xs
xsm
sm
md
lg

พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ที่ใหญ่และงามที่สุดของกรุงศรีฯ รอดจากถูกพม่าเผาทำลายอย่างน่าอัศจรรย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 500 ปีมาแล้วที่พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์องค์ใหญ่ที่สุดในกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า “วัดหน้าพระเมรุ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่หรือทรงเครื่องกษัตริย์องค์นี้มีนามว่า “พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสำริด ลงรักปิดทอง ประดับกระจก หน้าตักกว้าง 4.50 เมตร สูง 6 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ทรงอุณหิส (มงกุฎ) กรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด(กำไลต้นแขน) และทองพระกร เป็นต้น

ในหนังสือพระพุทธรูปสำคัญ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร 2543 กล่าวถึงประวัติการสร้างพระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ ว่า

“...เมื่อตรวจสอบตามประวัติการสร้างวัดหน้าพระเมรุแล้ว น่าจะสร้างพร้อมกันในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2046 ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ตอนปลายสมัยอยุธยาครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 นั้น วัดหน้าพระเมรุแห่งนี้ คงรอดพ้นจากการถูกเผาทำลายมาได้ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีจารึกการปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุว่า ครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2378 โดยพระยาไชยวิชิต(เผือก) เมื่อการทั้งปวงเสร็จแล้ว ได้รับพระราชทานนามพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถว่า “พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2402 ได้โปรดให้พระยาเพทราชา พระยาโบราณบุรานุรักษ์ กรมการเร่งช่างรัก ช่างกระจก ให้ประดับกระจกพระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุ...”

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวัดหน้าพระเมรุ มีกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ในสงครามช้างเผือกก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันที่พระอารามแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2106 และเมื่อพ.ศ. 2303 พม่าได้นำปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระหน้าพระเมรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายใหญ่ของพม่า เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ใกล้พระราชวังหลวง พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าในเวลานั้น ได้ทรงบัญชาการรบและทรงจุดปืนใหญ่เอง แต่ปืนใหญ่ได้แตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัส ดังนั้น วันรุ่งขึ้นพม่าจึงยกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

วัดหน้าพระเมรุจึงเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลาย การที่วัดหน้าพระเมรุและพระพุทธรูปต่างๆ รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาทำลาย กล่าวกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีฯ โดยแท้

พระพุทธรูปสำคัญอีกหนึ่งองค์ที่วัดหน้าพระเมรุ คือ พระคันธารราฐ ปางประทานปฐมเทศนา เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวแกะสลัก ศิลปะแบบทวาราวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้าง วางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) เบื้องหลังมีพนัก และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียร มีประภามณฑลหรือรัศมี สลักลายที่ขอบ หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร สูง 5.20 เมตร อายุประมาณ 1,500 ปี พระยาไชยวิชิต(เผือก)ได้ในจารึกไว้ในศิลาที่ติดตั้งที่ฝาผนังพระวิหารสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราฐ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุในอยุธยา โดยพระอุบาลี ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกาเมื่อคราวที่เป็นสมณทูต พร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์ นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา

และที่วัดแห่งนี้ยังมีเจดีย์ที่ไม่ธรรมดา คือ เจดีย์ราย เป็นเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์เรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ จากลักษณะรูปทรงเจดีย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย เจดีย์องค์ด้านทิศใต้นั้นไม่ธรรมดา เนื่องจากมีต้นโพธิ์ใหญ่ห่อหุ้มอยู่ เหมือนเศียรพระพุทธรูปในรากโพธิ์ที่วัดมหาธาตุนั่นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น