xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ถอดรหัสความสำเร็จ “ลินคอล์น” เกี่ยวพันกับ อิทธิบาท ๔

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนุษย์บนโลกใบนี้ ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่น้อยคนนักที่จะพบความสำเร็จได้ดังใจปรารถนา

พวกคนขยันที่เอาแต่ทำโดยไม่ยอมศึกษา สุดท้ายก็พังล้มไม่เป็นท่า ส่วนพวกที่เอาแต่ศึกษา คิดนู่นนี่นั่นเต็มหัวไปหมดแต่ไม่ลงมือทำ พวกนี้ก็ได้แต่ฝันพร่ำเพ้อ ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ความจริงแล้ว ความสำเร็จเป็นเรื่องง่าย เพียงแต่มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งควรทำความเข้าใจ ทุกอย่างบนโลกนี้ มีคนทำไว้หมดแล้ว แม้แต่เรื่องความสำเร็จ และความสำเร็จมันก็มีร่องรอย พูดอีกอย่างคือ ความสำเร็จมันมีกลไกของมัน ถ้าเราหาเจอว่ากลไกนั้นคืออะไร มันทำงานอย่างไร เราก็จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ไม่ยาก

เหตุที่คนส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะไม่รู้วิถีหรือกฎแห่งความสำเร็จ กฎที่เป็นสัจธรรมความจริง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะผ่านไปอีกกี่ยุคสมัยก็ตาม

วิถีแห่งความสำเร็จนั้น เปรียบเสมือนเส้นทางหนึ่ง หากเรายังไม่เคยก้าวผ่านเส้นทางสายนี้ ก็แค่สอบถามจากคนที่เคยไปมาก่อน เรื่องความสำเร็จก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นมหาบุรุษที่ประสบความสำเร็จเหนือใครในจักรวาล ในพุทธสูตร พระองค์ตรัสเปิดเผยกฎแห่งความสำเร็จว่า มีกลไกที่ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ดังนี้

“ที่เราสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าเรามีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการทำสมาธิ อันประกอบไปด้วยความเพียรสร้างสรรค์และป้องกัน”

คุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นทางหรือเป็นกลไกนำไปสู่ความสำเร็จ นิยามศัพท์ใหม่ด้วยภาษาในปัจจุบันว่า

ฉันทะ คือ มีใจรัก พอใจ ความถนัด พรสวรรค์ เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะทำสิ่งนั้น
วิริยะ คือ ความเพียร พยายาม ใจสู้ กล้าหาญ ขยัน บากบั่น มุมานะ อยู่กับสิ่งนั้น
จิตตะ คือ มีใจจดจ่อ ฝักใฝ่ มุ่งมั่น สมาธิ สติ พลังจิต โฟกัส อยู่กับสิ่งนั้น
วิมังสา คือ มีปัญญา พิจารณา ตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ อยู่กับสิ่งนั้น

เรื่องกลไกลหรือหนทางนั้น อาจถอดรหัสมาใช้กันได้ แต่เรื่องผลลัพธ์หรือความสำเร็จ อาจต้องมีการปรับลดขนาดไปตามความเหมาะสม เพราะความสำเร็จของคนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้น เรื่องนี้เราก็ต้องนิยามเองให้ชัดว่า ความสำเร็จที่เราต้องการในชีวิตจริงๆนั้นคืออะไร

มีจุดพอให้สังเกตได้ว่า เมื่อ “ฉันทะ” คือความรักชอบ พอใจ หรือความถนัดของเราปรากฏขึ้น เส้นทางแห่งความสำเร็จก็จะเผยตัวออกมา พร้อมกับความสุขที่ได้ทำสิ่งนั้น หากท่านยังไม่แน่ใจ ยังหาไม่พบ หรือยังไม่มีคำตอบ “นโปเลียน ฮิลล์” มีนิยามแห่งความสำเร็จ นำร่องไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

๑. มีคนที่เรารัก มีคนที่รักเรา และสองคนนี้ คือคนเดียวกัน
๒. มีสุขภาพกาย... สุขภาพใจที่ดี
๓. มีเงินมากพอที่จะทำให้ชีวิตมีทางเลือก และมีเวลามากพอที่จะใช้เงินนั้น

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ไม่ว่าเราจะนิยามความสำเร็จยิ่งใหญ่ หรือเล็กจ้อยเพียงใด แต่ชีวิตของเราไม่มีเวลามากพอ ที่จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์แบบลองผิดลองถูก คลำเป้าสะเปะสะปะไปเรื่อย ย้ำอีกครั้งว่า ทุกอย่างมีคนทำไว้แล้ว เราแค่ไปศึกษาจากเขา แล้วนำมาถอดรหัส ปรับประยุกต์ต่อยอด บุคคลระดับโลกที่นำมาเป็นเคสตัวอย่างต่อไปนี้ อ่านแล้วการันตีเลยว่า ไฟในใจของท่านผู้อ่านจะต้องลุกโพลงอย่างแน่นอน

มีเด็กน้อยคนหนึ่ง ฐานะทางบ้านยากจน มีอาชีพตัดฟืนขาย แต่เขาเป็นคนรักการอ่าน แม้ที่บ้านจะไม่มีหนังสือ ก็ยังไปยืมจากเพื่อนบ้านมาอ่าน และก็อ่านโดยอาศัยแสงไฟจากกองฟืน บางครั้งแม้หนทางจะไกลหลายไมล์ เด็กน้อยก็ดั้นด้นไปเพื่อค้นคว้าข้อมูล หนังสือเล่มที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจคือ โรบินสัน ครูโซ และชีวประวัติการทำงานของ ยอร์ช วอชิงตัน อ่านแล้วทำให้เกิดคิดฝันว่า วันหนึ่งข้างหน้า เขาคงจะได้เป็นผู้นำเยี่ยงยอร์ช วอชิงตัน

แล้วกาลเวลาก็ช่วยให้เขาเป็นชายหนุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับฉายา “ชายผู้ล้มเหลว” เพราะไม่ว่าเขาจะหยิบจับทำกิจการอะไร ก็ล้มเหลวพังไม่เป็นท่า ชีวิตที่ผ่านมาผิดพลาดไปหมด เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายครั้ง ผู้คนรอบข้างจึงให้สมญานามนี้แก่เขาโดยอัตโนมัติว่า ชายผู้เกิดมาเพื่อความปราชัย

วันหนึ่งในรัฐอิลลินอยส์ ที่นั่นทำให้ชายหนุ่มได้ค้นพบตัวเองว่า เขาเกิดมาเพื่อเลิกทาส เพราะได้เห็นสภาพในรัฐอิลลินอยส์ ที่มีการซื้อขายทาสพวกคนผิวสี ซึ่งถูกโบยตีอย่างทุกข์ทรมาน ชายหนุ่มเกิดความสลดหดหู่ใจต่อภาพที่เห็น จึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่า “สักวันหนึ่งข้าพเจ้าจะต้องทำลายล้างระบบค้าทาสนี้ให้ได้”

ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า “ฉันทะ” คือแรงบันดาลใจที่เกิดจากการค้นพบจุดหมายที่แท้จริงของตัวเอง ได้เกิดขึ้นแล้ว ชายหนุ่มผู้นี้รู้ดีแก่ใจตนเองว่า เขาเกิดมาเพื่อปลดแอก คืนอิสรภาพให้กับชนผิวสี และมันคือภารกิจที่เขาจะต้องทำให้สำเร็จ

เมื่อโอกาสทางการเมืองมาถึง เขาจึงไม่ลังเลที่จะลงสมัครเป็นตัวแทนสมาชิกสภา ด้วยอายุเพียง ๒๓ ปี แต่ก็คว้าน้ำเหลวมาตลอดกว่า ๑๕ ครั้ง จุดแข็งของนักการเมืองหนุ่มผู้นี้ก็คือ ทรหดอดทน สู้ไม่ถอย ล้มเหลวอย่างไร เขาก็ไม่ล้มเลิก กระทั่งถึงปี ค.ศ. ๑๘๖๐ ในที่สุด เขาก็ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นพอดี และสงครามครั้งนี้เองทำให้เขาได้ชื่อว่า เป็นผู้พิชิตสงครามกลางเมือง ระหว่างอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ พร้อมด้วยภารกิจปลดแอกเลิกทาสให้กับชนผิวสีทั่วสหรัฐอเมริกา สำเร็จอย่างที่ตั้งปณิธานไว้ เขาผู้นี้คือ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกา

ถอดรหัสความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของลินคอล์น พบว่าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ของอิทธิบาท ๔ ที่เกื้อหนุนค้ำจุนกันผลักดันให้ภารกิจสำเร็จ เช่นที่ลินคอล์นค้นพบตัวเอง ด้วยการปลูกฉันทะลงในหัวใจ เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งในที่นี้ก็คือภารกิจเลิกทาส เมื่อฉันทะเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้เกิดกำลังใจ ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อแท้ ท่านจึงใส่ใจสนใจจะเอาชนะการเลือกตั้ง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ไปถึง ๑๕ ครั้ง แต่ในที่สุดก็มาชนะการเลือกตั้งในครั้งที่ ๑๖ นี่คือกำลังของวิริยะ ความเพียรที่มาพร้อมกับจิตตะ คือความมุ่งมั่น ไม่เปลี่ยนใจ ด้วยการโฟกัสอยู่ที่เป้าหมาย

นอกจากนี้ ท่านต้องหาวิธีการที่จะเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้ เช่น หาความรู้ หาประสบการณ์ หาพรรคพวก หาคะแนนเสียง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชน เหล่านี้คือวิมังสา เป็นปัญญา รู้คิด พิจารณาหาเหตุปัจจัยในการเอาชนะเลือกตั้ง ถึงตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า กลไกที่สร้างความสำเร็จนั้นมีอยู่ ๔ องค์ประกอบสำคัญคือ

๑. มีเป้าหมายที่ชัดเจน (ฉันทะ)
๒. ศึกษาคนที่สำเร็จในแบบที่เราต้องการ (วิมังสา)
๓. ลงมือทำด้วยความสม่ำเสมอ (วิริยะ)
๔. ไม่เปลี่ยนใจจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ (จิตตะ)


จำไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ เราจะไม่มีวันบรรลุถึงเป้าหมายได้เลย ถ้าภารกิจของเราปราศจากกลไกของอิทธิบาททั้ง ๔ ประการ คอยผลักดันขับเคลื่อนให้ปณิธานหรือเป้าหมายชีวิต ประสบความสำเร็จ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น