xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : "หม่อมน้อย" ผู้ชอบดัดแปลงงานอินเตอร์ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ "หม่อมน้อย" ผู้ชอบดัดแปลงงานอินเตอร์



"คุณน้อย - หม่อมน้อย" หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล มีผลงานทั้งละครเวที, ภาพยนตร์ , ละครโทรทัศน์ เป็นตำนานของคนทำหนังและครูบาอาจารย์ของเหล่านักแสดงทั้งหลายในวงการ งานในยุคแรก ส่วนใหญ่แล้วจะมีกลิ่นอายของนักเขียนบทละครในต่างประเทศ และต้องยอมรับว่า งานประเภทนี้ของหม่อมน้อยเกือบทั้งหมด เป็นแนวโศกนาฏกรรม ซึ่งอาจจะขัดหู ขัดตา และขัดใจผู้ชมคนไทย ภายหลัง หม่อมได้กำกับฯจากงานนวนิยายชั้นครูของไทย และรู้จักกันดี เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย (เรียมเอง) , แผลเก่า (ไม้เมืองเดิม), จันดารา : ปฐมบท-ปัจฉิมบท (อุษณา เพลิงธรรม) , แม่เบี้ย (วาณิช จรุงกิจอนันต์), สี่แผ่นดิน (ม..ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นต้น

การทำงานหนังในหลายปีหลังนี้ นำงานที่ดัดแปลงจากต่างประเทศเพียง 2 เรื่องคือ "อุโมงค์ผาเมือง" และเรื่องสุดท้าย "มายาพิศวง" ที่กำลังฉายในโรงภาพยนตร์ขณะนี้ เท่านั้น

มายาพิศวง จากงานของ"ลุยจิ ปิรันเดลโล"

"Six Characters มายาพิศวง" มาจาก เรื่อง "Six Characters in Search of an Author"ของ Luigi Pirandello (ลุยจิ ปิรันเดลโล) นักประพันธ์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวอิตาเลี่ยน งานเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทย โดย "อาจารย์สดใส พันธุมโกมล" ครูใหญ่แห่งวงการละครเวที ในชื่อ "เกิดเป็นตัวละคร" เรื่องนี้ อ. สดใส พันธุมโกมล หัวหน้าภาควิชา ศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกำกับเมื่อปี 2515 และครั้งนั้น หม่อมน้อย ได้มีโอกาส ออดิชั่น และรับบท "เด็กชาย"  และในบทละครเรื่องเดียวกัน ปี 2558 สำนักพิมพ์อิตาลี ได้ออกสำนวนแปลของ นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ในชื่อไทยว่า "ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์" และปัจจุบันได้พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีนี้ ปกหลังของเล่มนี้ กล่าวว่า

"นักประพันธ์คนที่สร้างเราขึ้นมาให้มีชีวิต เกิดไม่อยากนำเราไปสู่โลกแห่งศิลปะ มันคืออาชญากรรมชัดๆ เพราะผู้ที่โชคดีได้เกิดมาเป็นตัวละครนั้น จะหัวเราะเยาะความตายก็ยังได้ เพราะตัวละครจะไม่มีวันตาย มนุษย์ตาย นักเขียน และเครื่องมือในการสร้างสรรค์ตาย แต่ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นจะไม่มีวันตาย"

เนื้อเรื่องโดยรวมของ "Six Characters มายาพิศวง" บอกเล่าเรื่องราวของ "ตัวละครทั้ง 6" (แสดงโดย เขมนิจ จามิกรณ์, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร, ภคพล ตัณฑ์พาณิชย์, ฟลอร่า มัสซาโร) ที่ถือกำเนิดขึ้นและมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในจินตนาการของนักประพันธ์ ผู้ไม่ยอมเขียนบทสรุปให้กับตัวละครเหล่านั้น ตัวละครทั้ง 6 จึงต้องออกตามหานักประพันธ์คนใหม่และชีวิตใหม่ จนสุดท้ายได้ไปเกลี้ยกล่อม "คำรณ สิงหะ" (มาริโอ้ เมาเร่อ) ผู้กำกับหนุ่มชื่อดังให้นำเรื่องราวของพวกเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โศกนาฏกรรมชีวิตของตัวละครที่ถูกนักประพันธ์ทอดทิ้งจะเป็นเช่นไร และการไปอยู่ในมือผู้กำกับที่มุ่งสร้างงานเอาใจตลาด จะเกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นบ้างระหว่าง "ตัวละคร" กับ "นักแสดง" ท่ามกลางบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หลังจากเหล่าตัวละครทั้ง 6 คืบคลานมายังกองถ่ายภาพยนตร์แห่งนี้!
มาริโอ้ เมาเร่อ ผู้รับบท "คำรณ สิงหะ" ผู้กำกับหนุ่มเจ้าอารมณ์ กล่าวสรุปตอนท้ายในภาพยนตร์ด้วยประโยคที่ว่า "ผมเพิ่งเข้าใจในวันนี้เองว่า "ภาพยนตร์" และ "ตัวละคร" ความจริง "จิตวิญาณของตัวละคร" คือสิ่งที่สำคัญที่สุด" นี่คือ สิ่งที่หม่อมน้อยอยากจะทิ้งท้ายให้คิด !

อุโมงค์ผาเมือง จากเค้าเดิมเรื่อง "ราโชมอน"

เรื่องนี้ Kurosawa Akira (อากิระ คุโรซาวา) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น เคยทำเป็นหนังพีเรียด ดรามา ฆาตกรรมปริศนา เรื่อง Rashōmon (ราโชมอน) โดยนำเอาเรื่องสั้น 2 เรื่องของ Ryūnosuke Akutagawa (ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ) คือ "ราโชมอน" ซึ่งเป็นที่มาของฉาก และ "ในป่าละเมาะ" ซึ่งเป็นที่มาของตัวละคร และเรื่อง "อุโมงค์ผาเมือง" ของหม่อมน้อย ได้ดัดแปลงจากงานของหม่อมคึกฤทธิ์มาเป็นหนัง ในวาระ 100 ปี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช

"นครผาเมือง" เกิดคดีฆาตกรรม "ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า" โดยมีแม่หญิงคำแก้ว นางสนม , โจรป่าสิงห์คำ , และร่างทรงวิญญาณของขุนศึกเป็นผู้ให้การ ถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านพระอานนทภิกขุ , พรานป่า และสัปเหร่อ มีเรื่องย่อๆว่า ในปี พุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งอัคคีภัย แผ่นดินไหว และโรคร้ายระบาด เหตุการณ์เหล่านี้คร่าชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) และได้เกิดคดีข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) สนมในขุนศึกเจ้าหล้าฟ้าในป่านอกเมือง ขณะที่ขุนศึกและแม่หญิงเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปที่นครเชียงคำ

จากคำให้การของโจรป่าสิงห์คำ และแม่หญิงคำแก้ว สร้างความสับสน และพิศวงงงงวยให้แก่ เจ้าผู้ครองนคร (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้ง "โจรป่าสิงห์คำ" และ"แม่หญิงคำแก้ว" ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าผู้ครองนคร จึงเรียก ผีมด-ร่างทรง (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงเชิญวิญญาณของ "ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า" เพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า "ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง"
เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ พระอานนทภิกขุ (มาริโอ้ เมาเร่อ), ชายตัดฟืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น

"ในเหตุการณ์เดียวกัน มนุษย์ทุกคนมีเรื่องเล่าและความจริงของตัวเอง" !

หม่อมน้อยนิยมนำเรื่องจากนักเขียนต่างประเทศมาดัดแปลงเป็นหนัง-ละคร ... โดยเฉพาะงานในยุคแรกๆ

"อวสานเซลส์แมน" สารตั้งต้นของความชอบ!

หม่อมน้อย สมัยเรียนชั้นมัธยมที่สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้รู้จักกับ "หง่าว" ยุทธนา มุกดาสนิท เพื่อนรุ่นพี่ เมื่อปี 2514 หม่อมน้อยได้มีโอกาสชมละครเวทีแนวโศกนาฎกรรมเรื่อง "อวสานเซลส์แมน" (Death of a Salesman) ซึ่งเป็นบทละครของ "อาร์เธอร์ มิลเลอร์" ซึ่งอาจารย์มัทนี รัตนิน เป็นผู้อำนวยการสร้าง และควบคุมการแสดง , อาจารย์แกรี่ การ์ดิน เป็นผู้กำกับ นักแสดงบนเวทีในหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ ได้แก่ เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ (วิลลี่ โลแมน) นฤมล เทพไชย (ลินดา โลแมน) คำรณ คุณะดิลก (บิฟ) วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ (แฮปปี้) ยุทธนา มุกดาสนิท (เบอร์นาร์ด) เป็นต้น นั่นคือ จุดเริ่มต้นของความชอบในศาสตร์ละครเวที

ภายหลังละครเวทีเรื่องนี้ ถูกปรับเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 3 แสดงโดย พิศาล อัครเศรณี, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, สุเชาว์ พงษ์วิไล ดนตรีประกอบโดย ศิริศักดิ์ นันทเสน (ติ๊ก ชิโร่)

เมื่อจบจากสาธิตประสานมิตร หม่อมเข้ามาเรียนที่ภาควิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยเรียนปี 3 เป็นรองประธาน ชมรมละครของสโมสรนิสิตจุฬาฯ กำกับละครเวทีเรื่องแรก ในปี 2517 คือ All My Son ของอาเธอร์ มิลเลอร์ ได้ A ความมั่นใจจึงบังเกิดนับแต่นั้น ! "ละครประจำปี" มีนโยบายเอาคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆมาทำงานร่วมกัน และนั่นทำให้หม่อมได้ร่วมทำงานกับ "หง่าว" ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งตอนนั้น หง่าวเป็นนักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม. ธรรมศาสตร์เป็นรุ่นพี่ของหม่อม 2 ปี มาเล่นละครเรื่องนี้ให้, "นิดา สุทัศน์" มาเป็นผู้กำกับร่วม , สมปอง จุลทรัพย์มาจากเชียงใหม่ และคนอื่นๆอีก เปิดการแสดงที่ สถาบันสอนภาษา เอยูเอ. และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จมาทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์

เมื่ออยู่ปี 4 หม่อมก้าวมาเป็นประธานชมรมละคร ได้ทำละครเวทีเรื่อง The Lower Depths ของ แม็กซิม กอร์กี้ (2517-2518 ณ โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ) และ บัลเล่ต์พระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” (2518) ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ โรงละครแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นซึ่งลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วไปช่วยทำภาพยนตร์เรื่อง “ฝนแสนห่า” ในราวปี 2517-2518 ซึ่งยุทธนา มุกดาสนิทได้รับโอกาสจาก "ละโว้ภาพยนตร์" ให้กำกับเป็นเรื่องแรก, “ชีวิตบัดซบ” ปี 2520 กำกับการแสดงโดย เพิ่มพล เชยอรุณ

ช่วงนั้น ในปี 2519 เกิดปัญหากับอาจารย์ท่านหนึ่งระหว่างการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “เทพธิดาบาร์20” (ตามปีพ.ศ.นั้น) จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย หม่อมคิดอย่างค่านิยมคนรุ่นใหม่สมัยนั้นว่า ปริญญาก็แค่“กระดาษแผ่นเดียว”! นักศึกษาช่วงนั้นได้รับอิทธิพลจากบทกวีชื่อ "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ของวิทยากร เชียงกูล เป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนหัวก้าวหน้า มีวรรคทองว่า
"ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว"

ในตอนนั้น หม่อมมีความคิดอยากจะเรียนแต่ดรามา ไม่ยอมเรียนวิชาบังคับอื่นๆอีกหลายวิชา เช่น ภาษาบาลี , ภาษาอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี หม่อมได้มีโอกาสทบทวนเรื่องราวหนหลังจึงรู้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย! ถ้าใส่ใจกับประวัติศาสตร์และปรัชญาบางวิชาคงจะทำให้เข้าใจโลกและมนุษย์ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่หม่อมหันมาสนใจพระพุทธศาสนาและศึกษางานของท่านพุทธทาสภิกขุ จึงรู้ว่า ถ้ารู้เรื่องภาษาบาลี คงจะแปลได้ความที่ถ่องแท้ในแบบฉบับที่เป็นมุมมองของตนเอง
หม่อมมองว่า "แอกติ้งกับพุทธศาสนาเป็นสิ่งเดียวกัน - แอกติ้งคือ Work to do แปลว่า การกระทำ นั่นคือ พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า คาโอ ซึ่งแปลว่า To do เหมือนกัน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง ต้นกำเนิดของดรามาแท้ๆ เกิดขึ้นในวัด"

เมื่อต้องมาเป็นครูบาอาจารย์ให้กับนักแสดง หม่อมกล่าวว่า " ในชีวิตจริง เมื่อเราว่างจากตัวตน มันจะเข้าถึงสัจธรรมได้ง่ายขึ้น ในเชิงแอกติ้ง เราเล่นบทไหน เราต้องมีตัวตนในบทนั้น จะเป็นคาแร็กเตอร์ไหนก็ได้ เพราะมันคือ จุดเดียวกัน" !

ผลงานของหม่อมน้อย มักจะใช้ "นักแสดง" หรือ "บางบทเพลง" ซ้ำๆ อยู่เสมอ นักแสดงเหล่านี้ หม่อมน้อยเคยเรียกใช้งานสม่ำเสมอ เช่น ลิขิต เอกมงคล (ยุคหนัง-ละครเวทียุคแรกๆ), ศักราช ฤกษ์ธำรง, มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล พูพาร์ท, อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร ฝ่ายหญิง ในยุคแรกๆ เป็น สินจัย หงษ์ไทย , ใหม่ เจริญปุระ จนมาถึง พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เป็นต้น

"เทพธิดาบาร์ 21" จากงานของ "ฌอง ปอล ชาร์ตร์"

ชาร์ตร์ เคยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าใครเป็นปัญญาชน โดยไม่เป็นฝ่ายซ้าย" !

เมื่อปี 2517 สำนักพิมพ์ดวงกมล ได้ออกหนังสือชื่อ “คนไม่มีเงา” ซึ่งมีผลงานของ ฌอง ปอล ชาร์ตร์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย, บทละครชาวฝรั่งเศส และเจ้าของปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลลิสต์ ภายใต้ความเชื่อว่า "เสรีภาพคือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ต้องมีเสรีภาพ" ทั้งเขายังไม่ยอมขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอีกด้วย หนังสือแปลไทยเล่มนี้ ชลิต แนวพนิช ได้เขียน "คำนำ" แทนผู้จัดทำ คือ รัศมี เผ่าเหลืองทอง

งานบทละครชื่อ “เกียรติโสเภณี” (The Respectful Prostitute) เรื่องหนึ่งในนั้น แปลโดย “หน่อย” ภราไดย สุวรรณรัฐ แม่ของ "ภูริ หิรัญพฤกษ์" เรื่องเดิม เป็นบทละครที่แสดงให้เห็นถึงความชั่วร้ายอย่างสุดประมาณของลัทธิเหยียดผิวสีของประชาชนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนใต้ของประเทศ ! ตัวเอกของเรื่องชื่อ ลิสซี่ แมคเคย์ เป็นหญิงโสเภณี !

บทละคร “เทพธิดาบาร์20” ของหม่อมน้อย ยุทธนา มุกดาสนิทขอไปทำหนังเรื่องแรกของชีวิต และรู้จักกันในชื่อต่อมาว่า “เทพธิดาบาร์21” เป็นหนังไทยแนวมิวสิคัล นำแสดงโดย จันทรา ชัยนาม ซึ่งยุทธนาเห็นฝีไม้ลายมือเธอในละครเวที "ราโชมอน" มาก่อน จึงทาบมาเป็นนางเอกภาพยนตร์ ซึ่งเล่นเรื่องเดียวในชีวิต และได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม พระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) เช่นเดียวกับ ไกรลาศ เกรียงไกร ที่ได้รางวัล นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยมในงานเดียวกัน , สุเชาว์ พงษ์วิไล, สุดา ชื่นบาน โดยหม่อมเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นและร่วมเขียนบท

เรื่องราวดำเนินเรื่องอยู่ในบาร์21 อันมีพาร์ตเนอร์อยู่ 9 คน ตัวละครเอกคือ "รินดา วงศ์ซื่อ" หนึ่งในพาร์ตเนอร์ของบาร์แห่งนี้ เริ่มต้นจากการที่เธอลาออกจากงานที่บาร์เพื่อเดินทางไปหา "พันธุ์" นักศึกษาที่เธอส่งเสียจนเรียนจบ เธอเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อทวงสัญญาที่เขาบอกจะแต่งงานกับเธอ แต่เธอถูกเขาปฏิเสธจนต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ บนรถไฟ เธอได้พบกับ สิงห์ และ รอด ชายหนุ่มสองคนที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ทั้งสองช่วยเธอจากผู้ชายที่มาลวนลามจนทำให้รอดถูกยิงตาย รินดา กลับไปเป็นพาร์ตเนอร์ที่บาร์เดิม ฝันว่า จะมีผู้ชายมารักเธอจริงและร่วมสร้างครอบครัวอันอบอุ่นไปด้วยกัน "ทนง" ลูกชายนักการเมืองเข้ามาในชีวิตเธอ โดยที่เธอไม่รู้ว่าเขามีจุดประสงค์บางอย่าง ขณะที่สิงห์ต้องไปอยู่ในสลัม ทำงานเป็นเด็กส่งกัญชาจนถูกจับ

ความฝันของบทละครที่หม่อมเขียนขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นเป็นจริงใน 10 ปีถัดมา (2529) เพราะ
งานวิทยานิพนธ์ เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงละคร หากเกิดในบาร์ "มณเฑียรทองเธียเตอร์" จึงตอบโจทย์ในข้อนี้ นักแสดงเวอร์ชั่นละครเวทีคือ ลิขิต เอกมงคล และ วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

ต่อมาในปี 2533 ทางช่อง 3 ได้นำเรื่องนี้ไปทำมินิซีรีส์ 6 ตอนจบ ดำเนินการผลิตโดย เกรียงไกร อุณหนันท์ (ในนาม ค่ายยูม่า) นำแสดงโดย ศรันยู วงษ์กระจ่าง และ นรินทร ณ บางช้าง

ในปี 2562 "ครูบิ๊ก" ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ทำ "เทพธิดาบาร์ 21 The recital" ฉบับทดลองของนักศึกษา สาขาวิชาศิลปะการแสดง "มณีรัตน์ ใจแก้วทิ" เป็น รินดา วงศ์ซื่อ และ “ทนง” ตัวเอกฝ่ายชายคือ "ธัช" กิติธัช แก้วอุทัย ซึ่งต่อมาธัชได้เป็นแชมป์ในรายการ “เพลงเอก”

มายาสีเงิน จากงานของ "ขวายา อาหะหมัด อับบาซ" ชาวอินเดีย

เรื่องหนึ่งที่ “ตกสำรวจ” เป็นละครของช่อง3 ชื่อ "มายาสีเงิน" (2524) ทวีป วรดิลก แปลและเรียบเรียงมาจากเรื่อง "วิมานมายา" หรือ Distant Dream ของ "ขวายา อาหะหมัด อับบาซ" นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนบทภาพยนตร์และผู้กำกับชาวอินเดีย เป็นเรื่องราวการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำของสังคมนายทุนและคนงาน เพลงประกอบละครเรื่องนี้คือ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการที่มีผลงานมากมาย เป็นนักกิจกรรมที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ และเป็นที่ชื่นชมของคนรุ่นใหม่ทุกยุคสมัย เพลงนี้ เขียนราว 2503-2505 ขณะถูกจองจำในข้อหา "คอมมิวนิสต์" ที่คุกลาดยาว ใช้นามแฝงในการแต่งเพลงว่า "สุธรรม บุญรุ่ง" ผู้จัดละคร "มายาสีเงิน" คือ ปาริชาติ บริสุทธิ์ เมียของเพิ่มพล เชยอรุณ ที่หม่อมเคยร่วมงานก่อนหน้านี้ นำแสดงโดย ปฐมพงษ์ สิงหะ , วาสนา สิทธิเวช, วันทิพย์ ภวภูตานนท์, เรวัติ พุทธินันท์, โกวิท วัฒนกุล ตอนนั้น หม่อมน้อย จัดเป็นผู้กำกับฯที่อายุน้อยที่สุดในวงการ ราว 24-25 ปีเท่านั้น

เพลิงพิศวาส จากงานของ ยูจีน โอนีล

ภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมน้อยในปี 2527 ร่วมงานกับ "เสี่ยเจียง" สมศักดิ์ เตชะรัตนะประเสริฐ แห่งสหมงคลฟิล์มเป็นครั้งแรก โดยดัดแปลงจากบทละครเวทีชื่อ Desire under the Elms ของ Eugene O’Neill (ยูจีน โอนีล) นักประพันธ์และนักเขียนบทละครชาวอเมริกัน และได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณคดี หม่อมน้อยใช้เวลาพูดคุยกับเสี่ยเจียง และรอการตอบรับนานกว่า 2 ปี เพราะต้องการทำงานที่ไม่ใช่แค่เน้น “ความฮือฮา” และ “ตัวเอก” เท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องของ "โปรดักชั่น" เกี่ยวข้องด้วย ใบปิดของหนังเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร (ซึ่งใบปิดหนังของหม่อมน้อยก็เป็นเช่นนี้เสมอมา) แต่เพลิงพิศวาสไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ เป็นหนังในแนวโศกนาฎกรรม บนความสัมพันธ์ของ “แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง” !

เนื้อเรื่องว่า ปรารถนา ดารินทร์ (วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) นักร้องสาวสวยผู้พลิกผันชีวิตมาเป็นเมียพ่อเลี้ยง (ไชยา สุริยัน) พ่อม่ายซึ่งมีลูกติดเป็นชายหนุ่มชื่อ ธนันท์ (ลิขิต เอกมงคล) ครั้งแรกที่ธนันท์ได้พบหน้าแม่เลี้ยงก็ออกอาการไม่พอใจอย่างมาก แต่ด้วยทั้งคู่มีอะไรหลายๆอย่างตรงกันจึงเริ่มเข้าใจกัน และในที่สุดทั้งคู่ก็ลักลอบเป็นชู้กันจนปรารถนาตั้งท้องคลอดลูกเป็นชาย พ่อเลี้ยงก็เข้าใจว่าเป็นลูกตน

เจ้าพวงแก้ว (สินจัย หงษ์ไทย) ซึ่งเป็นแฟนของธนันท์มาก่อน จับได้ว่าธนันท์เป็นชู้กับแม่เลี้ยงจึงไปบอกพ่อเลี้ยง แต่ปรารถนาก็ยืนยันว่าลูกที่เกิดมาเป็นลูกพ่อเลี้ยงและไม่เคยคิดมีชู้ ที่คบหากับธนันท์ก็เพราะเห็นเป็นเด็กมีปัญหาน่าสงสาร ธนันท์ซึ่งแอบฟังอยู่จึงไม่พอใจประกาศจะแต่งงานกับพวงแก้ว ทำให้ปรารถนาเสียใจเพราะรักครั้งนี้เป็นรักที่แท้จริงของเธอ จึงไปสารภาพรักกับธนันท์ แต่ธนันท์ขอเธอให้พิสูจน์ก่อนว่ารักจริงไม่ใช่หวังจะได้มรดกจากลูกที่เกิดมา ปรารถนาจึงต้องฆ่าลูกน้อยทิ้ง ซึ่งทำให้พ่อเลี้ยงโกรธมาก ธนันท์เองก็เลยรู้ว่าปรารถนารักตนจริงๆ แต่ทุกอย่างก็สายเกินไปเพราะทั้งคู่ถูกจับในข้อหาฆ่าลูกตัวเองเสียแล้ว

นางนวล จากงานของ อันตัน เชคอฟ ชาวรัสเซีย

หม่อมน้อย เริ่มงานกับวิศิษฎ์ มิ่งวัฒนบุญ แห่งพูนทรัพย์ โปรดักชั่น ที่ได้ชื่อว่า ทำหนังไทยคุณภาพด้วยรสชาติที่ต่างจากหนังตลาด ซึ่งทำให้พูนทรัพย์อยู่ได้แค่ช่วงหนึ่งในวงการภาพยนตร์เท่านั้น หม่อมกำกับการแสดงเรื่อง "นางนวล" ในปี 2530 ซึ่งดัดแปลงจากงานชื่อ The Seagull ของ Anton Chekhov (อันตัน เชคอฟ) ชาวรัสเซีย ก็เป็นแนวโศกนาฎกรรมเหมือนกัน
นวล (ใหม่ เจริญปุระ) หญิงสาวที่ต้องการความโดดเด่นจึงฝากตัวเป็นศิษย์กับพิศวาส (ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์) ขณะเดียวกัน เธอได้หลงรักกับเทพ (ลิขิต เอกมงคล) ลูกชายของพิศวาส แต่แล้วนวลได้ทิ้งเทพแล้วไปคบกับทิวากร (แทน จันทรวิโรจน์) ชายที่จะทำให้เธอให้โด่งดังในวงการมายา จนทำให้เทพเสียใจสุดขีด แต่ชีวิตของนวลก็ไม่ได้สวยหรูดั่งที่เธอคาดหวังไว้
พิศวาส ต้องประทะกับเทพ ลูกชายตัวเองซึ่งกำลังหลงรักนวล ลูกศิษย์ตัวเองอย่างเพ้อคลั่ง ทว่าเขากลับพ่ายรักให้แก่ทิวากร หนุ่มใหญ่ซึ่งเข้ามาพร้อมข้อเสนอปั้นนวลเป็นดารา เมื่อเธอจากไปกับทิวากร เทพจึงหันไปพึ่งเหล้าใช้ชีวิตเสเพล แต่ยังมีแม่และเพื่อนๆ ช่วยเหลือจนเทพตั้งตัวได้ ขณะที่นวลกำลังบอบช้ำจากวงการมายาและซมซานกลับมาหาเขา
งานจากต่างประเทศจึงต้องหยุดลงแต่นั้น ! มาอีกทีก็ อุโมงค์ผาเมือง กับ มายาพิศวง ! แต่ละครเวทีก็ยังมีอยู่ตามวาระ ...

ฉันผู้ชายนะยะ จากบทละครบรอดเวย์เรื่อง "The Boys in the Band"

ในปี 2530 พูนทรัพย์ได้ทำเป็นหนัง "ฉันผู้ชายนะยะ" กำกับการแสดงโดย หม่อมน้อย เป็นงานภาพยนตร์แนวคอมมาดี ที่ไม่ใช่แนวโศกนาฎกรรม อย่าง "เพลิงพิศวาสและนางนวล" ที่หม่อมเคยทำมา พระเอกของเรื่องคือ ลิขิต เอกมงคล เช่นเคย

"ฉันผู้ชายนะยะ" โด่งดังมากและเคยเป็นละครเวทีของ เสรี วงษ์มณฑามาก่อน โดยดัดแปลงมาจากบทละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง "The Boys in the Band" ของ Mart Crowley (มาร์ท ครอว์ลีย์) มาเป็นละครเวทีที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ ประสบความสำเร็จมาก พระเอกของละครเวทีคือ สันติสุข พรหมศิริ ในช่วง 6 เดือนเปิดการแสดงมากถึง 200 รอบ แถมเสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบบ่าย จากนั้นได้สัญจรไปต่างจังหวัด และยังมีการทำพ็อเก็ตบุ๊กส์ บทละคร "ฉันผู้ชายนะยะ" ขาย โดยสำนักพิมพ์ ธนบรรณ หน้าปกคือ บรรดานักแสดงละครเวที!

ปรัชญาชีวิต จาก คาลิล ยิบราน

เรื่องนี้ เป็นละครเวที ! ที่ใช้ตึกร้างใกล้ศูนย์ศิลปะแสงอรุณ ซอยศึกษาวิทยา สาธรเหนือเป็นโลเกชั่น 
ปี 2535   คณะละครสองแปด ได้จัดละครเพลงชื่อ "ปรัชญาชีวิต" (The Prophet) ต้นฉบับเป็นผลงานกวีนิพนธ์ของ คาลิล ยิบราน กวีและนักเขียนชาวเลบานอน ผลงานเรื่องนี้ ตีพิมพ์มาแล้วถึง 40 ภาษาทั่วโลก นับเป็นกวีที่มีผลงานขายดีตลอดกาล รองจากเชกสเปียร์ และเล่าจื้อ เท่านั้น ฉบับถอดความภาษาไทยที่รู้จักกันดี เป็นของ ดร. ระวี ภาวิไล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2549

ละครเวทีเริ่มเมื่อ 19.00 น. เมื่อท้องฟ้ามืด เหล่านักแสดงจะคลุมกายด้วยผ้าผืนเดียว เดินไปมาบนตึกร้าง มีแสงเทียนช่วยการนำทาง จัดแสดง เมื่อ 14,15,22,23 กุมภาพันธ์ 2535 อำนวยการแสดง โดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง, กำกับการแสดงโดย หม่อมน้อย และประพันธ์ดนตรีโดย "จ๋าย" จำรัส เศวตาภรณ์ นำแสดงโดย ศรันยู วงษ์กระจ่าง , รวิวรรณ จินดา (สลับกับสินจัย) , รังสิมา กสิกรานันท์ ทั้งยังได้สัญจรไปแสดงที่ เชียงใหม่สปอร์ตคลับ, ม.ขอนแก่น อีกด้วย

บทเพลงปรัชญาชีวิต เริ่มจาก เกิร่น – ความรัก – ความปรารถนา, บุตร, การบริจาค, การงาน, เครื่องนุ่งห่ม, อาชญากรรมและทัณฑกรรม , ความปวดร้าว, การสอน, มิตรภาพ, พูดคุย, ความงาม, ความตาย และ เพลงบรรเลง ปรัชญาชีวิต

"ละครออนไลน์" ได้นำเสียงการแสดงละครเวทีชุดนี้มาลงให้ฟังเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อการศึกษา





ด้านละครเวทีอื่นๆ นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ยังมี
IMPROMPTU (2520) - แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
LES MALENTANDU (2524) - แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ONE FLEW OVER THE CUCKOO’S NEST (2530) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
ผู้แพ้ผู้ชนะ (2532), พรายน้ำ (2533), ราโชมอน (2534) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
แฮมเล็ต เดอะ มิวสิเคิล (2538) - แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ

"พิมภรณี" : ช่างมันฉันไม่แคร์ ผู้หญิงก้าวหน้าที่มีบาดแผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

คืนหนึ่งในปี 2529 วิสูตร พูลวรลักษณ์ มาชมละครเวที "เทพธิดาบาร์21" ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ และขอนัดทานข้าวกับหม่อมหลังละครเลิก ! ชวนหม่อมทำหนังด้วย หม่อมน้อยจึงเขียนบทภาพยนตร์ "ช่างมันฉันไม่แคร์" ให้ ! ระหว่างที่เตรียมงานโปรดักชั่นควบคู่กันไปจนเกือบแล้วเสร็จ เมื่อวิสูตรได้อ่านบท "อย่างอื่นยอมหมด ยกเว้นซีน 6 ตุลาคม"!

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การสังหารหมู่นักศึกษา-ประชาชนกลางเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ !

หม่อมน้อย ยืนยันว่า แม้จะเป็นซีนสั้นๆ แต่สำคัญมาก ยอมไม่ได้จริงๆ เพราะไม่เช่นนั้น "พิมภรณี" นางเอกของเรื่องจะลอยๆ ไม่มีเหตุผล! เพราะ พิมภรณี คือตัวแทนของปัญญาชนในยุคนั้น และเหตุการณ์นั้นทำให้เธอมีแผลในใจ ! วิสูตรและหม่อมโบกมือจากกันด้วยดี หม่อมจึงหอบหนังเรื่องนี้ ไปเปิดกล้องทันทีที่พูนทรัพย์โปรดักชั่น นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล , สินจัย หงษ์ไทย ฉายในปี 2529

เนื้อเรื่องว่า พิมภรณี อดีตนักศึกษาผู้มีบาดแผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่กลายมาเป็นเจ้าแม่แห่งวงการโฆษณา และบังเอิญได้พบกับ สมหวังหรือเบิร์ด หนุ่มต่างจังหวัดที่เธอชักชวนให้มาเป็นนายแบบโฆษณา ความซื่อและจริงใจของเขาได้เข้ามาเติมเต็มคุณค่าบางอย่างในชีวิตที่พิมภรณีโหยหา โดยไม่รู้ว่าเขามีชีวิตอีกด้านหนึ่งเป็นชายขายบริการในบาร์ ความใกล้ชิดทำให้ทั้งคู่ค่อย ๆ รู้สึกดีต่อกัน แต่ความสัมพันธ์นี้ไม่เป็นที่พอใจของคนรอบข้าง โดยเฉพาะ คมสัน นักธุรกิจผู้ร่ำรวย ซึ่งอดีตเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่หลงรักเธอ พาเธอหนีออกจากธรรมศาสตร์ในวันหฤโหด ไปได้เสียกันที่เกาะเสม็ด หลายปีต่อมา คมสัน กลายเป็นนายทุน ! พยายามข่มขืนเธออีกครั้ง เรื่องนี้ยากที่พิมจะรับได้ และการเปิดโปงเบื้องหลังของผู้ชายขายตัวอย่างเบิร์ดในตอนจบ พิมภรณี กางร่มเดินฝ่าสายฝนไปรับเบิร์ดซึ่งนั่งคุดคู้หนาวสั่นด้วยสายฝนที่กองขยะ ! "กลับบ้านเราเถอะ" ....

จนเมื่อเริ่มเปิดแอ๊กเซ็กท์ ช่วงแรกๆ บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ต้องกำกับฯละครโทรทัศน์สลับกับ ยุทธนา มุกดาสนิท แม้จะสลับกันทำงาน แต่งานหนักมาก ต้องหาผู้กำกับฯเพิ่ม ก็มาทาบทาม "หม่อมน้อย" ซึ่งบอกว่า ถ้าจะทำต้องเป็นเรื่องที่รักมากๆ อย่าง "ช่างมันฉันไม่แคร์"! คำตอบที่ได้คือ งั้นทำเลย !

ความจริง ช่วงนั้นมีทั้งงานสอน เตรียมละครเวที "ปรัชญาชีวิต" และละครโทรทัศน์ต้องทำต่อเนื่องใช้เวลานานพอสมควร จึงไปคุยกับ รัศมี เผ่าเหลืองทอง ซึ่งเธอว่า "ง่ายเลย เรียกค่าตัวแพงๆ ตั้งเงื่อนไขเยอะๆ" เช่น ค่าตัวต้องเท่านี้ ต้องมีเงินอยู่ในบัญชีเท่านี้ เพื่อความสะดวกในการทำงานต้องมีออฟฟิศส่วนตัว ทั้งหมดที่ว่าไป หม่อมคิดว่ายังไงก็รอด ! หนึ่งอาทิตย์ถัดมา "ข้อเสนอทุกอย่างทำให้หมดแล้ว ในที่สุด หม่อมต้องมากำกับละครทีวี เรื่อง "ช่างมันฉันไม่แคร์" ทางช่อง5 นำแสดงโดย สินจัย คนเดิมเจ้าเก่า และ สามารถ พยัคฆ์อรุณ บทเพลง ก็ให้ "วสันต์ โชติกุล" มารับไม้ต่อจาก "สุรชัย จันทิมาธร" ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์

นี่คือ เสี้ยวหนึ่งในชีวิตการทำงานของ "หม่อมน้อย" หม่อมหลวงพันธ์เทวนพ เทวกุล ! ที่ "ละครออนไลน์" กรองมาให้อ่านกัน....

ภาพบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต

สรุปผลงาน หม่อมน้อย

"ผู้กำกับฯ" ได้แก่

เพลิงพิศวาส (2527)
ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529)
ฉันผู้ชายนะยะ (2530)
นางนวล (2530)
เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532)
ความรักไม่มีชื่อ (2533)
มหัศจรรย์แห่งรัก (2538)
อันดากับฟ้าใส (2540)
ชั่วฟ้าดินสลาย (2553)
อุโมงค์ผาเมือง (2554)
จัน ดารา ปฐมบท (2555)
จัน ดารา ปัจฉิมบท (2556)
แผลเก่า (2557)
แม่เบี้ย (2558)
Six characters มายาพิศวง (2565)

ละครโทรทัศน์ ได้แก่

มายาสีเงิน (2524)
ละครโรงเล็ก "เดอะผับ" (2531)
เทพธิดาบาร์ 21 (มินิซีรีส์ 2533)
ช่างมันฉันไม่แคร์ (2536)
แผ่นดินของเรา (2539)
ซอยปรารถนา 2500 (2541)ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง A Streetcar Named Desire ของ Tennessee Williams นักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกัน สมัยนั้น คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ บอกหม่อมน้อยว่า "หม่อมน้อยขา ตลาดกว่านี้ได้ไหมคะ พี่เชื่อว่า หม่อมน้อยทำตลาดก็ไม่เหมือนคนอื่นหรอกค่ะ" แต่หม่อมน้อยยืนยันว่า แม้จะชอบกินส้มตำ แต่จะให้ตำสู้คนอีสาน...คงอร่อยสู้ไม่ได้ !
ปีกทอง (2542)
เริงมายา (2542)
ลูกทาส (2544)
คนเริงเมือง (2545)
ทะเลฤๅอิ่ม (2546)
สี่แผ่นดิน (2546)
ในฝัน (2549)
ศรีอโยธยา (2560)

ละครเวที ได้แก่

ALL MY SON (2517) - แสดงที่หอประชุม A.U.A
บัลเลต์พระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” (2518) - แสดงที่โรงละครแห่งชาติ
The Lower Depths (2517, 2518) - แสดงที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ
IMPROMPTU (2520) - แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
LES MALENTANDU (2524) - แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เทพธิดาบาร์ 21 (2529) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
ONE FLEW OVER THE CUCKOO’S NEST (2530) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
ผู้แพ้ผู้ชนะ (2532) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
พรายน้ำ (2533) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
ราโชมอน (2534) - แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง
ปรัชญาชีวิต (2531-2533) - แสดงที่ตึกร้าง บ.แปลนอคิวเท็ก, เชียงใหม่ สปอร์ตคลับ, ม.ขอนแก่น
พระผู้เป็นดวงใจ ของโรงเรียนสวนจิตรลดา (2529) - แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ
แฮมเล็ต เดอะ มิวสิเคิล (2538) - แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

มายาพิศวง

ตัวละครทั้ง 5 (เขมนิจ จามิกรณ์, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร, ภคพล ตัณฑ์พาณิชย์, ฟลอร่า มัสซาโร)

ตัวละคร +1 (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์)

Six Characters in Search of an Authorของ Luigi Pirandello

อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ผู้แปลบทละคร

ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ สนพ. อิตาลี

อุโมงค์ผาเมือง

ภาพยนตร์ ราโชมอน

ราโชมอน

หม่อมน้อย มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

ยุทธนา มุกดาสนิท (และจารุณี สุขสวัสดิ์)

ภาพยนตร์ เทพธิดาบาร์21 ของยุทธนา มุกดาสนิท

คนไม่มีเงา ซึ่งมีเรื่อง เกียรติโสเภณี แปลโดย ภราไดย สุวรรณรัฐ ภาพปกคือ ฌอง ปอล ชาร์ตร์

The Respectful Prostitute หรือ เกียรติโสเภณี

ลิขิต เอกมงคล - วันทิพย์ ภวภูตานนท์ จากละครเวที เทพธิดาบาร์21 ของหม่อมน้อย ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์

เทพธิดาบาร์ 21 The recital ม. หอการค้า

ปฐมพงษ์ สิงหะ , วาสนา สิทธิเวช พระ-นางจากละครช่อง 3 เรื่อง มายาสีเงิน

ปาริชาติ บริสุทธิ์ ผู้จัดละครฯ

วิมานมายา  ที่ทวีป วรดิลก แปลจาก Distant Dream ของ ขวายา อาหะหมัด อับบาซ

เพลิงพิศวาส หนังเรื่องแรกของหม่อมน้อย

เพลิงพิศวาส หนังเรื่องแรกของหม่อมน้อย

ลิขิต เอกมงคล

วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

ฉากรักของ ปรารถนา ดารินทร์และธนันท์ แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงในเรื่อง

Desire under the Elms ของ Eugene O’Neill (ยูจีน โอนีล)

นางนวล

ลิขิต เอกมงคล-ใหม่ เจริญปุระ

ใหม่ เจริญปุระ-ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์

The Seagull  ของ Anton Chekhov (อันตัน เชคอฟ)

ฉันผู้ชายนะยะ หนังของพูนทรัพย์ หม่อมน้อยกำกับ

นักแสดง ฉันผู้ชายนะยะ ฉบับภาพยนตร์

The Boys in the Band  ของ Mart Crowley (มาร์ท ครอว์ลีย์)

บทละครเวที ฉันผู้ชายนะยะ แปลและดัดแปลงโดย เสรี วงษ์มณฑา หน้าปกเป็นนักแสดงในละครเวทีที่มณเฑียรทองเธียเตอร์

ศรันยู วงษ์กระจ่าง ในบท อัลมุสตาฟา จากละครเพลง ปรัชญาชีวิต คณะละครสองแปด

รัศมี เผ่าเหลืองทอง อำนวยการแสดง

The Prophet ของ คาลิล ยิบราน

ปรัชญาชีวิต ถอดความภาษาไทย โดย ระวี ภาวิไล

ช่างมันฉันไม่แคร์

สินจัย หงษ์ไทย กับบท พิมภรณี หญิงก้าวหน้าผู้มีบาดแผลจาก 6 ตุลา

ลิขิต เอกมงคล - สินจัย หงษ์ไทย

ช่างมันฉันไม่แคร์ ละครโทรทัศน์ที่หม่อมน้อยร่วมงานกับแอ๊กเซ็กท์




กำลังโหลดความคิดเห็น