xs
xsm
sm
md
lg

ปัดฝุ่น "เทพธิดาบาร์ 21"! (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัดฝุ่น "เทพธิดาบาร์ 21"!



"เทพธิดาบาร์ 21 The recital" กลับมาในรอบ 28 ปี แม้ว่า จะเป็น ฉบับทดลองของนักศึกษา สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ตาม มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเป็นละครเพลงเต็มรูปแบบในปีหน้า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม
ผู้สนใจชม "เทพธิดาบาร์ 21 The recital" ใน 4 รอบสุดท้าย สามารถสอบถามรายละเอียด สำรองที่นั่งที่ โทร. 089-227-7772

บาร์ 21 ใช้สตูดิโอห้องหนึ่งในอาคาร 7 ชั้นที่ 11 ของคณะ จำลองเป็นบาร์ อย่างที่บทละครเวทีของหม่อมน้อยตั้งใจไว้

ผู้กำกับละคร "เทพธิดาบาร์ 21" เวอร์ชั่นนี้คือ "บิ๊ก" ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีผลงานทั้งกำกับการแสดง, เขียน - ดัดแปลงบท สารพัด ก้าวแรกของวงการศิลปะ เริ่มต้นทำงานกับคณะละครสองแปดตั้งแต่ปี 2529 เป็นเจ้าของบทละครโทรทัศน์รางวัลเมขลา จากเรื่อง "เจ้ากรรมนายเวร" .... และอื่นๆมากมาย ชนิดที่บรรยายไม่ถ้วน

การหยิบเอาละครเพลงเรื่องนี้ มาทำในครั้งนี้ เพราะนักศึกษารุ่นนี้มีความถนัดในด้านการร้องเพลง จึงคิดว่า น่าจะต่อยอด เพื่อพัฒนาสนับสนุนศักยภาพของนักศึกษากลุ่มนี้ และถ้าจะเป็นบรอดเวย์มิวสิคัลก็จะอาจจะยากเกินไป สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน แม้ว่า มิวสิคัลของไทยจะมีน้อย ! แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ภายใต้เรื่องราวความเป็นไทยนั้น มีกลิ่นอายของต่างประเทศแฝงอยู่ นั่นคือ "เทพธิดาบาร์ 21"

ปี 2521 ยุทธนา มุกดาสนิท กำกับ "เทพธิดาบาร์ 21" (จันทรา ชัยนาม, สุเชาว์ พงษ์วิไล) เขียนบทร่วมกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ส่งผลให้ "จันทรา ชัยนาม" นักแสดงนำหญิง และ "ไกรลาศ เกรียงไกร" นักแสดงประกอบชาย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง

ปี 2529 หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หยิบเอา บทละครเวทีที่เป็น ออริจินัล ของตัวเองมาเป็นละครที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ นำแสดงโดย วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม และลิขิต เอกมงคล

ปี 2534 เกรียงไกร อุณหะนันท์ทำป็นมินิซีรีส์ 6 ตอนจบให้ช่อง 3 นำแสดงโดย ศรันยู วงษ์กระจ่าง และ นรินทร ณ บางช้าง

และครั้งนี้ ... เทพธิดาบาร์ 21 The recital มณีรัตน์ ใจแก้วทิ รับบท "รินดา วงศ์ซื่อ"

ความหลังที่มณเฑียรทองเธียเตอร์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 ขณะที่มณเฑียรทองเธียเตอร์กำลังจัดแสดงละครเรื่องนี้ "บิ๊ก" ดำเกิงทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรกับโปรดักชั่นของละครเรื่องนี้ ก็มักจะแวะไปถี่ๆ จน "โหน่ง" วสันต์ อุตมะโยธิน ตั้งฉายาเรียก "อัศวพักตร์" ซึ่งหมายถึง "หน้าม้า" นั่นเอง ละครเรื่องนี้ เป็นละครที่ได้รับความนิยม จัดแสดงยาวนานที่โรงละครแห่งนี้ จนเมื่อการแสดงเสร็จสิ้น ... สิ่งที่เขาฉวยไว้ในคราวนั้นคือ "บทละครเวที" และ คาสเซ็ทเพลงประกอบละครเรื่องนี้ ! .... แล้วก็ซุกไว้ในมุมหนึ่งของบ้าน

33 ปีผ่านไป ... เมื่อตัดสินใจว่า อาจจะทำละครเพลงเรื่องนี้ ถ้าเจอบทและเพลง !

บทละครเวที กระดาษคราบเหลือง-กรอบ ตัวพิมพ์เลือนลางตามกาลเวลา ก็พอจะเดาได้ หลังเจอบท ! ตามด้วยการค้นหาตลับเทปคาสเซ็ท ...
"เจอเทปคาสเซ็ทอยู่ชุดนึง สติ๊กเกอร์หลุดหมดแล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่า ใช่ เพลงประกอบละครเวทีบาร์ 21 หรือเปล่า ปรากฏว่า ใช่ เลยเอามาแปลงไฟล์"

วัตถุดิบที่เป็นหัวใจของละครเวทีเรื่องนี้ ... เจอแล้ว ... แต่ก็ไม่ง่าย
"ผมยังตามคุณธารีพันธ์ ทีปะศิริ ผู้ประพันธ์ทำนองไม่เจอ สิ่งที่ผมต้องการมากคือ สกอร์เพลง หรือตัวโน้ต ไม่มีใครเก็บไว้เลย ทีมงานในสมัยนั้น ไม่มีใครมี ผมมีเพียงคาสเซ็ทม้วนเดียวที่มีเพลงครบทุกเพลง ซึ่งอาจารย์ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ จากดุริยางคศิลป์ มหิดล เป็นคนแกะ ทำสกอร์ดนตรี เรียบเรียงใหม่ออกมาให้ แม้ว่าไม่ไม่เต็มร้อยเท่าออริจินัล ก็ถอดออกมาได้เยอะ ประมาณ 97-98 เปอร์เซนต์ แล้วได้น้องๆมัธยมจากวัดสุทธิมาช่วยแกะ เล่นในตอนแรก"

วันที่เขามีโอกาสพบเพื่อขอลิขสิทธิ์จาก "หม่อมน้อย" พันธุ์เทวนพ เทวกุล ในฐานะศิษย์กับอาจารย์ ยอมรับว่า ได้ข้อคิดจากหม่อมหลายอย่าง
"ทำเมื่อไหร่ล่ะ ?" หม่อมน้อยถาม
"บิ๊ก" ดำเกิง บอกว่า ราวเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ปีหน้า ที่มาขอแต่เนิ่นๆ เพราะว่า นักศึกษาที่นี่ไม่เคยทำมิวสิคัล จึงต้องทำการศึกษา ทดลอง อะไรอีกพอสมควร
การทำในคราวนี้เพื่อดูปฏิกิริยาตอบรับ ....
"อยากรู้ว่า การทำคราวนี้มี Feedback ข้อเสนอแนะ ข้อวิจารณ์จากผู้ชมอย่างไร เรียนรู้อะไรจากการทำคราวนี้ แล้วใช้เวลาที่เหลือในการพัฒนาบท"

บางบริบทเปลี่ยนไป
"เธอเปลี่ยนสิ บางเรื่อง - บางเพลง อาจจะเชยเกินไปสำหรับยุคนี้ หม่อมน้อยไม่ได้บอกร้อยเปอร์เซนต์ เพียงแต่ตั้งคำถามชวนให้เราคิด"
"ละครออนไลน์" ซึ่งเคยผ่านตากับเทพธิดาบาร์ 21 ทุกเวอร์ชั่น เห็นบางบริบทที่เปลี่ยนไปในเวอร์ชั่นทดลองนี้

1. ชื่อพาร์ทเนอร์ ปรับตามยุคสมัย (โรซี่ - ศุภาพิชญ์ กล่ำเมือง, ชีสเค้ก - วราภรณ์ แดงทอง, ชินดี้ - พรพัขรนันท์ เพียงไธสง, ปารีนา - วีรวรรณ ภู่รติศัย, นีออน - นิศารัตน์ มั้นอินทร์, แคนดี้ - สุภาวรรณ บุญปรีชา, หลินจือ - ศศิธาร มั่นเจริญพร) ไม่ใช่ชื่อ แจ๊ด, แอน, จี๋,แดง, อร, น้ำฝน อย่างในอดีต

2. ในอดีต "คำสิงห์" (ไกรลาศ เกรียงไกร) แรงงานจากภาคอีสาน วันนี้ หม่อมน้อยว่า แรงงานไทยในปัจจุบันคือ คนต่างชาติ จึงมีการปรับตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นเรื่องของ "แรงงานต่างด้าว" ชาติพม่า "อองคะยอ" (พสุเทพ กาญจนศรีศิลป์)! พร้อมๆกับปรับเพลง "เมืองหลวง" เพื่อความเหมาะสม "เมื่อฉันเป็นเด็กน้อย แม่คอยบอกฉันเรื่อยมา เมืองไทยเจริญนักหนา โตขึ้นมาก็เลยอยากไปทำงาน ... "
ตามเรื่องเดิมคือ คำสิงห์และรอด แรงงานจากภาคอีสาน จับรถไฟ เดินทางมาหางานที่กรุงเทพฯ เขาและเพื่อนช่วยเหลือรินดาไว้ขณะถูก "อาคม" ลูกชายผู้มีอิทธิพลลวนลาม รอดถูกยิงตาย คำสิงห์หนีและถูกจับได้ รินดาต้องเป็นพยานปากเอกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

3. เพลง "หมาป่ากับลูกแกะ" เรื่องราวผู้อ่อนแอตกเป็นเหยื่อของผู้แข็งแรง ! เป็นโชว์ของบาร์ 21 (ร้องแสดงโดย เจ๊จิ๋มใหญ่มาก - จรรยา ธนาสว่างกุล ในบท "ลูกแกะ" , ทอมรับรถ - อมรรัตน์ เนตรมุกดา ในบท "หมาป่า") สอดรับเรื่องที่ทนงที่กำลังพยายามข่มขู่ เกลี้ยกล่อมให้รินดาให้การเท็จช่วยลูกพี่ลูกน้องอย่าง "อาคม"
กรณีนี้ หม่อมน้อย ตั้งคำถามว่า เพลงนี้ปรับเป็นอะไรได้บ้าง ? "กบเลือกนาย" ได้มั้ย หรืออื่นๆ พร้อมกับเอ่ยชื่อ ยกตัวอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียงกับเรื่องพัวพันเป็นตัวอย่าง ด้วยเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปจึงคงเพลงเดิมไว้

4. ในบทละคร "ไม่มีฉากย้อนอดีต" ที่รินดาไปงานรับปริญญาของแฟนที่เธอส่งเสียให้เรียนจนจบที่เชียงใหม่ ! แต่ "บิ๊ก" ดำเกิง นำฉากนี้ในภาพยนตร์เข้ามาขยายเรื่อง เพื่อจะได้ใช้เพลง "จดหมายรัก" ที่ไพเราะมาก (ต้นฉบับ ขับร้องโดย ศรีไศล สุชาติวุฒิ) มาใส่ในละครเวอร์ชั่นนี้

5. เนื่องจาก ทนง ยศเกรียงไกร (พระเอก) ตามบทเดิมทั้งภาพยนตร์และละครเวทีไม่มีเพลงร้องเลย .... เวอร์ชั่นนี้ จึงเอาเพลงเดิม อย่าง "เงิน" มาใส่ปากพระเอก ขณะเดียวกัน ก็ประพันธ์เพลงใหม่ อย่าง "รัก" เพื่อให้พระ (กิตติธัช แก้วอุทัย) - นาง (มณีรัตน์ ใจแก้วทิ) และ อองคะยอ(พสุเทพ กาญจนศรีศิลป์) ร้อง เป็นเพลงแบบร้องย้อน
"เพลงระหว่างพระเอก นางเอกในช่วงท้าย และให้อองคะยอ ตัวพม่าร้องบ้าง เราใช้เพลงให้ชาย 2 คนบอกรักเหมือนกัน แต่ปฏิกิริยากับผู้หญิงคนนี้ต่างกัน คนนึงดูน่าสงสาร ดูว่าน่าจะเป็นคนดี ส่วนอีกคนคือ คนที่มาเอาผลประโยชน์ สองคนร้องเพลงเดียวกัน แต่ปฏิกิริยาของผู้ฟัง ผู้หญิงคนเดียวกัน ต่างกันเพราะอะไร"

6. แต่เดิมที่คงไว้คือ ฉาก Fast for ward ที่ปรากฏ คือ ฉาก สส. เกียรติภูมิ ยศเกรียงไกร (กิตติพงศ์ อินทรัศมี) ที่ใช้เล่ห์ลมปาก หลอกล่อ ชี้บอกรินดาว่า ถ้าเลือก "อองคะยอ" พวกแรงงานจรจัดสกปรก ผลจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเลือก "อาคม" มีชาติตระกูล มีฐานะ การศึกษา เธอจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพธิดา
"ลักษณะแบบนี้ ผมว่า ครั้งหน้ามันน่าจะมีอีกในบางตรงอีก"

7. เวอร์ขั่นนี้ เกียรติภูมิ ยศเกรียงไกร นอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจระดับชาติแล้ว ยังเป็นเจ้าของ "พรรคการเมืองชื่อ เสรีภาพใหม่ - New Freedom Party"
"หม่อมน้อยแนะนำว่า ตัวคุณเกียรติที่เป็นนักการเมือง ครั้งหน้าลองเป็นผู้หญิงสิ จะมีอะไรมั้ย เงื่อนไขบางอย่าง อาจจะพัฒนา ขยายขอบเขต การพูดถึงสังคมเราได้มากขึ้นหรือเปล่า"

"มีประเด็นที่น่าสนใจมากคือ หม่อมน้อยตั้งคำถามมาว่า ตกลงตัวนางเอก คือ รินดา วงศ์ซื่อ หรือตัวทนง พระเอกของเรื่อง ใครเป็นโสเภณีกันแน่ !? เพราะโสเภณีตามความหมายทั่วไปคือ การใช้เสน่ห์ยั่วยวนเพื่อเอาประโยชน์จากลูกค้า ในเรื่องนี้ ตัวพระเอกรู้ว่า นางเอกชอบ เค้าใช้เสน่ห์ตรงนี้ในการเรียกร้องผลประโยชน์จากนางเอก แล้วเรื่องนี้ ใครเป็นโสเภณีกันแน่!"

รอบแรก ... "เม้าท์" สุดา ชื่นบาน นักแสดง - นักร้อง ใน "เทพธิดาบาร์ 21" เวอร์ชั่น ภาพยนตร์ ให้เกียรติมาชมละครเรื่องนี้ .... เช่นเดียวกับ "จันทรา ชัยนาม" ที่รับปากแล้ว
"ทั้งหม่อมน้อยและพี่หง่าวบอกดูปีหน้าก็แล้วกัน ดูเวอร์ชั่นเต็ม เพราะอันนี้ เด็กๆทดลองกัน" "บิ๊ก" ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์กล่าวปิดท้ายกับ "ละครออนไลน์"

อ่านข่าวต่อเนื่อง ย้อนรอยมิวสิคัล 'บาร์21' >> https://mgronline.com/drama/detail/9620000086398





















กำลังโหลดความคิดเห็น