xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อผู้กำกับหนังผันตัวเองเป็นผู้กำกับละคร (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อผู้กำกับหนังผันตัวเองเป็นผู้กำกับละคร (ตอนที่ 2)
 
ยักย้ายถ่ายเทกันใหญ่ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไปเป็นทีวิดิจิตอล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคนทำงาน ซึ่งจริงๆ ก็ขยับขยายมาก่อนหน้านั้นแล้ว อาทิ ผู้กำกับหนังหันมากำกับละครมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากครั้งที่แล้วเราได้เปิดใจผู้กำกับหนังมากำกับละครไปแล้ว 2 ท่านคือ “กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” และ “อ๊อด บัณฑิต ทองดี”

ครั้งนี้เราจะมาเปิดใจผู้กำกับขวัญใจวัยรุ่น ที่เรียกเสียงกรี๊ดและมีแฟนคลับเป็นแสนไม่น้อยหน้านักแสดง นั่นคือ 

“ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์”

เริ่มต้นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ร่วม1ใน6ที่รู้จักกันดีจากเรื่อง”แฟนฉัน” (2546) กำกับภาพยนตร์เรื่อง”เด็กหอ”(2549) “ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น”(2551) “ห้าแพร่ง”(2552) Top Secret “วัยรุ่นพันล้าน” (2554) แล้วหันมากำกับละครซีรีส์ “วุ่นรักเจ้าชายกาแฟ” Coffee Prince Thailand (2555) ล่าสุด กำกับละครซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น”(2556) ที่โด่งดังเป็นกระแสชั่วข้ามคืน

วัยรุ่นเรียกร้องให้มีซีซัน 2 จึงเกิดไอเดียให้วัยรุ่นสมัครเข้ามาเป็นนักแสดง จากแสนคน คัดเหลือ 125 เป็น 40 และ 12 คนสุดท้าย ในวันจัดงานเปิดตัวนักแสดงเลือดใหม่ “ฮอร์โมน เดอะ เน็กซ์เจน” หรือ ฮอร์โมน ซีซัน 2 จึงต้องฝ่าฟันเสียงกรี๊ดแหวกกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปพบกับผู้กำกับคนนี้


คิดอย่างไรกับ ละครซีรีส์ “ฮอร์โมน”
 
“ตอนที่เริ่มต้นคุยโปรเจกนี้กับจีทีเอช ผมไม่คิดว่ามันจะมาถึงวันนี้ ฮอร์โมนซีซัน 1 ประสบความสำเร็จมาก ทางผู้ใหญ่บอกว่าอยากให้มีฮอร์โมนในซีซันต่อๆ ไป เรื่อยๆ ไม่ว่าจะ 2 3 4 5 ฮอร์โมนเล่าเรื่องชีวิตของเด็กวัยรุ่น ซึ่งวันหนึ่งพวกรุ่นแรกก็จะแก่ เราก็ไม่ตามไปเล่าเขาแล้ว พอไปถึงซีซัน 3 ซีซัน 4 ก็คงต้องมีนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา
 
ผมก็เลยรู้สึกว่าระหว่างที่เราทำฮอร์โมนซีซัน 2 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของฮอร์โมนรุ่นแรกที่เขาจะได้เป็นตัวหลัก เราก็ควรจะต้องหาน้องรุ่นใหม่ๆ มาเสริมทัพแล้วเพื่อให้คนดูรู้จักนักแสดงหรือคาแรคเตอร์เหล่านี้ไว้ก่อน พอจบซีซัน 2 เราจะทำซีซัน 3 ซีซัน 4 ต่อ เราก็จะมีน้องๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักต่อไปครับ”
 

ความเปลี่ยนแปลงของ “ฮอร์โมน ซีซัน 2” จะเหมือนหรือต่างจากซีซันแรกอย่างไร
 
“ในซีซัน 2 จะชวนน้องเขียนบทในซีซัน 1 มาเป็นผู้กำกับ ตอนที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากกำกับต่อไปแล้ว อยากเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับที่คิดขึ้นมาคือ ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) เขาเขียนบทอิงกับตัวละคร แล้วเขียนได้ดีมากๆ ถ้าจะมีซีซัน 2 ผมอยากปล่อยฮอร์โมนลูกของผมที่รักมากให้อยู่ในมือปิงครับ

ในส่วนของเนื้อหา ซีซัน 2 เด็กฮอร์โมนรุ่นแรกก็จะเติบโตไปเป็นม. 6 เป็นช่วงวัยที่เข้มข้นมากๆ นึกเหมือนกันว่าจะมีเรื่องอะไร เพราะว่าเราใส่เต็มกันมามากแล้ว พอมานั่งคิด จริงๆ เรื่องราวของตัวละครมันยังค้างคา ยังเขียนไม่จบ พอวันที่บทเสร็จ ผมมั่นใจว่าบทสนุกมาก ในฐานะของโปรดิวเซอร์ ตอนนี้ถ่ายทำไปประมาณ 12 คิว เกือบๆ จะครึ่งทางแล้ว ทีมงานทุกคนเต็มที่ ผมว่าถ้าคนทำงานตั้งใจและมีความสุขมันน่าจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อคนดูด้วย”

 
ความสนุกจะเท่ากันไหม
 
“ผมว่านี่เป็นสิ่งที่ดีนะ ความกดดัน การเปรียบเทียบ ความรู้สึกที่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันเป็นพลังทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง คือเวลาเราเจออะไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าเรามองในแง่บวกมันจะแปรเป็นพลังให้กับเราได้ ก็เลยรู้สึกว่าไม่เคยมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องลบเลยครับ

น้องๆ กลุ่มใหม่ กับ กลุ่มแรก จะบริหารอย่างไร
 
“ผมพูดกับเด็กๆ บ่อย บอกเขาหลายๆ คนแม้กระทั่งรุ่นแรกว่า น้องๆ เข้ามาเราต้องช่วยเหลือเขานะ นั่นหมายถึงแต่ละคนยังไม่เก่ง พี่ต้องช่วยสอนแนะนำอะไรหลายๆ อย่าง ในขณะเดียวกันน้องก็ต้องไม่รู้สึกอยากจะแข่งขัน จริงๆ การแข่งขันก็เป็นเรื่องสนุก แต่วันหนึ่งเราจะไปถึงจุดที่เราพอใจได้ดีที่สุดคือ การแข่งขันกับตัวเอง การพัฒนาตัวเองมากกว่า
 
ผมพูดหลายรอบ และคิดว่าน้องๆ เหล่านี้เป็นน้องๆ ที่เก็ทแล้ว วันที่เราเลือกเด็กๆ เข้ามาเราไม่ได้เลือกแค่ว่าเขาหน้าตาดี หรือคาแรคเตอร์ดี เราเลือกที่นิสัยใจคอเขาไปได้ดีกับพวกเราด้วย ก็เลยไม่เชื่อว่าจะมีปัญหาในสิ่งเหล่านี้ครับ”
 

ก่อนหน้าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มาก่อน หลังๆ มากำกับละครซีรีส์ คิดอย่างไร
 
“ผมเป็นคนที่ชอบหาอะไรใหม่ๆ หาประสบการณ์ใหม่ๆ หาประสบการณ์การทำงานใหม่ คือผมไม่ชอบเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเหมือนเดิม วันหนึ่งผมมาทำหนังแล้วรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ผมรัก จะให้ผมทำหนังไปเรื่อยๆ ผมก็ไม่น่าจะมีปัญหา
 
แต่ผมเป็นคนขี้เบื่อง่ายมาก จากวันที่ผมมาทำหนังวันแรกจนมาถึงวันหนึ่ง ผมมาค้นพบว่าเฮ้ย ทำหนังมาเรื่อยๆ 5-6 เรื่องติดกัน เริ่มต้นด้วยการเขียนบท ออกกอง โปรดักชั่น ตัดต่อ โปรโมท แล้วก็ เขียนบท ออกกอง....
 
วนมาอย่างนี้ พอ 5- 6 ครั้งก็เริ่มรู้สึกว่ามันก็เบื่อเหมือนกันว่ะ ขนาดเราทำในสิ่งที่รักอยู่ ก็เลยเป็นช่องทางที่ว่าผมอยากจะหยุด แล้วเบรกตัวเองจากการทำหนัง มาหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ เพราะว่าการไปหาประสบการณ์ชีวิตเป็นการเปิดหูเปิดตา
 
มันทำให้เรามีข้อมูล มีประสบการณ์ชีวิตเอามาถ่ายทอดในงานหนังในเรื่องต่อๆ ไป ก็เป็นช่วงที่กระตุ้นตัวเองเพื่อให้เรารู้สึกว่า เรายังมีความสนุกกับการทำงานตรงนี้อยู่ แล้วก็คิดว่าอีกไม่นานก็จะกลับไปทำหนังครับ”
 

ในแง่ของการทำงาน จากหนังมาเป็นละคร แตกต่างกันไหม
 
“แตกต่างฮะ มันมีเรื่องวิธีการ เรื่องดีเทล วิธีการโปรดักชั่น วิธีการที่จะสื่อสารกับคนดู เวลาเราดูหนังดูในจอ ดูในโรงใหญ่ๆ มันมืดสนิท คนมีสมาธิ มีคอนเซนเทรทที่จะสนใจกับภาพบนจอของเรา เราจะเล่าเรื่องความรู้สึกไม่ว่าแค่ไหนก็จะไปถึงคนดูได้
 
แต่พอมาทำทีวี โทรทัศน์ เป็นซีรีส์หรืออะไรก็ตาม มันต้องเร้าอารมณ์ มันต้องดึงดูดใจเขาสูง เพราะว่าเขาดูกลางวัน ดูในที่โล่งแจ้ง ดูกับหลายๆ คน บางคนก็เล่นมือถือ เดินไปกินข้าวก็ได้ พอโฆษณาปุ๊บก็เปลี่ยนช่องได้ง่ายมาก เพราะรีโมทอยู่ในมือเขา ทำยังไงก็ได้เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจในตัวเขาตลอดเวลา”
 

ช่วงหลัง มีผู้กำกับหนังมากำกับละครเยอะขึ้น มองการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
 
“รู้สึกดี ตื่นเต้น โดยส่วนตัวผมอยากเห็นผู้กำกับละครข้ามไปทำหนัง ผู้กำกับหนังข้ามไปทำละคร จริงๆ นะฮะ หรือผมอยากเห็นผู้กำกับหนังอินดี้ข้ามไปทำหนังเมนสตรีม(สายหนังปกติ) หรือผู้กำกับหนังเมนสตรีม ข้ามไปทำหนังส่วนตัว คือผมรู้สึกว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกใหม่ๆ เวลาเราเสพงานนั้นๆ อยากเห็น ผมรู้สึกตื่นเต้นเวลาเห็นใครมาทำอะไรแบบนี้ครับ”
 

ระหว่างเดินเบียดฝูงชนวัยรุ่นกลับมายังโลกปกติ ก็จ๊ะเอ๋กับ ผู้กำกับหนังที่หันมากำกับละคร อีกท่านหนึ่ง ที่มาทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกนักแสดง”ฮอร์โมนเดอะซีรีส์”ครั้งนี้ด้วย เป็น 1 ใน 6 ผู้กำกับภาพยนตร์”แฟนฉัน”อีกคนนั่นเอง

 "เอส คมกฤษ ตรีวิมล"
 
เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้กำกับละครเรื่อง”คู่กัดหัวใจฟัดเหวี่ยง” ( 2539) ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง”ฟ้าทลายโจร” ( 2541) ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์”นางนาก”(2542) ผู้กำกับร่วมภาพยนตร์“แฟนฉัน” (2546) ผู้กำกับภาพยนตร์”เพื่อนสนิท”(2548) ผู้กำกับภาพยนตร์”หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่” (2549)ผู้กำกับภาพยนตร์”สายลับจับบ้านเล็ก”(2550) แล้วหันมากำกับละครเรื่อง”มณีแดนสรวง” (2555) “ส้มหวาน น้ำตาลเปรี้ยว” (2554)

ก่อนหน้าได้เจอกันในกองถ่ายละคร”มณีแดนสรวง” มาเจอกันครั้งนี้ กำกับละครอยู่บ้างไหม
 
“ไม่ได้ทำอะไร กำลังเขียนบทหนังอยู่ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอก่อนครับ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร คงจะเปิดเผยได้ประมาณปลายๆ ปีนี้ล่ะครับ”

กับงานกำกับละคร ทำอะไรมาแล้วบ้าง
 
“ช่วงแรกเคยทำของมีเดีย นานแล้ว 4-5 ปีแล้ว เรื่อง”ส้มหวานน้ำตาลเปรี้ยว” เอ๊ะ ไม่ใช่สิ “รักนี้เคียงตะวัน” ออยกับจอยเล่น นานแล้ว จากนั้นก็มาทำ”มณีแดนสรวง”ของบอร์ดคาซท์ แล้วก็จีเอ็มเอ็มทีวี ทำมาแล้วเกือบทุกช่อง ยกเว้นช่อง 5 ช่องเดียว”

จากที่เคยกำกับหนังมาก่อนแล้วมากำกับละคร แตกต่างกันบ้างไหม
 
“วิธีการมันต่างครับ ทั้งวิธีการและกลุ่มเป้าหมาย แล้วก็บท คือวิธีการของทีวีมันจะต้องเข้าใจง่าย ความแตกต่างมันขึ้นอยู่กับธรรมชาติของสื่อ คือทีวีดูที่บ้าน มันมีสิ่งแวดล้อม แต่ดูหนังดูในโรง ฉะนั้นวิธีการดึงดูดคนให้มาดูก็ต้องแตกต่างกัน
 
คือหนังเราไม่ต้องทำให้ชัดเจนมาก ไม่ว่าการพูดจา เพราะว่าเขาอยู่กับหนังตลอด เขาจำได้ ไม่ต้องเล่าอะไรมาก บางทีตอนท้ายมันเฉลยแล้วเข้าใจก็ได้ แต่ละครต้องดึงดูดคนตลอดเวลา เบรกนี้เล่าเรื่องนี้ เบรคต่อไปอาจจะต้องทวนของเบรกที่แล้วมาเล่า เขาจะได้ตามเรื่องได้ตลอด เป็นธรรมชาติของสื่อที่ทำให้มันแตกต่างกัน”
 

กับการเป็นผู้กำกับหนังมาเป็นผู้กำกับละครเสียเปรียบได้เปรียบอย่างไรบ้าง
 
“ก็ต้องปรับตัว บางทีเรารู้สึกว่าเรื่องนี้เราเล่าแค่นี้พอแล้ว เอาแค่อาการ บางทีมันก็ไม่ได้ ต้องมีการพูด มีการบอกให้คนดูได้รับรู้ในสิ่งที่เราอยากให้รู้ด้วยไดอะล็อก เพราะว่าถ้าบางทีเขาไม่ชัดเจนแล้วสงสัยจะทำให้เรื่องราวไม่สนุก หรือถ้าเราทำให้เขาสงสัยเบรคนี้ เบรกหน้าก็ต้องเฉลยนิดหนึ่งแล้ว ให้เขาตามไปได้เรื่อยๆ เรื่องที่น่ากลัวคือถ้าเราปิดบังมากๆ เยอะๆ สุดท้ายเขาจำไม่ได้ ก็ไม่มีผลกับเขา”
 

รู้สึกอย่างไรที่ผู้กำกับหนังหันมากำกับละครเยอะขึ้น
 
“ถ้าพูดตรงๆ เลย ละครมันมีเยอะกว่า แล้วงานกำกับก็เป็นงานที่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ผมว่าโดยธรรมชาติของสื่อจะคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นผมว่าคนที่นำผู้กำกับหนังมาทำละครก็คือผู้จัดนั่นล่ะ บางทีเขาต้องการอะไรที่มันแปลกใหม่ ต้องการผลทางภาพที่มันน่าสนใจมากขึ้น หรือว่าจำนวนละครมันมีมากขึ้น ผู้กำกับละครที่มีอยู่แล้วไม่เพียงพอ ผู้กำกับหนังก็เลยต้องมาทำ ทำแล้วก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน หรืออาจจะเหมือนกัน อาจจะมีอะไรที่เป็นเสน่ห์ที่เพิ่มมากขึ้น
 

คิดว่าดีไม่ดี

“ผมว่าหนังกว่าจะทำได้ต้องใช้เวลา 1 ปี 2 ปีได้เรื่องหนึ่ง แต่ละคร ระบบมันโฟลว์กว่า คือละครมันออนจบปุ๊บก็ต่อๆ เลย สื่อมันคนละแบบ ในเมื่อสถานีมันยังออนอยู่ ก็ต้องมีสล็อตของละครต่อไปเรื่อยๆ พอจำนวนมากขึ้น งานก็มากขึ้นเรื่อยๆ ปีหนึ่งละครก็ 200-300 เรื่อง หนังมีกี่เรื่อง 10 กว่าเรื่อง มันมีจำนวนงานจำนวนคนไม่พอ ก็มีการสลับไปสลับมา”
 

โดยส่วนตัว ชอบหนังหรือละคร มากกว่า
"ผมชอบหนังมากกว่า มันเป็นธรรมชาติของเรามากกว่า”
 
 
เป็นเรื่องปกติ ของดีมานด์ ซัพพลาย สิ่งไหนที่คนต้องการ คนอยากได้ อยากซื้อ คนที่มีกำลัง มีของขาย ต้องการขาย ย่อมสนองตอบ เพื่อให้เกิดดุลยภาพที่พอดีกัน











กำลังโหลดความคิดเห็น