จากฟากฟ้าสุราลัย
แนวละคร : เทิดพระเกียรติชุด "ใต้ร่มบารมี" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ดัดแปลงบทประพันธ์ - บทโทรทัศน์ : ภาวิต (จากเค้าโครงเรื่องจริงของสำนักราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9)
กำกับการแสดง : ณพธันกรณ์ รัตนระวีโชติ์, ประทุม มิตรภักดี, วีระ พิมพา
ผลิต : บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น
ควบคุมการผลิต : สยม สังวริบุตร
อำนวยการผลิต : คณะกรรมการพิจารณาการผลิตโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
นักแสดง : จั๊กจั่น-อคัมย์สิริ, เอก-รังสิโรจน์, เบนซ์-ปุณยาพร, เมฆ-จุติ, มุก-มุกดา, ฟิล์ม-ฉัตรดาว และ ด.ญ.ณดา ปุณณกันต์
วันเวลาออกอากาศ : วันที่ 2-10 ธันวาคม 2559
ระยะเวลาออกอากาศ ลำดับที่ 8 : วันศกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559
เรื่องย่อ
เป็นจดหมายที่ราษฏรตัวเล็กๆ ที่บางคนอาจจะคิดว่าไม่มีความสำคัญอะไรเลยแต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 แล้ว ทุกคนมีความสำคัญเสมอกันหมด ทุกข์ของราษฏรไม่ว่าจะเป็นใครก็อยู่ในสายพระเนตรของพระองค์เสมอ
“เทวดาของหนู”
เด็กชาย นที บุญยะสุขานนท์ วัย 7 ขวบ มีฐานะยากจน มารดาชื่อ เพ็ญรุ่ง บุญยะสุขานนท์ เมื่อแรกเกิด มารดาซึ่งมีอาชีพขายของที่ห้างขายปลีก ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดแห่งหนึ่งในอำเภอนั้น และที่วัดแห่งนี้เองมีชายฐานะยากจนแต่มีน้ำใจดีงาม ชื่อ นายไพโรจน์ วารวร อาศัยอยู่ นายไพโรจน์ช่วยงานของวัดทุกอย่างเพื่อตอบแทนที่ให้ตนได้อาศัยร่มไม้ชายคา และมีอาหารกินจากข้าวก้นบาตร ด้วยความเป็นคนขยันขันแข็งไม่ย่อท้อ นายไพโรจน์ยังได้ไปรับจ้างเข็นผักผลไม้ในตลาด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ประจำอำเภอ เมื่อนางเพ็ญรุ่งคลอดบุตรชายใหม่ๆ ด้วยความที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จึงทำให้ไม่สามารถหยุดทำงานได้ นางจึงนำเด็กชาย นที มาฝากไว้กับนายไพโรจน์ซึ่งรู้จักนับถือกัน นายไพโรจน์ช่วยเลี้ยงเด็กชายนทีด้วยความรัก และเมตตาจนเกิดเป็นความผูกพันเรื่อยมา เด็กน้อยเรียกนายไพโรจน์ว่า “พ่อ” และรักเขาเหมือนพ่อบังเกิดเกล้า ส่วนนายไพโรจน์ก็รักนทีดุจลูกแท้ๆ เช่นกัน
นทีโตขึ้นมาเป็นเด็กขยันขันแข็ง ช่วยแม่ทำงานเข็นผักในตลาด ตามคำสั่งสอนของบิดาบุญธรรม ซึ่งเน้นถึงความกตัญญูรู้คุณ และความวิริยะอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบากใดๆ สำหรับตัวนายไพโรจน์เอง วัยที่มากขึ้นก็นำพาโรคร้ายมาด้วย เขาป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่เขาก็ไม่เคยหยุดทำงาน จนในที่สุดโรคเบาหวานทำให้ตามัวจนเกือบมองไม่เห็น เมื่อเป็นแผลที่ขาก็รักษาไม่หาย มิหนำซ้ำยังเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานล้มอีก อาการจึงหนักยิ่งขึ้น จะไปรักษาก็เดินทางไม่สะดวก ความเจ็บป่วยทำให้ท้อแท้ เงินทองก็ขัดสน
นทีเฝ้ามองพ่อบุญธรรมด้วยความเป็นห่วง ได้แต่ช่วยดูแลตามประสาเด็ก 7 ขวบ เท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายได้เห็นข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ในทีวี จึงถามมารดาว่า “เขาเป็นใคร” มารดาตอบว่า “ท่านเป็นเทวดา ท่านช่วยเหลือคนมากมาย” เขาจึงคิดตามประสาเด็กว่า ในเมื่อเป็นเทวดา ท่านก็น่าจะช่วยพ่อได้เช่นกัน หลังจากนั้น เขาจึงเขียนจดหมายไปถึงพระองค์ โดยเขียนด้วยดินสอ ด้วยภาษาง่ายๆ แบบเด็กๆ และไม่ได้คิดเลยว่า “เทวดา” ของเขาจะได้รับจดหมาย และตอบกลับหรือเปล่า เมื่อบิดาบุญธรรมซึ่งพอค่อยยังชั่วก็มารับนทีไปช่วยขนผักที่ตลาด เด็กชายจึงแอบเดินไปส่งจดหมายที่ไปรษณีย์
ต่อมาไม่นาน ก็มีหนังสือตอบกลับมาจากสำนักพระราชวังว่า จะมารับตัวพ่อของเขาไปรักษา ทำให้เด็กชายดีใจมาก ที่พ่อจะไม่ต้องเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ก็มีคนจากสำนักพระราชวัง กาชาดจังหวัด ผู้ว่าฯ และนายอำเภอมาที่บ้านเพื่อรับตัวพ่อไปรักษา ไม่แต่เท่านั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ยังพระราชทานทุนการศึกษาให้เขาอีกเดือนละ 1000 บาท อีกทั้งยังระบุว่า หากขาดเหลืออะไรก็ให้เขียนจดหมายไปแจ้งได้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยเขียนไปอีกเลย เพราะคิดว่าสิ่งที่ท่านพระราชทานมานั้นมากมายแล้ว
ภายหลัง ครอบครัวของนทียังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่9 โดนทางหน่วยงานของกาชาดจังหวัดราชบุรี ได้เข้ามาทำการสร้างบ้านให้ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัจจุบัน มารดาของเขามีอาชีพขายไอศกรีมขอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ส่วนบิดาบุญธรรมก็อยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี
ปัจจุบัน นทีมีอายุ 14 ปี เขาและครอบครัวรู้สึกเสียใจมากเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่ได้ทราบข่าวการสวรรคตของในหลวง เพราะเขายังไม่ได้มีโอกาสตอบแทนที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาช่วยบิดา บุญธรรม และครอบครัวของเขาเลย แต่ก็ตั้งใจจะทำความดีเพื่อพระองค์ โดยตั้งใจเล่าเรียน และน้อมนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วยการประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย และจะเติบโตเป็นคนดีของสังคมตลอดไป
“สู่สายธารพระเมตตา”
เรื่องนี้เป็นการแสดงถึงพระเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ที่ทรงมีต่อราษฏรของพระองค์ที่ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด อยู่ห่างไกลแค่ไหน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็อยู่ในสายพระเนตรของพระองค์ตลอดเวลา
เป็นเรื่องของเด็กหญิงมุสลิมวัย 7 ปี ชื่อ “จ๋า” โดยเล่าผ่าน กี พี่ชายของเธอครอบครัวของจ๋าบิดาเป็นตำรวจอยู่ที่ สภ.บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กี จ๋า และน้องๆได้มีโอกาสได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ในปี พ.ศ.2535 หลายครั้ง เพราะพระองค์เสด็จไปที่นั่นบ่อยๆในปีนั้น เนื่องจากบิดาต้องไปถวายอารักขา ภาพของในหลวงที่ทรงโบกพระหัตถ์และแย้มพระสรวลให้กับประชาชนที่ไปรับเสด็จจึงติดตาตรึงใจเขาตลอดมา
ในปี 2544 บิดาของกีถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ “ยุทธการใบไม้ร่วง” เมื่อบิดาตายแม่จึงกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งมีถึง 7 ชีวิต รวมทั้งแม่เป็น 8 แม่ต้องอพยพครอบครัวหนีไปอาศัยที่อื่นเพราะไม่รู้ว่าใครมายิงพ่อ และจะตามมาทำร้ายคนที่เหลือหรือไม่ ความลำบากของแม่ที่ต้องทำงานเลี้ยงลูกถึง 7 คน ทำให้ก็อยากจะลาออกจากโรงเรียน แต่เมื่อหวนนึกถึงที่พ่อเคยบอกว่า “ความฝันของพ่อคือต้องการให้ลูกทุกคนเรียนจบปริญญา” ทำให้เขาต้องเปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อ ความลำบากของแม่ทำให้ทุกคนพยายามตั้งใจเรียนเพื่อจะได้จบมาช่วยแม่เร็วๆ ถึงจะต้องอดมื้อกินมื้อทุกคนก็ไม่ท้อแท้
ต่อมา “จ๋า” น้องสาววัย 7 ขวบ ซึ่งไม่รู้จะช่วยแม่อย่างไรดี เพราะเห็นแม่ทั้งเหนื่อย ทั้งลำบากตากตรำ จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงในหลวง บอกเล่าเรื่องราวความลำบากของแม่หลังพ่อถูกยิงเสียชีวิต โดยระบุชื่อผู้รับว่า “ถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แล้วหย่อนลงตู้ไปรษณีย์โดยไม่ได้ติดแสตมป์ และไม่มีใครรู้เลย
หลังจากนั้น...ก็มีเจ้าหน้าที่จากศาลากลางจังหวัดปัตตานี มาพบที่บ้าน ตามที่อยู่บนจดหมายบอกให้ไปพบนิติกรจังหวัดที่ศาลากลาง และให้นำตัวลูกสาวคนที่เขียนจดหมายไปพบด้วย เมื่อทุกคนไปถึง เจ้าหน้าที่จึงถามจ๋าว่า นี่ใช่จดหมายที่เธอเขียนถึงในหลวงหรือเปล่า จ๋ารับว่าเป็นเธอเอง เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ในหลวงทรงทราบ และทางสำนักราชเลขาได้แจ้งเรื่องนี้กลับมายังจังหวัด” เมื่อเจ้าหน้าที่พูดจบ ทั้งแม่ และลูก ต่างน้ำตาไหล ด้วยความตื้นตันใจอย่างสุดซึ้งเพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่า จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณถึงเพียงนี้ พระองค์ทรงรับรู้ถึงความมีตัวตนของพวกเขา ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม
“จากฟากฟ้าสุราลัย”
“จากฟากฟ้าสุราลัย” เป็นเรื่องราวของนางสาว อรธีรา รสหอม หรือ น้องส้ม ในวัย 13 ขวบ ชาวตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท นางจำรูญ มารดาประกอบอาชีพรับจ้าง ส่วน นายสมบูรณ์ บิดาเป็นลูกจ้างประจำสำนักงานชลประทานที่12 ส้มยังมีน้องสาวอีก1คน คือ เด็กหญิง ธนพร หรือน้องส้มเป็นเด็กขยันขันแข็ง ช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่างเพื่อผ่อนเบาภาระ เพราะทั้งสองสุขภาพไม่ดี นายสมบูรณ์ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเบาหวาน ส่วนนางจำรูญผ่าตัดมดลูกถึง 3 ครั้ง จึงทำงานหนักไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ช่วงปิดเทอม ส้มยังรับจ้างลุงขายน้ำอ้อยริมถนนสายเอเชียโดยได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท เพื่อช่วยครอบครัวอีกแรง ถึงแม้จะต้องมีภาระหลายอย่าง แต่ส้มก็ไม่เคยทิ้งการเรียน ผลการเรียนจึงอยู่ในขึ้นดีเยี่ยม
ต่อมาส้มถูกรถบรรทุกสิบล้อชน อาการสาหัส ขาขวาขาดตั้งแต่ใต้หัวเข่า นิ้วมือซ้ายขาดทั้งหมด มือขวาเหลือแค่ 3 นิ้ว นอกจากนี้ยังเสียใบหูขวา และผมบริเวณศีรษะด้านขวา หมอบอกให้ครอบครัวทำใจ เพราะส้มอาจจะไม่รอด นางจำรูญไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยความที่กลัวว่าลูกจะตาย จึงคิดถึงในหลวงว่าท่านคงจะช่วยได้ ด้วยท่านเป็นเทวดา รับรู้ทุกข์สุขและช่วยเหลือผู้คนในแผ่นดิน ถ้าตนขอพระราชทานความช่วยเหลือไป ลูกอาจจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ และอาการอาจจะดีขึ้น
นางจำรูญจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวนี้ก็ได้เข้าสู่สายธารแห่งพระเมตตา ความช่วยเหลือในด้านต่างๆได้ทยอยเข้ามา ตั้งแต่การรักษาพยาบาล การให้ทุนการศึกษา อันประกอบด้วย ทุนประกอบอาชีพจำนวน 5 หมื่นบาท ทุนการศึกษาต่อเนื่อง ทูลเกล้าฯ ความโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทุนสนับสนับสนุนการดำรงชีพ จำนวน 5 หมื่นบาท
หลังจากส้มอาการดีขึ้นแล้ว ได้มีหนังสือสำนึกนพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดเวลาที่ผ่านมาส้มรู้สึกว่า ในหลวงทรงให้ชีวิตใหม่แก่เธอ เธอบอกว่า “พระองค์คือลมหายใจของเธอ” และทำให้เธอเปลี่ยนความคิด ทุกความท้อแท้ ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปด้วยเกรงจะเป็นภาระของครอบครัว กลับมามีกำลังใจที่จะต่อสู้อีกครั้ง โดยจะตั้งใจเรียน ปฎิญาณตนจะเป็นคนดี และท้ายที่สุดอยากทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
ถึงแม้เธอจะไม่มีโอกาสนั้น แต่เธอก็ตั้งใจจะทำความดีเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต เช่นเดียวกับที่เธอได้รับพระเมตตาพระราชทานกำลังใจจากพระองค์