xs
xsm
sm
md
lg

“สร้อยฟ้า” เปิดใจ ขอยืนหยัดเพื่อประชาชน ยัน “ทีไอทีวี” พร้อมก้าวไปกับ “ไทยทีพีบีเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สร้อยฟ้า” เตรียมสมัครไทยทีพีบีเอส ประกาศต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อต้องการนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่สู้เพื่อมีงานทำ

หลังจากที่มีคำสั่งยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเมื่อเวลาเที่ยงคืน วันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทีไอทีวีกลายเป็นทีวีสาธารณะ “ไทย ทีพีบีเอส” ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว บ้างก็เสียดายที่สถานีข่าวแห่งนี้ต้องปิดตัวลง หลังจากนำเสนอข่าวสารมาถึง 11 ปีเต็ม บางรายถึงขั้นลงทุนมานอนให้กำลังใจถึงหน้าตึกสถานี

แต่ถึงแม้ทีไอทีวีก็จะได้กำลังใจท่วมท้น แต่ก็ยังมีบางกระแสที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมทีไอทีวีถึงลุกออกมาสู้ เพื่อให้ได้ออกอากาศต่อไป เพราะเมื่อมีนาคมปี 2550 สถานีแห่งนี้ก็เกือบจะถูกปิดมาแล้ว และพนักงานต่างก็ได้รับค่าชดเชยไปเรียบร้อยแล้ว ช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาจึงน่าจะเพียงพอสำหรับการขยับขยายหาที่พักพิงแห่งใหม่ การที่ทีไอทีวีลุกขึ้นมาสู้ในครั้งนี้ จึงถูกตั้งคำถามขึ้นมาต่างๆ นานา

วันนี้ “สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์” ผู้ประกาศข่าวคนดังประจำสถานีทีไอทีวี ขอเปิดใจตั้งแต่วินาทีที่ได้รับคำสั่งให้หยุดแพร่ภาพออกอากาศ และก้าวต่อไปของพนักงานทีไอทีวี พร้อมทั้งขอยืนยันแทนพนักงานทีไอทีวีทุกคน ว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการยืนหยัดเพื่อประชาชน สู้เพื่อนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมา

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะมีจอมืด เพราะผู้ใหญ่ก็บอกว่า ช่วงการเปลี่ยนถ่ายเป็นทีวีสาธารณะจะค่อยเป็นค่อยไป วันที่มีแฟกซ์ส่งมาที่ไอทีวีเราก็ตกใจว่า มันเป็นจริงจะทำกันจริงๆ เหรอ ตอนนั้นกำลังจะขึ้นเวทีทำหน้าที่พิธีกรแต่งงานของโปรดิวเซอร์ทีไอทีวี ก็ได้รับข้อมูลว่าเดี๋ยวเที่ยงคืนเขาจะตัดสัญญาณ ข่าวก็สับสนว่าจะลิงก์สัญญาณช่อง 11 เราก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ”

“พอเสร็จงานก็รีบบึ่งรถมาทีไอทีวีเพื่อมารวมกัน เช็กกับผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่าไม่มีการลิงก์สัญญาณนะ แต่ข่าวเมาท์ว่ามีการเชื่อมสัญญาณ เช็กข่าวไปเช็กข่าวมาก็ไม่มีการเชื่อมสัญญาณแน่นอน”

“ก็รู้สึกเหงาๆ เพราะปกติตื่นเช้ามาก็ต้องมาทำสคริปต์ และก็ดำเนินรายการด้วย ให้ประเด็นน้องๆ ไปสัมภาษณ์ แต่เช้านี้ไม่ต้องทำงานแล้ว ก็ติดตามข่าวสารนอนดูข่าว บางครั้งก็น่าไปทำข่าวนี้นะ แต่ก็ออกหมายไม่ได้แล้ว เราจะเอาทรัพย์สินกรมประชาสัมพันธ์ไทยทีพีบีเอสไม่ได้แล้ว เหมือนกับเราต้องรายงานข่าวเรื่องนี้นะเราต้องทำข่าวเรื่องนั้นนะ แต่พอนึกได้อีกทีเราไม่มีทีวีแล้ว มันก็เศร้านะ”

เปิดใจทำไมถึงอยู่กับทีไอทีวีจนวินาทีสุดท้าย.....
“เราทำงานกันเป็นทีม เรามีทีมงานของเราในกลุ่มรายการเศรษฐกิจ มีเพื่อนในองค์กร มีความรักในองค์กร เราเป็นพนักงานคนที่ 90 วันที่มีปัญหาเราก็บอกกับน้องๆ บอกกับทีมงาน ว่า จะอยู่ที่นี่จนวันสุดท้ายของทีไอทีวี ส่วนถ้าจะเป็นทีวีสาธารณะก็ค่อยมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง”

“บางครั้งก็มีเพื่อนมาชวนมันก็เฉี่ยวๆ แต่ไปไม่ได้ เพราะเราพูดไว้แล้ว และบางครั้งน้องทีมงานก็เจ๊...เจ๊อยู่ด้วยกันนะ เราก็รู้สึกว่า อยู่....พี่จะอยู่จนวันสุดท้ายของทีไอทีวี และก็อยู่จริงๆ แต่จากนี้ไปจะทำอะไรต่อยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้ตกลงกับใคร”

“ตอนนี้ยังไม่ได้ไปสมัครงานที่ไทยทีพีบีเอส เพราะตอนแรกเรารอศาลปกครอง พอคำสั่งศาลปกครองออกมาแล้ว เราก็มารอดูว่าจะเป็นอย่างไร คำสั่งที่ศาลปกครองออกมาวันนี้ ก็คือ ตัวพนักงานก็คือทรัพย์สิน ก็จะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินตัวนี้ไปสู่ทีพีบีเอสด้วย และคณะกรรมการจะเป็นคนเลือกว่า จะให้คนไหนอยู่ หรือคนไหนไม่ได้อยู่ต่อ”

“แต่ถ้าถามว่าจะสมัครไหม....สมัคร เพราะเราเป็นคนข่าวมา 17 ปี อยู่หนังสือพิมพ์ 6 ปี อยู่ไอทีวีมา 11 ปี เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นสิทธิ์ที่เราควรสมัครต่อ เพื่อที่จะรายงานข่าวสารให้กับผู้ชม และเพื่อจะได้พิสูจน์ว่าความเป็นไทยทีพีบีเอสทีวีสาธารณะที่คุณบอกว่า เป็นที่คาดหวังของประชาชน ประชาชนเขาหวังสูงนะ มันจะเป็นที่คาดหวังได้จริงๆ หรือเปล่า และมันจะมีโอกาสทำข่าวได้เต็มที่เหมือนทีวีเสรีหรือเปล่า นั่นคือ สิ่งที่เราจะพิสูจน์ แต่ถามว่าคุยกับที่อื่นไหม ก็มีคุยแต่ยังไม่ได้สรุป เพราะตัวเราเองอยากอยู่ตรงนี้ให้ถึงที่สุด อยากทำตรงนี้มากกว่า”

ถ้าวัดกันที่ฝีมือ เชื่อว่า พนักงานทีไอทีวีคงได้รับบรรจุในสถานีไทยทีพีบีเอสแน่นอน แต่ก็อีกนั่นแหละใครจะรับประกันได้ว่า พนักงานทีไอทีวีจะได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม
“ถามว่า เงินเดือนมันจะต่ำกว่าเดิมไหม คนไอทีวีก็เงินเดือนไม่สูงนะ คงไม่ได้ต่ำไปกว่าเดิมมาก อันนี้ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลแล้วล่ะว่าจะรับตรงนี้ได้หรือเปล่า คิดว่าไม่วุ่นวาย เพราะพนักงานเงินเดือนไม่ได้สูง ก็คงไม่ได้ถูกปรับลงมามากมาย เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาทสูงไหม หมื่นกว่าบาทสูงไหม คิดว่าไม่สูงนะ เรื่องเงินไม่อยากตอบแทนคนอื่น เพราะมันเป็นเรื่องแต่ละบุคคล แต่สำหรับเราเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่คือเรื่องที่ได้ทำงานตามแนวคิดตามคอนเซ็ปต์ที่ได้วางไว้มากกว่า”

ยืนยันว่า ที่ผ่านมาสู้เพื่อให้สถานีได้ออกอากาศต่อเนื่อง ไม่ใช่สู้เพื่อให้ตัวเองได้งานทำ
“แต่ถามว่าทุกคนสู้เพื่ออะไรที่ผ่านมาเราสู้เพื่อให้หน้าจอไม่ดำ แต่ ณ วันนี้ที่ศาลปกครองมีคำสั่งออกมาแล้วทุกคนก็ต้องเคารพในคำตัดสินของศาล และถามว่าสู้ต่อไปเพื่ออะไรอีก หลายๆ คนก็คงจะเดินหน้าเพื่อสมัครงาน ถามว่า ทำไมต้องสมัครที่ทีพีบีเอส เราอยู่ในองค์กรนี้มา 11 ปี บางคน 5 ปี 7 ปี แล้วแต่อายุงาน ทุกคนคิดว่าตรงนี้ถือคือบ้าน คือสังคมที่เราอยู่ และเราก็มีเพื่อนๆ ที่ทำงานรู้ใจกัน เพราะฉะนั้นเกือบทั้งหมดก็อยากมาสมัครงาน”

“เราสู้เพื่อประชาชน แต่ ณ วันนี้สู้เพื่อให้ทีไอทีวีกลับมาเป็นทีวีเสรีไม่ได้แล้ว ก็ในเมื่อกฎหมายมันเป็นแบบนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเป้า สู้เพื่อที่จะได้รายงานข่าวสาร เราเป็นคนข่าวเพราะฉะนั้นแล้วหน้าที่เราคือรายงานข่าวสาร ถามว่าเราสู้เพื่อใคร สู้เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ สิ่งที่เราภูมิใจคือที่ผ่านมาไอทีวีเป็นที่พึ่งของคนที่เดือดร้อนคนที่มีปัญหา”

“อย่างวันที่ทีไอทีวีถูกตัดสัญญาณ เราก็ได้รับรายงานจากผู้ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีโทร.มาส่งข่าว คุณสร้อยฟ้าตอนนี้ชาวบ้าน 300 คน ปิดล้อมอยู่ที่โรงงานน้ำตาล เพราะว่าโรงงานไม่สามารถเปิดหีบได้ช่วยทำข่าวหน่อย มีทีมข่าวไหม รายงานข่าวได้ไหม สถานีเรากำลังจะปิด เราก็รับฟังเช็กข่าวกับนายแบงก์ กระทรวงอุตสาหกรรมมีทางไหม คำตอบก็คือโรงงานมีเอ็นพีแอลไม่สามารถเปิดหีบได้ วันรุ่งขึ้นจะมีการเจรจาอีกรอบหนึ่ง”

“เราก็เลยสั่งทีมข่าวต่างจังหวัด ว่า เก็บภาพนะเดี๋ยวจะเอาเข้ารายการตอนเช้า สุดท้ายเราก็ไม่มีทีวีที่นำเสนอ ตรงนี้มันทำให้เราเห็นความสำคัญว่า พอเราไม่มีทีวีสิ่งที่เรารู้มามันไม่ได้ถูกตีแผ่ไม่ได้ถูกนำเสนอ เราไม่สามารถช่วยเขาได้ ฉะนั้น ถามว่าสู้เพื่อใคร สู้เพื่อให้มีโอกาสนำเสนอข่าวสารตรงไปตรงมามากกว่า”

“ทุกคนต้องมีงานทำ ทุกคนมีครอบครัว มีความรับผิดชอบ ถ้าเขาอยากได้แค่เงินไปขายก๋วยเตี๋ยวก็ได้เงิน แต่ทุกคนมีจิตวิญญาณของคนข่าว”

สำหรับเรื่องค่าชดเชย เจ้าตัวยอมรับว่าได้รับเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งอธิบายให้ฟังว่า การต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องค่าชดเชย หากแต่เรียกร้องไม่ให้จอดำ

“ค่าชดเชยได้รับไปแล้ว ทุกคนไม่ได้เรียกร้องค่าชดเชย ช่วงก่อนหน้านี้ 3 วัน เราเรียกร้องให้การโอนถ่ายจากทีไอทีวีมาเป็นทีพีบีเอสเพื่อหน้าจอไม่ดำ เมื่อเป็นทีวีสาธารณะก็เปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะ แต่สิ่งที่กรมประชาสัมพันธ์ทำ ก็คือ ตัดสัญญาณ เมื่อตัดสัญญาณเราก็ขอศาลคุ้มครอง เมื่อศาลไม่คุ้มครองมันก็จบไปแล้ว ทุกคนต้องเคารพในคำตัดสินของศาลก็จบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น