xs
xsm
sm
md
lg

ยล...ฉากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จากเบื้องหลังสู่ความตระการตาเบื้องหน้า (ชมคลิป!)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม
ยล...ฉากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
จากเบื้องหลังสู่ความตระการตาเบื้องหน้า

เรียกได้ว่าความตื่นตาตื่นใจของ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตลอดทุกปีที่ผ่านมานั้น ล้วนสร้างความประทับใจยาวนาน และองค์ประกอบสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่านักแสดงที่ต้องฝึกซ้อมกันแรมปีนั้นคือ “ฉากและอุปกรณ์ประกอบการแสดง” ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญช่วยให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปกับการแสดง เรียกว่าเป็นการเติมเต็มให้เกิดความ “อิ่มเอม” ในการได้ชมโขนพระราชทานในทุกๆ ปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ และในปีนี้ก็เช่นกัน การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ ๒๕๕๗ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ”

ผู้อยู่เบื้องหลังฉากสุดยิ่งใหญ่อลังการของการแสดงโขนตลอดทุกปีที่ผ่านมาและยังคงสานต่อเจตนาให้นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยได้อยู่บนเวทีได้อย่างภาคภูมิและทัดเทียมสากล นั่นคือ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก โดยกล่าวเกี่ยวกับการเตรียมงานฉากในปีนี้ว่า “ตอนนี้ในเรื่องของฉากเราดำเนินการไปค่อนข้างเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ซึ่งปีนี้ฉากของเราจะมีทั้งหมด ๕ ฉากใหญ่ ได้แก่ ฉากที่ ๑ ท้องพระโรงกรุงลงกา, ฉากที่ ๒ พลับพลาพระรามเชิงเขามรกต, ฉากที่ ๓ โพรงไม้โรทัน, ฉากที่ ๔ สนามรบ (๑) และ ฉากที่ ๕ สนามรบ (๒)

ฉากที่ได้มีโอกาสพาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ มีอยู่หลายฉาก แต่ฉากที่โดดเด่นและมีความงาม มีความสำคัญสำหรับการแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ ฉากรำเบิกโรงการแสดง ชุด ระบำนารายณ์เจ็ดปาง จะใช้เป็นประติมากรรมนูนสูง พระนารายณ์ทรงสุบรรณ หรือประทับบนครุฑ โดยครุฑจะมีขนาดใหญ่ ความสูงโดยรวมประมาณ ๗ เมตร ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้พญาครุฑสามารถขยับได้และดูสมจริงประหนึ่งมีชีวิต นอกจากนี้ คือ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ที่จะเห็นถึงความวิจิตรตระการตาของต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง พญานาค 5 หัวที่มีการปิดทองลงยา และการใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก เครื่องราชูปโภค ได้แก่ พานพระขันหมาก พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช โดยมีความอลังการและประณีตที่จะช่วยเสริมให้ท้องพระโรงกรุงลงกาโดดเด่นและสง่างามกว่าในทุกปีที่ผ่านมา และสุดท้ายฉากที่จะได้ชม คือ ฉากวิรุญมุข ตรวจพล เป็นฉากกำแพงเมืองที่วิรุญมุขควบม้าออกมาจากประตูชัย โดยจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของกำแพงเมือง และรายละเอียดต่างๆ อาทิ การใช้ธงสามชาย ที่บ่งบอกถึง 10 หมู่ของพลทหาร”

สำหรับแนวคิดในการออกแบบฉากนั้น อาจารย์สุดสาคร ได้กล่าวว่า “เราพยายามจะทำตามแบบแผน ตามขนบประเพณีแบบโบราณสร้างมา เพื่อให้มีความประณีตมากที่สุด เพราะการทำงานโขน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เราจำเป็นต้องรักษาตามจารีตประเพณีอย่างถูกต้อง ผ่านการศึกษาศิลปกรรมของยุคที่ดีเยี่ยมที่สุดของ สยาม (สยามประเทศ) เพราะถือเป็นยุคที่วัฒนธรรมมีความรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ เช่น ยุคอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๑-๓ ซึ่งถือเป็นศิลปกรรมต้นแบบที่มีมาตรฐาน มีนักปราชญ์ทางด้านศิลปกรรม ได้แก่ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ ท่านทรงรับสั่งชมถึงศิลปกรรมชั้นครูที่น่าชื่นชมในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ ๑ เอาไว้ เราทีมงานของโขนทุกคนในฐานะผู้รับช่วงต่อมา จึงได้นำเอาศิลปกรรมยุคนั้นมาเป็นต้นแบบในการคิดหรือสร้างฉากขึ้นมาก็จะให้อยู่ในบริบทเหล่านั้นครับ

นอกจากนั้น ฉากรำนารายณ์เจ็ดปางยังถือได้ว่าเป็นประติมากรรมชั้นเยี่ยม โดยมีนารายณ์ทรงสุบรรณ (ทรงครุฑ) ซึ่งใช้การอ้างอิงจากปรัชญา หรือความเชื่อทางด้านพุทธ-พราหมณ์ จึงนำมาเป็นหลักในการคิดงานฉากให้ออกมาศักดิ์สิทธิ์ น่าชม สมจริง และประณีตที่สุด โดยเราพยายามจะประโคมความงามให้ฉากนี้มีความสวยงามเป็นพิเศษ เพราะมีความสำคัญเกี่ยวโยงกับการเสด็จของสมมติเทพ ที่เปรียบเป็นสัญลักษณ์ในการเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวของแผ่นดินไทย โดยมีการใช้เรื่องของ อุดมคติอย่างไทย (Idealism) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่จะมีภาพอยู่ในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฉากวิมาน พระพรหม หรือแม้กระทั่งเทวดาเหาะได้” อาจารย์สุดสาคร กล่าวเพิ่มเติม

อาจารย์สุดสาคร ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉากที่มีความสำคัญและถือเป็นไฮไลต์ของการแสดงโขนในครั้งนี้ว่า “ในส่วนของการแสดงครั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น ๒ องค์ โดยองค์ที่ ๑ ไฮไลท์จะอยู่ที่ ฉากที่ ๓ ซึ่งเป็นฉาก โพรงไม้โรทัน โดยที่โรทันเป็นชื่อของต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บนเขาอากาศ ซึ่ง ณ ที่นั้นเป็นที่ซึ่งพวกนาคและสัตว์มีพิษ เช่น แตนต่อ มาคายพิษลงในบ่อหน้าต้นไม้โรทัน อินทรชิตเข้าไปประกอบพิธีชุบศรในโพรงไม้ ฝูงนาคได้ออกมาคายพิษลงในบ่อ พญาชามพูวราชซึ่งแปลงกายเป็นพญาหมี ได้เข้าไปทำลายพิธีจนอินทรชิตไม่สามารถประกอบพิธีได้สำเร็จ ในฉากนี้ ผู้ชมก็จะได้เห็นความลึกลับและความน่ากลัวของป่าแห่งนี้ จะได้เห็นเทคนิคการทำให้พญานาคสามารถเลื้อยได้ ส่วน ไฮไลท์ในองค์ที่ ๒ นั่นคือ ฉากสนามรบ จะได้เห็นพญาครุฑสามารถขยับปีกได้ ไม่ได้เพียงตั้งเอาไว้นิ่งๆ สามารถลอยตัวขึ้นจากพื้นได้ มีการบินโฉบและสามารถเอากงเล็บไปขย้ำพญานาค ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอีกขั้นของการทำฉากที่เราก็ต้องขอบคุณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่มีการอำนวยความสะดวก สามารถทำให้เราถ่ายทอดจินตนาการของรุ่นบรรพบุรุษให้สามารถออกมาเป็นการแสดงที่พิเศษในครั้งนี้ได้ครับ”

สำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ได้กำหนดจัดการแสดง รอบประชาชน จำนวน ๓๔ รอบ รอบนักเรียน จำนวน ๑๖รอบ รวม ๕๐ รอบ ในระหว่างวันที่๗ พฤศจิกายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา ๔๒๐, ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐ และ ๑,๕๒๐ บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา ๑๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือ www.khonperformance.com
 
ชมคลิป! กว่าจะเป็นโขนพระราชทาน


อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก กับเศียรพระนารายณ์
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา
กำแพงเมืองอันยิ่งใหญ่ของ ฉากวิรุญมุข ตรวจพล

ภาพสเก็ตพระนารายณ์ทรงสุบรรณ
ครุฑที่พระนารายณ์ประทับ
นักเรียนจากศูนย์ศิลปาชีพ เกาะเกิด กำลังแกะสลักพระนารายณ์
เครื่องราชูปโภค พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ และพระสุพรรณศรี
พญานาค 5 หัว ในฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ที่มีการลงยาปิดทอง
ช่างฝีมือกำลังแกะสลัก ยอดของประตูชัยกำแพง ในฉากวิรุญมุข ตรวจพล ด้วยความปราณีต
พญานาค
หัวครุฑที่ใช้ประกอบฉาก
ภาพสเก็ตการสร้างฉากโพรงไม้โรทัน ฉากไฮไลต์ที่มีความลึกลับ และน่าเกรงขาม
โมเดลจำลองของฉากโพรงไม้โรทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น