ถูกผิดอย่างไรไม่ทราบ เท่าที่ดิฉันสังเกตจากคนรอบข้าง พบว่า กิจกรรมยอดนิยมลำดับต้นๆ ที่คนมักเลือกทำในยามชีวิตดำดิ่งสู่ความซึมเศร้าหม่นหมอง หนึ่งคือ กินเหล้า และสอง ฟังเพลงเศร้า – บ้างอาจเพื่อประชดชีวิต บ้างเพื่อปลอบประโลมตัวเองว่า เราไม่ได้เศร้าคนเดียวในโลก
เลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ เจ้าของโรงเบียร์ใน The Saddest Music in the World คงคิดคล้ายๆ กัน เธอผนวกเพลงเศร้าเข้ากับน้ำเมา จัดการประกวด ‘บทเพลงที่เศร้าที่สุดในโลก’ ขึ้น โดยวางเหยื่อล่อเป็นเงินรางวัลสูงลิบ ...เงินจะดึงดูดให้ผู้คนแห่กันมาประกวด และเพลงเศร้าจะกระตุ้นให้คนยิ่งซดเหล้าหนัก... เธอเชื่อของเธออย่างนั้น
The Saddest Music in the World เป็นผลงานของ กาย แมดดิน ผู้กำกับชาวแคนาดา ออกฉายครั้งแรกในปี 2003
หนังใช้ช่วงเวลาต้นทศวรรษที่ 1930 เป็นฉากหลังของเรื่อง มันเป็นยุคซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกำลังลามระบาดอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนทั่วทุกหัวระแหงและทุกระดับชั้น ส่วนสถานที่เกิดเหตุนั้นคือเมืองวินนิเปก ประเทศแคนาดา ซึ่งตอนต้นเรื่องหนังบอกผู้ชมว่า มันถูกหนังสือพิมพ์ ลอนดอน ไทม์ส ของอังกฤษ จัดให้เป็น ‘นครหลวงแห่งความโศกเศร้าของโลก’ ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน
ตัวละครหลักของหนังมีกัน 5 คน หนึ่งคือเลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ 3 คนถัดมาเป็นคนตระกูลเคนต์ ประกอบด้วย ฟิโอดอร์ ผู้เป็นพ่อ, เชสเตอร์ ลูกชายคนโต และ รอเดอริก ลูกชายคนเล็ก ส่วนอีกคนที่เหลือก็คือ นาซิสซา คู่ควงของเชสเตอร์
หนังใช้ช่วงต้นเรื่องแนะนำตัวละครคร่าวๆ เลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์เคยเป็นคนรักของทั้งฟิโอดอร์และเชสเตอร์ ในอดีตเธอคือหญิงสาวเปี่ยมเสน่ห์ ทว่าวันหนึ่งกลับประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ส่งผลให้เธอกลายเป็นหญิงพิการ ขาขาดทั้งสองข้าง ความเจ็บปวดทำให้เธอตัดขาดจากอดีต แล้วหันมาคลุกคลีกับธุรกิจโรงเบียร์
ด้านฟิโอดอร์ ที่จริงแล้วเคยเป็นหมอ แต่เพราะความผิดพลาดของเขาที่ทำให้เลดี้ พอร์ต-ฮันลีย์ ต้องพิการ ทำให้เขาล้างมือจากวงการ หันมายึดอาชีพขับรถราง และฝังตัวเองอยู่ในความรู้สึกผิดบาปนับแต่นั้น
เชสเตอร์ ปัจจุบันย้ายจากบ้านเกิดไปทำมาหากินที่นิวยอร์ก หนังบอกว่าเขาเป็นเพลย์บอยที่ไร้หัวใจ ไร้เมตตา ไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์คนอื่น อีกทั้งยังนับถือบูชาเงินเหนือสิ่งใดในโลก ในอดีตเชสเตอร์เคยทะเลาะเบาะแว้งใหญ่โตกับรอเดอริกผู้เป็นน้องชาย จะเป็นด้วยสาเหตุใดหนังก็ไม่ได้เล่าไว้ชัด บอกแต่เพียงว่า มันทำให้พี่น้องคู่นี้เกลียดกันจนแทบจะมองหน้ากันไม่ได้มาจนกระทั่งบัดนี้
ส่วนรอเดอริก อดีตนายทหารผู้กล้าซึ่งเคยร่วมรบในสงครามโลกมาแล้ว ความโศกเศร้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาในเวลานั้นคือ การที่ภรรยาหายตัวไปอย่างลึกลับ หลังจากชีวิตคู่ร้างร้าวเพราะสูญเสียบุตรชายไป รอเดอริกเที่ยวเดินทางตามหาภรรยาทุกหนแห่ง จนในที่สุดโชคชะตาก็นำพาเขาวนกลับมาที่บ้านเกิด คือวินนิเปก
คนสุดท้ายคือ นาซิสซา แม้เธอจะปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะคู่ควงของเชสเตอร์ ทว่าเพียงไม่นานหนังก็เฉลยว่า แท้จริงแล้วเธอผู้นี้ก็คือภรรยาที่รอเดอริกตามหาอยู่ อย่างไรก็ตาม นาซิสซาได้สูญเสียความทรงจำแทบจะหมดสิ้น เธอจำสามีไม่ได้ จำลูกชายที่จากไปไม่ได้ เธอมาควงกับเชสเตอร์โดยไม่รู้จักเทือกเถาเหล่ากอของเขา ฝ่ายเชสเตอร์นั้นก็พาเธอมาหาความสำราญถึงวินนิเปกโดยหารู้ไม่ว่าเธอคือภรรยาแท้ๆ ของน้องชายตัวเอง
การประกวด ‘บทเพลงที่เศร้าที่สุดในโลก’ ชักนำตัวละครทั้งหมดมาพบกันอีกครั้ง ฟิโอดอร์ผลักดันตัวเองเข้าแข่งขันในฐานะตัวแทนแคนาดา รอเดอริกเลือกนำเสนอตัวเองในนามเซอร์เบีย และเชสเตอร์กับนาซิสซาควงคู่กันเป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกา (กติกาคร่าวๆ คือ ทุกคนจะต้องเข้าแข่งขันในฐานะตัวแทนชาติใดชาติหนึ่ง)
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของทั้งสามในการร่วมแข่งขันกลับแตกต่างกัน ฟิโอดอร์นั้นปรารถนาจะใช้บทเพลงถ่ายทอดความสำนึกผิดบาปที่เคยทำกับเลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ไว้ รอเดอริกหวังจะใช้โอกาสนี้ระบายความทุกข์ที่ถาโถมอยู่ในใจ ทั้งความสูญเสียส่วนตัวและความสูญเสียของโลกที่เขาประสบพบเห็นในสงคราม
ส่วนในรายของเชสเตอร์ ความมุ่งหวังของเขานั้นเข้าใจง่ายกว่าใครเพื่อน เขาไม่มีความทุกข์โศกใดๆ จะมาระบาย แต่ที่อุตส่าห์พาตัวเองขึ้นแข่งขัน ก็ด้วยหวังเงินรางวัลแต่เพียงสถานเดียวเท่านั้น
เดิมทีเดียว บทหนังเรื่องนี้เขียนโดย คาสุโอะ อิชิกุโระ นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของนิยายดังอย่าง The Remains of the Day ดิฉันไม่แน่ใจว่าบทดั้งเดิมที่อิชิกุโระเขียนไว้นั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อมันตกมาอยู่ในมือของกาย แมดดิน และ จอร์จ โทลส์ ผู้ร่วมดัดแปลงบทร่างสุดท้าย ผลลัพธ์ที่ปรากฏก็คือ The Saddest Music of the World กลายเป็นหนังที่โดดเด่นมากทั้งในเรื่องของสไตล์และอารมณ์ขัน
หนังไม่เพียงแต่จะมีเนื้อหาย้อนยุคกลับไปยังทศวรรษที่ 1930 ทว่าแมดดินยังจำลองรูปลักษณ์ของหนังยุคนั้นมาแทบจะทุกกระเบียด
ทั้งการใช้ภาพขาว-ดำเกือบจะทั้งเรื่อง (หนังนำเสนอเป็นภาพสีเฉพาะบางฉาก และเป็นที่น่าสังเกตว่า ฉากที่เป็นภาพสีนั้นล้วนเป็นฉากงานศพ) การถ่ายตัวละครหญิงด้วยเทคนิควิธีที่เรียกว่า Glamorous Shot ซึ่งส่งผลให้พวกเธอดูมลังเมลืองเปล่งประกายเจิดจ้าล้อแสงไฟแทบทุกครั้งที่ปรากฏตัว นอกจากนั้นแมดดินยังจงใจทำให้เกรนภาพแตกพร่า ให้ความรู้สึกราวกับเรากำลังดูหนังเก่าเก๋ากึ้กอยู่จริงๆ
ในส่วนของอารมณ์ขัน The Saddest Music in the World อาจไม่ใช่หนังที่รุ่มรวยอารมณ์ขันจะแจ้งประเภทที่ทำให้ผู้ชมหัวร่องอหายฮาแตก แต่มันค่อนไปทางพิลึกพิลั่น เย้ยหยัน และ ‘ขันขื่น’ เอาความบ้าบ๊องมาแต่งเติมเรื่องเศร้า แล้วเล่าออกมาในท่วงทำนองขบขัน ราวกับจะประชดแดกดันชีวิตอย่างไรอย่างนั้น
เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวตอนหนึ่งซึ่งเด่นมากก็คือ สาเหตุที่เลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ ต้องสูญเสียขาทั้ง 2 ข้างนั้น หนังเล่าว่าเกิดจากการที่รถซึ่งเธอกับเชสเตอร์นั่งมาด้วยกันถูกรถของฟิโอดอร์ที่กำลังเมาจัดขับชนจนพลิกคว่ำ ขาข้างหนึ่งของเธอเกิดไปติดอยู่ใต้ท้องรถ ฟิโอดอร์เห็นดังนั้นก็คิดจะช่วยตัดขาข้างนั้นของเธอออกเพื่อหวังจะช่วยชีวิตเธอไว้ อย่างไรก็ตาม เขาดันเมาหนักจนตาลาย และลงท้ายก็ลงมือตัดขาผิดข้างไปเสียฉิบ!
นอกจากนั้นแมดดินยังแทรกใส่รายละเอียดแปลกประหลาดเหนือจริงเข้ามาในหนังอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า เมื่อฟิโอดอร์คิดจะหาของกำนัลแทนคำขอโทษไปมอบให้เลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ เขาเลือกที่จะทำขาเทียมให้เธอคู่หนึ่ง แต่ขาเทียมที่เขาอุตส่าห์ทำเองกับมือนั้น ไม่เหมือนขาเทียมคู่ไหนๆ ในโลก เพราะเขาบรรจงทำมันขึ้นจากแก้ว และข้างในก็บรรจุเบียร์ ของชอบของเลดี้ พอร์ต-ฮันต์ลีย์ เสียจนเต็ม!
อีกตัวอย่างหนึ่ง ตัวรอเดอริกนั้น ตอนที่ขึ้นประกวด เขาเลือกที่จะใช้นามแฝงว่า กราวิลโล แถมยังสวมชุดดำยาวรุ่มร่าม หมวกปีกกว้างสีดำ และยังมีผ้าดำห้อยระย้าจากปีกหมวกมาปกคลุมใบหน้าเสียมิดชิด โดยให้เหตุผลบ้าๆ บ๊องๆ ว่า เป็นเพราะ “ผิวของผมมันแพ้แสงง่ายมากๆ เลยครับ!” เท่านั้นไม่พอ หมอยังพกพาหัวใจของลูกชายติดตัวไว้ตลอด โดยใส่มันไว้ในขวดแก้วใส และดองไว้ด้วยน้ำตาแห่งความอาดูรของตัวเขาเอง!
ตามความเข้าใจของดิฉัน หนังมีนัยเสียดสีสังคมและการเมืองปะปนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งในเนื้อหาส่วนที่บอกเล่าว่า คน 3 คนที่แม้จะมาจากครอบครัวเดียวกันแท้ๆ แต่ลงท้าย 2 ใน 3 กลับเลือกที่จะขึ้นเวทีในฐานะตัวแทนของประเทศอื่นแทนที่จะเป็นมาตุภูมิของตนเอง หรือชื่อ ‘กราวิลโล’ ที่รอเดอริกเลือกใช้ ก็ดันไปพ้องกับชื่อ กาวริโล ปรินซิป นักศึกษาชาวเซิร์ป ซึ่งเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีและพระชายา จนกลายเป็นตัวจุดระเบิดที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม สาระอีกส่วนที่ส่วนตัวดิฉันเห็นว่ามันเด่นกว่าและดิฉันสัมผัสมันได้มากกว่า ก็คือเรื่องของการรับมือกับความโศกเศร้าในชีวิต และการเยียวยาบาดแผลที่อดีตได้ทิ้งเอาไว้
ตัวละครทุกคนในเรื่อง –ไม่เว้นแม้แต่เชสเตอร์- ล้วนแล้วแต่เคยผ่านพบกับความเจ็บปวดสูญเสียมาด้วยกันทั้งนั้น ก่อนหน้านั้นพวกเขาบางคนเลือกที่จะฝังตัวเองไว้ในกับดักแห่งความทุกข์ ขณะที่บางคนเลือกจะลืมมัน การประกวด ‘บทเพลงที่เศร้าที่สุดในโลก’ เป็นการชักนำทุกคนให้หวนกลับมาเผชิญหน้ากับบาดแผลของตนเองอีกครั้ง – ไม่ว่าใครจะเต็มใจหรือใครจะไม่ก็ตาม
ฉากหนึ่งที่บอกเล่าใจความสำคัญของหนังอยู่ในช่วงเปิดเรื่อง เมื่อนาซิสซาพาเชสเตอร์ไปหาหมอดูชราคนหนึ่ง และแม่หมอบอกเชสเตอร์ผู้ทำท่าเสมือนไม่ยี่หระเป็นทุกข์ต่อสิ่งใดว่า “จงจ้องตากับความเศร้า เพราะถ้าทำไม่ได้ คุณก็มีสภาพไม่ต่างจากคนตายทั้งเป็น”
ตลอดทั้งเรื่อง เราเห็นเชสเตอร์ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเงินรางวัลก้อนนั้น เขาทำตัวน่ารังเกียจกับทุกคน หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ไม่เห็นหัวใคร อาจเพราะเชื่อว่าการมีเงินคืออำนาจสูงสุดซึ่งจะลบเลือนได้กระทั่งความทุกข์ และซื้อได้กระทั่งความสุข
อย่างไรก็ตาม ฉากเดียวกันก็จบลงด้วยการที่แม่หมอตะโกนไล่หลังเชสเตอร์อย่างดูหมิ่นดูแคลนว่า “ลองดูซิว่า เงินของคุณจะซื้อความสุขได้สักแค่ไหน”...
ภายหลังการประกวดสิ้นสุดลงและเรื่องราวทั้งหมดผ่านพ้น เชสเตอร์กับผู้ชมก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่า เงินอาจทำให้หายหิว อาจทำให้หายเศร้าได้ชั่วคราว อาจซื้อใครบางคนได้ อาจซื้อความสำราญบางประเภทได้
แต่ที่สุดแล้วยังมีอย่างน้อย 2 อย่างที่เงินซื้อไม่ได้ นั่นคือ ความสุขถาวรของชีวิต และคนที่จะมานั่งร้องไห้เคียงข้างในวันที่ชีวิตล้มเหลวตกต่ำมากที่สุด
การจ้องตากับความเศร้าจะไม่แย่จนเกินไปหากมีใครสักคนตบหลังตบไหล่ปลอบใจอยู่ข้างๆ
แต่การหัวร่อร้องเพลงอย่างโดดเดี่ยวลำพังโดยไม่มีใครร่วมประสานเสียงด้วยนั้นต่างหาก ที่เลวร้ายและน่าเศร้ากว่ากันเยอะ