ในรอบปี - 2 ปีที่ผ่านมา หากถามถึงบุคคลที่สังคมให้ความสนใจ และพูดถึงจนเป็นกระแสขึ้นมา หนึ่งในนั้นคงต้องมีชื่อของเด็กชายพัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ หรือ “น้องเดียว” รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยความช่างพูด ช่างเจรจา กระทั่งแจ้งเกิดอย่างงดงามในรายการ “เกมทศกัณฐ์เด็ก” ยังผลให้ บ.เวิร์คพอยท์ ต้นสังกัดไม่รอช้าที่จะอาศัยช่วงกระแสแห่งความนิยมส่งเจ้าตัวลงประกบกับตลกขายดี “หม่ำ จ๊กมก” ในหนังที่มีชื่อว่า “หม่ำเดียว หัวเหลี่ยมหัวแหลม” ออกฉายรับเทศกาลวันเด็ก
หนังบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มชาวยโสธร “หม่ำ” (หม่ำ จ๊กมก) ที่หอบหิ้วกระเป๋าเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนภาษา อันเนื่องมาจากความต้องการประกอบอาชีพไกด์
ในเมืองกรุง หม่ำอาศัยช่วยทำงานในบ้านหรูหราที่เป็นเจ้านายเก่าของแม่ แต่เพียงแค่คืนแรกเจ้าตัวก็ต้องตกใจเมื่ออยู่ดีๆ ก็มีเด็กน้อยคนหนึ่ง “น้องเดียว” (พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์) ปรากฏขึ้นมา พร้อมบอกเล่าเรื่องราวกึ่งขอร้องที่ชวนให้เหลือเชื่อว่า ในอนาคตเขาจะต้องเกิดมาเป็นลูกของหมาท้องแก่ข้างบ้านอย่างแน่นอน หากไม่ได้หนุ่มยโสฯ คนนี้เป็นพ่อ
เงื่อนไขที่สำคัญ ก็คือ หม่ำจะต้องรีบจีบและแต่งงานกับหญิงสาวที่ชื่อ “ฟ้า” (โบว์ เบญจวรรณ อาร์ดเนอร์) ผู้มากไปด้วยความงามของรูปกายและทรัพย์สิน ที่สำคัญก็คือเธอมีหนุ่มหล่อมาดแมนตามรับส่งด้วยรถคันหรูอยู่แล้ว
แม้จะไม่ค่อยเชื่อมากนักต่อเรื่องที่ว่า และถึงแม้อุปสรรคจะยากเหลือเกินในการฟันฝ่า ทว่าเพราะความสงสารที่เด็กน้อยจะต้องไปเกิดเป็นลูกหมา หม่ำก็พร้อมที่จะปฏิบัติการเด็ดดอกฟ้าในครั้งนี้
เพราะจุดขายหลักของหนังที่อิงอยู่ที่กระแสความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของดารานำต่างวัยทั้งสองทั้งสองเป็นหลัก ส่งผลให้ “หม่ำเดียวฯ” แทบจะไม่มีอะใรให้พูดถึงในเชิงประเด็นความคิด รวมไปถึงคุณภาพของเนื้องาน ขณะที่การพัฒนาของตัวละครในแง่ที่จะสร้างความประทับใจไปกับความอบอุ่น ความรัก ความรู้สึกผูกพัน ให้เกิดคู่ขนานไปกับตัวละครและคนดูเองก็แทบจะไม่ปรากฏ
หากจะมองกันว่านี่คือหนังตลกที่ไม่ต้องคิดอะไร มุมนี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากมันจะไม่ตลกแล้ว หนังยังน่ารำคาญไปกับความมากมายของโฆษณาบะหมี่สำเร็จรูปที่ถูกยัดเยียดเข้ามาอย่างไม่เกรงใจความรู้สึกของคนดู กระทั่งเรียกได้ว่าทุกฉากของหนัง ทุกช่วงชีวิตของตัวละครจะต้องมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งนี้เข้ามามีส่วนร่วมเกือบจะทั้งหมด
จะว่าไปแล้ว มิใช่เฉพาะงานชิ้นนี้เท่านั้นที่อุดมไปด้วยโฆษณา ระยะหลังๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าเกือบจะทุกชิ้นงานที่ผลิตออกมาจาก บ.เวิร์คพอยท์ฯ ก็ล้วนมีสภาพที่ไม่แตกต่างกันเลย กระทั่งต้องบอกว่าน่าเสียดายในทรัพยากรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่สุดที่มิอาจจะแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาอันเนื่องมาจากอิทธิพลในความมีพระคุณของเหล่าสปอนเซอร์
หรือหากมีจริง โอกาสที่ว่าก็มักจะมีเงื่อนไขมากมายจากเหล่านายทุนทั้งหลายอย่างที่ว่า
บทสรุปของหม่ำเดียวฯ มิได้แตกต่างอะไรไปจากการทำหนังประเภทตีหัวเข้าบ้านทั้งหลายที่อาศัย “กระแส” เป็นหลัก ส่วนที่จะแตกต่างไปบ้างในด้านที่ดีก็คงจะเป็นเรื่องระดับของความสามารถที่มีอยู่ในตัวของนักแสดงเอง
แต่ทั้งนี้ ก็เป็นที่รู้และเข้าใจกันว่า ไอ้ความ “สามารถ” ที่ว่านี้ หลายครั้งมันก็มักจะเกิดขึ้นมา หรือทำให้ดูมากมายเหลือคณานับเกินความเป็นจริงอยู่บ่อยครั้งด้วยการ “โฆษณา” นั่นเอง