xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : "หม่อมน้อย" มุมหนึ่งจากหนังสือ "อนุสรณ์งานศพ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ :'หม่อมน้อย' มุมหนึ่งจากหนังสือ 'อนุสรณ์งานศพ'
หลังงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ณ วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 ... และในวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม ทางโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน ได้จัดโปรแกรมพิเศษ Tribute to our.. "หม่อมน้อย" แด่หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล เพื่อรำลึกถึงครูและศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทย โดยนำภาพยนตร์บางเรื่อง เช่น ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อุโมงค์ผาเมือง (2554) และ มายาพิศวง (2565) กลับมาฉาย ต่อเนื่องกันในวันเดียว... และภาพยนตร์ "ช่างมันฉันไม่แคร์" เหลืออีก 4 ที่นั่งจะเต็มทุกที่นั่ง (1 ตค. 65 เวลา 18.23 น.) และรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดในรอบฉายนี้ ทางโรงภาพยนตร์จะมอบให้กับกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเวลา 18.00 น. บริเวณโถงด้านหน้าโรงภาพยนตร์ ร่วมฟัง Talk พิเศษจากคนสนิทของหม่อมน้อย - ตั้ม-โชคอนันต์ สกุลธรรม, ต๊งเหน่ง-รัดเกล้า อามระดิษ ดำเนินรายการโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์

ในจังหวะเดียวกัน "ละครออนไลน์" ได้สั่งซื้อหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล และนี่คือ ผลงานเรื่องราวและรูปบางส่วน เพื่อเป็นการรำลึกถึง "หม่อมน้อย" ในภาคที่ 2

อ่านภาคแรก * "หม่อมน้อย" ผู้ชอบดัดแปลงงานอินเตอร์ >>https://mgronline.com/drama/detail/9650000090518


"ช่างมันฉันไม่แคร์" : ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ของหม่อมน้อย ที่สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2529 และได้รับขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ไทยในปี 2563 ผลงานเรื่องสำคัญของหม่อมน้อย ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานะและอุดมการณ์ของปัญญาชนเดือนตุลาที่เปลี่ยนไปในยุควัฒนธรรมการบริโภคกำลังเริ่มเฟื่องฟู เล่าเรื่องราวของเจ้าแม่วงการโฆษณา ผู้มีบาดแผลจากเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้พบกับหนุ่มต่างจังหวัดที่มีเบื้องหลังเป็นชายขายบริการ ซึ่งเข้ามาเติมเต็มคุณค่าบางอย่างในชีวิตที่เธอโหยหา...
หมายเหตุ - ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล) รางวัลพระราชทาน พระสุรัสวดีทองคำ (ตุ๊กตาทอง) ปี 2529 และ รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (สุวรรณดี จักราวรวุธ) รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ปี 2529

"ชั่วฟ้าดินสลาย" Director's Cut : ภาพยนตร์ฉบับตัดต่อใหม่ ที่นำมาฉายในโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ (อาร์ซีเอ) เมื่อปี 2553 ภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ของหม่อมน้อย ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณและเครื่องแต่งกายตามขนบธรรมเนียมล้านนา จากวรรณกรรมสุดอมตะ สู่ภาพยนตร์โศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ เรื่องราว "ความรัก" ระหว่าง "อาสะใภ้" และ "หลานชาย" ที่ทำลายกรอบประเพณีศีลธรรมอันดีงามจนต้องพบกับหายนะอย่างแสนสาหัส
หมายเหตุ - เป็นการกลับมาร่วมงานอีกครั้งในรอบ 26 ปีของหม่อมน้อยและสหมงคลฟิล์ม สร้างจากบทประพันธ์สุดคลาสิกของเมืองไทย และได้ถูกคัดเลือกให้เป็น "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ในการประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ "สุพรรณหงส์" ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553 โดยกระทรวงวัฒนธรรม

หม่อมน้อย เคยกล่าวถึงหนัง 2 เรื่องนี้ไว้ว่า
"ช่างมันฉันไม่แคร์นั้น ผมคิดเอง ด้วยสำนึกของประเทศชาติและการเมือง สำนึกของประชาธิปไตย แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากที่ทำเรื่องเพลิงพิสวาส มาในยุคที่สังคมบ้านเรา วงการโฆษณาเพิ่งเกิด วัฒนธรรมการบริโภคเริ่มมาสู่บ้านเรามากยิ่งขึ้น ทุกคนกลายเป็นขายสินค้า หนังโฆษณาก็นำเอาเทคนิคที่ดีงามของภาพยนตร์มาใช้ในเชิงขายของ เพื่อนๆและพี่ๆหลายคนที่เก่งๆก็ไปเก่งในวงการโฆษณา ซึ่งหลายๆท่านเป็นปัญญาชนคนฉลาดที่เก่งมาก แต่กลับทุ่มชีวิตของตัวเองให้กับวัฒนธรรมการบริโภค
เรื่องช่างมันฉันไม่แคร์ หนังสือพิมพ์เอเชียวีคสัมภาษณ์ผม 2 หน้าเต็มๆ กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สะท้อนประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยผ่านตัวละคร 2 ตัว ดูง่ายๆ มันเป็นเรื่องของเขา แล้วคนอื่นไปยุ่งอะไรด้วยล่ะ (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขามากกว่า จนกระทั่งทุกวันนี้ ผมยังเข้าใจว่า คนไทยไม่เข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ"

"เราต้องเคารพเสรีภาพในความคิด เสรีภาพในการแสดงทัศนะทางการเมือง แต่ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แม้แต่เรื่องราวของ "ชั่วฟ้าดินสลาย" ซึ่งเรื่องนี้ ผมถ่ายทอดมาจากบทประพันธ์ของ ครูมาลัย ชูพินิจ โดยในขณะที่ตัวละคร 2 ตัวเรียกร้องเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์มีเสรีภาพไม่แท้จริงเลย แต่มนุษย์เป็นทาสของกิเลสตัณหาตั้งแต่เกิดมาแล้ว เป็นทาสของชะตากรรม เป็นทาสของตัวเอง คุณใฝ่หาเสรีภาพ แต่คุณไม่มองย้อนกลับเข้าหาตัวเองว่า ที่จริงแล้ว เสรีภาพมี ถ้าเราเลือกถูกทาง
ตัวละครเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่คนดู เพราะเหตุว่า คนคิดอย่างนี้แล้ว ผลที่ได้รับควรเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ ความรักที่ไม่ถูกกาละเทศะ สุดท้ายก็เกิดโศกนาฎกรรมในที่สุด หนังของผมทุกเรื่อง ส่วนใหญ่มันจะสะท้อนบาปของมนุษย์ กิเลสตัณหา ธาตุแท้ มุมมืด ที่ซ่อนอยู่ในตัวละคร เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนดูว่า อย่างนี้ไม่ควรทำ"

อุโมงค์ผาเมือง : จากบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” (ประตูผี) ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” สู่ภาพยนตร์โดย "หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล" ภาพยนตร์สร้างเมื่อปี 2554 มหาฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก คดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้

"เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว นักข่าว N.H.K. ได้ถามข้าพเจ้าว่า ภาพยนตร์เรื่องใดที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันที่จะสร้าง ข้าพเจ้าตอบเขาว่า ข้าพเจ้าอยากดัดแปลง ราโชมอน เป็นภาพยนตร์ไทย เขาถามข้าพเจ้าต่อไปว่า "เพราะเหตุใด" ข้าพเจ้าจึงตอบว่า ราโชมอน ในทัศนะของข้าพเจ้านั้น เป็น "สากล" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "บาป" ที่ซ่อนภายใต้จิตใจของ "ตัวละคร" ข้าพเจ้าจึงฝันที่จะสื่อสาร "สัจธรรม" นี้แก่ผู้ชมชาวไทย ซึ่งคำตอบเป็นว่าพอใจสำหรับเขา
และ เมื่อ 20 ปีต่อมา ความฝันของข้าพเจ้าเป็นจริง ข้าพเจ้าจึงได้ค้นพบว่า ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่นนั้น มาจาก "รากฐาน" เดียวกัน นั้นก็คือ ความศรัทธาอันสูงส่งในพระพุทธศาสนา อันก่อให้เกิดแสงสว่างในจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นเอง วันนี้ จึงนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ THE OUTRAGE หรือ ราโชมอน ในแบบไทยของข้าพเจ้าได้ออกฉาย ณ กรุงโตเกียว นครอันเป็นที่ตั้งของประตูราโชมอน ในเรื่องสั้นคลาสิกของ Akutagawa Ryūnosuke

จาก "เกิดเป็นตัวละคร" เป็น "มายาพิศวง"

มายาพิศวง หรือ Six Characters ดัดแปลงจากบทประพันธ์อายุ 101 ปี ของลุยจิ ปิรันเดลโล สู่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ "หม่อมน้อย" เมื่อตัวละครปริศนา 6 ตัว มีชีวิตขึ้นมาและออกตามหาผู้ที่จะมาเขียนจุดจบให้กับตัวเอง ได้มาเยือนกองถ่ายทำภาพยนตร์แห่งหนึ่ง และพบกับผู้กำกับใหญ่ไฟแรงซึ่งจะเป็นผู้รับฟังและขอร้องให้เขาปลดพันธนาการของปริศนาเรื่องราวของตัวละครทั้ง 6

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2515 ละครเวทีเรื่อง Six Characters in Search of an Author ซึ่งใช้ชื่อภาษาไทยว่า "เกิดเป็นตัวละคร" กำกับการแสดงโดย รศ. สดใส พันธุมโกมล หัวหน้าภาควิชา ศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ละครเวทีเรื่องนี้ หม่อมน้อย ได้มีโอกาส "ออดิชั่น" ในบท "เด็กชาย" (The Boy) นักแสดงประกอบด้วย พีรกิตติ กิจสุบรรณ, จิรพร ทองเชื้อ, พงษ์ศักดิ์ อารยางกูร, ชัยศรี เทพหัสดิน, สิริอมร นิลกำแหง, พิพัฒน์ พ่วงสำเนียง, ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล, วราภรณ์ บุณยรักษ์ , กุมารี โกมารกุล ณ นคร, เยาวเรศ คชลักษณ์ และละครเวทีเรื่องแรกที่หม่อมน้อยเล่นนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง "มายาพิศวง" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของหม่อมที่เป็นการปะทะของศิลปะภาพยนตร์และละครเวที

หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเล่มนี้ มีรายละเอียดอื่นๆนอกจากนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างการเขียนบทภาพยนตร์-ละครเวทีบางเรื่อง ช่างมันฉันไม่แคร์, แผลเก่า, จันดารา , ละครการกุศลเรื่อง ร่มฉัตร (ช่อง9 อสมท. ปี 2529), ปรัชญาชีวิต ,งานดีไซน์ บนเวที Miss Universe Gala Night ค.ศ. 1992 รวมถึงภาพต่างๆที่จะสื่อเรื่องราวและผลงานของ "มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล"

Tribute to our.. "หม่อมน้อย" ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน จะบอกเรื่องราวของ กิเลสตัณหา ธาตุแท้ มุมมืด ที่ซ่อนอยู่ในตัวละครของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนดูได้ขบคิด และตัดสินใจเอง!ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์


































































กำลังโหลดความคิดเห็น