xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ทนได้ไม่โกรธตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
ตุทนฺติ วาจาย ชนา อสญฺญตา
สเรหิ สงฺคามคตํว กุญฺชรํ
สุตฺวาน วากฺยํ ผรุสํ อุทีริตํ
อธิวาสเย ภิกฺขุ อทุฏฺฐจิตฺโตติ.

ขุ.อุ. ๒๕/๑๔๒

บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ว่าด้วยวิธีอดกลั้นทนทานต่อคำหยาบร้ายของผู้อื่น เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสาธุชนนักปฏิบัติ ให้กำหนดพิจารณาถึงเนื้อความ แล้วนำไปเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับตน

พระพุทธภาษิตที่จะยกขึ้นบรรยายเนื้อความต่อไปนี้ เป็นพุทธอุทานที่สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงเปล่งขึ้นด้วยความเบิกบานพระหฤทัย มีเรื่องเล่าในต้นพระสูตรก่อนแต่จะได้ตรัสพระพุทธอุทานนี้ว่า สมัยเมื่อพระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี ในครั้งนั้นทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกสงฆ์ ได้รับสักการะเคารพนับถือบูชาจากประชาชน สมบูรณ์ด้วยลาภผลอันสมควรแก่สมณะนานาประการ

ฝ่ายพวกเดียรถียร์พร้อมด้วยบริวารกลับเป็นผู้ตรงกันข้าม ไม่ได้รับสักการะเคารพนับถือบูชาจากประชาชน เสื่อมจากลาภผลที่ควรจะได้ พวกเดียรถียร์เหล่านั้นจึงเกิดความริษยา ทนอยู่ไม่ได้ต่อความดีในพระพุทธศาสนา จึงพยายามกระทำด้วยอุบายต่างๆ เพื่อให้เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา ในที่สุดก็เข้าไปหานางสุนทรีปริพาชิกา คือนักบวชหญิงนอกพระพุทธศาสนา เล่าเรื่องให้นางสุนทรีปริพาชิกาฟัง ถึงการที่พวกตนเสื่อมจากลาภผล และขอให้นางสุนทรีปริพาชิกาช่วยหาอุบายทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา

นางสุนทรีปริพาชิการับคำแล้วก็ไปยังพระเชตวันเนืองๆ โดยมากก็ไปตอนเย็นและทำทีประหนึ่งว่าค้างคืนในพระเชตวัน จะต้องออกจากพระเชตวันในเวลาที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อจะได้ให้คนทั้งหลายเห็น เมื่อเป็นเช่นนี้นานมาพวกเดียรถีย์จึงใช้อุบายให้คนฆ่านางสุนทรีปริพาชิกานั้น แล้วนำศพไปทิ้งไว้ในคูใกล้พระเชตวัน เมื่อเสร็จแล้วก็แสร้งพูดกันขึ้นว่า นางสุนทรีปริพาชิกาหายไป ได้เข้าไปกราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงทราบ

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้ค้นหาศพทั่วทุกแห่ง ในที่สุดก็ได้พบศพนางสุนทรีปริพาชิกาในที่ใกล้พระเชตวัน พวกเดียรถีย์เหล่านั้นก็ยกศพนางนั้นขึ้นสู่เตียง หามไปยังถนนน้อยใหญ่ โพนทนาว่าร้ายว่า พระสมณศากยบุตรศิษย์พระสมณโคดม ทำกรรมไม่ดี ไม่เป็นสมณะ ความเป็นสมณะ ความเป็นผู้ประเสริฐ ความเป็นพระของสมณศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีแล้ว เพราะเธอร่วมกันฆ่าคนเพื่อปกปิดความชั่วแห่งพระศาสดาของตน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านในนครนั้น เมื่อเห็นพระภิกษุก็พากันเสียดสีด่าว่าด้วยคำหยาบคายต่างๆ พระภิกษุทั้งหลายทนฟังไม่ได้ก็นำเรื่องนั้นไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสว่า ช่างเขาเถิด คำด่าเหล่านั้นจักมีได้เพียง ๗ วันเท่านั้น พอครบ ๗ วันแล้วเสียงก็จะสงบไปเอง “ช่างเขาเถิด” อนึ่ง ถ้าพวกเธอทั้งหลายได้ยินคำเสียดสีด่าว่าอย่างนั้นแล้ว ขอให้ท่องคาถาตอบไป พระภิกษุเหล่านั้นจึงเรียนคาถานั้นในสำนักพระบรมศาสดา เมื่อเรียนคาถาจำได้แล้ว ได้ยินชาวบ้านกล่าวโพนทนาพระภิกษุสงฆ์ ก็เสกคาถานั้นทุกครั้งไป พระคาถานั้นดังนี้ว่า

อภูตวาที นิรยํ อุเปติ
ผู้พูดปด พูดไม่จริง ตกนรก
โย วาปิ กตฺวา น กโรมีติ จาห
ผู้ใดกระทำชั่ว แล้วพูดว่าไม่ได้ทำ ผู้นั้นก็ตกนรก
อุโภปิ เต เปจฺจ สมา ภวนฺติ
นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ

ชนเหล่านั้นทั้ง ๒ จำพวก ถึงเป็นมนุษย์ก็ทำกรรมอันเลวทราม ละไปแล้ว ย่อมเหมือนๆกันในโลกหน้า ดังนี้

เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้เรียนคาถาจากสำนักพระบรมศาสดา และได้เสกคาถานั้น ในเมื่อได้ยินคำด่าว่าโพนทนา ภายใน ๗ วันเรื่องนั้นก็สงบระงับไป คือประชาชนมีความเข้าใจถูก เห็นว่าพวกเดียรถีย์เป็นฝ่ายผิด พระสมณศากยบุตรเป็นฝ่ายถูกฝ่ายดี พระภิกษุทั้งหลายจึงนำความเรื่องนี้กราบทูลพระบรมศาสดา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้นว่า

ตุทนฺติ วาจาย ชนา อสญฺญตา
สเรหิ สงฺคามคตํว กุญฺชรํ
สุตฺวาน วากฺยํ ผรุสํ อุทีริตํ
อธิวาสเย ภิกฺขุ อทุฏฺฐจิตฺโต


แปลว่า ชนทั้งหลายผู้ไม่สำรวมระวังวาจา ย่อมทิ่มแทงจ้วงจาบกันด้วยวาจา เหมือนข้าศึกยิงพญาช้างตัวเข้าสงครามด้วยลูกศรฉะนั้น ผู้เห็นภัย (ในวัฏสงสาร) ได้ยินคำที่คนอื่นกล่าวอย่างหยาบคายแล้ว อย่าเป็นผู้มีจิตประทุษร้ายเลย พึงอดกลั้นทนทานไว้ให้ได้เถิด ดังนี้

ตามเนื้อความในพระพุทธอุทานนี้ ตรัสสอนให้พุทธศาสนิกชนอดทนต่อคำที่ผู้อื่นกล่าวหยาบคายว่าร้ายติเตียน ดังคำที่ประชาชนยกขึ้นโพนทนาว่าร้ายพระภิกษุสงฆ์ แต่ภิกษุเหล่านั้นอดทนไว้ได้ ไม่โต้ตอบ เป็นเพียงได้ขับคาถาตอบเท่านั้น

คนเราเกิดมาย่อมมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไปเก็บไว้ที่ไหนก็ไม่ได้ เมื่อไปที่ไหนตาหูเป็นต้นก็ติดไปด้วย ตาก็ต้องได้เห็นรูป หูก็ต้องได้ฟังเสียงเป็นอาทิ เมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง อาการก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ชอบใจและไม่ชอบใจ เสียงดีไม่ต้องอดทน แต่เสียงชั่วต้องอดทน เสียงดีทรงสอนให้พิจารณา เสียงชั่วทรงสอนให้อดทน ดังในพุทธภาษิตนี้

คนโดยมากมักใช้ปากมากกว่าอย่างอื่นๆ ชนิดที่เรียกว่าปากอยู่ไม่สุข เมื่อปากอยู่ไม่สุขเสียแล้ว ถ้าใช้ในทางชั่วก็เหมือนหอกเหมือนขวาน เพราะฉะนั้น ในที่บางแห่งท่านจึงใช้ศัพท์ว่า มุขสตฺติ หอกคือปาก ในที่มาบางแห่งท่านจึงกล่าวไว้ว่า คนเราเกิดมามีขวานอยู่ที่ปากคนละเล่มทุกคน ธรรมดาว่าขวานใช้ได้ ๒ อย่าง คือใช้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้ถาก ผ่า ตัด เป็นต้น ใช้ในทางชั่วเสียประโยชน์ เช่น สับฟันผู้อื่น เป็นต้น ใช้ดีก็มีประโยชน์ ใช้ชั่วก็ไร้ประโยชน์ กลับให้โทษแก่ผู้ใช้ฉันใด ปากก็ฉันนั้น แต่ในพระพุทธภาษิตนี้ โดยตรงไม่ได้ทรงสอนผู้พูด ทรงสอนเฉพาะผู้ฟังจำพวกเดียว คือฟังแล้วก็ให้อดทนไว้

โดยมากเป็นนักปฏิบัติแหละแต่อดทนไม่ค่อยจะได้ เพราะเข้าใจเสียว่า ถ้าอดทนแล้วก็นึกเกรงไปว่าหน่อยเขาจะหาว่ายอมแพ้ สู้ไม่ได้ ไม่มีปฏิภาณในการโต้ตอบเขา หรืออะไรเหล่านี้เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ได้ยินใครมาว่าร้ายติเตียนเพียงคำเดียว ถ้าตอบไปเพียงคำเดียวก็รู้สึกว่าไม่สมใจ ก็มักจะตอบไป ๒ คำ ๓ คำ ชนิดที่เรียกว่า มาหนึ่งไปห้า มาห้าไปสิบ เหล่านี้เป็นต้น จนถึงชนิดที่เรียกว่าก่อวิวาท คือกล่าวเกี่ยงแย่งทุ่มเถียงกัน บางคราวไม่มีอะไรมาก พอมีเรื่องกันขึ้นแล้ว ต่างคนก็ต่างเถียงกันจนเหงื่อแตกท่วมตัว บางคนถึงกับเป็นลม ต้องช่วยกันทำปฐมพยาบาลพัดวีให้ก็มี ด้วยอำนาจความโกรธที่เกิดขึ้นเพราะขาดความอดทน อาการที่ไม่อดทนนั้น ทำให้ข้อปฏิบัติอย่างอื่นเสียไปหมด ขอให้พิจารณาในทางปฏิบัติธรรม ในเวลาที่เราโกรธก็ดี กลัวก็ดี ข้อปฏิบัติอะไรที่เคยกำหนดจดจำไว้ได้กลับลืมไปหมด

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวสงครามที่แล้วมา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) ท่านผู้หนึ่งเป็นผู้ชำนาญในการไหว้พระสวดมนต์ เมื่อมีสัญญาณบอกอันตรายก็มักจะเข้าห้องพระ ไหว้พระเสียก่อนเสมอไป แต่วันหนึ่งไม่ทันได้เตรียมตัว ข้าศึกมาทิ้งระเบิดเสียก่อน ความที่ตกใจวิ่งไปลงหลุมหลบภัย และจะว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ก็ว่าไม่ถูก ว่าได้แต่เพียง นโม ตสฺส และกลับมา ตสฺส นโม กลับไปกลับมา ไม่สามารถจะว่าได้จบตลอดได้ นี่ด้วยอำนาจความกลัว ในเวลาโกรธก็เหมือนกัน อะไรที่เคยจำไว้ได้ลืมหมด ต่างว่าจะนั่งกัมมัฏฐานในเวลาโกรธ ต่อให้นั่งสักสามสี่ชั่วโมงก็หาความสงบใจไม่ได้

เพราะฉะนั้น ความอดทนจึงเป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรมทั่วไป แต่ว่าการอดทนนี้ควรเรียนคาถาที่กล่าวมาแล้วไว้ด้วย เมื่อได้ยินคำหยาบคาย ร้ายกาจ เสียดสีติเตียน ในทางที่จะทำให้ไม่สบายใจ ให้อดไว้ อย่าโต้ตอบให้เป็นเพียงบริกรรมคาถานั้นไว้ในใจ พร้อมทั้งรู้เนื้อความ ท่องคาถานี้ได้อยู่เสมอจนขึ้นใจทุกเวลาแล้ว ใครจะว่าร้ายอย่างไรก็คงได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เพราะต่อจาก ๗ วันไปเขาก็คงเบื่อไปเอง เพราะเราเป็นผู้อดทน ใครเลยจะคอยด่าว่าใส่ร้ายผู้อดทนอยู่ตั้ง ๗ วัน คงสงบได้ภายใน ๗ วันนั้นเอง

วิธีอดทนนั้นมี ๓ ลักษณะ เรียกว่า ขันติ แปลว่า ความอดทน คือ
๑. เรียกว่า ตีติกขาขันติ อดทนด้วยกลั้นไว้ ทนไว้
๒. เรียกว่า ตปขันติ อดทนจนเป็นตบะเดชะ
๓. เรียกว่า อธิวาสนขันติ อดทนจนยังคำที่ผูอื่นกล่าวไม่ดีนั้นให้อยู่เป็นเพื่อนเป็นมิตรกันได้ คือให้อยู่ทับ อย่างพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณีภาพ ก็ใช้คำว่า อธิวาสนะ แปลว่า ทรงยังคำนิมนต์ให้อยู่ทับ คือทรงรับคำอาราธนา

ประการที่ ๑ ตีติกขาขันติ อดกลั้น คือ อดด้วยการกลั้นไว้นั้น ข้อนี้ต้องอาศัยสติด้วย คือมีสติอยู่เสมอว่า เรามีเครื่องฟังคือหู คนอื่นเขามีปาก เสียงกับหูเป็นคู่กัน ถ้าเสียงไม่ดีก็ต้องทน มีสติบริกรรมอยู่อย่างนี้เสมอ เมื่อได้ยินเสียงไม่ดีก็ไม่นำความไม่ดีของเราเข้าไปต่อ ถ้านำเข้าไปต่อก็คล้ายๆกับนำน้ำโสโครกไปล้างสิ่งโสโครก หรือเหมือนใช้น้ำมันไปดับไฟ ท่านจึงสอนให้อดทน ทนไว้กลั้นไว้ จะโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ต้องอดต้องทนไว้ แม้จะรู้สึกว่ากรุ่นอยู่ในใจ แต่อย่าให้ไหลออกมาข้างนอก อย่าให้เสียสีหน้าหรือถึงมือถึงปากถึงส่วนอื่นของร่างกาย แต่ชนิดนี้เรียกว่ายังเจ็บใจ

เมื่อมีสติกำหนดพิจารณาอยู่อย่างนี้ และเพิ่มกำลังความอดทนให้มากยิ่งขึ้นไป เสียงไม่ดีมาเมื่อไรก็เพิ่มการพิจารณาให้สูงขึ้น ให้เห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา คนว่าก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เราก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ทั้งเราทั้งเขาในที่สุด ก็ตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่จะอยู่ค้ำฟ้าได้เมื่อไร เราถูกด่าก็ไม่ได้เสียเงินเสียทอง คนด่าก็ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น ต่างก็เท่าๆกัน เอเต อนิจฺจา เหล่านั้นไม่เที่ยง เมื่อเขาก็ไม่เที่ยง เราก็ไม่เที่ยง จะไปถือสาหาความอะไรกัน พิจารณาได้อย่างนี้ด้วยใช้ความพยายามอดกลั้นไว้ เรียกว่า ตีติกขาขันติ แต่อดทนไว้ด้วยการกลั้นไว้อย่างนี้ไม่ดีนัก เพราะถ้าเผลอสติแล้ว ก็มักจะล่วงเกินชนิดที่เรียกว่า เสียพิธีหรือเสียขันติ เพราะฉะนั้น จึงต้องขยับขยายการอดทนให้สูงขึ้นเป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๒ ตปขันติ ได้แก่ อดทนจนเป็นตบะ ตบะแปลว่าเครื่องเผาความชั่วให้เร่าร้อน การอดทนจนเป็นตบะนี้สำคัญมากขึ้นไป คนที่อยู่นิ่งๆคอยระวังวาจาโดยมากเป็นคนมีตบะทุกคน คนที่พูดมากจู้จี้ขี้บ่น ว่าคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ดุคนโน้นบ้างดุคนนี้บ้างมักเสียตบะ แม้จะดุไปว่าไป แต่ผู้อยู่ใต้ปกครองก็มักจะนึกว่าไม่เป็นไรดอก ท่านของเราปากท่านเสียแต่ใจดี ไม่ต้องกลัวท่านดอก ถ้าเป็นผู้ใหญ่มีผู้อยู่ใต้ปกครองมาก ผู้อยู่ใต้ปกครองก็มักจะเห็นไปว่าไม่เป็นไร นายของเราคือพระองค์หนึ่ง ปากท่านก็ว่าไปอย่างนั้นแหละ แต่ใจท่านดี ท่านไม่ทำอะไรใคร ฝ่ายคนที่มีความระวังเคร่งขรึม ไม่ค่อยจู้จี้กับใคร มักจะมีคนเกรงกลัว มีตบะอยู่ในตัว

ข้อความที่กล่าวมานี้ฉันใด ตปขันติ คือการอดทนจนเป็นตบะก็ฉันนั้น ผู้ใดอดทนได้ด้วยลักษณะนี้ ผู้นั้นก็มีตบะ แต่ก็ต้องอดทนด้วยมีปัญญาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง เช่นมีเรื่องอะไรมาปรากฏ กล่าวโดยเฉพาะก็คือคำหยาบคายจากผู้อื่น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว การถือเราถือเขาก็ไม่มี ชนิดนี้เรียกว่า ขันติ แผดเผาความชั่วให้แห้งหายไป หรือเผาความชั่วให้เหือดแห้งไป

คำว่า ตบะ นั้น ก็คือ ความเพียรเครื่องย่างกิเลส ใครจะมาว่าอย่างไร ใจก็ดีอยู่เสมอไม่เดือดร้อน เพราะมีปัญญากำกับไปด้วย เขาจะด่าว่าร้ายเสียดสีโดยประการใดๆ ก็พิจารณาเห็นตามเป็นจริง กิเลสเครื่องรับของเราเป็นต้นว่าความโกรธ ความแข่งดี ความที่รู้สึกว่าจะเอาชนะ เป็นต้น ก็เหือดแห้งไป เมื่อกิเลสเครื่องรับเหือดแห้งไป ใจก็เฉยได้ไม่โต้ตอบ นี้เรียกว่าตปขันติ แปลว่า อดทนจนเป็นตบะ หรือเป็นตบะเดชะ ใครอดทนได้อย่างนี้ ขันติตัวนี้ก็จัดว่าเป็นพระเดช คือเป็นเดชสำหรับจะให้กิเลสอื่นๆเกรงกลัวไม่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวังอยู่อีก เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยขันติอีกชนิดหนึ่ง คือ อธิวาสนขันติ

ประการที่ ๓ อธิวาสนขันติ แปลว่า ความอดทนจนยังเรื่องร้ายให้อยู่ทับอยู่ด้วยกัน คือทนจนเรื่องร้ายกลายเป็นดี เห็นว่าไม่มีส่วนร้าย อะไรมาก็รับได้หมด ยอมรับด้วยหน้าชื่นตาบาน เขาตำหนิติเตียนด่าว่าหยาบคายก็ยอมรับฟังได้ ยิ่งอยากจะได้ยินเสียด้วยซ้ำไป เพื่อต้องการจะให้เขาคุ้ยเขี่ยว่าเราเสียอะไรบ้าง เพราะความผิดของตัวเองมองไม่เห็น ได้ผู้ช่วยเหลือคอยแคะได้คุ้ยเขี่ยควรขอบใจ เมื่อมีเสียงไม่ดีเป็นคำตำหนิติเตียนเสียดสี ก็รีบยกขึ้นพิจารณาตัวเอง อย่าพิจารณาผู้อื่น เหมือนถูกยิงด้วยศรด้วยปืน รีบนำลูกศรลูกปืนออก โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครเป็นผู้ยิง

ฉะนั้น เขาว่าเราไม่ดี เราเป็นคนชั่ว ก็รีบพิจารณาตัวในทันทีว่า ชั่วจริงอย่างเขาว่าหรือไม่ ถ้าชั่วจริงอย่าเข้าข้างตัว ต้องนำคำว่านั้นมาเป็นครูสอนใจ แล้วแก้ความชั่วของเราให้หายไป เป็นอันได้คำด่าว่านั้นเองเป็นครู ถ้าพิจารณาโดยรอบคอบแล้วยังไม่เห็นช่องผิด ก็คิดเสียว่าเมื่อเราไม่ผิดเสียแล้ว นั่นก็เป็นความเข้าใจผิดของเขา โทษกันไม่ได้ ปุถุชนย่อมมีความเข้าใจผิดได้ทุกคน เมื่อเสียงไม่ดีมากระทบโสตประสาทของเรา คุ้นกันไปหมดจนเป็นมิตรสนิทสนมอย่างนี้ ไม่เป็นข้าศึกศัตรูกันแล้ว เขาว่ามาอย่างไรก็ดีทั้งนั้น

อย่างพระปุณณมันตานี ท่านทูลตอบพระบรมศาสดาว่า ถ้าเขาด่าก็นึกว่าดีกว่าเขาตี ถ้าเขาตีก็นึกว่าดีกว่าเขาทำให้เสียมือเสียขา ถ้าเขาทำให้เสียมือเสียขา ก็จะนึกว่ายังดีที่เขายังไว้ชีวิต ไม่ฆ่าให้ตาย ถ้าเขาฆ่าให้ตายก็จะนึกว่าดีเหมือนกันไม่ต้องลำบาก เมื่อเห็นว่าดีไปเสียหมดแล้วใจก็สบาย การอดทนจนใจสบายนี้แหละเป็นอธิวาสนขันติ อธิวาสนขันติจึงเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ ดังบรรยายมาฉะนี้

วิธีอดทนต่อคำหยาบคายที่ผู้อื่นว่าร้าย ๓ ลักษณะดังกล่าวมา ในเบื้องต้นท่านสาธุชนต้องแต่งจิต อย่าให้มีโทสะประทุษร้าย ข้อนี้เป็นประการสำคัญ ต้องคอยระวังอยู่เสมอ ถ้าจิตมีโทสะแล้วขันติก็อยู่ไม่ได้ เพราะขันติกับโทสะเป็นข้าศึกกัน ขันติเป็นส่วนคุณธรรม โทสะเป็นส่วนบาปธรรม จึงต้องพิจารณาที่ใจ อย่าให้โทสะประทุษร้ายใจ ทำใจให้สบายๆ เพราะ

ทุฏฺโฐ อตฺถํ น ชานาติ ทุฏฺโฐ ธมฺมํ น ปสฺสติ
คนอันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม
อนฺธตมํ ตทา โหติยํ โทโส สหเต นรํ
เมื่อใดโทสะครอบงำนรชน เมื่อนั้นต้องมืดอกมืดใจ ไม่เห็นคุณความดี

ท่านสาธุชนจึงควรกำหนดพิจารณาพระพุทธภาษิตดังกล่าวมา และข้อสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ คาถาที่ควรใส่ใจดังกล่าวมาแล้วนั้น นึกเป็นเครื่องเตือนใจว่า นี่เป็นพุทธโอสถหรือเป็นพุทธมนต์ ได้ยินใครพูดเสียดสีไม่ดีก็อย่าโต้ตอบ บริกรรมคาถานี้สอนใจ ทำใจให้ปราศจากโทสะ พยาบาท และตั้งขันติ ๓ ชนิดนั้นไว้เป็นคุณธรรมประจำใจ ทำได้อย่างนี้จักเป็นผู้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งในบัดนี้และต่อไปภายหน้า ทั้งจักเป็นอุปการะแก่การปฏิบัติชั้นสูงยิ่งๆขึ้นไป จนถึงได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอวสาน โดยเทศนาบรรหารดังได้บรรยายมา ด้วยประการฉะนี้

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น