xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๔๘) ภูเขาวงแหวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ขณะที่จิตตนครกำลังเจริญเต็มที่ ทั้งความคับขันเกี่ยวกับกองทัพใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็มีเต็มที่ด้วยเหมือนกัน แต่ต่างก็คุมเชิงกันอยู่ มีกระทบกระทั่งกันประปราย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ระมัดระวัง ยังไม่ก่อสงครามกันขึ้น ต่างพยายามที่จะเอาชนะใจของนครสามี ชาวจิตตนครส่วนใหญ่จึงมองไม่เห็นความตึงเครียดคับขัน มองเห็นแต่ความเจริญสมบูรณ์ต่างๆ และพากันรื่นเริงยินดีสนุกสนาน นครสามีก็ได้ออกมาร่วมความสนุกสนานรื่นเริงที่ตรงจุดรวมของทางสี่แพร่งของเมืองอยู่เนืองๆ

ในขณะที่พากันรื่นเริงบันเทิงใจอยู่นั้น น้อยคนจะได้สังเกตเห็นสิ่งที่แปลกปรากฏขึ้นในที่สุดลูกตา ห่างไกลจากจิตตนคร แต่สิ่งที่แปลกนี้เมื่อมองออกไปจากจิตตนคร จะพบโดยรอบทั้งสี่ทิศ มองดูคล้ายกับเป็นภูเขาใหญ่เห็นไกลลิบๆ แต่โผล่ขึ้นเป็นเทือกยาว วงรอบโอบจิตตนครไว้ทุกทิศ

แต่เดิมมามองไม่เห็นมีภูเขา เห็นเป็นที่ราบรอบไปหมด และเรียบไปไกลสุดลูกหูลูกตาทั่วทุกทิศเช่นเดียวกัน แต่ว่าบัดนี้ท้องฟ้าที่เคยมองเห็นโล่งๆ โดยรอบนั้น ได้เป็นที่ไม่โล่งเสียแล้ว ได้มีเทือกเขาโผล่ขึ้นมาโดยรอบแทน นับว่าเป็นนครที่แปลกประหลาดกว่านครอื่นๆในโลก

ทีแรกชาวจิตตนครก็มิได้สนใจ มัวแต่เพลิดเพลินในความเจริญสวยงามของจิตตนคร และตื่นเต้นในแสนยานุภาพของจิตตนครดังกล่าวด้วย และภูเขาวงแหวนรอบจิตตนครนั้น ก็ปรากฏอยู่ห่างมากเหลือเกิน มองเห็นอยู่ลิบๆสุดลูกตา ทั้งก็ดูตํ่าเตี้ยนิดเดียว มองเห็นเขียวๆ เป็นวงล้อมเมืองอยู่แสนไกล ทำให้ตื่นเต้นว่าจะเป็นวงรัศมีของจิตตนคร เหมือนอย่างรัศมีของพระจันทร์เมื่อทรงกลด ซึ่งทุกคนคงเคยเห็นว่า มีรัศมีเป็นวงล้อมดวงอย่างสวยงาม

ชาวจิตตนครจึงได้เกิดสนใจพากันดู ทีแรกก็สงสัยว่าเป็นอะไร และปรากฏขึ้นมาอย่างไร แต่เมื่อคิดว่าวงแหวนล้อมเมืองอันมหึมานี้ที่จะเป็นวงรัศมีของเมือง แสดงว่าบุญวาสนาของเมืองได้เจริญถึงขีดสูงสุด จึงเกิดมีรัศมีเป็นวงล้อมอย่าง
พระจันทร์ทรงกลด ก็ยิ่งยินดีปรีดาพากันชมเมืองและตนเอง ว่าเป็นที่หนึ่งในโลก

ครั้นนานวันเข้า สิ่งที่มองเห็นเป็นวงรัศมีสีเขียวคล้ายมรกต ที่ล้อมเมืองอยู่โดยรอบไกลลิบนั้น ดูเหมือนเลื่อนใกล้จิตตนครเข้ามาโดยรอบ และดูจะค่อยๆสูงขึ้น ทั้งค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้นว่า เป็นภูเขาหินล้วนจริงๆ วงล้อมจิตตนครอยู่โดยรอบ มิใช่เป็นวงรัศมีของพระจันทร์

ภูเขาวงนี้ก็เป็นสิ่งแปลกประหลาดที่สุดอีกเหมือนกัน เพราะว่าเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ คล้ายกับสัตว์บุคคล ต่างแต่ค่อยๆเคลื่อนเข้ามา เหมือนอย่างกระชับวงล้อมให้ใกล้แคบเข้าทุกที ยิ่งใกล้ก็ยิ่งสูงเงื้อมงํ้าชัดเจนขึ้น

จิตตนครได้กลายเป็นเมืองที่มีภูเขามหึมาค่อยๆกลิ้งเข้ามาหาทั้งสี่ทิศโดยรอบ

ความแปลกประหลาดเหลือเชื่อ มีอยู่ไม่เพียงแต่ในจิตตนครเท่านั้น ในชีวิตของเราทุกคนก็มีอยู่ ได้พบอยู่ แต่ผู้ไม่บริหารจิตจักไม่เข้าใจ ผู้บริหารจิตเท่านั้นที่จักเข้าใจ เพราะผู้บริหารจิตคือผู้มุ่งอบรมปัญญาให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ย่อมจักเข้าใจแม้สิ่งแปลกประหลาดที่สุดได้ตามควรแก่ความปฏิบัติ สามารถพาตนหลีกพ้นภัยของสิ่งแปลกประหลาดนั้นได้ และสามารถถือเอาประโยชน์จากสิ่งแปลกประหลาดได้ด้วย

เริ่มอาการแปรปรวนในจิตตนคร

ในจิตตนครเอง ก็เริ่มมีอาการแปรปรวนบางอย่างเกิดขึ้นผิดแปลกไปกว่าแต่ก่อน เริ่มแต่ถนนสายสำคัญสี่สายของเมืองเริ่มชำรุด ไม่ราบเรียบเหมือนแต่แรก เพราะเหตุแห่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คือ แผ่นดินได้ทรุดลงบางแห่ง นํ้าหลากมาท่วมในบางคราว เกิดไฟไหม้ป่ามาบ้าง มีพายุใหญ่เกิดขึ้นบ้าง บางทีก็เพราะชาวจิตตนครก่อเหตุขึ้นเอง เช่น ขุดก่นดิน เผาป่า หรือวางเพลิง เป็นต้น ด้วยเหตุที่ไปนิยมเชื่อฟังสมุนร้ายของสมุทัยทั้งหลาย ระบบสื่อสารทั้งชั้นนอกชั้นในก็เริ่มเชื่องช้าลง ไม่ว่องไวรวดเร็วเหมือนแต่แรก

หัวหน้าระบบสื่อสารชั้นนอก คือหัวหน้าระบบตาเมืองชื่อว่าจักขุปสาท ก็มีสายตามัวเข้า หัวหน้าระบบหูเมือง ชื่อโสตปสาท ก็มีหูตึงเข้า หัวหน้าระบบจมูกเมือง ก็มีจมูกชาเข้า หัวหน้าระบบลิ้นเมือง ก็มีลิ้นจืดชืดเข้า หัวหน้าระบบกายเมือง ก็มีกายอ่อนเพลียเข้า หัวหน้าใหญ่ระบบสื่อสารทั้งหมดชื่อว่ามโนหรือสมอง ก็ชักจะมึนงงบ่อยเข้า เป็นเหตุให้นครสามีเกิดความไม่สะดวกขัดข้องไปด้วย จึงต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์จิตตนครกันอยู่เนืองๆ เช่น ต้องบูรณะถนนสำคัญทั้งสี่สาย ต้องถมส่วนที่ทรุดลง ต้องทำเขื่อนกันนํ้าท่วม หรือสำหรับกั้นนํ้า หรือเพื่อใช้นํ้าหมุนให้เกิดพลังไฟฟ้า ต้องทำกังหันลมใหญ่ให้เกิดลมเย็น เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังต้องบูรณะระบบสื่อสารทั้งหลายให้คงดี พร้อมทั้งรักษาหัวหน้าทั้งหลายให้หายจากอาการผิดปกติต่างๆ

แต่ความแปรปรวนชำรุดในจิตตนครนี้ บางอย่างก็บูรณะได้ บางอย่างก็บูรณะให้คืนดีเหมือนอย่างเดิมไม่ได้ เช่นความเก่า สิ่งที่เก่าลงไปจะทำให้กลับใหม่ขึ้นอีกหาได้ไม่ ความแก่เก่านี้ชาวจิตตนครเรียกว่า “ความแก่” หรือ “ชรา” พากันไม่ชอบ แต่บางคนก็ยอมปล่อยแก่ ส่วนมากไม่ยอม คือจะต้องต่อสู้กับความแก่อย่างสุดกำลัง เครื่องต่อสู้มีต่างๆ เช่นเครื่องย้อมเครื่องทาเครื่องตกแต่งต่างๆ เพื่อที่จะอำพรางทำให้เห็นว่าเป็นของใหม่

สมุทัยสนับสนุนการต่อสู้นี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้จิตตนครดำรงความงดงามเรียบร้อย แม้จะปรากฏอาการแปรปรวนชำรุดขึ้นแล้ว ก็ให้ซ่อนอยู่ในภายใน มิให้ปรากฏออกไปภายนอก เมื่อความงดงามปรากฏแก่ตาเมือง และความสมบูรณ์อื่นๆ
ปรากฏอยู่แก่หูเมือง เป็นต้น ระบบสื่อสารเหล่านี้ก็ส่งเข้าไปยังมโน และถึงนครสามี ทำให้นครสามีเข้าใจว่า ทุกๆอย่างยังคงงดงามเรียบร้อยสมบูรณ์ แม้ว่านครสามีจะรู้ว่าเป็นการอำพราง แต่ก็อยากจะเข้าใจ อยากจะเห็น จะฟัง จะคิด ว่างามว่าสมบูรณ์ จึงพอใจที่จะถูกอำพราง ทั้งๆที่รู้ เพราะก็สบายตาสบายใจดีเหมือนกัน

สามัญชนทั่วไปก็มิได้ผิดจากนครสามี คือยังยินดีที่จะเห็นทุกอย่างงดงามเรียบร้อยบริบูรณ์เสมอไป ไม่อยากเห็นความชำรุดทรุดโทรม หรือที่เรียกว่า “ความแก่” เกิดแก่ตน เกิดแก่ผู้เป็นที่รักของตน จึงพยายามดิ้นรนต่อต้านอยู่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ นี้เป็นไปตามวิสัยของปุถุชนหรือสามัญชน

แต่แม้จะยังยินดีพอใจในความงดงามเรียบร้อยอยู่เป็นอันมาก บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายก็ยังไม่ประสงค์จะหลงติดอยู่ในความงดงามจนเกินไป ยังปรารถนาที่จะมีสติปัญญารู้เท่าทันความจริงที่ว่า ทุกคนมีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ สติปัญญารู้ตามความจริงดังกล่าวจะเกิดได้แน่นอนแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ตามควรแก่ความปฏิบัติ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น