xs
xsm
sm
md
lg

“เสมา” ตัวขาว ปากแดง - ขุนศึก 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปิ่น” ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ แห่ง “ทีวีซีน”
“ปิ่น” ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ยอมรับ “ขุนศึก” ใหญ่เกินตัวทีวีซีน ถือเป็นละครในรอบ 20 ปีที่ลงทุนสูงที่สุด เหนื่อยที่สุด ไม่ว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่ทำได้ดีที่สุดแค่นี้ ไม่ใส่ใจกับเสียงรบกวนว่า พลอยไม่เหมาะ อั้มตัวขาว เสมาท่าเยอะ ประดิษฐ์แยะ บ้างก็ว่าเท่ ยันพระเอก “เสมา” ในอดีตผิวขาวทั้งนั้น
 
ณ วันนี้ “ขุนศึก” ถูกบันทึกไว้ให้เป็นหนึ่งเรื่องราวที่เดินเคียงไปกับตำนานของ “ขุนศึก” ที่ผ่านมา ตลอด 53 ปี นับจากปี 2502 ที่ขุนศึกได้โลดแล่นอยู่ในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มาถึง 6 ครั้ง เวอร์ชั่นของ “ทีวีซีน” ที่ปรากฏแก่สายตาผู้ชมขณะนี้ทางช่อง 3 เป็นการจัดสร้างครั้งที่ 7

เบื้องหลัง “ขุนศึก 2012”
เพื่อฉลองวาระ 20ปีทีวีซีนและ 42 ปีของช่อง 3 ตามความตั้งใจเดิมคิดแค่ “ละครพีเรียด” ฟอร์มใหญ่เท่านั้น เพราะโดยส่วนตัวของ “ปิ่น” ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ คิดว่า แผลเก่า, แสนแสบ น่าจะนำมาทำใหม่ และเขียนเพลงขึ้นใหม่เพื่อประกอบละครพีเรียดให้ดูร่วมสมัยขึ้นเท่านั้น

“เราก็ฝันของเราไป พอเอาไปคุยกับพี่สมรักษ์ (ณรงค์วิชัย) พี่อัมพร (มาลีนนท์) ฟัง แกบอกว่า เห็นด้วยนะสำหรับละครฟอร์มใหญ่ฉลอง 20 ปีที่ทีวีซีนจะทำ แต่ไม่เอาสองเรื่องที่พูดมานะ ก็เลยต้องไปคิดมาใหม่ จนวันหนึ่งพี่สมรักษ์ไปอ่านขุนศึกมาก็เลยมาเป็นเรื่องนี้”

“ปิ่น” ณัฏฐนันท์บอกว่า ขุนศึกเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิด เพราะละครอิงประวัติศาสตร์เป็นอะไรที่ใหญ่เกินตัว แม้นายประวิทย์ มาลีนนท์จะเคยเปรยอยู่หลายครั้งกับคณะละครว่า ละครแนวนี้หายไปจากวงการละครของช่อง 3 มานานแล้วก็ตาม อีกทั้งนิสัยส่วนตัวแล้ว เป็นคนไม่ชอบอะไรที่เป็นของโบราณและโมเดิร์นจ๋า แต่ชอบอะไรที่อบอุ่นแบบธรรมชาติมากกว่า

“เป็นความสัตย์จริง พี่ไม่เคยคิดจะทำขุนศึกเลย เพราะมันใหญ่เกินตัวเรา เมื่อรู้ว่าต้องทำก็เลยเอานวนิยายเรื่อง ขุนศึกมานั่งอ่าน เล่มหนาๆสิบเล่ม อ่านไปก็หลับไป ช่อง 3เป็นคนจัดการในเรื่องลิขสิทธิ์บทประพันธ์ ก็มีโอกาสได้คุยกันว่า เราจะต้องขอปรับเรื่องภาษาให้คนฟังรู้เรื่องหน่อย จากนั้นเราก็ให้คนย่อเรื่องอย่างละเอียดจากนวนิยายทั้งสิบเล่มมาให้อ่าน เพื่อที่จะดูว่าเนื้อหาจริงๆมันคืออะไร”
จากนั้นก็ไปหาคนที่จะช่วยในเรื่องภาพ หาผู้กำกับคิวบู๊ ซึ่งได้จากภาพยนตร์เรื่อง “ซามูไรอโยธยา” รวมถึงทีมทำเสื้อผ้าพีเรียดแบบอิงประวัติศาสตร์

“น้องๆพวกนี้ตัวใหญ่มาก น้องหนึ่ง น้องจีจี้ ถ้าวันไหนช้างมาเข้าฉากไม่ครบลงแทนได้เลย ส่วนผ้าต่างๆพี่เป็นคนไปเลือกมาจากจังหวัดลพบุรี เรียกว่าเหมาผ้ามาเกือบหมดจังหวัด ผ้าที่เลือกมาพี่จะไม่เอาสีสด เน้นสีคลาสิก เช่น สีชมพูกลีบบัว สีหวานๆ นางเอกต้องใส่สีหวานหมด ส่วนเสื้อผู้ชายก็จะเน้นเป็นสีม่วง สีคราม คนทำคอสตูมเก่ง พอแมตซ์กันแล้ว สวยมาก แต่ถ้าถามว่า สมัยนั้นเขาใส่สีแบบนี้หรือ อาจจะไม่ใช่ แต่การเป็นละครเราต้องเอาความสวยงามไว้ก่อน”

“ปิ่น” ณัฏฐนันท์ ยอมรับในเรื่องความเกินตัวของละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณ, ฉาก และอื่นๆอีกสารพัด ไม่นับรวมค่าเสียหายจากกรณีน้ำท่วมอีกต่างหาก

“เราไม่ได้เก่งกาจ เราไม่ได้มีความรู้ ความสามารถขนาดนั้น ช่อง 3 ยังมีอีกหลายคนซึ่งเก่งกว่าพี่และทำละครในแบบนี้ได้ดี แต่เมื่อช่อง 3 สั่ง และบังเอิญมันเป็นจังหวะที่เราได้คนเก่งๆมาร่วมงานช่วยกันหลายคนเช่น เรื่องภาพ เรื่องเสื้อผ้า เรื่องคิวบู๊ มันมาเหมือนปาฏิหาริย์ หรือจะเป็นด้วยบุญกุศลที่เคยทำไว้ก็ไม่รู้”

ภาพวันถ่ายทำฉาก สมเด็จพระนเรศวรทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ทำให้ “ปิ่น” ณัฏฐนันท์ ขนลุกซู่ และนึกย้อนถึงความเสียสละของพระองค์ท่านที่มีต่อแผ่นดินไทย

“ยิ่งเดี๋ยวนี้ เด็กบางคนจะรู้แค่พระองค์นี้เป็นเจ้า แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เมื่อเด็กไม่รู้ก็จะไม่มีความผูกพัน อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ดูเพื่อให้รู้ว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นผู้ประกาศอิสรภาพนะ ที่เราเป็นประเทศอยู่ได้จนทุกวันนี้ บรรพบุรุษไทยของเราต้องเสียสละเลือดเนื้อขนาดไหน ในเรื่องขุนศึก พระเอกคือ เสมาเป็นทหารเอก เป็นเรื่องรักระหว่างรบ เรื่องรักในแนวอิจฉาริษยาตามสูตรละครมีอยู่ครบถ้วน ความสวยงามก็มี ขณะเดียวกันก็แทรกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นอยู่ด้วย เราจะเห็นว่า ทหารและคนในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีความฮึกเหิมมาก ทุกคนอยากเป็นทหาร ประชาชนก็สามัคคีกัน เพราะถ้าไม่มีความสามัคคีไหนเลยจะต้านทานศัตรูที่จะเข้ามาบุกรุกได้ ดูแล้วก็เลยทำให้ย้อนมาดูเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันว่ามันเกิดอะไรขึ้น … คนไทยทุกวันนี้ไม่รักกันจริงๆ หรือถ้ารักก็ต้องบอกว่า รักกันน้อยเกินไป อย่างน้อยๆก็หวังว่า การชมละครเรื่องนี้จะทำให้สะกิดใจอะไรขึ้นมาได้บ้าง”
 

“วันบวงสรวง พี่ทูลกับองค์พระนเรศวรว่า ไม่รู้ว่าลูกจะทำได้ดีขนาดไหน แต่ก็ขอทำจนสุดฝีมือเพื่อถวายท่านนะ แม้ว่ามันจะน้อยนิดก็ตาม จนเมื่อเราตัดออกมาดูตอน สองตอน ดูแล้วพี่ปลื้มใจและภูมิใจในตัวเองมาก แต่คนอื่นจะรู้สึกหรือเปล่าพี่ไม่รู้นะ แม้ว่ามันอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับพี่ แต่พี่ก็แฮปปี้ มีความสุขในชีวิตมาก”

ขุนศึก 2012 นี้มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวพระอย่าง “อั้ม” อธิชาติ ชุมนานนท์ ตัวนางอย่าง “พลอย” เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ หรือแม้กระทั่งความสมจริงสมจังของ “คิวบู๊” ในละครอิงประวัติศาสตร์

การเขียนบทโทรทัศน์โดย “เอกลิขิต”ได้อิงเอาคาแรกเตอร์บางส่วนของ “ดารา” เข้ามาเจืออยู่ในตัวละครนั้นๆด้วย

“ก่อนการเขียนบท เรารู้แล้วว่าใครจะมารับบทไหน เพราะฉะนั้นเราจะเอาจุดเด่นของเขามาใช้ด้วย ผสมผสานให้กลมกลืนกัน ไม่ให้บทมันขัดกับบุคลิกเขาเสียจนเกินไป แต่ขนาดนี้ คนก็ยังพูดเลยนะว่า พลอยไม่น่าใช่แม่เรไร ไม่ใช่อย่างไรล่ะออกมาสวยมากเลย อย่างอั้มเขาก็บ่นว่า ทำไมเสมาต้องขาวขนาดนี้ แล้วรู้ได้ยังไงว่า เสมาไม่ขาว รู้ได้ไงว่าเสมาดำ ที่ผ่านมาพระเอกขุนศึก ขาวหมดนะ พี่โกวิท (วัฒนกุล) ก็ขาว อากำธร (สุวรรณปิยะศิริ) ก็ขาว สมัยนี้ไม่มีใครเป็นเสมาได้ดีเท่ากับอั้มแน่นอน ด้วยรูปร่างที่ทะมัดทะแมง ด้วยความเอาใจใส่ เล่นมาทั้งดรามา และอะไรเยอะแยะ ไม่อยากโม้ ลูกชายคนนี้มันสุดยอดจริงๆ ต้องเรียนทั้งดาบคู่ เรียนมวยไชยา เรียนขี่ช้าง ขี่ม้าสารพัด ไม่เคยบ่นสักคำ ...”

“พี่ทำให้มันเป็นอะไรที่คนสมัยนี้ดูนะ แต่ไม่รู้ว่า เด็กๆจะดูกันหรือเปล่า อย่างวิธีการพูดก็ไม่ช้า ไม่อืออาด เดินเรื่องกระชับ ฉับไว อะไรหั่นได้ หั่นออกหมด ไม่เอาอะไรที่มันอืดอาด แม้แต่ซาวนด์ละคร เราก็ได้คนทำหนังมา จะสังเกตได้ว่าเพลงบู๊เป็นเพลงที่แน่นมาก เพราะเราใช้วงออร์เคสตราบรรเลง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็เป็นดนตรีไทย เป็นขิม เป็นซออู้ก็ไปจ้างอีกวงหนึ่งมา เพราะฉะนั้นเมื่อรวมๆกันแล้วมันเป็นอะไรที่มหาศาลมาก แต่เรื่องที่เด็กๆจะดูหรือเปล่า เรื่องนี้มันหวังอะไรมากไม่ได้”

เพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง “ขุนศึก” เวอร์ชั่นนี้ มี 2 เพลงคือ “คนใจร้าย “ โดย “โบว์” สุนิตา ลีติกุลและ “ศึกไหนไม่เท่าศึกหัวใจ” โดย “วิทย์” พชรพล จั่นเที่ยง AF 1 ทั้ง 2 เพลง คำร้องโดย สารภี ศิริสัมพันธ์ ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานโดย อภิไชย เย็นพูนสุข

ภาพของ “ขุนศึก” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร และเพลงประกอบที่เคยใช้มาแต่อดีตถูก “ปิ่น” ณัฏฐนันท์ก้าวข้ามมาทั้งหมด

“พี่รู้จักแต่หนังฝรั่ง ฟังเพลงฝรั่ง ไม่เคยดูหนัง ละครหรือฟังเพลงไทยเลย เพื่อนๆยังบอกว่า เฮ้ย มันทำละครได้ยังไงว่ะ หนังสือก็ไม่ชอบเรียน นวนิยายก็ไม่เคยอ่าน คือมันไม่มีอะไรที่น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการนี้ได้เลย การที่เราไม่เคยดู ไม่เคยฟัง มันก็เลยทำให้เราไม่ติดภาพเดิมๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ขุนศึกเคยมีเพลงอะไร แต่พี่จะไกด์บอกคนแต่งเพลงว่า พี่ต้องการแบบนี้ เอาของใหม่ ไม่ต้องไปอิงกับของเก่า แต่จะดีหรือไม่ดีอันนี้พี่ไม่รู้นะ บางอย่างที่มันมีของเก่ามันก็ดี เผอิญว่าเราไม่ค่อยรู้ไงแล้วก็ไม่เคยได้ฟังด้วย ถ้ามีโอกาสได้ฟังอาจจะเอาก็ได้นะ”

ละครโทรทัศน์เรื่อง ขุนศึก ถือเป็นละครที่ใหญ่ที่สุด ลงทุนมากที่สุด เหนื่อยที่สุด และประณีตที่สุดนับตั้งแต่ “ทีวีซีน” เริ่มทำงานกับช่อง 3 มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534

“ถ้าละครเรื่องนี้มีคนบอกว่า ไม่เห็นจะดีเลย พี่ก็ขอน้อมรับว่า พี่ทำได้แค่นี้ นี่พูดจริงๆ สำหรับตัวพี่ มันไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้แล้ว” นี่คือถ้อยความปิดท้ายการสนทนาว่าด้วยเรื่องขุนศึก …

ตำนาน “ขุนศึก”
ขุนศึก เป็นผลงานการประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม และ สุมทุม บุญเกื้อ ไม้ เมืองเดิม หรือ นามจริงว่า “ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา” มีชีวิตอยู่ในแวดวงนักประพันธ์ในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียง 6-7 ปีเท่านั้น มีผลงานทั้งสิ้นราว 42 เรื่อง นวนิยายที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักคือ “แผลเก่า” ทั้งนี้เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากคำพูดของครูเหม เวชกร นวนิยายเรื่อง “ขุนศึก” เป็นบทประพันธ์ที่มีความยาวที่สุดของไม้ เมืองเดิม และเริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆครั้งแรกเมื่อปี 2482 ในนิตยสารเพลินจิตรายสัปดาห์
 
แต่เนื่องจากก้าน พึ่งบุญฯ เป็นคนดื่มสุราจัด จึงทำให้ในระยะหลังมือสั่นจนเขียนหนังสือไม่ได้ จนต้องเอาผ้าดิบพันทุกนิ้วให้แน่นก่อนเขียนหนังสือ ต่อมาอาการหนัก จึงบอกให้ภรรยาและเพื่อนฝูงเป็นผู้จด ก้าน พึ่งบุญฯ เสียชีวิตเมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2484 (อายุ 37 ปี) ตอนสุดท้ายในสำนวนของไม้ เมืองเดิมถูกตีพิมพ์เมื่อ 24 เมษายน 2485 ต่อมา กิ่ง พึ่งบุญฯ ผู้เป็นน้องชายซึ่งเป็นนักประพันธ์ในนาม “สุมทุม บุญเกื้อ” รับหน้าที่เขียน “ขุนศึก” จนจบบริบูรณ์ รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เคยกล่าวไว้ว่า สำนวนของพี่กับน้องคู่นี้กลมกลืนกันมากจนหารอยต่อไม่เจอ

“ขุนศึก” ในโลกบันเทิง
ปี 2502 เป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกสมัยช่อง 4 บางขุนพรหม แสดงโดย กำธร สุวรรณปิยะศิริ และ อารีย์ นักดนตรี กำกับการแสดงโดย ครูทัต เอกทัต , พิชัย วาศนาส่ง ผู้กำกับภาพ แพร่ภาพครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2502 - กุมภาพันธ์ 2504 ความยาวทั้งสิ้น 16 ตอน โดยจัดแสดงเดือนละครั้งๆละ 2 ชั่วโมง จำนวนบทมีความยาวประมาณ 25 หน้าต่อ 1 ตอน เป็นละครที่ทำลายสถิติของช่อง 4 บางขุนพรหมทุกเรื่องที่ผ่านมาตลอด 3 ปี

เพลงประกอบละครเรื่องนี้คือ ฟ้ารักดิน (กำธร - อารีย์) และ พี่รักเจ้าสาว (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา - ดวงดาว อาษากิจ)

อารีย์ นักดนตรีเคยเล่าผ่านทีมสกู๊ปพิเศษของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า คนที่รู้ว่า “สุวัฒน์ วรดิลก” (รพีพร - ล่วงลับแล้ว) เป็นคนเขียนบทโทรทัศน์ในสมัยนั้นมีเพียง 4 คนคือ ครูสัมพันธ์ - สกล พันธุ์มณี, อารีย์ นักดนตรีและกำธร สุวรรณปิยะศิริเท่านั้น แม้แต่จำนง รังสิกุล (หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ) ก็ไม่ทราบ …

เมื่อปี พ.ศ. 2500 สุวัฒน์ วรดิลกได้นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศจีน รัฐบาลไทยขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ประจวบกับเดินทางกลับมาในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติล้มอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้นักเขียนอย่างสุวัฒน์ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 4 ปี

“ตอนนั้น คุณสุวัฒน์ต้องลหุโทษอยู่ในคุก เรื่องนี้แม้แต่นายก็ไม่ทราบเรื่อง เพราะช่อง 4 เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ถ้าความลับนี้หลุดออกไปจะเป็นอย่างไร สำหรับนาย เราคิดว่า ถ้านายรู้ อาจจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ท่านอาจจะตำหนิว่า ทำงานล่อแหลมและเสี่ยงเกินไปเท่านั้นเอง แต่ถ้ารัฐบาลรู้จะเดือดร้อนกันใหญ่”

ละครขุนศึก เรื่องนี้ สุวัฒน์ วรดิลก ใช้นามแฝง “สุมทุม บุญเกื้อ” ในการเขียนบทโทรทัศน์ ชื่อ “สุมทุม” นี้คือ น้องชายของไม้เมืองเดิม คืนหนึ่ง ทั้ง 4 คนนัดแนะกันไปหาสุมทุม บุญเกื้อ เพื่อให้สมอ้างว่า เป็นคนเขียนบท เจ้าตัวอนุญาตให้ใช้ชื่อได้ แต่มีข้อแม้ว่า ขอตรวจบทละครโทรทัศน์ก่อนทุกครั้ง ขณะเดียวกันก็ติดต่อกับสุวัฒน์ผ่านทางน้องสาวที่ชื่อ “น้อย” ซึ่งเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนดรุโณทยาน ครูน้อยได้นำเอาจดหมายของครูสัมพันธ์ซ่อนไว้ใส่ก้นปิ่นโตเข้าไปให้ ในจดหมายฉบับนั้นแจ้งความประสงค์ และแจ้งตัวนักแสดงและทีมงานทั้งหมด บทที่ทำออกมานั้น มาเดือนต่อเดือน และล่วงหน้า 2 อาทิตย์ก่อนการแสดงสดในห้องส่ง

สุวัฒน์ วรดิลก เคยเล่าให้อารีย์ฟังว่า “พี่เขียนบทออกจากลหุก็ถูกผู้คุมแกล้ง ขอยืมหนังสือไปอ่านแล้วไม่คืน พี่ก็เลยต้องดำน้ำเอา แล้วมันก็ไม่ตรงตามบท คุณทัติก็เลยต้องแก้ไขให้ แต่ก็ไม่มาก”

นักแสดงบางคนที่เคยเล่นละครเรื่องอื่นที่สุวัฒน์เขียนบทมาก่อน ต่างพูดกันว่า เหมือนสำนวนฝีปากของสุวัฒน์เลย อารีย์ นักดนตรีจึงได้แต่พูดเฉไฉไปว่า

“จะเหมือนกันได้ยังไงคะ ถ้าเราได้คุณสุวัฒน์เขียนบทละก็ ไม่รู้จะสนุกกว่านี้อีกกี่เท่า เสียดายที่พวกเราไม่เคยมีโอกาสร่วมงานกันเหมือนพี่สวลีและคุณอดิศักดิ์(เศวตนันทน์)”

ปี พ.ศ. 2520 จัดสร้างโดย รัชฟิล์ม ทางช่อง 5 นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี และ ผุสดี พลางกูร
ปี พ.ศ. 2523 จัดสร้างโดย ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ทางช่อง 3 กำกับการแสดงโดย สักกะ จารุจินดา นำแสดงโดย โกวิท วัฒนกุล , นิภาพร นงนุช
ปี พ.ศ. 2538 จัดสร้างโดย อัครมีเดีย ทางช่อง 9 กำกับการแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ นำแสดงโดย ธนายง ว่องตระกูล และ วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ

เพลงประกอบละครชุดนี้ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดสร้างละครเรื่อง “ขุนศึก” มา ทั้งนี้โดยนำเพลงเก่าสมัยช่อง 4 มาใช้เป็นเพลงเดียวคือ ฟ้ารักดิน (คำร้อง - ทำนอง สง่า อารัมภีร) ส่วนเพลงหลักของละคร ประพันธ์ขึ้นใหม่โดย จิตนาถ วัชรเสถียร เช่น ขุนศึก, มาร์ชขุนศึก,จำปีดอกนี้ หรือบางเพลงก็นำมาจากละครอื่นซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่องได้ เช่น สไบแพร (คำร้อง - ทำนอง สง่า อารัมภีร จาก ลครเร่) แม้แต่เพลง ศรีอยุธยา เพลงประกอบภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ของท่านปรีดี พยมยงค์ (ทำนอง พระเจนดุริยางค์ ภายหลังมีการเขียนคำร้องโดย สุขสวัสดิ์ ทิฆัมพร) ก็ถูกรวมอยู่ในชุดนี้ด้วย เพลงอื่นๆเช่น บวงสรวง (คำร้อง - ทำนอง สง่า อารัมภีร) , เกียรติยศ (ถนอม อัครเศรณี) และสู้ตาย (เพลงบรรเลง)

ปี พ.ศ. 2555 จัดสร้างโดย ทีวีซีน กำกับการแสดงโดย อดุลย์ บุญบุตร พระ- นางคือ อธิชาติ ชุมนานนท์ และ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ห่างจากการสร้างของช่อง 3 ในคราก่อนถึง 32 ปี

นอกจากนี้ “ขุนศึก” ยังเคยเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึง 2 ครั้งคือ เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดย ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น กำกับการแสดงโดย สักกะ จารุจินดา นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และนัยนา ชีวานันท์ และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดย ธนิตย์ จิตนุกูล ในนามของ 2002 บิ๊ก เบสท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นำแสดงโดย วรวิทย์ แก้วเพชร และ สาวิณี ภู่การุณ

โดยใช้เพลง “ขุนศึก” ของวงคาราบาว เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์

ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับ “ขุนศึก” ในเวอร์ชันนี้ แต่ละครเรื่องนี้ได้ถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของละครอิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาไว้แล้ว

..................................................

เพลง “คนใจร้าย” ประกอบละคร “ขุนศึก” ของทีวีซีน

เพลง “ศึกไหนไม่เท่าศึกหัวใจ” ประกอบละคร “ขุนศึก” ของทีวีซีน

เพลงประกอบภาพยนตร์ “ขุนศึก” ของ ธนิตย์ จิตนุกูล

เพลงชื่อ “ขุนศึก” ประกอบละครของอัครมีเดียทางช่อง 9

เพลงประกอบละคร “ขุนศึก” สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม
ขุนศึก 2012 – อั้ม อธิชาติและพลอย เฌอมาลย์
ภาพวาด “ไม้ เมืองเดิม” โดย เบญจมาศ คำบุญมี
ส่วนหนึ่งของปก “ขุนศึก” ฝีมือ ครูเหม เวชกร

กำธร สุวรรณปิยะศิริ - อารีย์ นักดนตรี คือ “เสมา – เรไร” คู่แรกสมัยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม
พิศาล อัครเศรณี - ผุสดี พลางกูร สมัยช่อง 5 ของ “รัชฟิล์ม”
โกวิท วัฒนกุล – นิภาพร นงนุช สมัยช่อง 3 ของ “ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น”
ธนายง ว่องตระกูล – วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ สมัยช่อง 9 ของ “อัครมีเดีย”
สมบัติ เมทะนี รับบท “เสมา” ในภาพยนตร์ของไฟว์สตาร์โปรดักชั่น
สมบัติ เมทะนี - นัยนา ชีวานันท์ และธัญญรัตน์ โลหะนันท์ ใน “ขุนศึก”
โปสเตอร์ “ขุนศึก”  จากการกำกับของ ธนิตย์ จิตนุกูล แสดงโดย วรวิทย์ แก้วเพชรและสาวิณี ภู่การุณ
กำลังโหลดความคิดเห็น