xs
xsm
sm
md
lg

"จากภูผาสู่มหานที" ละครเทิดพระเกียรติ ช่อง 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
"จากภูผาสู่มหานที"
 
 
ละครเทิดพระเกียรติ "ช่อง 5"  

 
 
 
กิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้และขยายผลเรื่องศาสตร์พระราชาโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 4 เสร็จสิ้นลงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีพันธกิจรวมพลังทุกภาคส่วนสร้าง “ป่าสักโมเดล” ณ พื้นที่ 600 ไร่ของห้วยกระแทก จ.ลพบุรี ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถูกต่อยอดมาเป็น ละครเทิดพระเกียรติ “ตามรอยพระราชา จากภูผาสู่มหานที”

 
 
"ธิษณา เดือนดาว" กรรมการผู้จัดการบริษัท มายด์เอ็นแมทเทอร์ส จำกัด ผู้สร้างละคร
 
 
ที่มาของละครเรื่องนี้ เราได้เอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ที่เราได้ทำงานมา 4 ปีเต็มๆ ในโครงการรวมพลังคนสร้างสรรค์โลก ตามรอยพ่อของแผ่นดิน เอามาใช้ในรูปแบบของละครเพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจง่าย ปีนี้เป็นปีที่เราผ่านวิกฤติ ทุกข์โศก หรืออะไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยึดถือคือ คำสอนของพระองค์ท่าน ที่ได้ให้ทางรอดกับเราไว้แล้ว เหลือแค่เราลุกขึ้นมาทำตาม ก็จะพาตัวเองรอด พาประเทศเรารอด
 
 
เนื้อเรื่อง เราน้อมนำเอาหลักคำสอนที่เรียกว่า ศาสตร์พระราชา และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาบอกวิธีการที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเกษตร แต่มันคือ ชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เล่าผ่านน้องนารา ที่อลิส ทอยเล่น เป็นนางเอกที่มีความคิดความฝันว่าอยากจะมีชีวิตสโลว์ไลฟ์ ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นนายตัวเอง ฝันน่ะฝันได้ แต่ต้องทำด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระทั้งกับตัวเองและคนอื่น หลายคนมาทำแบบนี้แล้วพูดได้ว่า มีล้านหมดล้าน มีแสนหมดแสน เพราะองค์ความรู้ไม่ถูกต้อง หรือ ความเพียรไม่พอ
 
 
ที่อยากจะบอกก็คือ คำสอนและองค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว แต่จะดีที่สุดคือ ลุกขึ้นมาทำเถอะค่ะ ทำด้วยตัวเอง แล้วก็บอกต่อ ชักชวนให้ทำ ไม่ว่าจะอย่างไร มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ถูกต้อง สำเร็จ แน่นอน ตัวอย่างความสำเร็จมีมากมาย"

 

"สมเกียรติ วิทุรานิช" กำกับการแสดง
 
 
เรื่องนี้ค่อนข้างเหนื่อย แต่เป็นความเหนื่อยที่อยู่บนความสุขที่ได้ทำเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับโครงการโคกหนองนา ในพระราชดำรัสของในหลวง เป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่มีความรู้สึกอยากจะหนีออกจากเมืองใหญ่ เบื่อหน่ายชีวิตในเมือง ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี ก็เลยอยากจะมีชีวิตสบายๆ ทำไร่ทำนา เธอก็เลยมาที่นี่ มาเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชาอย่างถูกต้อง แล้วก็ถามใจตัวเองว่าสิ่งที่เธอคิดว่าเธอทำได้ เธอจะทำได้จริงหรือเปล่า
 
แต่ละปีมีความแตกต่าง จุดมุ่งหมายของตัวละครก็มีความแตกต่าง แต่มีความเหมือนตรงที่เราพูดถึงโครงการโคกหนองนา ฉากในวันนี้เป็นฉากทำแท๊งค์น้ำใหญ่ ของคุณโจน จันได แล้วก็มีฉากทำเตาพิซซ่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่สามารถอบพิซซ่าได้
 
สิ่งที่ต้องการจะบอกกับคนดูคือ บางครั้งความสุขของคนเรา ไม่ได้อยู่ที่เงิน หลายๆ ครั้งเราตั้งความสุขไว้ที่การมีเงินเยอะๆ มันทำให้ชีวิตของเราเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ขาดความเมตตา เรื่องนี้จะบอกว่าถ้าเราตั้งความสุขไว้ที่การรู้จักการแบ่งปัน หลังจากแบ่งปันแล้วค่อยมองไปที่ตัวเงิน มันจะสุขมากกว่า การเป็นผู้ให้มีความสุขมากกว่าการเป็นแค่ผู้รับ ส่วนพระเอก เป็นทหารจริงเลย ตัวนางเอกมีความเป็นสาวเมืองอยู่สูง ตัวจริงมีความคิดอ่านใกล้เคียงกับตัวละคร อยากมาใช้ชีวิตสัมผัสธรรมชาติ คาดว่าจะได้ชมกันเดือนธันวาคม" 
 
 
 
 
โจน จันได
 
 
"ชาวบ้านมีทักษะในการใช้ซีเมนต์อยู่แล้ว มันก็ไม่ยาก ซื้อแค่ปูนอย่างเดียว แต่ถ้าซื้อทรายซื้อหินซื้อเหล็กด้วย มันจะหนักขึ้น อันนี้เราแค่ขนปูนซีเมนต์ขึ้นไปแล้วหาดินในพื้นที่มาผสม เอาทรายในแม่น้ำใกล้ๆ เราก็สามารถสร้างได้ ทำได้ทุกที่ มันทนแรงถีบได้ดี ดีมากกว่าเหล็กด้วย เพราะว่าเราสานถี่มาก ไม่ไผ่ที่ใช้สานก็ประมาณ 20-30 ลำ สมัยก่อนคนเอาไว้ทำยุ้งข้าวไว้ใส่ข้าว เราก็คิดว่าจะเอาดินฉาบ แต่เขาไม่ได้ทำใหญ่ เขาทำแค่ใส่ข้าวตันสองตัน เราก็เอามาประยุกต์ใช้ในวัด ตอนที่เป็นเณร เพราะวัดบางที่อยู่ไกล กันดาร ไม่มีเงินมาก
ที่ตรงนี้เป็นเนินเบื่อเมือง ทุกวันนี้มีคนเบื่อเมืองมากขึ้น คนพวกนี้ก็มาเรียนรู้กับเราเยอะขึ้น ถ้ามาแล้ว เราจะมาเริ่มต้นออกแบบพื้นที่เรายังไง ถ้าไปซื้อที่ในที่สูงอย่างนี้ ก็ต้องออกแบบว่าเราจะมีร่องน้ำไปยังไง สูบน้ำขึ้นมายังไง เก็บน้ำในที่สูงยังไง เพราะการมาอยู่นอกเมืองเราต้องคิดถึงการพึ่งตนเอง เรื่องของน้ำ เรื่องของดิน เรื่องของอาหาร เรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ พูดง่ายๆ มาหลอมรวมตัวเองเข้ากับธรรมชาตินั่นเอง"
 
 
 
 
 
"พันเอก เริงฤทธิ์ เฉลยฤกษ์" 
หัวหน้ากองบริการศูนย์สงครามพิเศษ, นายทหารโครงการเอราวัณ / นายทหารโครงการศูนย์การเรียนรู้
 
 
"ที่มาของโครงการป่าสักโมเดล พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในความดูแลของหน่วยทหารศูนย์สงครามพิเศษ เดิมทีราษฎรก็เข้ามาทำกิน เกิดน้ำท่วมปี 54 ทางจังหวัดก็หาพื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจึงเลือกพื้นที่ตรงนี้ มีงบประมาณขุดกั้นดินมาให้ ทางหน่วยก็เขียนโครงการพัฒนาพื้นที่ ชื่อว่าโครงการเอราวัณ มีเป้าหมายรักษาพื้นที่ พัฒนาพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านต่างๆ มีระยะเวลา 3 ปี (2557-2559) รายละเอียดคือ เราจะต้องมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้รับความร่วมมือจาก อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ให้ความกรุณาให้ความรู้กับเรา เดินทางมาร่วมออกแบบกับเรา แนวคิดในการออกแบบคือ เอาแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาลงในพื้นที่ตรงนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม"   

อลิส ทอย (อลีสญาณ์ ทอย)
 
 
"ดีใจมากค่ะ ดีใจตั้งแต่พี่จุ๊ติดต่อมาแล้วค่ะ ยิ่งพอมามีส่วนร่วม แล้วได้เรียนรู้ไปกับตัวละคร ยิ่งประทับใจมากๆ เลย แล้วก็รู้สึกดี ที่ได้เป็นตัวแทนถ่ายทอดความคิดของตัวละครตัวนี้ รวมถึง การเรียนรู้ของตัวละครตัวนี้กับตัวละครตัวอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่จริง มันได้อะไรหลายๆ อย่างมากค่ะ ได้ข้อคิด ได้แนวทางการใช้ชีวิต ได้นำคำสอนของท่านมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ โอ้โห.ดีมากๆ ค่ะ
 
เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เราอยากมีส่วนร่วมในการทำแนวๆ นี้ พออ่านบทตอนแรกก็คิดว่า เป็นบทที่หลายๆ คนจะเชื่อมโยงได้ง่าย หลายคนอยากจะมีชีวิตแบบนี้ หนีจากชีวิตเมืองที่มันวุ่นวาย อยากจะเข้าใจคำว่า พอเพียง ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง แล้วจะใช้ชีวิตอย่างนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า เราเองก็เคยมีความคิดอย่างนี้ ก็ลองมาใช้ชีวิตแบบนี้ดู ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับตัวละคร ถ่ายทอดไปสู่คุณผู้ชม
 
เราได้ยินโครงการพระราชดำริ โครงการแก้มลิง หลายๆ อย่างมานานมากแล้ว ไม่เคยเห็นของจริงสักที การทำงานของมันเป็นอย่างไร มันช่วยชาวบ้านได้จริงไหม น้ำมันมีความสำคัญขนาดนี้เลยเหรอ วันนี้ก็ได้มาเห็นจริง ปฏิบัติจริง ได้เจอกับบุคคลต่างๆ ที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น อ.ยักษ์ พี่แดง ครูนิด หลายๆ คนจะมีประสบการณ์ ความรู้ต่างกัน แล้วก็มาแชร์ เป็นอะไรที่อบอุ่นมากเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสครั้งหนึ่งเราก็อยากจะมาลองเป็นอย่างนี้จริงๆ มีแปลงผักของเราจริงๆ ลองใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง หาความสุขที่แท้จริง" 

 

"ร้อยเอก ณัชร นันทโพธิ์เดช" (กองคลัง กรมการทหารสื่อการ / ผู้ประกาศข่าว ททบ. 5)
 
 
"รู้สึกภูมิใจนะครับ ที่ได้มีโอกาส ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มาแสดงละครที่มีเกียรติมาก ทำให้คนดูคนชมรู้ว่าคำสอนสามารถปฏิบัติได้จริง แล้วนักแสดงในเรื่องมีชีวิตอยู่จริง บทบาทไม่ได้สร้างขึ้น ทุกคนทำตามแบบนั้นจริงๆ แล้วก็สามารถอยู่ได้ด้วยคำสอนของท่านจริงๆ ครับ
 
ความรู้สึกที่ได้เล่นละครเทิดพระเกียรติ อย่างแรกก็คือ เราได้ทำ ได้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งหนึ่งที่เราได้ทำอะไรให้พ่อ ถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิตก็ว่าได้ครับ บทบาทที่ได้รับ ก็เป็นทหารจริงๆ เป็นทหารที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจนี้จริงๆ"
 
 
 
 
 
"จากภูผาสู่มหานที" เมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว จะได้ชมกันเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ทางช่อง 5















กำลังโหลดความคิดเห็น