ย้อนรอยมิวสิคัล 'บาร์21'
สกู๊ปชิ้นนี้ 'บาร์21' ยุคช่อง 3 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ส่วน "ปริทรรศน์-บันเทิง" หน้า 64 -65 ประจำวันที่ 14-20 มกราคม 2534 .... หรือ 28 ปีล่วงมาแล้วเพื่อให้เห็นพัฒนาการละครของช่อง 3 ในช่วงหนึ่งที่ละครไทยบุกเบิกความหลากหลาย มีทางเลือกให้ผู้ชมเลือกเสพได้มากกว่าแนวดรามา ตบตี, พีเรียดย้อนยุค อย่างที่นิยมกันในปัจจุบัน
แต่ความจริงแล้ว ... เรื่องราวของเทพธิดาบาร์ 21 ย้อนไปไกลกว่าปี 2534 ...
..........
จากงานแปลเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของ "ภราไดย สุวรรณรัฐ" - -สู่บทละครวิทยานิพนธ์ ปัญหาที่ทำให้ "ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล" รีไทร์ตนเอง - - ผ่านภาพยนตร์คุณภาพของ "ยุทธนา มุกดาสนิท" เป็นละครเวทีวิกมณเฑียรทองที่เล่นยาวนานที่สุด -- ล่าสุดมาปรากฏโฉมในช่อง 3
บาร์ 21" ยุคหุ้นส่วนใหม่เปิดกิจการอีกครั้งที่ห้องส่งไทยทีวีสีช่อง 3 ละครเพลงสมัยใหม่แนวมินิซีรีส์ 6 ตอนจบ ต้อนรับนักท่องราตรีเฉพาะคืนวันอาทิตย์ "ปริทรรศน์-บันเทิง" เสนอ 6 ฉากหลากมิตินำเสนอ ย้อนรอยแรงบันดาลใจของเจ้าของบาร์อย่าง "ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล" พร้อมหุ้นส่วนใหญ่ "เกรียงไกร อุณหะนันท์"
สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้าบาร์มาพบพาร์ทเนอร์ไม่สวยแต่รวยน้ำใจงามอย่าง "รินดา วงศ์ซื่อ"
ฉากที่ 1 : เย็น ร้อน นุ่มนวล หรือเซ็กซี่
ค่ำแล้ว ถนนหลายสายในมหานครหยุดหายใจ ผู้คนร้างเงียบ...
แต่สำหรับมุมถนนแห่งนี้มีลักษณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ชีวิตของเขาและเธอทั้งหลายเพิ่งจะเริ่มต้น เสียงเพลงคลอเบาเริ่มกระแทกจังหวะลงอย่างหนักหน่วง มันดังลอดช่องประตูมาถึงถนนด้านนอกที่ผู้คนเดินขวักไขว่
"เชิญครับ... เชิญมาเที่ยวบาร์ 21 ยุคปรับปรุงใหม่ครับ"
เสียงดอร์แมนหนุ่มหน้าใสกังวาน สุภาพผิดกับบาร์อื่นๆ จน "ปริทรรศน์-บันเทิง" ต้องแวะไปทักทาย ทันทีที่เท้าก้าวแรกเหยียบพื้นบาร์ เพลงกระหึ่มนั้นก็ถึงคำร้องที่ว่า
"หากคุณมีทุกข์... ทุกข์... เราช่วยคุณได้ หากเมียคุณร้าย...ร้าย... เราผ่อนคลายให้ หากนายคุณด่า...ด่า .... อย่ามัวหัวเสีย ... มา... มา...มาดื่มเหล้าดื่มเบียร์คลอเคลียเคล้าคลึงให้ลืม...ให้ลืม... ให้ลืม ไม่ว่าคุณหนุ่ม... แก่... ขี้ริ้ว หรือรูปหล่อ ไม่ว่าชอบเย็น ... ร้อน ... นุ่มนวลหรือเซ็กซี่ หากว่าคุณเหงา ... เหงา... หายเหงาก็คราวนี้ ในโลกของเราจงตักตวงด้วยตัวของคุณเอง ในโลกของเราจงเป็นตัว... เป็นตัวของคุณเอง"
... ... ...
"บาร์ 21 นี่หรือคะ เปิดมาตั้งนานแล้วละคู้ณ ปิดปรับปรุงไป 2 รอบ ตอนนี้เปิดครั้งที่ 3 แล้วนะคะ เด็กๆที่นี่ก็หมุนเวียนเปลี่ยนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ" พาร์ทเนอร์สาวใหญ่คนหนึ่งชี้แจงกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"
"ใครเป็นเจ้าของบาร์ล่ะน้องสาว" ผู้มาเยือนทิ้งน้ำเสียงยียวนตามประสาหนุ่มนักเที่ยว
"นั่นไงคะ เดินมาโน่นแล้ว คุณน้อยค่ะ... หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล"
"รินดา วงศ์ซื่อจ๊ะ คุณโหน่งหาตัวอยู่นะ มัวแต่โอ้เอ้อยู่นั่นแหละ ได้เวลาขึ้นเวทีอีกแล้วนะ" เสียงเจ้าของบาร์ เรียกเธอจากโต๊ะของ "ปริทรรศน์-บันเทิง" ไป
เธอลุกลี้ลุกลน ... พูดจาละส่ำ "ค่ะ...ค่ะ...ค่ะ" แล้ววิ่งออกไป แต่เพียง 3-4 ก้าวก็ย้อนกลับมาพูดเสียงกระหืดกระหอบบอกเจ้าของบาร์ของเธอว่า
"งั้นดาฝากแขกกับคุณน้อยนะคะ"
ฉาก 2 : หลังเที่ยงคืนที่บาร์ 21
ดึกดื่นคืนดียวกัน ในขณะที่บาร์จวนปิดแล้ว "ปริทรรศน์-บันเทิง" จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังบาร์ 21 แห่งนี้
หนุ่มร่างเล็กสันทัด สูบบุหรี่จัด ยามเดินเคลื่อนไหวรวดเร็ว พอๆกับคำพูดที่เร็วรัวและดังของเธอ
หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
ผ่านกรอบแว่นฉายลึก ย้อนหลังสู่ความเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเคยมีผลงาน DANCE และละครสมัยใหม่เรื่อง ALL MY SON ของ ARTER MILLER แสดงที่เอยูเอ, THE LOWER DEPTH ของ MAKSIM GORKY แสดงที่โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) งานเลื่องชื่อคือ "ระบำเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด" ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของยุทธนา มุกดาสนิทเรื่อง "ฝนแสนห่า" และเป็นผู้ช่วยเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "ชีวิตบัดซบ" ให้เพิ่มพล เชยอรุณ และเป็นเจ้าของบทดัดแปลง "เทพธิดาบาร์ 21" ( THE ANGELS OF BAR 21)
ร่วมกับไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยการฝึก DANCE และเป็น CREATIVE รายการ MUSIC SQUARE และ ALL STARS VARIETY และเป็นผู้กำกับละครทีวีเรื่อง "มายาสีเงิน" ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตของอินเดียเรื่อง DISTANT DREAM ของ KHWAJA AHMAD ABBAS เพลงประกอบละครทีวีเรื่องนี้คือ "แสงดาวแห่งศรัทธา" ของจิตร ภูมิศักดิ์
ร่วมงานกับทีวีสีช่อง 7 ด้วยละครโรงเล็ก "เดอะผับ"
ผลงานภาพยนตร์โด่งดังคือ เพลิงพิศวาส, ช่างมันฉันไม่แคร์, นางนวล, ฉันผู้ชายนะยะ, เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย, ความรักไม่มีชื่อ
ถือว่าเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีแนวทางการสร้างภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ค่อนและกระเดียดไปทางดรามาติค มีลักษณะเหนือจริง และการดัดแปลงบทประพันธ์จากต่างประเทศมาเป็นบทภาพยนตร์ไทยนั้นก็ประสบผลสำเร็จทุกเรื่อง
ณ วันนี้ ดัดแปลงบท "เทพธิดาบาร์ 21" เป็นครั้งที่ 2 กลับสู่วงการละครเพลงมินิซีรีย์ทางช่อง 3 หลังจากที่เคยดัดแปลงบทเมื่อครั้นที่เป็นหนังใหญ่ของยุทธนา มุกดาสนิท
แม้ว่าเขาจะประสบผลสำเร็จกับ "เทพธิดาบาร์ 21" ทุกครั้งที่ทำ แต่วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ทำให้เขา-ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล เป็นคนไร้ปริญญาอยู่ถึงวันนี้
"ระหว่างซ้อมละครมีปัญหาเล็กน้อยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อย่าให้ผมเอ่ยนะว่าเป็นใคร คิดมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าวิทยานิพนธ์ของพี่ไม่ได้ A จะรีไทร์ พอมีปัญหาขึ้นมา ... ก็ตัดสินใจลาออก เพราะคิดว่า ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ก็พอดีกับหง่าว - ยุทธนา มุกดาสนิท มาขอเรื่องนี้ไปทำหนัง" ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล เปิดเผยกับ "ปริทรรศน์ - บันเทิง"
.....ความช่วงนี้ บางส่วนติดสันเย็บเล่ม ข้อความไม่ชัดเจน ...
"เรื่องนี้มันเก่ามากแล้ว ผมคงไม่พูดอะไรพวกนี้ ผมไม่เคยให้ใครสัมภาษณ์" คณิต ... (ไม่ชัด) อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เรื่อง เทพธิดาบาร์ 21 บอกตัดบทกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"
วิทยานิพนธ์สร้างเพื่อใช้กับละคร.... เฉพาะ เหตุการณ์ถูกจำลองขึ้นในบาร์แห่งหนึ่ง คือคนเที่ยวแอบชมเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ฉะนั้นรูปลักษณ์ที่แปรห้องมณเฑียรทองเธียเตอร์เป็นบาร์ 21 จึงตรงตามวิทยานิพนธ์ไม่ผิดเพี้ยน แต่การทำในรูปภาพยนตร์และละครทีวี จึงมีการปรับให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายของตลาด โดยรักษา .....คงต้นฉบับจากต่างประเทศ
"ผมชอบเสน่ห์ของเรื่องนี้นะ ผมเลือกเรื่องนี้ .... เกียรติโสเภณีของ ฌอง ปอล ชาร์ตที่แปลโดย ภราไดย สุวรรณรัฐ"
ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุลกล่าวพาดพิงถึงสุภาพสตรีคนที่ทั้ง "ดัง" และ "งาม" ในอดีต
ฉาก 3 : ย้อนรอย "เกียรติโสเภณี"
"รับปริญญาเมื่อปี 2516 เพราะฉะนั้นจะแปลช่วงปี 2514 หรือ 2515 " ภราไดย สุวรรณรัฐ เริ่มประโยคแรกกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"
ลูกสาวคนสวยของอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พ่วง สุวรรณรัฐ คนนี้เรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินีจนถึงชั้น ป. 5 จากนั้นมาต่อที่โรงเรียนจิตรลดา กระทั่งจบ ม.ศ. 5 และเอ็นทรานซ์เข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บินไปร่ำเรียนด้านแนะแนวการศึกษาต่อยังต่างประเทศ และกลับมาเป็นอาจารย์แนะแนวและช่วยสอนที่โรงเรียนจิตรลดาอยู่ถึง 12 ปี สมรสกับทินกร หิรัญพฤกษ์ สุขสมตามตำนาน "หนุ่มวิศวะ-สาวอักษร" อยู่นานวัน ... ก่อนจะปิดตำนานหวานแยกทางจากกันเมื่อสี่ซ้าห้าปีมานี้
ณ วันนี้ เธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด ฝ่ายการศึกษา สำนักงานข้าหลวงพาณิชย์ ออสเตรเลีย
ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งสวมเสื้อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ...
ภราไดย สุวรรณรัฐ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับอัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เลือกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และในแขนงวิชาศิลปะการละครนั้นมีวิชาแปลรวมอยู่ด้วย ภายใต้การสอนของอาจารย์นพมาศ แววหงษ์ เธอได้รับการแนะนำหนังสือให้แปลอยู่หลายเรื่อง แต่ท้ายที่สุดก็เลือกงานบทละครของ ฌอง ปอล ชาร์ต นักคิด นักเขียน นักปรัชญาแนวเอ็กซิสตองเชียลิสม์ ชาวฝรั่งเศส
"ตอนที่แปลตอนนั้น ไม่ได้แปลจากต้นฉบับฝรั่งเศส แปลจากภาษาอังกฤษอีกที ตอนนั้นปี 3 ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แตกฉานอะไรมากนัก ศัพท์บางตัวที่เป็นคำหยาบเราก็ไม่เข้าใจ ต้องปรึกษาคนที่รู้ โดยเฉพาะเพื่อนผู้ชาย ถามเค้าว่า ประโยคแบบนี้ พวกพาร์ทเนอร์เค้าด่ากัน เค้าจะพูดอย่างไร ไม่ได้แปลชนิดคำต่อคำ เพราะต้องแปลให้เข้ากับสำนวนไทยด้วย ไม่ได้แปลรวดเดียวจบ เพราะระหว่างที่แปลต้องเรียนวิชาอื่นควบคู่ไปด้วย ก็เลยถือโอกาสแปลไปเรื่อยๆ จนสิ้นปีก็ส่ง ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่า แปลได้ดี และได้ A ในวิชาแปลนี้" ภราไดย สุวรรณรัฐ ย้อนความหลังกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"
ความสนิทสนมระหว่างเธอกับม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล เป็นไปในฐานะของรุ่นพี่-รุ่นน้องร่วมคณะ และมีโอกาสได้ช่วยเหลือกิจกรรมทางศิลปะร่วมกันโดยสม่ำเสมอ วิทยานิพนธ์ของเธอก็มีเขาเป็นกำลังสำคัญอยู่ด้วย
โดยพื้นฐาน ส่วนตัว ภราไดย สุวรรณรัฐ ร่ำเรียนบัลเล่ต์มาตั้งแต่เด็ก ความฝังใจตรงนี้ยังผลให้เธอคิดค้นวิทยานิพนธ์ชื่อ "ครีเอชั่น" ซึ่งมีแต่ท่าเต้นและดนตรีประกอบบอกเรื่องราวการกำเนิดโลก โดยใช้ "อาดัม" และ "อีวา" เป็นตัวเดินเรื่อง ให้สองคนไปเจอทรัพย์สิน กระทั่งเกิดความโลภและเข่นฆ่าระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดก็ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ฉุกคิดถึงคุณธรรมขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสกลับมาเป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรมอีกครั้ง
"เป็นคนแรกเลยที่ทำวิทยานิพนธ์ที่มีแต่ท่าเต้น ธรรมดาคนอื่นจะทำเป็นละคร เค้ามาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แต่จำไม่ได้ว่าน้อยอยู่ในคณะที่เต้นด้วยหรือเปล่า" เธอในฐานะรุ่นพี่คณะกล่าวถึงการช่วยเหลือของรุ่นน้องอย่าง ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ "น้อย"
ภราไดย สุวรรณรัฐ ให้เหตุผลที่เลือกแปล เกียรติโสเภณี ของ ฌอง ปอล ชาร์ตว่า
"คนเขียนเป็นคนที่เข้าใจในสังคมและตัวมนุษย์มาก ฉะนั้นไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร จุดยืนทางคุณธรรมสำหรับชาร์ตแล้ว ไม่เคยเปลี่ยน บทละครเรื่องนี้ไม่มีวันล้าสมัย คนใหญ่โตยังวางอำนาจอยู่ ยังมีอภิสิทธิ์ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ การคอร์รัปชั่นในระบบศาล ยังมีอยู่ เรื่องมันสอนคนได้เยอะเลย"
จากวิชาแปลภายในภาควิชาศิลปะการละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คชื่อ "คนไม่มีเงา" จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดวงกมล เมื่อเดือนตุลาคม 2517 ชลิต แนวพานิชเป็นบรรณาธิการ เป็นการรวบรวมเอางานเขียนของฌอง ปอล ชาร์ต ที่แปลโดยนักแปลหลายคนมารวมไว้ในเล่มเดียวกัน รวมทั้ง "เกียรติโสเภณี" ที่แปลโดย ภราไดย สุวรรณรัฐ ด้วย
ระหว่างการจัดพิมพ์ เป็นช่วงที่เธอกำลังศึกษาปริญญาโทอยู่ต่างประเทศ บุคคลที่เป็นคนกลางเขียนจดหมายไปขอลิขสิทธิ์คือ รัศมี เผ่าเหลืองทอง
"ก็เขียนจดหมายตอบอนุญาตให้มา อยู่ที่โน่นก็ไม่รู้ว่าหนังสือไปถึงไหนแล้ว ทางรัศมีก็ไม่ได้ส่งรูปเล่มมาให้ กระทั่งกลับเมืองไทย ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว วันดีคืนดีก็เดินไปที่ร้านดวงกมล... อุ๊ยตาย... ดีใจจังเลย มีเรื่องของเราในพ็อกเก็ตบุ๊คด้วย ก็เลยซื้อมา 3-4 เล่ม เอาไว้แจกเพื่อนฝูงที่สนิทๆกัน ตัวเองเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว" ภราไดย สุวรรณรัฐเล่าให้ "ปริทรรศน์-บันเทิง" ฟังอย่างชื่นชม
แล้ว "LA PUTAIN RESPECTUEUSE" หรือ "เกียรติโสเภณี" ก็เป็นเรื่องแปลเรื่องเดียวในชีวิตของเธอ...ภราไดย สุวรรณรัฐ--- ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ !
"เรื่องนี้มันดังเพราะว่า น้อยเค้าดูออกว่าจะต้องประยุกต์ออกมาในแง่มุมไหน ไม่งั้นเรื่องนี้ก็ต้องตายอยู่แค่ตัวหนังสือ" ภราไดย สุวรรณรัฐยกความดีให้รุ่นน้องอย่างเต็มใจ
ฉาก 4 : คัดเลือกนางบาร์ 21
บริษัท ยูม่า 1991 จำกัด ที่เกรียงไกร อุณหะนันท์เป็นผู้ดำเนินการผลิตนั้น รับความประสงค์จากไทยทีวีสีช่อง 3 ที่จะผลิตละครเพลงแนวนินิซีรีส์ ครั้นจะลงทุนทำละครเพลงสมัยใหม่ทั้งเรื่องก็ไม่คุ้ม จึงต้องเลือกเอางานเดิมที่มีเพลงประกอบหลักอยู่แล้ว และเมื่อหันกลับมามองภาพยนตร์ไทยแล้ว มีเพียง 2 เรื่องที่ยุทธนา มุกดาสนิททำในแบบดรามาติคและมีเพลงคุณภาพบรรจุไว้ นั่นคือ "เงิน เงิน เฃิน" และ "เทพธิดาบาร์ 21"
แต่ลิขสิทธิ์เพลงในภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" ทั้งหมดอยู่ที่บัตเตอร์ฟลายซาวด์แอนด์ฟิล์ม จำกัด ขณะที่ "เทพธิดาบาร์ 21" ลิขสิทธิ์อยู่กับคนใกล้ตัวเกรียงไกร อุณหะนันท์ทั้งสิ้น
แม้ผลงานเพลงทั้งหมดจะประพันธ์ขึ้นโดยธารีพันธุ์ ธีปะศิริ เพื่อนของ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล แต่ลิขสิทธิ์นี้ก็เป็นของตัวหม่อมเองตั้งแต่เมื่อครั้งที่ให้ประพันธ์ขึ้นเพื่อประกอบละครวิทยานิพนธ์ ส่วนลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์เมื่อครั้งเป็นหนังใหญ่ เป็นของยุทธนา มุกดาสนิทกับรัศมี เผ่าเหลืองทอง ตัวภาพยนตร์เป็นของบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น แต่ครั้นเมื่อกลับมาเป็นละครเวที ลิขสิทธิ์ละครเวทีเป็นของ ม.ล. พันธุ์เทวนพกับโรงแรมมณเฑียรร่วมกัน และไม่ว่าจะเป็นไฟว์สตาร์หรือมณเฑียรก็ล้วนเป็นสถานที่ซึ่งเกรียงไกร อุณหะนันท์เข้านอกออกในโดยสะดวก
ชื่อของทั้ง 2 ค่าย และบุคคลสำคัญหลายคนเมื่ออดีตจึงปรากฏขึ้นเป็นไตเติ้ลของละครอย่างไม่มีปัญหา
"รินดา วงศ์ซื่อ ...ซื่อ...ซื่อ...ซื่อก็ได้ แต่อย่าโง่"
ประโยคนี้มาจากเนื้อเพลงที่ย้ำเตือนใจพาร์ทเนอร์สาวตัวเอกครั้งแล้วครั้งเล่า
วันนี้ "นรินทร ณ บางช้าง" ให้เกียรติรับเชิญเล่นเป็น "รินดา" โสเภณีผู้มีเกียรติ
ขณะที่รินดา วงศ์ซื่อเมื่อวันวานคือ "จันทรา ชัยนาม" และ "วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม" อย่างที่รู้กันอยู่
ยุคนั้น รูปลักษณ์ของจันทรา ชัยนามคือ พาร์ทเนอร์สาวของบาร์ 21 ย่านพัฒนพงศ์ เธอแสดงภาพยนตร์เพียยงเรื่องเดียวก็คว้า "ตุ๊กตาทอง" จากบทบาทนี้ไป มาถึงคราวของวันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เธอก็คว้ารางวัล "หน้ากากทองคำ" ที่วิกมณเฑียรทองไปครอง ในฐานะดาราแสดงนำฝ่ายหญิงเช่นกัน
"เทพธิดาบาร์ 21" ถือเป็นละครเรื่องเดียวที่ได้รับช่วงเวลาให้แสดงถึง 2 ครั้ง หากรวมเวลาแสดงทั้งหมดก็มากกว่าละครเรื่องอื่นๆที่เคยเปิดการแสดงที่มณเฑียรทองเธียเตอร์
ลูกชายนักการเมืองในยุคภาพยนตร์ไทยคือ "สุเชาว์ พงษ์วิไล" ผันแปรมาเป็น "ลิขิต เอกมงคล" เมื่อเป็นละครเวที
แต่วันนี้เป็นนน้าที่ของ "ศรันยู วษ์กระจ่าง"
ทำไมต้องเป็นนรินทร ณ บางช้าง
ตอนที่วางตัวนางเอกนั้น วางไว้หลายคน ... ชุดาภา จันทรเขตต์, จริยา สรณคมน์, นรินทร ณ บางช้าง, ชนาภา นุตาคม ช่วงนั้นทั้งจริยาและชุดาภาติดละครเรื่องวิมานไฟอยู่ ท้ายที่สุดก็เลือกเอ๋- นรินทร เพราะเราคำนึงถึงเหตุผลที่ว่า หนึ่ง เราทำละครเพลง สอง ผู้หญิงคนนี้ต้องร้องเพลงได้ เต้นได้ และสาม รินดา วงศ์ซื่อ ... ชื่อนามสกุลก็บอกบุคลิกอยู่แล้วว่า ต้องเป็นผู้หญิงซื่อไม่ใช่สวยแบบนางงาม ขณะเดียวกันก็ต้องมีความกร้าว แต่มีความซื่อแฝงอยู่ เป็นผู้หญิงที่ผู้ชายมองแล้ว มันมีอะไรอยู่ในตัวที่ ... ไม่ใช่ว่าสวย"
เกรียงไกร อุณหะนันท์ กล่าวกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง" ถึงแรงจูงใจที่เลือกนรินทร ณ บางช้าง
มารับบทสำคัญ
แม้ว่าเทพธิดาบาร์ 21 จะเป็นเรื่องราวของอะไรที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา ตั้งแต่ความเป็นบทละครของชาร์ต ความเป็นบทวิทยานิพนธ์ ล้วนสนองความต้องการของปัญญาชนทั้งสิ้น แต่เมื่อจำเป็นต้องมาทำในรูปของละครทีวีจึงจำเป็นต้องทำบทให้เป็นแบบชาวบ้าน
เมื่อเป็นภาพยนตร์โดยยุทธนา มุกดาสนิท มีลักษณะของนามธรรมค่อนข้างมาก เพราะเป็นการบอกเล่า มีการเต้นรำร้องเพลงผุดขึ้นมาเรื่อยๆแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ในขณะที่ละครเวทีเทน้ำหนักไปในเรื่องการเต้นผสมกันไปกับบทพูด
"ละครทีวีนั้นต้องทำเพื่อคนดูทุกระดับ เป็นหนัง เป็นละครเวที เรายังเลือกคนดูได้ ความต่างของมินิซีรีส์อยู่ที่ว่า เราเอาบทเรียนของหนังและละครเวทีมาผสมกัน ปรับให้มีลักษณะสมจริงสมจังมากขึ้น เพลงแต่ละเพลงที่ร้องต้องมีที่มา ต้องอยู่ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือบางเพลงเราก็ต้องตัดเอาออก... ไปเสริมในบทพูด"เกรียงไกร อุณหะนันท์ เล่าแนวคิดในการสร้างกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"
ฉาก 5 : นรินทร ณ บางช้าง
เจตจำนงเดิม "ปริทรรศน์-บันเทิง" นั้นต้องการนำนางเอกทั้ง 3 คนมาร่วมวงสนทนา
จันทรา ชัยนาม วันนี้ธุรกิจของเธอยาวเหยียดจนไม่มีโปรแกรม
นรินทร ณ บางช้าง "ปริทรรศน์ - บันเทิง" ได้รับการยืนยันจากผู้จัดการส่วนตัวของเธอว่า จะไม่มีหนังสือเล่มไหนได้บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวเธอในเรื่องนี้เด็ดขาด เข้าใจว่า ภาพ "โสเภณี" จะทำให้เสียภาพ "นักร้อง" ไป
วันทิพย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม จึงเป็นนางเอกคนเดียวที่ยินดีพูดคุยกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง" เกี่ยวกับบทบาทเมื่อครั้งเป็นละครเวที
เธอเล่นจนเข้าถึงบทบาทได้อย่างจัดจ้าน แม่บ่นกับเธอว่า เมื่อไรจะทิ้ง "นิสัยต่ำๆ" เสียที ยามเฝ้าโรงแรมมณเฑียรไม่ยอมให้ขึ้นลิฟท์เพราะกลัวเธอไป "จับแขก" หรือแม้แต่ หลังเลิกแสดงตอนกลับบ้าน ยังโดนฝรั่งสะกิดเพราะคิดว่าเป็น "อีตัว" นี่เป็นประสบการณ์จากชีวิต "นางบาร์" ของวันทิพย์ ภวภูตานนท์
สำหรับวันนี้ นรินทร ณ บางช้างเป็นศิลปินในสังกัดค่ายแกรมมี่ฯ ผู้จัดการส่วนตัวให้เหตุผลว่า นรินทรกำลังจะออกเทปปีหน้า ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ละครทีวีเรื่องนี้จะมีผลระยะยาวต่อตัวเธอแค่ไหน
การดึงตัวนรินทร ณ บางช้างมาเล่นบทบาทนี้ได้ เชื่อกันว่าเป็นความสนิทสนมส่วนตัวระหว่างเธอกับเกรียงไกร อุณหะนันท์
"ต้องขอขอบคุณกลุ่มนั้นด้วยที่ไว้ใจผม ให้เกียรติผมและให้ตัวเอ๋มา ขอบคุณที่ไม่มีคำว่า ค่าย-สังกัด เพราะสิ่งที่ผมทำ... เพื่อศิลปะ ค่ายไหนก็แล้วแต่ ... ผมขอบคุณ"
เกรียงไกร อุณหะนันท์ยืนยันกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง"ว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เพื่อ "กันตัวเอง" ในเรื่องการดึงตัวนรินทร ณ บางช้าง จากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มารับบทพาร์ทเนอร์สาวบาร์21 แต่ไตเติ้ลของละคร แค่มีชื่อของนรินทร ณ บางช้างประดับอยู่ ก็ถือเป็น "ความต่าง"ที่ทุกคนรู้สึกแล้ว เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแสดงของเธอว่า
"เอ๋เป็นคนเอาการเอางานมาก พอมาถึงโรงถ่าย... รู้หมดแล้วสำหรับบททุกตัว พร้อมที่จะขึ้นเวทีเล่นได้ทันที ไม่ว่าจะกี่เทคก็แล้วแต่ แต่เมื่อออกมาแล้ว เอ๋เล่นได้ดี"
"เราหวังจะให้นรินทรไปถึงจุดที่จันทราและวันทิพย์ได้" ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล กล่าวกับ "ปริทรรศน์-บันเทิง" อย่างมั่นใจ
ฉาก 6 : ชำแหละหัวใจ "รินดา วงศ์ซื่อ"
ผู้หญิงในบาร์ 21 ไม่ใช่โสเภณีโดยอาชีพ !
บาร์ 21 เป็นคาบาเรต์บาร์ที่ขายเครื่องดื่มและมีโชว์ ผู้หญิงที่ทำงานในบาร์มีหลายหน้าที่ บางคนเป็นพนักงานเสิร์ฟ บางคนเป็นแคชเชียร์ บางคนอาจจะอยู่ในคณะโชว์ ทุกคนมีสิทธิ์ไปกับแขกได้ โดยมี "มาม่าซัง" เป็นคนชักเปอร์เซนต์ เป็นรูปแบบการค้าง่ายๆ ไม่มีระบบสมาชิก ซื้อเหล้าบังหน้าแถมความสุขแบบ "เมมเมอร์คลับ" ยุคนี้
มินิซีรีส์เทพธิดาบาร์ 21 แนวแฟนตาซี ไม่ได้บ่งบอกตัวละครและยุคสมัยแน่ชัด แต่รูปลักษณ์ที่แสดงออกกลับเป็น "ละครพีเรียด" ย้อนกลับไปสู่ยุคคลาสสิก เมื่อครั้งที่เยาวราชคือถนนบันเทิงสายแรกของเมืองไทย สิ่งที่เน้นคือ ฉาก และเครื่องแต่งกายตามแบบฉบับของคาบาเรต์
"เกียรติโสเภณี" มีตัวละครไม่เกิน 10 ตัว เนื้อเรื่องสมจริงสมจัง เมื่อเทียบกับภาคไทยในนาม "เทพธิดาบาร์ 21" แล้วมีรูปลักษณ์เป็นละครเพลงและแฟนตาซีมากกว่า ตัวละครถูกเพิ่มหรือลดจำนวนตามบทแต่ละครั้ง แม้จะลดลงมาก็ยังมากกว่าต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
หัวใจของ "เกียรติโสเภณี" กล่าวถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ในเรื่องสีผิวของสังคมอเมริกันที่บดบังความซื่อสัตย์และยุติธรรมในสังคม ส่วน "เทพธิดาบาร์ 21" ประยุกต์เปลี่ยนนิโกร เป็นคนบ้านนอก - ประชาชนชั้น 2 ของสังคมบ้านเรา เทจุดหนักที่การร้องเพลง-เต้นรำ ตลอดจนฉากต่างๆ ในขณะที่เรื่องต้นฉบับเดิมเต็มไปด้วยบทสนทนาล้วนๆ
เมื่อมอง "ภาพรวม" ของทั้ง 2 เรื่อง 2 ภาษาแล้ว... ก็ไม่ได้ต่างกัน !
ช่วงบทสนทนาโน้มน้าวจิตใจของสมาชิกวุฒิสภาต่อลิสซี่ แมคเคย์ให้กลับคำการปรักปรำคนผิวดำผู้บริสุทธิ์ ก็เป็นไปตามวิถีแบบคนอเมริกัน
"สมมติว่าลุงแซมมาอยู่ตรงหน้าเธอ ท่านจะพูดว่า ... คุณเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า"
ในเทพธิดาบาร์ 21 ช่วงสนทนาเมื่อครั้งเป็นภาพยนตร์เพลง โดยมีหลวงเกียรติ ยศเกรียงไกร อ้างถึงพ่อที่เป็นเจ้าพระยา เปลี่ยนข้อหาจากคอมมิวนิสต์เป็นภัยสังคม
เสน่ห์และหัวใจของเทพฺดาบาร์ 21 อยู่ตรงหลักคิดที่ว่า มนุษย์... ไม่ว่าจะจนหรือรวย ล้วนเท่าเทียมกัน รินดา วงศ์ซื่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการแสดงออกถึง "ธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์" ที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ไม่มีคำตอบแน่นอนตายตัว
วาระสุดท้ายของพาร์เนอร์อย่างรินดา วงศ์ซื่อที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ก็ยังตกเป็นเหยื่อเจ้าเล่ห์ของ "ทนง" อีกจนได้ เขาทำให้เธอฝันถึงชีวิตคู่และบ้านริมน้ำ
"ชีวิตใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ววันนี้ ความหลังที่เคยมีก็จะลืมให้สิ้น ลืมว่าฉันเป็นพาร์ทเนอร์ ลืมว่า ฉันเคยติดเบอร์ ฉันไม่เป็นพาร์ทเนอร์แล้ววันนี้ ฉันจะเป็นที่รักของเธอ"
เธอก้าวออกจากบาร์เป็นคนสุดท้าย เหลียวหลังกลับมามองแผ่นป้าย "บาร์ 21" พร้อมๆกับในใจเริ่มฮัมเพลง
"รินดา วงศ์ซื่อ ...ซื่อ...ซื่อ...ซื่อก็ได้... แต่อย่าโง่"
วินาทีนั้น เธอตัดสินใจแล้วและพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง .
หมายเหตุ (2562) : ภราไดย สุวรรณรัฐ คือ แม่ของนักแสดงหนุ่ม ภูริ หิรัญพฤกษ์