อลังการ…ฉากโขน “พรหมาศ”
เป็นอีกหนึ่งปีที่เตรียมสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทุกรอบการแสดงอีกครั้ง สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยในปีนี้ ทรงได้เลือกโขน ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” มาจัดแสดงใหม่ หลังจากที่เคยสร้างความประทับใจไปเมื่อปี พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ได้นำมาปรับปรุงและจัดการแสดงขึ้นใหม่ โดยเตรียมเนรมิตงานฉากของการแสดงโขน ซึ่งนับองค์ประกอบหลักสำคัญที่ช่วยให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมและสร้างความตื่นตาตื่นใจได้อย่างงดงามในทุกปี โดยในปีนี้เตรียมพร้อมเปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
สำหรับปีนี้ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก การแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในทุกปีที่ผ่านมา ยังได้ใส่ฝีมือและความตั้งใจลงไปดังเช่นทุกครั้ง เพื่อสานต่อเจตนาให้นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยได้อยู่บนเวทีได้อย่างภาคภูมิ สง่างามและทัดเทียมสากล โดยได้กล่าวถึงการจัดเตรียมฉากในครั้งนี้ว่า “สำหรับการเตรียมงานในด้านฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากการแสดงโขนฯ ในปีนี้ เรียกได้ว่าเกือบจะสมบูรณ์ครบ 100 % แล้ว โดยครั้งนี้มีฉากที่จะใช้ในการแสดงทั้งหมด ๖ ฉากด้วยกัน ได้แก่ ฉากที่ 1 ขัดตาทัพ (ท้องพระโรงกรุงโรมคัล), ฉากที่ 2 พลับพลาพระราม, ฉากที่ 3 สนามรบ, ฉากที่ 4 ข่าวศึก (ท้องพระโรงกรุงลงกา), ฉากที่ 5 เสียพิธี และ ฉากที่ 6 ศรพรหมาศ สำหรับความพิเศษจะได้เห็นตั้งแต่เปิดมาฉากแรกเลย โดยปกติการแสดงทุกๆ ครั้ง เราจะเปิดการแสดงด้วยฉากท้องพระโรงกรุงลงกา แต่ในปีนี้ ผู้ชมจะได้ตื่นตาตื่นใจกับฉากใหม่ คือ ฉากท้องพระโรงกรุงโรมคัล ที่งดงามมาก โดยมีการใช้ศิลปะทางช่างศิลป์ในแบบไทย และผสมผสานในแบบกระบวนจีนเข้าไปด้วย มิติของโทนสีที่ใช้จะมีความลึกลับดูน่าเกรงขาม เนื่องด้วยบุคลิกลักษณะของมังกรกัณฑ์มีโลกส่วนตัวสูง ก็จะเป็นท้องพระโรงที่มีความลึกลับน่าค้นหา ซึ่งแน่นอนว่าฉากแรกที่เปิดมา ผู้ชมต้องเกิดความประทับใจมากที่สุด”
“นอกจากนั้น ในฉาก ท้องพระโรงกรุงลงกา ของทศกัณฑ์ ผู้ชมจะได้พบกับ ซุ้มเรือนแก้ว ที่มีความวิจิตรมากยิ่งขึ้น โดยในปีก่อนๆ ซุ้มเรือนแก้วจะมีลักษณะโทนสีเป็นสำริด แต่ในปีนี้ทางทีมได้มีการทำทอง ติดกระจก ลงยาใหม่เพิ่มเติมจากของเดิมอีกด้วย เพื่อเพิ่มเติมให้ฉากดูมีความงดงาม ทำให้ตัวละครทศกัณฑ์ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เมื่อประทับ ณ ซุ้มเรือนแก้ว”
อาจารย์สุดสาคร ฉายภาพให้เห็นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับฉากในองค์ที่ 2 เพิ่มเติมว่า “ส่วนในองค์ที่ 2 นั้น เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของการแสดงเลยก็ว่าได้ เพราะมีผู้ที่ติดตามและไถ่ถามกันมามากจากการได้ชมการแสดงในครั้งก่อนๆ ว่าในปีนี้ ช้างเอราวัณ มีความงดงามอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องบอกว่าถึงแม้เราจะมีการแสดงในตอนนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เราก็ได้มีการพัฒนาให้ทุกๆ อย่างดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้เราสามารถทำสิ่งที่เราอยากจะทำให้เป็นจริงและดีขึ้นได้ โดยในปีนี้ใน ฉากศรพรหมาศ จะได้เห็นประติมากรรม ช้างเอราวัณ ขนาดใหญ่ ที่เป็นจุดเด่นในการแสดงครั้งนี้ มีขนาดใหญ่โต ความสูงกว่า 3.5 เมตร โดยมีการใส่เอ็ฟเฟ็กต์ให้มีความสมจริง โดย ช้างเอราวัณ จะสามารถขยับในอิริยาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การชูงวง การขยับคอ ได้ทั้ง 3 เศียร การทรุดตัวหมอบ เรียกว่าผู้ชมจะได้เห็นความสมจริง ได้อรรถรสในการชมไม่แพ้การแสดงที่ผ่านมาอย่างแน่นอน”
“นอกจากนี้ ในฉากจบผู้ชมจะได้เห็นงานประติมากรรมนูนต่ำ พระจันทร์ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร ที่มีแสงทองนวลปรั่ง ส่องแสงกระทบกับเขาสรรพยา ซึ่งเรียกได้ว่าเต็มอิ่ม อิ่มเอม และเพลิดเพลินกันในทุกฉาก สมดังความตั้งใจของคณะกรรมการ ด้วยความที่เราผ่านการจัดทำฉากมาแล้วกว่า 8 ปี ทำให้ประสบการณ์ของทั้งผมเองและทีมงานมีความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมที่ทำมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี ความมุ่งหวังของคนทำงาน คือ ต้องมีการพัฒนาทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ให้สมการรอคอยของผู้ชมที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง และเพื่อความสุขของคนดูที่จะได้อิ่มเอม เต็มอารมณ์ทั้งบท ฉาก และองค์ประกอบทุกส่วนการแสดงครับ” อาจารย์สุดสาคร กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ยังมี กลุ่มนักศึกษาของโรงเรียนเพาะช่าง ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำฉากการแสดงโขนเรื่องนี้ อาทิ
1.นายพฤฒิพงศ์ เปลี่ยนแก้ว (ก้อง) อายุ 25 ปี ศึกษาอยู่โรงเรียนเพาะช่าง สาขาจิตรกรรมไทย คณะศิลปประจำชาติ ชั้นปีที่ 4
“มีโอกาสได้ช่วยในเรื่องของการวาดลายบนผืนผ้าฉากต่างๆ นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสไปดูลายและแกะลวดลายจากวัดต่างๆ เช่น วัดนางนอง ที่มีศิลปกรรมแบบกระบวนจีน ซึ่งได้นำมาใช้ในฉากท้องพระโรงกรุงโรมคัลของมังกรกัณฑ์ รู้สึกว่าการมาทำตรงนี้ร่วมกับรุ่นพี่ นอกจากได้ประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังได้เป็นการพัฒนาฝีมือของตนเองควบคู่กันไปด้วย และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สมบัติชาติครับ”
2.นายปกรณ์ ปรีชาวนา (เกมส์) อายุ 22 ปี ศึกษาอยู่โรงเรียนเพาะช่าง สาขาจิตรกรรมไทย ชั้นปีที่ 4
“ผมรู้สึกว่าชอบการวาดในแนวนี้ คือการวาดลายไทย จิตรกรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มโตมาจึงเลือกเรียนในสายนี้ ผมรู้สึกว่าการได้มาทำในจุดนี้มีความสุขมาก และคิดว่าลายไทยมีเสน่ห์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ดีใจและปลาบปลื้มในที่สุดครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรม รวมทั้งได้เป็นส่วนหนึ่งในการถวายงานในทุกๆ ครั้งครับ”
3. นายภานุวัฒน์ รอดสวัสดิ์ (ไทด์) อายุ 28 ปี จบจากโรงเรียนเพาะช่าง และมีโอกาสได้ช่วยการจัดทำฉากมาทั้งสิ้น 8 ปี (ตั้งแต่ครั้งแรก)
“มีโอกาสได้ร่วมจัดทำฉากโขนฯ ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ที่เพาะช่าง เรียกว่าได้มีโอกาสร่วมทำตั้งแต่การแสดงตอน พรหมาศ ครั้งแรกเลยครับ สำหรับตัวเองแล้วรู้สึกเป็นเกียรติ ภูมิใจ และดีใจอย่างที่สุด ที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำฉากในทุกๆ ครั้ง หน้าที่หลักของผมคือ ช่วยในการจัดทำต้นแบบ"
สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ได้กำหนดจัดการแสดง รอบประชาชน จำนวน 24 รอบ และรอบนักเรียน จำนวน 20 รอบ รวมทั้งสิ้น 44 รอบ ในระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.02 - 262 - 3456 หรือทาง www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 620, 820, 1,020, 1,520 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com