xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนสยาม ตามรอย "สี่แผ่นดิน "2 กับ หม่อมน้อย, อ.เผ่าทอง, ตุ้ยธีรภัทร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ย้อนสยาม ตามรอย "สี่แผ่นดิน" 2

 
กับ "หม่อมน้อย, อ.เผ่าทอง, ตุ้ย ธีรภัทร"

 
 

สถานีโทรทัศน์ PPTV HD ช่อง 36 จัดกิจกรรม ย้อนสยาม ตามรอยสี่แผ่นดิน ให้คอละครได้เรียนรู้ ซึมซับ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่ปรากฏในละคร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-8 โดยมี "หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ, ตุ้ย ธีรภัทร สัจจกุล, ม.ล. วิสุมิตรา ปราโมช, คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม" ร่วมพูดคุย ณ โรงแรมพระยาพาลาซโซ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 
 
 
อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
 
 

"จริงๆ ผมเป็นคุณเปรมก่อนตุ้ยนะ สมัยพลเอกเปรมฯ เป็นนายกรัฐมนตรีจะมี สี่แผ่นดิน โดยภรรยาคณะรัฐมนตรี หม่อมน้อยก็เป็นผู้กำกับ คนทำทั้งหมด ตอนนั้นก็ได้เล่นนิดหนึ่ง เมื่อ 12 ปีที่แล้วการสร้างละครพีเรียดก็ยากอยู่ เพราะพร็อบ อุปกรณ์ประกอบฉากหรือสถานที่ต่างๆ เล็กน้อยลงไป อันนี้ต้องถือว่าเป็นละครพีเรียดเรื่องสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างละครพีเรียดมันกระเดียดไปหมดแล้ว ไม่มีละครพีเรียดเรื่องไหนที่จะสร้างได้ถูกต้องตามพีเรียดเขาจริงๆ
 
 

เนื้อเรื่อง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมชที่ท่านประพันธ์เอาไว้ เป็นคนที่ทันอยู่ในเหตุการณ์รัชกาลต่างๆ มาจนถึงหม่อมน้อยผู้สร้างก็เกิดทันในยุคที่เจ้ายังมีอยู่จริงๆ ปัจจุบันนี้เรามีเจ้าชั้นสูงสุดก็แค่ชั้นหม่อมเจ้า หม่อมน้อยเองก็มีชาติกำเนิดที่เข้าอกเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี การจะทำเรื่องเจ้าแล้วเกิดเป็นไพร่ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มันยาก ที่จะเข้าใจฟิลลิ่ง หรือจังหวะจะโคนของการเป็นเจ้า บางทีเจ้าไม่ต้องอ้าปาก แค่เหลือบตานิดหนึ่ง ก็เหมือนกับ Yes หรือ No ในเวอร์ชั่นนี้ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด"  
 
 
 

 
สมัยนั้นข้อมูลมีแต่ภาพขาวดำ จินตนาการได้อย่างไรว่าจะต้องเป็นสีนั้นสีนี้
 
 
 

"ผมสอนวิชาไทยคอสตูม เรื่องแต่งกายไทย ผ้าไทย เราให้เด็กทำการบ้าน แบ่งกลุ่มนี้ทำต้นรัชกาลที่ 5 ทำกลุ่มละ 10 ปี ไล่พ.ศ.เลยตั้งแต่ 2396 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพ กลุ่มละ 10 ปีๆ จนถึงปัจจุบัน เขาก็รู้นะว่าเขามีส่วนในละครเรื่องนี้ บอกเลยว่าถ้าเธอทำไม่ดีความผิดอยู่ที่เธอ ให้เด็กไปค้นหนังสืองานศพ ในนั้นจะมีรูปผู้วายชนม์ถ่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ 4 ขวบ 8 ขวบ ให้ถ่ายซีร็อกซ์มาโดยมีปีกำกับก็จะได้รายละเอียดของทุกระดับชั้น ข้อมูลในหอจดหมายเหตุมีแต่เจ้านาย สามัญชนไม่มี แต่บทของหม่อมน้อยมีหลากหลายมาก เวลาที่เราจะมาจำแนกก็ใช้ข้อมูลจากภาพเหล่านี้
 
 

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เวลาท่านบรรยายภาพมันละเมียดละไมมาก ไม่ได้บอกแค่คนนี้คุยกับคนนั้นหรือทำกิริยาอะไร แต่จะบอกบรรยากาศของห้อง พูดถึงห้องที่แม่พลอยเดินเข้ามา จะเป็นห้องโถง เพดานสูง แสงไฟ สะลึมสะลือ แสงตะเกียงมาจากทางโน้น แสงตะเกียงมาจากทางนี้ เป็นภาพที่ให้ข้อมูลได้หมดเลย เวลาที่พูดถึงเรื่องราวต่างๆ บางทีต้องอิงเอา บอกว่า พระบาทฯจะทรงเครื่องใหญ่ เครื่องใหญ่ก็คือตัดผม ไม่บอกวันก็ต้องเดาเอา ส่วนมากทรงเครื่องใหญ่วันพุธ เพราะว่าวันพุธห้ามตัด สำหรับขี้ข้าทั้งหมด แต่เจ้าจะตัดวันพุธ ตัดผมพุธจันทร์กันจัญไร มีคำกล่าวของเจ้านายเอาไว้

 
ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าซีนนี้พี่น้อยอยากเห็นภาพจะเอาสีวันจันทร์หรือสีวันพุธ เราใช้สีของสวัสดิรักษา วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว (ไม่ใช่เหลือง) จะยืนยาวชันษาสถาผล อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน บันดาลดลขัตยาไม่ราคี เครื่องวันพุธสุดดีทรงสีแสด กับเหลือบแปดปนประดับระยับสี วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม อันพาชีที่ขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย

 
ทำไมเราต้องย้อม ต้องนึกภาพ คอสตูมไปซื้อผ้ามาหนึ่งพับ สมมติว่า วันอังคาร ม่วงช่วงงามสีครามปน เสด็จออกมาประทับแล้วทุกคนม่วงเหมือนกันหมด มันจะไม่ตลกหรือ มันไม่ใช่ยูนิฟอร์ม ม่วงในความงามของแต่ละคน คนดำใส่ม่วง คนขาวใส่ม่วง จึงต้องมีสีครามปน ไม่ใช่ม่วงอย่างเดียว ครามคือน้ำเงิน ดังนั้นก็ต้องย้อมหลายเฉด ถ้าซีนนี้มีขี้ข้า 20 คนก็ต้องย้อมกัน 20 เฉด คนนี้มาจากทางเหนือ คนนี้มาจากทางใต้ พ่อแม่ทำส่งมาให้ลูก ไม่ได้มีร้านขายเดินเข้าไปห้างสรรพสินค้าไปจิ้มเอาได้ ไม่มี บ้านใครบ้านมัน ทอมาส่งมาให้ลูกตัวเอง

 
ต้องบอกว่าตั้งใจทำจริงๆ คนที่ดู ดูสนุกอย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายแล้ว เป็นพีเรียดของสี่แผ่นดิน ให้มีคนสร้างใหม่อีกสิบหนก็ไม่มีคนสามารถได้สถานที่หรือได้พร็อบเท่ากับสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นนี้ นอกจากนี้ก็ดูเรื่องประเพณีต่างๆ ประเพณีโสกันต์ มีรายละเอียดปลีกย่อยยังไง พระราชพิธีมันดิ้นไม่ได้ไม่เหมือนคอสตูม โกนจุกแม่พลอย ก็ต้องมาดูว่าฐานะของแม่พลอยเป็นยังไง"  

 

 
 
 
ตุ้ย ธีรภัทร สัจจกุล
 
 

 
"ตอนแรกที่ทราบข่าวว่าจะได้เล่นเรื่องนี้ รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ความรู้สึกที่ซ้อนเข้ามาคือเกร็งมาก พอมาพบกับหม่อมก็รู้สึกเกร็งหนักเข้าไปอีก ทุกๆ ขั้นตอน เป็นความท้าทายอย่างสูงเลย เราศรัทธาเชื่อมั่นในบทประพันธ์ ศรัทธาทีมงาน ศรัทธาหม่อมน้อย ยากตั้งแต่เริ่มตีความ การแสดงออกมีบริบทของความมากน้อยนอกเหนือจากวิสัยทัศน์ในเวลาหนึ่งๆ ที่สำคัญเล่นตั้งแต่หนุ่มไปจนแก่

 
ทุกๆ สเต็ปมีความยาก หม่อมก็พยายามปรับจูนให้เราเข้าใจว่าความนึกคิดความต้องการของคุณเปรมคืออะไร อุปสรรคของคุณเปรมคืออะไร มีฉากหนึ่งยากมาก บทยาวครึ่งหน้า A4 แล้วทุกคำ ต้องจำ ก็ท่องจนจำได้ เป็นราชาศัพท์ บางทีเป็นวัตถุ เป็นสถานที่ เราต้องเอามาเป็นภาพให้ได้ เล่าเรื่องราวให้ลูกๆ รู้ว่าภาพตรงนั้น สถานที่นั้นเป็นอย่างไร ความยากคือ หนึ่งต้องท่อง สองท่องให้รู้สึกว่าเป็นคำปัจจุบัน สามต้องฉายภาพต่อจิ๊กซอว์ในหัวเราก่อน สี่เอาภาพนั้นเล่าให้ลูกฟัง" 
 

 
 

 
หม่อมน้อย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ)
 
 

"ที่สำคัญผิดไม่ได้ เพราะเป็นบทโดยท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ตัวผมเองเคยกำกับเรื่องราโชมอน ที่ท่านเขียน แล้วท่านมีโน้ตลงมา กรุณาให้นักแสดงพูดให้ตรงบททุกคำพูด เพราะทุกคำพูดมีนัยอยู่ มีความหมายอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเวลาผมทำงานของท่าน จะบอกนักแสดงว่า ห้ามผิดแม้แต่คำเดียว"
 
 
 

ตุ้ย ธีรภัทร

 
"ในความเข้าใจของผม แกนของเรื่องคือความรัก เพียงแต่ว่าการเล่าเรื่อง มีมิติของความรัก หลายๆ มิติไปพร้อมๆ กัน สตาร์ทจากความรักของคุณเปรม-แม่พลอย พอมีครอบครัวก็เริ่มรักลูกๆ ความรักหนุ่มสาว ความรักครอบครัว ความรักสังคมที่ใหญ่ขึ้น ที่สุดคือ ความรักในแผ่นดิน ในพระมหากษัตริย์ ความรักจะถูกเล่าเรื่องโดยดัวละครต่างๆ
เป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบที่สุด ภูมิใจ ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของเรื่องราวในประวัติศาสตร์
 
 

ไม่อยากจะเรียกว่าละคร เป็นผลงานชิ้นสำคัญของแผ่นดิน บัดนี้ผ่านมา 12 ปีก็ยังทรงคุณค่า มีความอมตะ ทุกฝ่ายทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ผลงานที่ทรงคุณค่านี้สามารถถ่ายทอดเรื่องราว จะผ่านไปอีกกี่ปีก็ตาม จะเอามาฉายอีกกี่เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นนี้คือเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทุกคนที่ได้ชมจะต้องประทับใจ ที่สำคัญจะมีความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความรักในแผ่นดิน" 
 
 
 

 
 
ถามหม่อมน้อยว่า ทำไมจะต้องเอาจริงเอาจังไปถ่ายถึงเมืองนอก
 
 
 

"ในบทประพันธ์มีอยู่นี่ครับ ถ้าเราจะถ่ายทอดตัวหนังสือออกมาเป็นภาพ เราจะข้ามไปทำไม จริงๆ เป็นการถ่ายทำที่ยากมากนะครับ การทำละครพีเรียดที่บ้านเราก็ยากอยู่แล้ว นี่ไปทำต่างประเทศ แล้วไปในเดือนพฤศจิกาใกล้ฤดูหนาวอุณหภูมิลบหมดเลย จะถ่ายทำในเมืองไทยเมคไม่ได้เพราะ ไม่มีหอไอเฟล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มันมีความสำคัญเพราะว่า การศึกษาที่อังกฤษกับฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อตัวละครสำคัญ2ตัวของเรื่องคืออั้นกับอ๊อด

 
อั้นเรียนการเมืองที่ฝรั่งเศส ประเทศของการปฏิวัติ อ๊อดเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด เรียนอาร์ต อักษรศาสตร์ ทำให้เด็กสองคนเติบโตมาในวิถีความคิดที่ไม่เหมือนกัน เมื่อโตเป็นหนุ่มกลับมาเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น อั้นพ่อแม่เป็นข้าราชบริพาร รับใช้แผ่นดินมา ตัวเองเป็นผู้ชายคนโตซึ่งพ่อรักที่สุดกลายเป็นปฏิวัติ หนึ่งในคณะราษฎร์ อ๊อดน้องชายไม่ได้เป็นเช่นนั้น การศึกษาของสองประเทศมีผลต่อตัวละครมาก อั้นพูดเสมอว่าเขาอยากปรับปรุงให้ประชาชนฉลาดเท่ากัน เท่าเทียมกัน

 
ขณะที่อ๊อดเรียนความเป็นมนุษย์ เรียนวรรณคดี เข้าใจมนุษย์มาก รู้ว่า ศิวิไลเซชั่นคืออะไร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเห็นสภาพแวดล้อมของเด็กทั้งคู่ เป็นฉากสำคัญสมัยรัชกาลที่ 7 ดีนะที่คุณเปรมตายซะก่อน ไม่งั้นคงหัวใจสลาย เมื่อลูกชายกลายเป็นอย่างนั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงในครอบครัว ในช่วงที่ทั้งชาติก็กำลังขัดแย้ง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับยุคเรานี่ล่ะ"
 
 
 
 

 
อยากให้ทุกคนพูดถึงละครเรื่องนี้ที่เอากลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง
 
 
 
 

 
อ.เผ่าทอง
 
 

"เป็นบทประพันธ์ที่ถ่ายทอดมาเป็นบทละครที่มีวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายครบทุกประเพณีไทย ตั้งแต่ประเพณีการเกิด แล้วเริ่มเจริญเติบโตขึ้นมา กระทั่งเป็นสาว โกนจุก เรื่อยมาจนถึงแต่งงานแต่งการ คลอดลูก ไปจนถึงประเพณีการตาย ทั้งการตายของสามัญชน และการเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์ เป็นละครที่ถ่ายทอดจากบทประพันธ์ได้ครบวิถีชีวิต เกือบจะเป็นพระราชพิธี 12 เดือนก็มากไปนิดหนึ่ง ก็เอาว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ครบถ้วนที่สุด ต้อง
 
 
ขอบพระคุณทาง PPTV จริงๆ นะครับที่อุตสาห์ทำจากเบต้ามาเป็น HD เคยนึกอยู่เสมอว่า เสียดายละครที่มันเป็นเบต้าเก่าๆ ซึ่งดีเหลือเกินแล้วไม่คิดว่าจะมีการสร้างใหม่ที่ดีกว่านี้ นี่กล้าคิดอย่างนี้เลยนะฮะ แล้วก็มันจะสูญเสียไปหมด พอทางพี่ใหญ่ทำออกมาต้องขอบพระคุณจริงๆ "
 
 
 
 
ตุ้ย ธีรภัทร
 
 
"ดีใจ ที่ทาง PPTV ได้เอากลับมาฉายใหม่ อย่างแรกคือ การทำงานในทุกขั้นตอน ทุกคนตั้งใจมาก ทุ่มเทมากให้งานออกมาดีที่สุด ที่สำคัญ คนรุ่นนี้ คนรุ่นใหม่ๆ จะได้มีโอกาสได้สัมผัสผลงานที่ทรงคุณค่าแบบนี้ ก็ดีใจมาก" 
 
 
 

 
หม่อมน้อย
 
 

"ก่อนอื่นต้องขอบคุณ PPTV ที่เห็นคุณค่า การนำเรื่องนี้กลับมาฉายอีก จริงๆ แล้วหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ไม่ใช่จะให้แต่ความบันเทิงอย่างเดียว ผมรู้สึกปลื้มใจมากที่ PPTV มองเห็นเล็งเห็นคุณค่า ความสำคัญทางการศึกษา ละครเรื่องนี้ไม่ใช่แค่บันเทิง เป็นการศึกษาให้เข้าถึงวัฒนธรรมความเป็นไทยได้อย่างลึกซึ้ง จุดเดียวของคนดูละครเรื่องนี้ถ้าเขารักความเป็นไทยมากขึ้นสัก 10 เปอร์เซ็นต์ผมก็คงมีความสุขแล้วสำหรับคนยุคนี้ นะครับ" 
 
 
 

 

ติดตามชม "สี่แผ่นดิน" ได้ทุกวันพุธ-พฤหัส เวลา 19.30-21.00 น ทาง PPTV HD ช่อง 36









กำลังโหลดความคิดเห็น