xs
xsm
sm
md
lg

กรุณาถอนคำพูดด้วยครับ/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

"เปลี่ยนไปเยอะจริงนะเอ็งเนี่ย ทีเด็กๆ ละก็พูดจนลิงหลับ ถามนั่น ซักนี่จนน่ารำคาญ..."

แม่บ่นกับผมเมื่อครั้งที่กลับบ้านสระบุรีในวันหยุดครั้งล่าสุดฉุดผมออกมาจากโลกแห่งความคิด(เรื่อยเปื่อย) สู่โลกแห่งความเป็นจริงที่มีเสียงของคุณ "หม่ำ จ๊กมก" จากรายการ "หม่ำโชว์" ดังแว่วเข้ามาเป็นเครื่องยืนยัน

ว่ากันจริงๆ ผมเองก็ไม่ค่อยจะแน่ใจนักหรอกครับว่าตอนเด็กๆ ผมพูดมากหรือเปล่า แต่ที่แน่ใจได้ก็คือมักจะชอบเอาถังน้ำ กระป๋องสี มาทำกลองแล้วก็แหกปากร้องเพลงกับลูกพี่ลูกน้อง รวมถึงชอบนั่งพากย์บอล พากย์มวย จนผู้ใหญ่ออกปากว่ารำคาญ

"ก็จะให้พูดอะไรเล่าแม่ มันไม่มีเรื่องอะไรเล่าจริงๆ"

ผมอธิบายถึงสาเหตุแห่งความนิ่งเงียบของตนออกไป ก่อนใช้มุกเดิมด้วยการดึงแขน(ขา)แม่มาขยำๆ พร้อมชี้ชักชวนให้ดูรายการหม่ำโชว์เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น

ช่วงเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมานี้ การกลับบ้านในวันหยุดวันเสาร์ของผมค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ตายตัวจริงๆ ครับ

ไล่ไปตั้งแต่แวะทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านป้าหน้าปากทาง, ถึงบ้านก็กวาด - ถูบ้าน ถ้ามีเวลาเหลือ(ก่อน 5 โมงเย็น)ก็นอนดูทีวี อ่านการ์ตูน, ลุกขึ้นมาเสียบหม้อข้าว, ออกไปซื้อกับข้าว (หรือทำเองเล็กๆ น้อยๆ กับเมนูเดิมๆ คือ ไข่เจียว ไข่น้ำ ผัดกะเพรา ยำปลากระป๋อง), รอรับแม่เข้าบ้าน, กินข้าวพร้อมดูบางรักซอย 9, จบดูข่าวต่อด้วยหม่ำโชว์ จากนั้นก็นั่งดูหนังแผ่นสัก 1 เรื่อง (ซึ่งหากเป็นหนังไทยแม่ก็จะนั่งดูด้วย หรืออาจจะเข้านอนเลยหากง่วง หรือไม่ก็หลับระหว่างดูหนัง)

ครั้นตื่นเช้าขึ้นมา ก็อาบน้ำ ทานข้าว ขึ้นรถเดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ

พล็อตเรื่องซ้ำๆ ตัวละครก็เดิมๆ เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่รู้จะใส่บทพูดอะไรลงไป

แต่ทั้งนี้ที่บอกว่าไม่มีเรื่องพูดนั้นก็หาใช่คำตอบที่แท้จริงทั้งหมดครับ เพราะมันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของการไม่อยากจะพูด แต่อีกส่วนก็เพราะผมรู้สึกว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ผมยิ่งเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่องมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ประมาณว่า มันจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่เข้าใจต่อคำพูดคนอื่นๆ ซึ่งพอผมพูดพูดออกไปมันก็เลยเป็นไปในลักษณะแบบกวน เห็นตรงข้าม ยียวน

จนบางทีแม่ก็จะงงๆ ประมาณว่า เอ็งเป็นบ้าอะไรของเอ็ง(วะ)...

(ไม่ใช่เรื่องพูดอย่างเดียวนะครับ การหอมแก้มที่แม่ก็ยังทำกับผมอยู่เป็นประจำ บางครั้งเรียนตรงๆ ครับว่าผมเองไม่เต็มใจสักเท่าไหร่ บอกเหตุผลไม่ถูกเหมือนกัน มันเขินๆ พิกล (แต่ทั้งนี้ก็ไม่เคยชักสีหน้าหรือแสดงท่าทีปฏิเสธนะครับ))

คิดอย่างเข้าข้างตัวเอง ผมว่าใครหลายคนที่อยู่ในสถานะลูกๆ ก็คงจะเป็นเช่นผมเหมือนกัน คือยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งไม่ปรารถนาที่จะคุยกับแม่(หรือพ่อ)สักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าคุยกันคนละภาษา คนละเรื่อง คนละมุมมอง เนื่องจากสถานะทางสังคมที่แตกต่าง ซึ่งแน่นอนครับมันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยที่เราจะสร้างให้เกิดความเหินห่างเช่นนี้ขึ้น

ดังนั้นเพื่อขจัดปัญหาตรงนี้ ผมเลยเลี่ยงด้วยการให้แม่เป็นผู้เล่าโดยที่ผมขอทำหน้าที่เป็นผู้ฟังและคอมเมนเตเตอร์แทน ใครจะลองเอาไปใช้บ้างก็ได้นะครับ

อ้อ อีกอย่าง พึงระลึกไว้เสมอครับว่า คุยกับร่างที่มีเลือดเนื้อของท่าน อย่างไรก็ดีกว่าคุยกับกระดูกเถ้าถ่านของท่านครับ
...
ว่าไปแล้วอาการไม่พูด หรือพูด(แต่)น้อยของผมไม่ใช่จะเกิดกับแม่เท่านั้นหรอกครับ หากแต่มันเป็นกับคนรอบข้างแทบจะทุกคนในห้วงยามเวลาปกติที่มิใช่ระหว่างการทำงานจัดรายการวิทยุ รวมถึงในวงดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน พี่ น้อง ที่คุยเรื่องเดียวกันกระทั่งบางครั้งตัวผมเองยังอดที่จะสงสัยตัวเองไม่ได้ว่าเป็นโรคจิตอะไรหรือเปล่า?

มานั่งถามตัวเองพบว่ามีปัจจัยหลายประการทีเดียว

หนึ่งเลยคือรูปแบบชีวิตของผมที่ค่อนข้างเดิมๆ ไม่ค่อยจะมีอะไรให้ตื่นเต้น

สองคือระยะหลังมานี้ผมเกิดความรู้สึกไม่อยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นในด้านลบสักเท่าไหร่ครับ เพราะกลัวจะเข้าตัวเอง รวมถึงบางทีก็รู้สึกว่าผมกำลังให้ร้ายคนที่เราวิจารณ์หรือเปล่า? (ทั้งที่ไม่คิดเช่นนั้นเลย)

สามคือดูเหมือนโอเวอร์แต่ผมกำลังฝึกให้ตัวเองไม่มีอารมณ์ทั้งที่เป็นความรู้สึกในด้านที่ดีหรือในด้านที่ไม่ดีต่อเรื่อง(หรือบุคคล)ต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ

และประการสุดท้ายที่สำคัญก็คงจะเป็นเพราะผมไม่อยากให้คำพูดที่ออกมากลายเป็นบ่วงแห่งความรู้สึกผิดย้อนกลับมาบีบรัดตัวเอง หากไม่สามารถกระทำหรือแม้กระทั่งรู้สึกอย่างคำพูดที่ออกมา ทั้งที่ผมเองรู้สึกว่าคำพูดของผมนั้นมันค่อนข้างจะซื่อสัตย์กับอารมณ์ตัวเองในระดับที่เยอะพอสมควรทีเดียว (ซึ่งก็คงจะเกี่ยวพันถึงอารมณ์ที่ค่อนข้างจะแปรปรวนง่ายๆ นั่นเองที่ทำให้รู้สึกกลัว)

มิได้โกหกนะครับ แต่ผมเป็นคนประเภทที่จะรู้สึกว่าแย่จริงๆ หากถูกคู่สนทนาถามหรือสวนด้วยประโยคในทำนองที่ว่า "ไหน(เคย)บอกว่า...?"

ร่ายยาวบ่นเรื่องตัวเองก็ไม่มีอะไรหรอกครับ เผอิญว่าวันจันทร์ที่ผ่านมา(18 ก.พ.)ระหว่างที่นั่งทำงานอยู่ ผมได้ยินเสียงจากโทรทัศน์ช่อง 11 ซึ่งกำลังถ่ายทอดสดการประชุมสภาของเหล่าผู้แทนทั้งหลาย เกี่ยวกับการแถลง/การอภิปรายนโยบายของรัฐฯ อยู่ แล้วไปสะดุดหูกับประโยคคุ้นเคยที่ว่า...กรุณาถอนคำพูดด้วยครับ

แม้ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะมีอาชีพที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการนำพาชีวิตไปเข้าสู่สุภาษิตไทยที่ว่า "ปลาหมอตายเพราะปาก" มากกว่าอาชีพอื่นๆ ทว่าที่ผ่านมาเรื่องจริงก็คือแทบจะไม่เคยเลยครับที่ท่านเหล่านี้จะตายจริงๆ เพราะปากหรือคำพูดตัวเอง

บอกตรงๆ ว่าผมละอิจฉา และอยากจะขอถอนคำพูดได้โดยไม่ต้องมีความรู้สึกผิด หรือจะต้องรับผิดชอบอะไรในคำที่พูดออกไปได้ง่ายๆ แบบท่านๆ จริงๆ
...
หมายเหตุ :
สุภาษิตปลาหมอตายเพราะปาก ความหมายก็คือการที่คนๆ หนึ่งได้รับโทษจากคำพูดพล่อยๆ โดยไม่คิดของตนเอง โดยดัดแปลงมาจากธรรมชาติของปลาหมอซึ่งจะพ่นน้ำอยู่เนืองๆ กระทั่งเห็นเป็นฟองผุดอยู่ที่ผิวน้ำทำให้คนหาปลารู้ตำแหน่งของมัน ก่อนจะนำเบ็ดมาหย่อนลงไปในบริเวณที่ว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น