมรอตายแบบไร้ความหวัง ทั้งหมดกลับเลือกที่จะหายใจลึกๆ ตั้งสติ แล้วพยายามขบคิดหาวิธีรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

คงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปิดบังกันอีกต่อไปว่า ที่สุดแล้วหนังก็ให้ทุกคนผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี วาเนสซามุ่งมั่นที่จะรับอุปถัมภ์เด็กในท้องของจูโนต่อไปแม้ไม่มีสามีเคียงข้าง ครอบครัวจูโนให้โอกาสเด็กสาวกลับมามีชีวิตปรกติตามวัยของเธออีกครั้ง ส่วนจูโนซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด ก็ตัดใจยกลูกให้วาเนสซาตามที่ตกลงกันไว้ โดยไม่กล้าแม้แต่จะมองหน้าลูกให้เห็นเต็มตาสักครั้ง

ดิฉันอ่านพบความเห็นของผู้ชมส่วนหนึ่งที่แสดงทัศนะถึง Juno เอาไว้ว่า มันเป็นหนังที่มองโลกในแง่ดีเกินไปหน่อย อีกทั้งตัวละครก็ยังทำใจยอมรับปัญหาได้ดีเยี่ยมจนแทบไม่น่าเชื่อ (หนังให้เวลากับอาการ ‘ช็อก’ ของตัวละครน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวจูโนนั้น คราวที่เธอมาสารภาพว่าตั้งท้อง พ่อกับแม่เลี้ยงไม่ได้แสดงความโกรธเกรี้ยวใส่เธอเลยสักนิด)

ยอมรับค่ะว่า ระหว่างดูหนัง ดิฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ทว่าหลังจากหนังจบลงและได้ทบทวนถึงมันอีกพักใหญ่ ดิฉันกลับมีความเห็นไปอีกทาง (ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าดิฉันคิดเข้าข้างหนัง) ว่า มันอาจจะ ‘เป็นไปได้’ ก็ได้

เพราะเอาเข้าจริง การระเบิดอารมณ์ก็อาจไม่ใช่หนทางเดียวที่จะแสดงความเสียใจ แต่การที่พ่อของจูโนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวแล้วต้องตั้งคำถามว่า ตนเลี้ยงลูกไม่ดีหรืออย่างไร ตนทำอะไรผิดหรือเปล่า? นั่นเป็นความปวดร้าวสาหัสสำหรับผู้เป็นพ่อ หรือตัวจูโนเอง การที่เธอประสบความสำเร็จในการผลักไสลูกไปสู่อ้อมอกของคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเอาตัวรอดจากปัญหาครั้งนี้ได้โดยที่ชีวิตไม่มีแม้แต่บาดแผลรอยตำหนิ

ในความเห็นส่วนตัว ดิฉันไม่คิดว่าหนังผิดพลาดหรือบกพร่อง แต่ค่อนข้างเชื่อว่า มันเลือกที่จะละบางอย่างไว้ ‘ในฐานที่เข้าใจ’

อย่างไรก็ตาม หากจะนับว่านั่นคือข้อบกพร่องจริง ผลที่สุดแล้ว สำหรับดิฉันเอง มันก็ไม่ใช่ความบกพร่องที่ส่งผลให้คะแนนของหนังลดน้อยลงไปสักเท่าใดนัก

ถ้าถามดิฉันว่าทำไมจึงชอบหนังเรื่องนี้นัก คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะมันเป็นหนังที่ทำให้ได้คิดว่า แม้ในยามที่ดูเหมือนจะย่ำแย่เลวร้ายที่สุด แต่ตราบใดที่เรายังต้องการความหวัง ชีวิตก็ยังมีความหวังหยิบยื่นให้เสมอ

จริงอยู่ การมีชีวิตนั้นซับซ้อนและไม่เคยเป็นของง่าย มันเหมือนทั้งกล่องช็อกโกแลต เหมือนรถไฟเหาะ เหมือนจักรยานความเร็วสูง บางครั้งโลดโผนโจนทะยานน่าหวาดเสียว บ่อยครั้งไม่รู้ต้องพบปะเจอะเจออะไร และอีกไม่น้อยที่เรามัวแต่เมามันสุดเหวี่ยงเกินไป และสุดท้ายก็พลาดจนได้...เพราะคนมันพลาดกันได้

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว Juno ก็บอกเราว่า เพื่อที่จะอยู่ให้รอด เราควรทำชีวิตให้เหมือนหอเอนปิซ่า

ทุกครั้งที่เจอปัญหา อนุญาตให้เอียงได้ แต่เราต้องไม่ปล่อยให้มันล้ม



กำลังโหลดความคิดเห็น