“หลากรสวรรณกรรมรพีพร”...ในงานมอบรางวัล“รพีพร” ครั้งที่ 4
โครงการระลึกถึงคุณูปการของสองศิลปินแห่งชาติ “สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” มอบรางวัล “รพีพร” ครั้งที่ 4 และงาน คิดถึง”เพ็ญศรี-รพีพร” อ่านบทกวี เสวนา ร้องเพลง โดย มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
ประธานมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน “ประยอม ซองทอง” กล่าวเปิดงานแล้ว นายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย “สุเทพ วงศ์กำแหง” กล่าวรำลึก และอ่านบทกวี โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง และ กวีซีไรท์ จิระนันท์ พิตรปรีชา
ต่อด้วยพิธีมอบรางวัลให้แก่ “ศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล “นทธี ศศิวิมล” ผู้ซึ่งมีผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง”ดอยรวก, เรื่องสั้นของลูกสาว, เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม, โนรี(โก๊ะ), อรุณสวัสดิ์สนธยา, 25 ปีต่อมา, ทรงจำ ฯลฯ
โดยเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับรางวัลนี้จะต้อง เป็นนักเขียนอิสระ สอง.มีผลงานคุณภาพเป็นที่รู้จักกันดี สาม.สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมแนวทางเดียวกับสุวัฒน์ วรดิลก สี่.ยังมีชีวิตอยู่และสร้างสรรค์งานอยู่ในปัจจุบัน
มีนักแสดงสาวมาร่วมงานนี้ด้วย 3 ท่านคือ เนย โชติกา, เมย์ พิชญ์นาฏ, ใหม่ ดาวิกา
"เนย โชติกา" ผู้รับบทเป็นแม่นิ่มจากเรื่องลูกทาส ช่อง 3 พูดถึงความรู้สึกวันนี้ให้ฟังว่า
“ดีใจมากเลยค่ะ ที่ได้มาร่วมงานการประกาศผลคนที่ได้รับรางวัล ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งในละครเรื่องลูกทาส ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ รพีพร ศิลปินแห่งชาติ วันนี้ก็เหมือนเราได้รับเกียรติให้มาร่วมงาน ถือว่าเป็นบทประพันธ์ที่ดีมาก
ตอนอ่านบท บางที บางละคร เราอาจจะอ่านไม่หมด แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราอ่านของทุกคน ภาษา คำพูด ค่อนข้างจะสละสลวย แล้วมีโอกาสได้อ่านหนังสือด้วย ไม่ใช่แค่บทละคร เรารู้สึกซาบซึ้งตรงนั้น ก็เลยอยากจะมาร่วมงาน ให้เกียรติกัน
สำหรับงานละครช่วงนี้ มีเรื่อง”พลับพลึงสีชมพู” ค่ะ ยังไม่ได้เริ่มถ่ายมากเท่าไร แล้วก็มีเรื่อง “หนึ่งในทรวง” ก็เพิ่งเริ่มถ่ายค่ะ เป็นพีเรียดด้วย ถ่ายยากด้วย ฝากติดตามผลงานด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ”
บนเวทีมีการเสวนาหัวข้อ “หลากรสวรรณกรรมรพีพร สะท้อนสังคมอย่างไร”เริ่มที่ผู้ใกล้ชิด เคยใช้ชีวิตกับคุณสุวัฒน์ วรดิลก มาก่อน นั่นคือ
“ชเล วุทธานันท์” กรรมการผู้จัดการบริษัทสิ่งทอซาติ เจ้าของแบรนด์ PASAYA
“ผมรู้จักพี่อู้ดปี 2523 ผมอกหักจาก 14 ตุลา 6 ตุลา หนีเข้าป่าไปกับนักศึกษาทั้งหลาย แล้วผมได้ไปเมืองจีน ตอนนั้นเป็นยุคต่ำสุดของประเทศจีน พี่อู้ดโอกาสได้เห็นจีนปี 2500 แต่ผมไปเห็นยุคที่แย่ที่สุดของจีน พี่อู้ดบอกผมว่าให้มองสังคมว่าทุกอย่างมีการขึ้นและการลง
สิ่งที่พี่อู้ดเชื่อคืออำนาจรัฐที่อยู่ในมือประชาชนคือสิ่งที่ดีที่สุด ประเทศเรายังอยู่กับที่ ปัญหาการเมืองเป็นสิ่งที่พูดยาก แต่ต้องเชื่อมั่นอย่างที่พี่อู้ดเชื่อคือเชื่อมั่นในประชาชน สะท้อนมาในหนังสือ”พิราปแดง” หนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน หลังจากที่อ่านครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาอ่านใหม่ก็ได้เห็นว่าสังคมถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง คนหนุ่มสาวต้องเป็นกำลัง
สังคมไทยทุกวันนี้ผมค่อนข้างเป็นห่วง สังคมเรามีปัญหาอยู่ที่คนไม่อ่านหนังสือ สอง คนไทยไม่สนใจเรื่องการเมือง ไม่เหมือน14 ตุลาที่คิดหาทางออกให้ประเทศชาติ ตอนที่ผมไปอยู่กับพี่อู๊ดผมเคยถามพี่อู้ดว่าถ้าผมอยากเป็นนักเขียนพี่อู้ดจะสนับสนุนไหม พี่อู้ดบอกว่าอย่าเลย เป็นชีวิตที่ลำบาก ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ไปทำอย่างอื่นเถอะ ผมเลยไปเรียนวิศวะ นั่นคือจุดหักเหชีวิตที่สำคัญของผม
เมืองไทยไม่มีหนังสือบันเทิงปัญญา มีแต่บันเทิงอารมณ์ การเป็นนักเขียนจึงหนักมาก ผมต้องขอบคุณพี่อู้ดมาก แต่หลังๆ นี้ผมมาเขียนหนังสือเพราะอยากเขียน ไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อยังชีพ ในหนังสือ”พิราปแดง”พี่อู้ดเขียนสะท้อนความคิดที่ไปเมืองจีน ภาระที่ยิ่งใหญ่คือเรื่องของประเทศชาติ ความดีที่เราจะต้องทำ และทำยังไงให้เป็นคนที่ดีของประเทศชาติและสังคม เรียกร้องความยุติธรรม
พี่อู้ดไม่รวยแต่รวยน้ำใจมาก ไม่เคยคั่งแค้นใคร ไม่เคยพูดร้ายกับใคร แม้แต่คนที่เป็นศัตรู หรือแม้ว่าท่านจะได้รับความอยุติธรรมจากสังคมไทย ท่านมองว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้น สิ่งที่เหนือกว่าอุดมคติ คือตัวตน คุณธรรมประจำใจ ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วงที่ท่านจะไม่สบายหนักมากก็ยังพูดว่า “ความรักที่ให้กับคนอื่น สำคัญกว่าความรักที่ให้กับตัวเอง” ไม่รู้ว่าคนในสังคมสมัยนี้จะเอื้อให้คนอย่างพี่อู้ดมีขึ้นอีกหรือไม่ ความมีคุณธรรม ความถูกต้อง ต่อสู้ให้เห็น ความเท่าเทียมกัน นักเขียนที่ดีจะไม่มีแต่จินตนาการไม่ได้ ต้องมีคุณธรรม มีความคิด”
“พินิจ หุตะจินดา” บรรณาธิการ นักเขียน
“งานบันเทิงของลุงอู๊ด ออกแนวสิทธิสตรี แนวสะท้อนสังคม มีอยู่ในหลายเรื่อง การที่นางเอกมาเป็นคนใช้ เขาจบปริญญาโท ปริญญาเอก ไม่ใช่เรื่องดราม่าอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องรักพาฝันอย่างเดียว แนวประวัติศาสตร์ แนวการเมืองประวัติศาสตร์ก็เขียนเยอะ อย่าง”ภูติพิศวาส” ให้ดูดีๆ ว่าแม้แต่ผี จะยอมรักพระเอก แต่ถ้ามองลึกๆ ก็เป็นสิทธิสตรี การผิดศีลข้อสาม ผู้หญิงเป็นผู้ได้คิดก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นมันไม่ใช่
การเขียนงานของลุงอู๊ดคือการเรียกร้องสิทธิสตรีมากที่สุด แต่มิได้เป็นการเรียกร้องให้เห็นโดยโฉ่งฉ่าง แต่ซ่อนในเนื้อหาหรือในตัวผู้หญิงเหล่านั้น แต่ในแง่ของการทำละคร เขาจะทำออกมาเพื่อเรียกเรทติ้งเป็นผีผู้หญิงหึงแล้วแย่งชิงผู้ชาย อะไรอย่างนี้ ลุงอู๊ดเข้าใจอารมณ์ผู้หญิงมากที่สุด เข้าใจตัวตนผู้หญิงมาก ผมคิดว่าลึกๆ ลุงอู๊ดไม่อยากให้ผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ เรียกร้องสิทธิสตรีเงียบๆ
มีเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ตีพิมพ์คือเรื่อง “ทองนาค” เป็นเรื่องฝาแฝด ที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับพี่เลี้ยง นวนิยายของลุงอู๊ดหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เขียนเพื่อสะท้อนสังคม แม้แต่นิยายที่ทำเป็นบทละครทีวี หรือบทภาพยนตร์ก็สะท้อนสังคมทั้งหมด ลุงอู๊ดไม่เคยเขียนนิยายอุดมคติ แม้ว่าเรื่องเมโลดราม่าก็สะท้อนสังคม “นางสาวทองสร้อย” ก็สะท้อนสังคม ลุงอู๊ดเคยบอกว่าแม้จะเขียนเรื่องพาฝัน แต่ก็ต้องรับใช้สังคมด้วย”
“จรูญพร ปรปักษ์ประลัย” นักวิจารณ์วรรณกรรม
“ผมได้อ่านงานท่าน และได้อ่านที่ท่านเขียนบทเป็นภาพยนตร์ สังคมและชีวิตของท่านที่ท่านอยู่ เกี่ยวข้องโดยตรง ผ่านคำพูด มีช่วงเวลาของยุคสมัยอยู่ ท่านพูดถึงความเป็นอุดมคติ ที่เห็นชัดเจน “ภูตพิศวาส” ต่างโลกแต่รักกันได้ หรือ "ลูกทาส" คนสูงส่งมารักกับทาสได้ หลายๆ เรื่อง แม้แต่”พิราปแดง” ก็เป็นความรักต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ความรักที่ไร้พรมแดน ความเป็นอุดมคติถูกตั้งคำถามจากความเปลี่ยนไป ธาตุแท้เปลี่ยนคนได้ ไม่ถูกแบ่งแยกด้วยกำแพง ฐานะ ความยากดีมีจน เชื้อชาติ หรือ "หยุดโลกนี้เสียทีเถิด" เป็นการตั้งคำถามกับสังคมที่เปลี่ยน หนุ่มสาวเอ๋ย อุดมการณ์ที่เคยมียังอยู่อีกหรือเปล่า สุดท้ายอุดมการณ์กินได้จริงหรือเปล่า หรือแค่รักกันก็พอแล้ว
ผมเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องสิทธิสตรี และเรื่องของชนชั้น ผมแทบไม่อยากเชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน "ลูกทาส" จะเป็นไปได้ในสังคม ในเชิงความรัก ในเชิงอุดมคติ ใครๆ ก็รักกันได้ ถ้ามีความรักด้วยกัน เมื่อมองในเชิงงานของรพีพร การสร้างตัวละครจะมีความงามสั่งได้ มีความงามเชิงจิตใจ เชิงนามธรรม เชิงประวัติศาสตร์ ครบถ้วนตัวละครอย่างแก้วครบถ้วนจริงๆ การพูดจาก็สละสลวยไพเราะ
อย่างเรื่อง "สวรรค์" มีตอนหนึ่งพูดว่า “ความเป็นผู้ดีของคนเราอยู่ที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้าคนมีเงินผลักความดีนี้ไปย่อมไม่ใช่ผู้ดีมีเงิน แต่เป็นขี้ข้ามีเงิน” อย่างเรื่อง "พิราปแดง" ก็พูดว่า “ดิฉันรักคุณไม่ได้เพื่อได้ชีวิตของคุณมาในฐานะคู่ชีวิตร่วมสมรักครอบครองหรือเพื่อความเพ้อฝันอันแสนสุขของหัวใจหญิงสาว แต่ดิฉันรักคุณด้วยดวงใจ ดวงตาที่ฝากมากับดวงดาวบนท้องฟ้า”
ตัวละครของรพีพรจะครบเครื่อง หล่อ นิสัย ดี ฉลาด มีคุณธรรม เป็นการสร้างแม่แบบ คนเราจะดีจะงามจะได้รับการยกย่อง ได้รับความสำเร็จต้องมีครบทั้งจิตใจ วาจา การกระทำ มีอยู่ในตัวละครของ "สุวัฒน์ วรดิลก" คนนี้ครับ”
เป็นการจัดงานรำลึกถึงนักเขียนมากความสามารถที่หลายคนจดจำไม่ลืมเลือน อยากทำตาม อยากให้เป็นแบบอย่าง และอยากให้มีนักเขียนแบบนี้เยอะๆ ผ่านมากับการมอบรางวัล”รพีพร”ให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางของนักเขียนผู้นี้