งดงามอลังการสมการรอคอยที่ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียวจริงๆ กับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ.2558 ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ซึ่ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนวิจิตร นาฏศิลป์ไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี และเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รอบปฐมทัศน์ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีคณะบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น
บรรยากาศรอบปฐมทัศน์ เรียกได้ว่า เปี่ยมไปด้วยความสุขของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและร่วมชมการแสดง อาทิ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ฯลฯ หลังสิ้นเสียงปรบมือให้กำลังใจนักแสดง ทีมคณะโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมทั้งผู้ชมในศูนย์วัฒนธรรมฯ ต่างพร้อมใจกันร้องเพลง “วันเกิด” ถวายสมเด็จพระเทพฯ อย่างกึกก้อง พร้อมกันนี้ คณะทำงานโขน ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายรูปนิมิตรช้างเอราวัณสำริดแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ กล่าวว่า การแสดงโขนชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” เป็นการแสดงตามบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง รามเกียรติ์ ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เป็นหลัก ผสมผสานกับบทคอนเสิร์ตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รวมทั้งเพิ่มเติมบทฉุยฉายจากบทโขนพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มาจัดแสดง
นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เผยรับสั่งของามเด็จพระเทพฯ หลังจากที่ทอดพระเนตรการแสดงโขนฯ จบแล้วว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระเกษมสำราญและพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก และทรงรับสั่งชื่นชมว่า โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปีนี้นั้น ทำได้ดีในทุกๆ ฉาก ทั้งนักแสดง นักร้อง นักดนตรี รวมไปถึงงานฉากที่มีความวิจิตร นอกจากนั้น ยังทรงชื่นชมอีกว่า มีความคิดที่ดีในการนำศิลปะของไทยในหลายรัชกาล มารวมไว้ได้อย่างลงตัว ทั้งฉากท้องพระโรงกรุงโรมคัล ที่มีการนำกระบวนจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 มาใช้ในครั้งนี้”