xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ชัยชนะ....จักเกิดด้วยทานบารมี (ตอน ๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิบายบทพุทธชยมงคลคาถา บทที่ ๑ ในพระนิพนธ์เรื่อง พุทธชยมงคลคาถาบรรยาย ดังนี้

พุทธชยมงคลคาถาที่ ๑ ที่เรียกสั้นว่า ถวายพรพระ คาถาที่ ๑ ว่า

พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.


ซึ่งมีคำแปลว่า พาหุํ แขน สหสฺสม ตั้งพัน อภินิมฺมิต ที่นิรมิตขึ้นแล้ว สาวุธนฺ พร้อมกับอาวุธ ตํ นั้น คฺรีเมขลํ ขี่ช้างพลายชื่อครีเมขละ อุทิตโฆระ มีเสียงดังกึกก้อง สเสนมารํ มารพร้อมทั้งเสนา ซึ่งมีคำแปลรวมกันว่า มารพร้อมทั้งเสนา นิรมิตแขนตั้งพันแขนพร้อมทั้งอาวุธ ขี่ช้างครีเมขละส่งเสียงกึกก้องนั้น

มุนินฺโท พระจอมมุนี คือพระพุทธเจ้า ชิตวา ทรงชนะแล้ว ทานาทิธมฺมวิธินา ด้วยธรรมวิธี คือวิธีแห่งธรรมมีทานเป็นต้น

ตนฺเตชสา ด้วยเดชแห่งพระจอมมุนีผู้ทรงชนะมารนั้น ภวตุ จงมี เต แก่ท่าน ชยมงฺคลานิ ชัยมงคลทั้งหลาย แปลรวมกันว่า ด้วยเดชแห่งพระจอมมุนีพุทธเจ้า ผู้ทรงชนะมารนั้น ชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน

บทนี้เป็นบทที่ ๑ ซึ่งอ้างพระพุทธเจ้าทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนา มาประสิทธิ์ประสาทชัยมงคลทั้งหลายให้เกิดมี เรื่องพระพุทธเจ้าทรงชนะมารนี้ ได้มีแสดงไว้ในพุทธประวัติโดยบุคคลาธิษฐาน คือยกขึ้นให้เป็นบุคคล ว่า

ในวันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้น ตอนบ่ายได้ทรงพบกับนายโสตถิยะซึ่งได้ถวายฟ่อนหญ้าคาหรือหญ้ากุสะ (ที่แปลกันว่าหญ้าคา แต่ว่าหญ้ากุสะนี้ก็ยังมีปัญหาเหมือนกันว่า จะแปลว่าหญ้าคาจริงหรือไม่) นายโสตถิยะได้ถวายหญ้ากุสะแก่พระโพธิสัตว์ (คำนี้เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้) ในวันนั้น และพระองค์ก็ได้ทรงนำไปที่โคนต้นอัสสัตถะ (ที่ภายหลังมาเรียกกันว่าต้นโพธิ์) ได้ทรงวางหญ้าลง โดยวิธีที่ทรงเอาโคนหญ้าลง เอาปลายหญ้าขึ้นสุมทับกันขึ้นไป ฟ่อนหญ้าที่ทรงวางนี้มีสัณฐานเหมือนดอกบัว และได้ทรงวางฟ่อนหญ้าทั้งหมดนี้ที่โคนต้นอัสสัตถะทางด้านตะวันออก

ครั้นทรงวางหญ้าสำหรับที่จะประทับนั่งเสร็จแล้ว ก่อนที่จะประทับนั่ง ได้ทรงตั้งพระปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า เลือดเนื้อในสรีระทั้งสิ้นนี้จะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกเท่านั้นก็ตามที เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี้ ดั่งนี้

การที่ทรงตั้งพระปณิธานดั่งนี้ จึงเรียกว่า จาตุรงคมหาปธานะ หรือ จาตุรงคมหาปธาน การตั้งความเพียรครั้งใหญ่ อันประกอบด้วยองค์ ๔ องค์ ๔ นั้นก็คือ เลือดเนื้อ นับเป็นองค์อันหนึ่ง หนัง เป็นองค์อันหนึ่ง เอ็น เป็นองค์อันหนึ่ง กระดูก เป็นองค์อันหนึ่ง คือที่ทรงอ้างว่า ถึงแม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปหมด เหลือแต่หนังเอ็นกระดูกก็ตามที จึงรวมเรียกว่า จาตุรงคมหาปธาน อันแสดงถึงความเพียรแน่วแน่

และเมื่อได้ประทับนั่งก็ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต ในขณะนั้นเป็นเวลาก่อนพระอาทิตย์ตก

พญามารที่แสดงว่าเป็นเทวบุตรซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ อันเรียกว่า ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นหัวหน้าก๊กหนึ่งซึ่งสถิตบนสวรรค์ชั้นที่ ๖ นั้น มีชื่อว่า วสวัตตี

ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ นั้น แสดงว่ามี ๒ ก๊ก ก๊กที่เป็นสัมมาทิฏฐิก๊กหนึ่ง และก๊กที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก๊กหนึ่ง คือก๊กพญามาร ซึ่งมีพญามารชื่อวสวัตตีนี้เป็นหัวหน้า และเทวบุตรก๊กนี้ได้ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเป็นผู้ที่ขัดขวางท่านผู้บำเพ็ญเพียร เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย โดยที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นเทพ หรือเป็นจำพวกใดจำพวกหนึ่ง เมื่อยังมีกิเลส ยังไม่สิ้นกิเลส ก็ย่อมอยู่ในอำนาจของพญามารหรือของมาร แต่เมื่อสิ้นกิเลสก็พ้นจากอำนาจของมาร

เพราะฉะนั้น วัสวัตตีมารนี้จึงต้องการที่จะปราบปรามพระโพธิสัตว์ มิให้บรรลุความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้ เพราะเมื่อพระองค์ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะพ้นอำนาจของตัวไป และก็จะสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอีกเป็นอันมากให้พ้นจากอำนาจของตน จึงได้ระดมเสนามารทั้งหลายมาผจญพระพุทธเจ้าด้วยวิธีต่างๆ คือมาแสดงการขัดขวางที่จะให้พระโพธิสัตว์ทรงลุกหนีไปเสียจากที่ประทับนั้น เป็นต้นว่า แสดงให้เกิดพายุต่างๆ แสดงให้เกิดฝนต่างๆ แสดงให้ปรากฏเป็นอาวุธต่างๆ เหมือนอย่างมาตกต้องพระองค์

แต่ว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรงระลึกถึงพระบารมีทั้ง ๑๐ ที่ได้ทรงบำเพ็ญ และก็อาจจำแนกออกเป็น ๓๐ คือเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ก็เป็น ๓๐ เพราะได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวงนี้มาอย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระหฤทัยมั่นคงไม่หวาดกลัวต่ออำนาจของมารที่มาแสดงต่างๆนั้น เพราะฉะนั้น บรรดาพายุบ้าง ฝนบ้าง สิ่งต่างๆบ้าง ที่พญามารมาแสดงเพื่อที่จะให้พระองค์ทรงเลิกความเพียร จึงได้มาปรากฏเป็นเครื่องสักการบูชาต่างๆ

และพญามารก็ได้แสดงวาจาขับไล่ให้พระองค์ลุกหนีออกไปเสีย โดยแสดงว่าบัลลังก์ที่ประทับนั้น ควรเป็นของพญามาร เพราะพญามารก็ได้บำเพ็ญบารมีต่างๆมามาก มีทานเป็นต้น และก็อ้างพวกเสนามารทั้งหลายเป็นพยาน

พระโพธิสัตว์เองก็ได้ทรงระลึกถึงพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเองอย่างแท้จริง และในเมื่อพญามารอ้างเอาพวกเสนาของตนเป็นพยาน พวกเสนาเหล่านั้นก็ร้องสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกันว่า พญามารได้ทำทานเป็นต้นมาจริง แต่พระโพธิสัตว์ไม่มีเสนาหรือไม่มีใครอื่นมาเป็นพยาน จึงได้ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาชี้ลงไปที่พระแม่ธรณี และทรงอ้างเอาพระแม่ธรณีเป็นพยาน โดยที่ได้ทรงบำเพ็ญทานต่างๆมาเป็นอันมาก ทรงบริจาคชีวิตเป็นทานมาก็มากครั้ง ทรงบริจาคอวัยวะเป็นทานมาก็มากครั้ง ทรงบริจาคบุตรภริยาเป็นทานมาก็มากครั้ง ทรงบริจาคทรัพย์ต่างๆ เป็นทานมาก็มากครั้ง

และในการบำเพ็ญทานเหล่านี้ ก็ได้ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนพื้นดิน เพราะมีธรรมเนียมการแสดงการให้ทาน คือเทลงบนแผ่นดิน และการเทน้ำลงบนแผ่นดินนี้ก็ใช้สำหรับการให้ของที่ใหญ่อันไม่อาจจะยกให้ได้ หรือให้สิ่งที่อันไม่พึงจะยกให้ด้วยมือ ก็เทน้ำลงไปบนแผ่นดิน อย่างที่มีแสดงไว้ว่า พระเวสสันดรพระราชทานช้างแก่พราหมณ์ที่มาขอ ก็ทรงหลั่งน้ำลงจากพระเต้าทักษิโณทก เทลงไปบนแผ่นดินเป็นการแสดงว่าให้

เพราะฉะนั้น น้ำที่ทรงเทลงแผ่นดิน อันแสดงว่าได้บริจาคทานนี้มากมาย ซึ่งโดยบุคคลาธิษฐานก็เหมือนดังว่า ตกลงไปบนมวยผมของแม่พระธรณี เพราะฉะนั้น แม่พระธรณีนี้จึงเท่ากับเป็นพยานในการที่ทรงบริจาคทาน จึงได้มาปรากฏเป็นนางธรณีบิดมวยผม ก็คือมาบิดมวยผมที่ชุ่มด้วยน้ำ ซึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงเทลงไปบนบนแผ่นดินนั้น เป็นการทรงบริจาคทาน น้ำที่แม่ธรณีบิดมวยผมออกนี้ จึงเป็นทะเลใหญ่ท่วมพญามารพร้อมทั้งเสนา ช้างครีเมขละของพญามารก็ฟุบเท้าหน้าทั้งสองลง เป็นการถวายนมัสการพระพุทธเจ้า พญามารพร้อมทั้งเสนาก็แตกพ่ายไป ถูกน้ำพัดพาไปหมดสิ้น จึงได้ทรงชนะมาร ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตก

เมื่อทรงชนะมารนั้นก็พอดีเป็นเวลาพลบค่ำ จึงได้ทรงเริ่มบำเพ็ญความเพียรต่อไป และก็ทรงบรรลุญาณทั้งสามโดยลำดับ....จนได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

....พญามารตอนที่จะล่ากองทัพไป ก็ได้กล่าววาจานมัสการพระโพธิสัตว์ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนั้น และท่านแสดงว่า ด้วยอานิสงส์แห่งการที่พญามารได้มีความสำนึกนมัสการ และกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนที่ตรัสรู้ในวันนั้น จะเป็นกุศลนำให้พญามารจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตต่อไป ท่านก็มีแสดงไว้อย่างนี้ นี้แสดงโดยบุคคลาธิษฐาน

ส่วนโดยธรรมาธิษฐานนั้น ท่านก็ถอดความมาเป็นพระพุทธเจ้า ทรงชนะกิเลสทั้งหลาย ที่บังเกิดกลุ้มรุมจิตในขณะนั้น ทรงชนะกิเลสทั้งหมด สงบกิเลสทั้งหมดได้ จึงได้ทรงบำเพ็ญความเพียรทางจิตต่อไปจนได้ตรัสรู้ และก็ได้อ้างเอาพระพุทธเจ้าทรงชนะมาร ตามคาถาที่ผูกขึ้นนี้มาเป็นสัจจวาจา อำนวยพรให้บังเกิดชัยมงคล

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น