จาก "ทรายสีเพลิง" สู่ "มาลีเริงระบำ"
ละครที่ไม่เคยสร้างใหม่ของ "ไก่ วรายุทธ"
สร้างละครในฐานะผู้จัดมาแล้วเกือบยี่สิบเรื่อง "วรายุทธ มิลินทจินดา" หรือ "เจ๊ไก่" ของใครต่อใครเคยเสียศูนย์ไปพักใหญ่เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังเข้าหู แต่แล้วเธอก็กลับมาทวงตำแหน่งผู้จัดละครน้ำดีแห่งยุคสมัยได้อย่างสง่างามในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มวางตัวในฐานะผู้จัดละครในเรื่อง ทรายสีเพลิง ในปี พ.ศ. 2539 จนถึง ปัจจุบัน วรายุทธต้องพบเจออะไรมาเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่เธอบอกด้วยความมั่นใจก็คือ "เราต้องเป็นคนให้คะแนนผลงานของตัวเองให้ได้ และต้องผลิตงานที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าที่เคยทำไปเสมอ" และล่าสุดเธอก็ภาคภูมิใจที่จะให้ผู้ชมทั่วประเทศอิ่มเอมไปกับละครเรื่อง มาลีเริงระบำ ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้
"เรื่องนี้เป็นละครที่มีเพลงเยอะ มีโชว์เยอะ เพราะว่าพี่เป็นคนทำโชว์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคราวนี้พี่เอาโชว์กับละครมารวมกัน เป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็เล่าเรื่องด้วยเพลงในบางซีนอย่างที่เกิดขึ้น เราชอบมิวสิคัล ชอบเพลงอยู่แล้ว แล้วพี่ดูละครเพลง ละครอะไรมาเยอะ ก็มีความรู้สึกว่าแต่ก่อนก็เคยทำราชินีหมอลำ ดาวจรัสฟ้า อันนั้นก็เป็นลูกทุ่ง แล้วก็ทำกรุงเทพฯ ราตรี มันก็เป็นเพลงไทยสากลไป แต่อันนี้เป็นอะไรที่ร่วมสมัย อันนั้นไม่มีโชว์ มีแต่เพลงอย่างเดียว แต่นี่มีทั้งโชว์ มีทั้งเพลง มีอะไรหลายๆ อย่าง มันเป็นวาไรตี้น่ะ" วรายุทธพูดถึงละครเรื่องล่าสุดของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ
ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะไม่แสดงบทที่ต้องแต่งหญิง แต่ในมาลีเริงระบำ ตัวละครเคธี่ที่วรายุทธแสดงเป็นกระเทยแต่งหญิงเต็มตัว ซึ่งวรายุทธก็พูดถึงเหตุที่ต้องผิดคำพูดของตัวเองเอาไว้ว่า " พี่ขี้เกียจเล่นมาก(เน้นเสียง) ที่ต้องกลับคำเพราะว่าสำรวย(สำรวย รักชาติ)เป็นเพื่อนกัน เขาเป็นผู้กำกับเรื่องนี้ แล้วเขาบอกว่าชั้นอยู่ช่องเจ็ดมานาน แล้วมาทำที่นี่ แล้วมาทำให้เธอ ในความเป็นเพื่อนกัน อยากกำกับเพื่อน ก็เลย อ่ะ เล่นอีกทีก็ได้"
"แล้วอีกอย่างเรื่องแต่ก่อนที่พี่เล่นแต่งหญิงเนี่ย พี่ก็เป็นอีพวกกระเทยสงครามโลกบ้าง กระเทยขายส้มตำบ้าง เป็นกระเทยที่ไมไ่ด้ไฮโซ เรื่องนี้เป็นกระเทยรวย ก็เลย อ่ะ ชั้นได้แต่งตัวสวย ได้แต่งตัวแปลกก็เลย อ่ะ รับปากเล่น แล้วก่อนที่จะมาเป็นชื่อคาที่หรือเคธี่เนี่ย ตอนแรกบ๊วย(นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ คนเขียนบท)เขาตั้งชื่อมาว่าเจ๊ย้งยี้ พี่บอกว่าไม่เอาชื่อไม่เพราะพี่ไม่ชอบ ย้งยี้ดูเป็นตุ้งแช่ไป มันอาจจะตลกก็ได้ แล้วพี่เล่นตลกไม่พอสำหรับคำว่าย้งยี้ นึกออกมั้ย พี่ก็เลยบอกว่าเปลี่ยนดีกว่าเป็นคาที่หรือเคธี่ให้คนมาเรียก มันจะได้ตลกบางส่วนหรือส่วนนึง"
วรายุทธบอกว่านอกจากจะได้รับความบันเทิงแบบเลิศหรูอลังการตามแบบฉบับของเธอแล้ว ละครเรื่องนี้ยังเป็นละครน้ำดีที่แฝงเอาไว้ด้วยข้อคิดต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมปัจจุบัน
"มันขึ้นอยู่ที่ว่าใครดูล่ะ ถ้าพ่อดูก็จะได้ความรู้สึกของความเป็นพ่อ ถ้าเกย์ดูก็จะได้ความรู้สึกของคนเป็นเกย์ว่าเกย์คนนึงมีลูกแล้วสามารถเลี้ยงลูกได้ ทำอย่างไรให้ลูกยอมรับในความเป็นพ่อได้ ถ้าลูกดูก็จะมีความรู้สึกว่าถ้าชั้นมีพ่อเป็นเกย์ แล้วชั้นจะรับพ่อชั้นได้ไหมกับสังคมปัจจุบันนี้มันบอกเราทุกอย่าง สองที่เกิดขึ้นในละครเรื่องนี้คือสังคมปัจจุบันนี้เลย แล้วเรื่องนี้ก็เกือบจะเป็น Base on true story เพราะว่ามันเป็นความจริงของคนที่รู้จัก"
"เรื่องนี้พี่ว่ามันบอกหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการดูถูกคน การที่สังคมดูถูกเกย์ สังคมดูถูกเด็กผู้หญิงคนนึงที่มาจากบ้านนอก แล้วจะมาประกวดร้องเพลง สังคมดูถูกคนอื่นว่ามีปมด้อย แต่จริงๆ เขาไม่มีปมด้อย แล้วก็สอนให้คนรู้จักว่าการดูถูกคนเป็นสิ่งที่ไม่ดี การที่อยากเอาชนะในสิ่งที่ผิดๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ชนะอยู่แล้ว แต่อยากเอาชนะมากขึ้น มันเป็นอันตรายแก่ตัวเอง"
เจ้าบ้านเจ้าเรือน บทประพันธ์ของแก้วเก้า คือเรื่องต่อไปที่วรายุทธกำลังจะนำมาลงจอให้ผู้ชมได้ดูกัน โดยเรื่องนี้เธอเลือกพระเอกอันดับหนึ่งของประเทศ ณ ตอนนี้ อย่าง "ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี" มารับบท "ไรวินท์" พระเอกที่ต้องหล่อเนี๊ยบเป็นอมตะข้ามชาติเลยทีเดียว
“บทประพันธ์เขียนไว้สนุกมากๆ แล้วคนที่เป็นแฟนอาจารย์จะต้องฝันว่าตัวพระเอก ไรวินท์ เนี่ยเป็นใคร เพราะต้องหล่อมาก ต้องเป็นผู้ชายในฝัน แล้วเป็นผู้ชายหล่อมาร้อยปีแล้ว ประเทศไทยมีใครที่ยอมรับ ใครยอมรับว่าใครหล่อที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ ในด้านวงการทีวี ก็ไม่พ้น ติ๊ก เจษฎาภรณ์ เพราะฉะนั้นพี่ต้องขอให้เขามาเล่นในบทที่เขาหล่อที่สุดในประเทศ เขาหล่อที่สุดในสายตาของคนดู เป็นที่ยอมรับของประชาชนที่เป็นแฟนเขา แฟนละครแฟนหนังว่านี่แหล่ะ คือไรวินท์"
เอกลักษณ์หนึ่งที่แฟนๆ วรายุทธต่างรู้กันดีก็คือ ผู้จัดละครรายนี้ไม่เคยสร้างละครรีเมคงานเก่าของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าถ้าเรื่องไหนเคยสร้างเป็นละครภายใต้ฝีมือของตัวเองมาแล้วก็จะไม่ย้อนกลับไปจัดซ้ำอีกครั้งอย่างแน่นอน
“เพราะว่าสิ่งที่เราทำไว้แล้ว มันดีแล้ว มันดีในสายตาตัวเอง แล้วก็ดีในสายตาคนอื่นที่เขาเห็นแล้วเขารู้สึกว่าดีแล้ว แต่มีเยอะที่หลายคนบอกว่าให้พี่ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องนู้น พี่ก็บอกว่าพี่ไม่เคยทำละครรีเมคของตัวเองเลย"
แต่แล้วสถิติการไม่รีเมคของวรายุทธก็กำลังจะเป็นอดีต เพราะเธอกำลังจะนำละครที่เคยจัดกลับมาสร้างใหม่เพราะเป็นละครเรื่องเดียวที่เธอรู้สึกติดค้างในหัวใจ
"เหตุผลที่พี่จะทำเรื่องนี้เพราะว่าตอนนั้นพี่ทำสี่แผ่นดิน มันก็สุดยอดในงานของพี่ แล้วพี่มาทำร่มฉัตร สี่แผ่นดินกลับร่มฉัตรหมด ขนาดพี่รอมาสามปี สี่แผ่นดินกลบร่มฉัตร ทั้งที่ร่มฉัตรก็สนุก ก็ดี ก็สวย ก็สมบูรณ์แบบในสิ่งที่ป้าอี๊ด ทมยันตีออกปากชมว่า โอเค แต่พี่ยังมีความรู้สึกว่าตรงนั้นคนลืมกับร่มฉัตรพี่ พี่ก็เลยจะรีเมค เป็นละครเรื่องแรกในชีวิตคือเรื่องร่มฉัตร พี่บอกกับช่องสามว่า พี่มีความรู้สึกว่ามันดีได้อีก"
“ต้องทำให้ดีกว่า ถึงมั่นใจ ถึงกล้าจะทำรีเมค ซึ่งพี่ไม่กดดันเลย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าต้องดีกว่าของเก่าแน่นอน เราถึงกล้าทำ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มันเห็น มันมีภาพ มันมีอะไรหมดแล้วว่าชั้นจะทำยังไงกับตรงนี้"
แม้จะทุ่มเทตั้งใจผลิตงานละครด้วยความปราณีต แต่วรายุทธก็เป็นเช่นคนทั่วไปที่ไม่พ้นคำครหา ย้อนกลับไปไม่กีี่ที่ผ่านพ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าถึงคราวตกต่ำของวรายุทธเพราะละครที่เธอเป็นผู้จัดในช่วงนั้นกระแสไม่ดีแถมยังไม่ถูกจริตนักวิจารณ์ โดยวรายุทธยอมรัยว่าเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอสูญเสียกำลังใจพอสมควรเลยทีเดียว
““พี่รู้สึกดาวน์ลงไปเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งมันไม่เป็นเรื่องน่ะ ชั้นผิดตรงไหนเหรอ ละครชั้นแย่เหรอ ชั้นไม่เคยทำละครเฟลสักกะเรื่อง แต่ไม่ถูกใจเขาหรือเปล่า คืออาจจะไม่ถูกใจเขา ไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม ก็เลยโจมตีว่าละครพี่แย่แล้ว ถึงคราววิบัติของวรายุทธ แต่พี่มีความรู้สึกว่าพี่ไม่เคยดูถูดและไม่เคยทำลายละครที่พี่ทำ เพราะพี่รักงานพี่ทุกเรื่อง รักงานพี่ทุกชิ้น แต่คนเราเนี่ย ปีนึงทำละครเรื่องเดียว ถ้ามันดร็อปลงไป คนเราเคยสอบได้ที่หนึ่ง แล้วมาสอบได้ที่สอง มันผิดเหรอ มันผิดไปเลยในสายตาของประชาชนเหรอ บางครั้งชั้นอาจจะป่วย ชั้นอาจจะไม่สบาย ชั้นถึงไม่ได้สอบได้ที่หนึ่งแบบทุกๆ ปีที่ชั้นสอบได้ แต่ชั้นตกมาอยู่ที่สอง ที่สาม ชั้นผิดขนาดที่ว่าต้องลาออกจากการเป็นนักศึกษาหรือนักเรียนเลยเหรอ"
"พี่มีความรู้สึกว่าพี่ไม่ได้ทำละครปีละสี่เรื่องหรือห้าเรื่อง คนทำสี่ ห้าเรื่อง ดีเรื่องนึงก็ดังไปตลอด แต่คนทำเรื่องเดียว ผิดเรื่องนึงก็จะจมธรณีเลยเหรอ ในตอนนั้นที่พี่เจอตรงนี้ แล้วทำให้พี่คิดว่ากับคำพูดของคนที่วิจารณ์พี่เนี่ย มันจะทำให้พี่หมดอาชีพนี้เหรอ ก็ไม่หมด พี่ถือว่าพี่ไม่ผิด แต่คนที่มองว่าพี่ผิด ทำให้ละครแย่ ละครอย่างนู้นอย่างนี้ เขาเคยดูงานพี่มาแค่ไหน เขาเคยดูงานพี่หมดทุกครั้งหรือเปล่า แล้วถึงมาบอกว่าวรายุทธตกอันดับ แต่พี่บอกตัวเองตลอดเวลาว่าพี่ไม่เคยตก พี่นิ่ง พี่ดูว่าพี่จะหยิบเรื่องไหนมาทำให้ถูกปากกับคนที่ด่าพี่ เพื่อที่เขาจะได้เคี้ยวได้อร่อยๆ สมใจเขา"
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วรายุทธก้าวข้ามจุดนั้นมาได้อยู่ที่กำลังใจจากคนรอบข้าง และการพลิกมุมมองของวรายุทธเอง "“มันมีท้อแค่แวบเดียวเอง ไม่เยอะเท่าที่คนอื่นคิดหรอก แต่ถามว่ามีมั้ย มีแน่นอน คนรุมด่าขนาดนั้น แต่พี่ก็ลืมไปหมดแล้ว ลืมว่าเขาด่าเรื่องอะไร ลืมว่าเขาด่ายังไง แต่รู้ว่าเขาด่าพี่ เพราะพี่ไม่เก็บ พี่จะเก็บแต่สิ่งดีๆ เอาไว้ในชีวิตพี่ สิ่งที่ไม่ดีพี่ไม่เก็บ พี่ถือว่าสกปรกตัวพี่"
“พี่ได้กำลังใจจากคนรอบข้างพี่ ที่รู้ว่าพี่ยังไม่ไปไหน ว่าพี่ยังรักละครอยู่ พี่ก็เลยกลับมาทำ แล้วพี่ได้พี่แดง ศัลยาเขียนบทสนุก เขียนบทดี ได้กำลังใจจากพี่แดง จากเพื่อน จากใครๆ ว่าพี่ไม่ไปไหนหรอก อยู่ที่ว่าพี่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าพี่ทำมันก็คือละครพี่ เพราะพี่ถือว่าละครพี่มีลายเซ็นต์ ละครคนอื่นออกไปถ้าไม่ขึ้นชื่อผู้จัดก็ไม่รู้ว่าใครทำ แต่ละครพี่ไม่เคยขึ้นชื่อ วรายุทธ เลย ตั้งแต่ทำเรื่องแรกจนถึงตอนนี้ คนก็รู้ว่าเป็นวรายุทธ เพราะอะไร เพราะว่าคนรู้จักละครพี่ แฟนละครพี่มี เป็นลายเซ็นต์ของพี่เอง พี่ไม่ต้องลงว่าจัดโดย วรายุทธ มิลินทจินดา ไม่เคยมีในละครพี่ตรงนี้ แต่แฟนใหม่และแฟนเก่าที่ดูละครก็จะรู้ว่านี่คือละครของเรา"
เมื่อถามถึงการทำละครในยุคสมัยปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงมากจนถ้าไม่เจ๋งจริงคงยืนอยู่ไม่ได้ วรายุทธก็ยอมรับว่าการทำหน้าที่ผู้จัดในยุคโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะการแข่งขันสูง ถ้าหยุดพัฒนาเท่ากับฆ่าตัวตายทันที
“ยากมาก(เน้นเสียง) ยากกว่าสิ่งที่พี่ทำในสมัยก่อนมากๆ เพราะความต้องการเยอะ หลากหลาย แต่ก่อนทำอะไรให้คนดูคนก็ดู เพราะว่าช่องมันมีอยู่แค่นั้น ผู้จัดก็มีอยู่แค่นี้ แต่ตอนนี้ผู้จัดโดยเฉพาะช่องเดียวกันเองก็เกือบสามสิบ ผู้จัดช่องอื่น ละครช่องอื่น ละครนู่นนี่นั่นอีกตั้งเยอะ การแข่งขันมันเยอะขึ้น ความต้องการของคนดูมากขึ้น การเปรียบเทียบกันเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องแข่งขันกับตัวเองให้มากกว่าแข่งขันกับคนอื่น"
"ถ้าเราแข่งขันกับตัวเองเราจะชนะงานของเราขึ้นไปเรื่อยๆ เราไม่จำเป็นต้องไปชนะงานของคนอื่น แค่ชนะงานของตัวเอง แล้วทำให้ดีที่สุดๆๆ ในเรื่องต่อๆ ไปของเรา มันก็ถือว่าตรงนั้นคือการประสบความสำเร็จในงานของเราแล้ว ไม่ใช่ทำแล้วถอยหลังๆ กับงานที่เราทำอยู่ สมมุติว่างานเรื่องนี้เราทำ เราได้แปดคะแนน เรื่องหน้าเราต้องได้เก้า เรื่องต่อไปเราต้องได้สิบ เรื่องต่อไปเราต้องได้สิบเอ็ด ไม่ใช่ทำได้แปดแล้ว เรื่องหน้าเหลือเจ็ด เหลืิอหก ตายแล้ว อะไรล่ะทำให้เป็นอย่างนี้ ต้องหาเหตุผล ต้องดูว่าทำไมมันถึงเกิดตรงนั้นขึ้นมา"
“คะแนนที่บอกเราวัดจากตัวเอง เราให้คะแนนตัวเอง เราดูผลงานตัวเอง เราจะรู้เลยว่างานที่เราทำออกไปมันดีพอหรือยัง มีข้อผิดพลาดตรงไหน เพระาเวลาเราดูละครของเรา เราไม่ได้ดูด้วยความสุขนะ พี่ไม่ได้ดูด้วยความสุขเลย พี่ดูว่าพี่จะจับผิดละครพี่ตรงไหน หลังจากนั้นพี่จะมีความสุขว่าพี่จับผิดแล้วพี่หาไม่เจอ" วรายุทธปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม