xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าบ้านเจ้าเรือน” จากตัวอักษรสู่ละคร ตอน 2 “ภาพจอยฝังอยู่ในเสาแล้วหันมา อื๋ยยย แล้วบุ๋มก็เห็น...วิ่งออกจากมอนิเตอร์เลย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“เจ้าบ้านเจ้าเรือน” จากตัวอักษรสู่ละคร ตอน 2
 
 
“ภาพจอยฝังอยู่ในเสาแล้วหันมา แล้วบุ๋มก็เห็น...วิ่งออกจากมอนิเตอร์เลย”

 
 
สืบเนื่องจากตอนแรก “ผู้จัด-วรายุฑ มิลินทจินดา” และ “ผู้เขียนบทโทรทัศน์ -ปราณประมูล” ได้พูดความเป็นมา, การทำงาน, ความในใจ ที่ได้ทำละครเรื่องนี้ไปแล้ว มาถึงตอนที่ “ผู้กำกับ-รัญญา ศิยานนท์” และ “ผู้ประพันธ์-แก้วเก้า(รศ.ดร.วินิตา ดิถียนต์)” จะได้พูดบ้าง

 
 
โดยเฉพาะ “ผู้กำกับ-รัญญา” ถึงกับต้องยกมือไหว้ศาลเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่พี่ไก่สร้างไว้ในฉากเพื่อขอ... ไม่นับเรื่องลี้ลับที่ทุกคนในกองถ่ายได้เจอะเจอพร้อมกันตอนถ่ายทำอีกต่างหาก

 
 
 
 
“รัญญา ศิยานนท์” ผู้กำกับ
 
 
 
 
“ตอนแรกที่รู้ว่าจะทำละครเรื่องนี้ “ผีเหรอ ?” คือไม่ถนัดจะทำละครแบบนี้เลย อ่านจบแล้วหนูคงทำไม่ได้ “พี่ไก่คะ หนูขอเป็นแอ็คติ้งโค้ชเหมือนเดิมได้มั้ยคะ” คือนึกไม่ออก มันยาก
 
 
บทสรุปคือ เทพทุกชั้นฟ้ามารวมกัน ผู้ประพันธ์ก็เทพ ผู้จัดพี่ไก่ก็เทพ ผู้เขียนบทละครก็เทพ ก็เลยนั่งนึกในใจว่าจะเอายังไงดี มาเจอ “เจษฎาภรณ์ ผลดี” เทพเข้าไปใหญ่เลย ตายแล้ว นึกอะไรไม่ออกเลย
 
 
ขอบคุณพี่ไก่ที่ให้โอกาสบุ๋มกำกับละครให้พี่ไก่ เพราะพี่ไก่เป็นคนปั้นบุ๋มรัญญา ให้โอกาสทำแอ็คติ้งโค้ช และฝันสุดท้าย กำกับละครให้พี่ไก่ก็เป็นจริงแล้ว แต่บอกว่าหนูจะยุ่งอยู่แต่กับการแสดงนะคะ เรื่องเสื้อผ้าหน้าผมโลเกชั่นบทละครอะไรต่างๆ พี่ไก่ไปดิวมาเลยหนูจะไม่ยุ่งอะไร คือตกลงกันเยอะมาก
 
 
มีความรู้สึกว่า ตัวเองตื่นเต้นมากเรื่องนี้ เห็นเหมือนกับพี่ไก่ว่าถ้าไม่ใช่พี่ติ๊กเจษฎาภรณ์แล้วจะเป็นใคร พี่ไก่เลื่อนระยะเวลาการทำมาเป็นปีกว่าๆ นึกว่าจะไม่ทำแล้ว “ฉันตัดสินใจถ้าเจษฎาภรณ์ไม่เล่นฉันจะไม่ทำละครเรื่องนี้” ในที่สุดพี่ติ๊กตอบตกลง เราก็ได้เทพมาชุมนุมกัน
 
 
ระหว่างที่ทำงาน เรารู้สึกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของความรักซึ่งเป็นกิเลสให้ออกมาในรูปแบบของความดีงามมันยากมากเหลือเกิน ยากจริงๆ คือ คนรักกับวิญญาณ ผู้หญิงที่ได้รับการปกป้องจากเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่รูปหล่อขนาดนี้ จ้องตาเกิน 4-5 วิให้เกิดอารมณ์อย่างอื่นก็ไม่ได้
 
 
คือระวังไปหมด คนดูสมัยนี้ก็อยากจะฟิน อยากจะจิ้น มันเป็นตีมของละครยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป ก็เรียกพี่ไก่มาดูมอนิเตอร์ “เฮอะๆ ได้มั้ยๆ “คนในกองถ่ายจะเห็น พี่ไก่กับบุ๋มรัญญาเถียงกันทั้งวัน
 
 
พอถ่ายไปสักพัก พี่ติ๊กอยากอ่านกลอนอีก ตอนที่ได้อ่าน “บางระมาด มาดหมาย...” เขาแฮปปี้มากได้อ่านกลอนจีบผู้หญิง พี่ติ๊กเป็นคนอินมาก ทำการบ้านมาก เขาอยากทำให้ทุกอย่างให้ออกมาดี ไปเรียนเปียโน เรียนเต้นรำ เป็นคนมุ่งมั่นมาก เขาจะซ้อมเยอะมาก
 
 
เอาจริงๆ คือนึกไม่ออกว่า ความรักระหว่างคนที่มีกายเนื้อกับคนที่ไม่มีกายเนื้อ ลากพาผู้หญิงคนหนึ่งไปดูอดีตของตัวเองว่าทำไมฉันถึงอยู่ที่นี่ โดยที่ไปเกิดไม่ได้ จะยังไง บุ๋มจะแยกไรวินท์ออกจากเจ้าบ้านเจ้าเรือนนะคะ
 
 
ทุกครั้งที่เจ้าบ้านเจ้าเรือนพาแพรขาวไปดูชีวิตไรวินท์ นิทานเรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่า ถ้าฉันรู้ว่าเป็นอย่างนี้ฉันจะไม่ทำ บุ๋มก็พยายามตีความไปพร้อมๆ กันกับทุกคน คนที่เป็นองค์ประกอบศิลป์, คนทำเสื้อผ้า ก็ต้องตีความแต่ละยุค แต่ละสมัย
 
 
โชคดีที่เป็นพี่ไก่ เพราะบุ๋มไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย คนแต่งหน้าก็ต้องรู้ยุคนี้ต้องแกสบี้ มีอะไรขึ้นมาอีกเยอะแยะเลย เรื่องนี้แพรขาวต้องเล่นตั้งแต่สาวจนอายุ 60 ก็ต้องมีพัฒนาการทุกอย่าง
 
 
ตัวนักแสดงเองก็ต้องตีความให้เจอตัวละครให้ได้ จะส่งสารไปถึงคนดูได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้อ่อนไหวและบอบบางมาก ตั้งแต่วรรณกรรมเป็นต้นมาที่จะไม่ผิดเพี้ยน
 
 
แล้วงานศพเยอะมาก ตั้งแต่ทำละครมา ไปวัดโน้นวัดนี้ หาวัดดึกดำบรรพ์ ตัวละครสมัยก่อนจะมาเจอหน้ากันในงานศพ
 
 
สิ่งที่ยากคือจะเล่าเรื่องความรักนี้ออกมายังไงให้สวยงามที่สุด เป็นความรักที่แตะต้องกันไม่ได้ เป็นความรักที่ไม่สมหวังในช่วงแรก เขามาดูแลกันด้วยความรัก ความรักเกิดจากความดี อยากปกป้อง อยากคุ้มครอง จิตบริสุทธิ์ของเจ้าบ้านเจ้าเรือนเปลี่ยนไรวินท์ที่ทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้ผู้หญิงทุกคนจนต้องมาติดอยู่ในบ้าน ตอนนี้เขาได้ตอบแทนด้วยความรักที่บริสุทธิ์ ความรักก็ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ได้”

 
 
มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างไหม
 
 
 
“ตอนเราเลือกเสา ให้เสานี้เป็นเสาสีนวล ก็ไปขอเจ้าที่ที่บ้าน ฉากแรกเลยจะเห็นแต่เสา แล้วมีเสียงร้องไห้สะอื้นออกมา ตอนแรกจะทำซีจี แล้วซ้อนตัวจอยที่เป็นสีนวลเข้าไป ก็เลยให้จัดแสงให้มืดที่สุด พี่ไก่ออกแบบจอยเป็นชุดสีดำ หน้าก็ขาว แล้วก็บอก “จอยเข้าไปนั่ง” จอยก็บอกว่า “นั่งอยู่ค่ะ” แต่มองในมอนิเตอร์ไม่เห็น
 
 
จะมีมีคิวให้จอยหันหน้ามา ก็บอกว่าไม่ซ้อมนะ ถ่ายเลย มันมืดมาก เราก็คิวนะ “คิว” พอคิวปุ๊บมันเหมือนแบบ เสามืดๆ ไม่เห็นจอย ภาพจอยฝังอยู่ในเสาแล้วหันมา “อื๋ยยย แล้วบุ๋มก็เห็น...” วิ่งออกจากมอนิเตอร์เลย กลัวมาก ร้องกรี๊ดเอง วิ่งหนีเอง ตกใจกลัวเอง ไปยืนอยู่ข้างๆ บ้าน “เสร็จยัง คัท สิ คัท” นั่นคือสิ่งที่เจอด้วยตัวเอง ทุกคนก็เหวอ แต่ไม่มีใครพูด”

 
 
 
 
 
 
 
“แก้วเก้า” ผู้ประพันธ์
 
 
 
มีแรงบันดาลใจจากไหนถึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
 
 
“นิยายในนามแก้วเก้าจะเป็นเรื่องผีอยู่แล้ว หามาสารพัดชนิด ก็มาถึงคิวของ ผีที่ใกล้ตัวที่สุดคือในบ้าน ก็ไม่ยาก ลูกสาวคนเล็กของดิฉันเป็นคนมีซิกเซนส์ค่ะ ตั้งแต่เล็กๆ จะบอกแม่ว่าเขาเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมองมาทางหน้าต่าง บางทีก็เดินเข้าในบ้าน บางทีก็เดินมาดูเขา แต่เขาไม่เคยมาทำอะไรนะคะ แม่ก็ไม่เคยเห็นด้วย
 
 
ต่อมาก็ตั้งศาลเจ้าที่ขึ้น ด้วยความเชื่อว่า ที่ดินที่เราอยู่ไม่ว่าที่ไหนก็ตามมีเจ้าของเก่า อยู่กันเป็นร้อยเป็นพันปีล้มหายตายจากไป ที่ดินตรงนั้นก็เอามาปลูกบ้าน มีเจ้าของที่ดินอยู่ เมื่อเราสร้างที่อยู่อาศัยเราก็ควรตั้งศาลขึ้น เลยเอามาผูกเป็นเรื่องขึ้น ขอชมว่าคุณบุ๋มตีความประเด็นนี้ได้ตรงเป๊ะเลย
 
 
ความรักในเรื่องเทียบไว้สองยุคด้วยกัน คือยุคโบราณเป็นแบบหนึ่ง ผู้หญิงแบบสีนวล ผูกติดตัวเองไว้กับความรักไม่เคยคิดจะไปจากตรงนั้นเลยทั้งที่สามีก็ไม่ได้รักตัวแล้ว แต่แพรขาวยุคปัจจุบัน ตรงกันข้าม พอสามีออกนอก ก็หอบลูกออกจากบ้านโดยไม่คิดจะกลับไปอีก จะลำบากลำบนยังไงก็ตาม ไม่มีความยึดเหนี่ยวอย่างศรีนวล สิ่งนี้คือสิ่งที่จองจำศรีนวล แต่แพรขาวไม่เป็น แพรขาวจะเดินหน้าต่อไป
 
 
ไรวินท์ก็เหมือนกัน ไรวินท์ในอดีตเป็นคนที่ไม่รู้จักอะไร ทั้งที่สงสารแม่เห็นแม่มีพ่อเจ้าชู้ พอถึงตัวเองก็ทำอย่างพ่อ แต่ความรักที่ไรวินท์มีต่อแม่ดีอยู่อย่างหนึ่งคือแต่งงานกับคนที่แม่อยากให้แต่ง แต่งเสร็จก็ทิ้ง พัสกรก็เหมือนกันเป็นเศรษฐีที่อยากทำอะไรก็ทำ ไม่นึกถึงใจใคร ผู้หญิงสองคนประสบเหตุเหมือนกันแต่หาทางออกไม่เหมือนกัน
 
 
ด้วยความถูกจองจำมานาน ไรวินท์ก็มีความคิดความอ่านมากขึ้น มีความหวังดี กลายเป็นความรัก แล้วมันก็จบลง เรื่องนี้ท้าทายคนเขียนมากค่ะ โจทย์คือ ไรวินท์เป็นผู้ชายที่เลวมาก แต่ชนะใจคนอ่าน ที่มันเกิดขึ้นได้ยากมาก
บางคนบอกว่า พอจบรวมเล่มก็ไม่กล้าอ่าน เพราะเพื่อนบอกว่าพระเอกเป็นผู้ชายที่น่าเกลียดมาก ไม่ชอบเลย ก็เลยไม่อ่าน
 
 
โจทย์ที่ท้าทายมากคือ ทั้งที่เราโกรธกัน เราก็เห็นใจเขา เราก็สงสารเขา
 
 
นางเอกในนิยายไทยมักถูกกำหนดให้จำกัดอยู่แค่ผู้ชายคนเดียว สีนวลเป็นผู้หญิงที่น่าสงสาร แพรขาวก็มีชีวิตที่น่าสงสารแต่เธอมีความเด็ดเดี่ยว ผู้ชายคนแรกพัสกรเห็นใจกันรักกันแต่งงานกัน คนที่สองก็อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะลงเอยกันได้ คนที่สาม... ในเมื่อมีคนที่ดี มันก็ไม่มีเหตุผลที่นางเอกจะต้องอดแห้งเหี่ยวไม่เกี่ยวข้อง
 
 
ส่วนใหญ่พระรองจะดีกว่าพระเอก จะหล่อ จะดี จะซื่อสัตย์ ไม่ดีอย่างเดียวคือนางเอกไม่รัก สาโรจน์เป็นคนดี แล้วทำไมแพรขาวถึงจะต้องไม่เอา ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธ เพื่อความถูกต้องในศีลธรรมก็ให้สาโรจน์ตายไปก่อน
 
 
ทั้งหมดนี้ท้าทายมากในคนเขียน พล็อตเหล่านี้ต้องตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง ทำยังไงให้พระเอกซึ่งความประพฤติไม่ดีเป็นที่นิยมชมชอบของคนอ่านได้ สอง.ทำยังไงพระเอกนางเอกลงเอยกันได้ สาม.เปิดฉากมานางเอกก็เป็นแม่ม่ายลูกติด สังเกตไหมว่านิยายไทยนางเอกต้องบริสุทธิ์ แล้วนี่นางเอกมีลูกตั้ง 5 ขวบ มันก็ผิดสเปคแล้ว ทำอย่างไรให้แฮปปี้เอนดิ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายและสังคม อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย”

 
 
 
 
ผลิตเป็นละคร ออกอากาศแล้ว รู้ัสึกอย่างไร
 
 
“ดิฉันดีใจมากที่คุณไก่, คุณรัญญา, คุณแอ๊นท์ เป็นสามเทพ เอาเรื่องนี้ไปทำ ให้ถูกต้องตามโจทย์ที่วางไว้โดยไม่ได้ปรึกษากันเลย ดิฉันคิดว่าคุณไก่คงมีความระมัดระวังตัวอยู่รอบด้านอยู่พอสมควร ทีนี้การตีความของคุณแอ๊นท์ คุณไก่ ดิฉันแปลกใจมากที่มาตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย ไม่มีการปรึกษาหารือใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตรงกับความคิดของผู้เขียน
 
 
เรื่องแรงบันดาลใจนั้น แก้วเก้ามีความยากลำบากอยู่อย่างหนึ่งคือ เขียนมาหลายสิบเรื่องแล้ว พยายามไม่ให้ซ้ำ โจทย์ก็ยากขึ้น ก็เลยเป็นกรรมของผู้ทำละครด้วย เอานิยายยุคหลังๆ ไปทำ ก็จะยาก
 
 
ขอขอบคุณทุกท่าน จากใจผู้เขียนที่นั่งลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่า เรื่องนี้จะออกมายังไง พอฟังแล้วก็สบายใจ อยากบอกว่า ดีใจที่เรื่องนี้คุณไก่ คุณแอ๊นท์ คุณรัญญา ได้ทำค่ะ”

 
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณ นิตยสารสกุลไทย ที่ได้จัดงานเสวนา “จากตัวอักษรสู่ละครเจ้าบ้านเจ้าเรือน”ครั้งนี้ 













กำลังโหลดความคิดเห็น