xs
xsm
sm
md
lg

“โลกนิยายของศรีบูรพา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โลกนิยายของศรีบูรพา”

กรุงเทพมหานครร่วมมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เปิดนิทรรศการ”ศรีบูรพา” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ในวาระที่กรุงเทพฯได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก เพื่อสื่อให้เห็นว่าโลกและนิยายเป็น
เสมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนภาพระหว่างกัน ในงานมีเสวนา “สิ่งที่ชีวิตต้องการ” โดย “ศรีดาวเรือง” นักเขียนรางวัลศรีบูรพาปี 2557, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม, รุ่งทิพย์ สุวรรณอภิชน นักวิชาการ พูดถึงศรีบูรพาว่า...

ศรีดาวเรือง (วรรณา สวัสดิ์ศรี)
“การได้ทำงานเกี่ยวกับศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ทำให้มีแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาทำหนังสือพิมพ์รายเดือน เป็นหนังสือมือทำอยู่สองปี เป็นความสุขที่ช่วงหนึ่งได้ทำมันขึ้นมา ดิฉันคิดว่า การทำงานที่มีน้ำใจต่อผู้อื่นเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการ
เราเคยประโยคที่ว่า”โลกคือละคร”มานานแล้ว พอได้ยินคำว่า”โลกคือนิยาย” ความหมายก็เหมือนๆ กันคือ ความไม่แน่นอน ดังเนื้อเพลงที่ว่า เปิดฉากเรืองรองผุดผ่องตระการ ครั้นแล้วไม่นานเปิดผ่านด้วยความเศร้าใจ วรรณกรรมหรือนิยายทุกๆ แบบ ไม่ว่าสั้นหรือยาว มันมีพลังในตัวเอง มีทั้งบวกและลบ ถ้าเราให้เด็กๆ อ่านโดยไม่ดูแลไม่ให้คำแนะนำ มันอาจจะลบได้ มันมีพลังที่จะผลักให้ปฏิวัติก็ได้ ฆ่าตัวตายก็ได้ แต่แน่นอนในความไม่แน่นอนนั้น มีความแน่นอนดำรงอยู่ค่ะ

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน นักวิชาการ
“เมื่อ 44 ผมทำชมรมวรรณศิลป์อยู่ที่มช. มีเรื่องสั้นประทับใจผมเรื่องหนึ่ง “คำขานรับ” สมัยนั้นนิยายที่ขายในท้องตลาดส่วนมากเป็นนิยายรักหวานแนวโรแมนติก พอได้อ่านเรื่องสั้น”คำขานรับ”ก็ช็อคความรู้สึกของผม ตรงที่ว่า “ผมต้องใช้เวลา4ปีในมหาวิทยาลัยแทนที่จะเป็นทางไปสู่อิสรภาพ กลับกลายเป็นที่คุมขังประเพณีและความคิดเก่าๆ ตั้งหน้าตั้งตาเพื่อจะได้กระดาษแผ่นหนึ่ง เพื่อไปรับการประมูลเอาราคาสูงสุดในท้องตลาด ของความขี้ฉ้อขูดรีดเราก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเด็กสุภาพน่ารัก แต่ถ้าเราแบ่งเวลาไปคิดถึงเรื่องคนทุกข์ยากความกดขี่อยุติธรรมเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ที่โน่น เราก็จะถูกแลดูด้วยความไม่เข้าใจ ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ” แล้วมีเรื่องสั้นอีกจำนวนมากพูดถึงความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม ความอยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบ แม้แต่ความรักของคนหนุ่มสาว ศรีบูรพาก็เขียนถึงความรักด้วยอารมณ์ที่มีเหตุผล ผมจึงเอางาน “คำขานรับ” “ขอแรงหน่อยเถอะ” “เขาตื่น” มาพิมพ์ให้นักศึกษาอ่าน

เสน่ห์งานเขียนของศรีบูรพา นอกจากให้แง่คิดในเชิงสร้างสรรค์ ยังมีความสามารถในการใช้คำ อย่างชื่อเรื่อง”ข้าพเจ้าได้เห็นมา” นี่เป็นข้อความเมื่อ 70 ปีมาแล้ว ตอนนี้เรายังรู้สึกรับได้ สื่อความหมายได้ แม้จะเป็นประโยคธรรมดา แต่มีความงดงาม มีพลังอยู่ในตัว นอกจากนี้ยังมีนวนิยาย “ลูกผู้ชาย” “สงครามชีวิต” “ข้างหลังภาพ” อีก โดยเฉพาะ“สิ่งที่ชีวิตต้องการ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน ถ้าถามคำถามนี้กับคนทั่วไป คนก็จะตอบว่าปัจจัยสี่ ในเรื่องเป็นเรื่องของหมอหนุ่มกับคนไข้รู้จักกัน 5 เดือนก็แต่งงานกัน พอใช้ชีวิตร่วมกัน 2 ปีก็ไปด้วยกันไม่ได้ ทั้งที่ทั้งสองมีทุกสิ่งที่ชีวิตต้องการ ไม่เดือดร้อนเรื่องทำมาหากินหรือเงินทอง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต สิ่งที่ศรีบูรพาพยายามจะบอกคือ สิ่งที่ชีวิตต้องการมีมากกว่าปัจจัยสี่ ให้แง่คิดกับผู้อ่าน ถ้าใครได้อ่านงานของศรีบูรพามาโดยตลอดก็เหมือนกับได้อ่านชีวิตของศรีบูรพา สิ่งที่ศรีบูรพาเขียนคือสิ่งที่ศรีบูรพาปฏิบัติในชีวิตจริง”

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์
“ศรีบูรพาเขียนหนังสือ แล้วหนังสือก็เขียนชีวิตให้ศรีบูรพาด้วย ถ้าพูดถึงศรีบูรพาต้องนึกถึงสองชื่อคือ กุหลาบสายประดิษฐ์และศรีบูรพา ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักอุดมคติ เป็นนักเทศนาสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หลายคนเขียนแล้วทำไม่ได้ แต่ศรีบูรพาเขียนแล้วทำตามนั้น มีชีวิตในแบบของตัวเองแบบนั้น คุณูประการที่ศรีบูรพาทำไว้คือทำให้อาชีพนักเขียนกลายเป็นอาชีพที่สำคัญ

เดิมทีอาชีพนักเขียนไม่มั่นคงเหมือนทุกวันนี้ เป็นอาชีพที่ทำเล่นๆ ที่ใครนึกสนุกขึ้นมาก็ทำ และทำเฉพาะในหมู่คนชั้นสูง ทำหนังสือพิมพ์กัน เขียนหนังสือพิมพ์กัน แต่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่ตอนศรีบูรพาทำหนังสือสุภาพบุรุษ เป็นก้าวกระโดดสำคัญของแวดวงการเขียนบ้านเรา เป็นหนังสือที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในการจ่ายค่าเรื่อง สมัยนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ นักเขียนเขียนแล้วได้ลงก็ดีใจแล้ว ยังจะให้ตังค์คนเอาเรื่องตนไปลงเสียอีก แต่ของศรีบูรพาตั้งแต่เล่มแรกมีการประกาศว่าจะมีการจ่ายค่าเรื่อง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดี เพราะว่างานอะไรก็ตามเป็นงานอดิเรกคนจะทำอย่างไม่จริงจัง ถ้าจะให้ดีและจริงจังต้องให้เป็นอาชีพ มันคือหมุดที่สลักลงไป ณ เวลานั้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษเกิดขึ้น

เป็นการประกาศของบรรณาธิการเลือดใหม่ที่เป็นคนหนุ่มมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าคนหนุ่มจะทำหนังสือพิมพ์ในระดับนี้ได้ เป็นจุดเปลี่ยน แล้วรวบรวมนักเขียนเลือดใหม่ทั้งสิ้น มีนักคิดนักเขียนที่บ้าหนังสืออีกมากมายที่ได้ช่วยกันดูผลงานซึ่งกันและกัน เรียกได้ว่าเป็นสำนักสุภาพบุรุษ คนที่มุ่งมั่นจะทำงานเขียนอย่างจริงจังแล้วเป็นอาชีพที่มั่นคง ทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติไม่ใช่การเขียนเล่นๆ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วงานเขียนก็ไม่ได้เป็นงานที่ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนสังคมให้เดินหน้า นำทางสังคม ทุกวันนี้หานักเขียนที่เป็นแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราไม่มีนักเขียนที่จะเดินหน้านำสังคมอีกต่อไปแล้ว หลายคนโดนกระแสชักจูงไปด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเป็นศรีบูรพาจะพูดว่าจะไม่ข้องเกี่ยวหรือยืนอยู่ข้างไหนอย่างชัดเจน แต่จะชี้ถูกชี้ผิดตามที่ควรจะเป็น นั่นคืออุดมการณ์ในยุคนั้น (สมัยนั้นก็แบ่งเป็นสองขั้วชัดเจนคือนิยมเจ้ากับพวกเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร ประชาธิปไตย) ศรีบูรพาไม่อยู่ข้างไหนทั้งสิ้น นอกจากข้างที่ถูกต้อง และยืนหยัดอยู่อย่างนี้มาตลอดชีวิต นี่คือหนังสือชีวิตของศรีบูรพาที่เขียนชีวิตตัวเองได้อย่างงดงาม น้อยคนนักที่จะเขียนชีวิตตัวเองได้อย่างนี้

ผมทำงานวิจารณ์มาตลอด เห็นว่าศรีบูรพาเป็นนักวิจารณ์ตัวยง วิจารณ์ทั้งศิลปะ วิจารณ์สังคม วิจารณ์ชีวิต ที่สำคัญมากคือมีหลัก ท่านจะมีอยู่สองอย่างคือ อ่านชีวิตกับอ่านโลก สมัยก่อนมีหนังสือน้อย แต่ถ้าเป็นหนังสือที่ดีก็ยังดีกว่าที่มีหนังสือมากแต่เป็นหนังสือประเทืองอารมณ์อย่างเดียว อย่างหนังสือ”ข้าพเจ้าได้เห็นมา” คือการไปเห็นโลก ไปเยือนที่ต่างๆ เอาสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คนไทยได้อ่านได้รับรู้ กับสิ่งที่ท่านใช้มาตลอดคือการวิพากษ์วิจารณ์สังคม วิพากษ์วิจารณ์ชีวิต ใช้หลักทางนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับอีกหลักหนึ่งคือศาสนา หลังจากที่ศึกษาสังคมมาช่วงเวลาหนึ่ง ท่านศึกษาเรื่องศาสนาเยอะมาก มิตรที่สำคัญมากคือท่านพุทธทาสภิกขุ ในเชิงให้ความรู้แก่กันในทางศาสนา ท่านเอาหลักศาสนามาเป็นหลักยึดที่สำคัญ

ศาสนาพูดถึงเรื่องความจริง หนังสือพิมพ์ก็พูดถึงเรื่องความจริง พูดในสิ่งเดียวกัน ท่านพุทธทาสและศรีบูรพาใช้หลักการเดียวกันในการประกาศต่อโลกคือการเอาความจริงมาประกาศ สิ่งที่ศรีบูรพาพูดมาตลอดก็คือ เอาความจริงมาพูดกัน และเป็นความจริงที่มีเหตุมีผล โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดใช้หลักพุทธศาสนาเข้ามากำกับ ถ้าอ่านงานของท่านที่ใช้นามปากกาว่าอุบาสกจะเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ลึกซึ้งทางด้านศาสนามาก ท่านเคยบวชและไปศึกษาธรรมะกับท่านพุทธทาสและอ่านหนังสือที่ท่านพุทธทาสเขียนเยอะมาก

แม้แต่ตอนพักร้อนอยู่ในคุก โดนจับคดีกบฎสันติภาพก็ขอให้เอาหนังสือท่านพุทธทาสหลายเล่มเข้าไปอ่าน ท่านศึกษาอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้แหละคือต้นทุน ศรีบูรพาไม่ได้เกิดมาจากความว่างเปล่า แต่เกิดมาจากการศึกษาอย่างจริงจัง ศึกษาโลก ศึกษาชีวิต มีปฏิภาณที่แน่วแน่ที่จะประกาศความจริงต่อโลก ที่จะต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ที่จะทำในอุดมการณ์ของนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อย่างชัดเจน เป็นนักอุดมคติที่มีความแน่วแน่ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นและยึดมั่นยึดถือในสิ่งที่ตัวเองเชื่อตลอดชีวิต

การวิจารณ์วรรณกรรมก็เหมือนการวิจารณ์อื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องมื เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ที่เวลาเราเห็นอะไรเราก็จะวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นกัน จุดสำคัญของการวิพากษ์วิจารณ์คือหลักการ อย่างงานของศรีบูรพา ก็เอาหลักของประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา พุทธศาสนา มาเป็นหลักในการวิพากษ์วิจารณ์ วิจารณ์อย่างไรให้มีหลัก วิจารณ์อย่างไรให้มั่นคง ไม่เอนเอียงไปตามกระแสต่างๆ สังคมไทย จำเป็นอย่างมากที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีวิจารณญาณ เพราะในยุคปัจจุบันสื่อกระแสโซเชียลเน็ทเวิร์คเข้ามาทำให้คนเชื่ออะไรง่ายมาก คนโพสต์อะไรเข้ามา พอเห็นคนแชร์เยอะ คนไลค์เยอะๆ ก็จะเชื่อ นั่นล่ะ เป็นจุดสำคัญที่ต้องมีหลักยึด

การทำงานของศรีบูรพา ถ้าเป็นงานบทความ งานหนังสือพิมพ์ สามารถทำไปพร้อมกับงานอื่นๆ ได้ แต่ถ้าเป็นงานนวนิยายต้องทุ่มเทพลังมาก ถึงขนาดประกาศเลิกทำหนังสือเพื่อที่จะนั่งเขียนเป็นหลัก แสดงว่างานนวนิยายไม่ใช่งานง่ายๆ ที่วันหนึ่ง อยู่ๆ จะลุกขึ้นมาเขียนได้ เป็นงานที่ต้องทุ่มเทตั้งใจ ศรีบูรพามีงานสำคัญหลายงานเกิดจากช่วงที่เว้นวรรคจากงานหนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น อย่าง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” นั่นเขียนหลังจากไปออสเตรเลีย แล้วไม่ได้ทำงานหนังสือพิมพ์

“แลไปข้างหน้า” หลายคนว่าเป็นเล่มสำคัญที่สุดของศรีบูรพา เป็นงานเขียนช่วงที่มีเวลามากคือติกคุก เป็นงานที่แสดงความคิดที่ลึกซึ้งที่สุดของศรีบูรพา ในงานข่าว งานสารคดี งานบทความ งานเหล่านี้เป็นงานความคิดอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นนวนิยายจะกลมกล่อมไปด้วยการสะท้อนภาพชีวิตที่มีมิติซับซ้อนลึกซึ้งหลายแง่หลายมุมมากกว่า เราจะเห็นว่าวรรณกรรมหลายเรื่องของศรีบูรพา สามารถจะมองได้หลายมิติมากๆ ยกตัวอย่าง “ข้างหลังภาพ” เอามิติไหนก็ได้ เรื่องความรักก็ได้ เรื่องชนชั้นก็ได้ มองเรื่องกลุ่มพลังใหม่ กลุ่มพลังเก่าก็ได้ อย่างนพพรถือว่าเป็นกลุ่มพลังใหม่ที่เกิดขึ้นจากเรื่องการศึกษาในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เราเข้าใจหลายอย่างที่ลึกซึ้งมากกว่าสารคดี,บทความ

นวนิยายหลายๆ เรื่องของศรีบูรพา ไม่ว่าจะเป็น”ลูกผู้ชาย” “ข้างหลังภาพ” “จนกว่าเราจะพบกันอีก” “แลไปข้างหน้า” “ป่าในชีวิต” ล้วนแต่เป็นเรื่องที่อ่านได้หลายครั้งทั้งสิ้น อ่านแล้วก็ได้อะไรใหม่ๆ ทุกครั้ง เห็นมิติ เห็นความซับซ้อนของการสร้างสรรค์งาน สำหรับศรีบูรพาแล้วนวนิยายเป็นงานสร้างสรรค์ชั้นสูง แล้วท่านก็ทุ่มเทกับนวนิยายมาก เรียกได้ว่าช่วงปลายของการทำงานเขียนของท่านทุ่มเทให้กับการสร้างนวนิยายมากกว่างานประเภทอื่นๆ คำว่า โลกคือนิยาย น่าจะเหมาะอย่างมากที่เราจะพูดถึงศรีบูรพาในวันนี้”

ใครที่ยังไม่เคยได้อ่านนวนิยายของศรีบูรพา ถือได้ว่า ยังไปไม่ถึงรสชาตินวนิยายไทย อย่างแท้จริง...

(นิทรรศการโลกคือนิยาย, นิทรรศการข้าพเจ้าได้เห็นมา จัดขึ้นที่ห้องบอลรูม ใน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2557 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)








กำลังโหลดความคิดเห็น