xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ทางแห่งความสวัสดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในสังคมปัจจุบันนี้ เมื่อคนเราพบหน้ากันก็นิยมทักทายให้พรกันว่า “สวัสดี” ผู้รับก็ตอบว่า “สวัสดี” คำว่าสวัสดีมาจากศัพท์สันสกฤตว่า “สวสฺติ” ภาษามคธใช้ศัพท์ “โสตฺถิ” แปลอย่างเดียวกันว่า สวัสดี

สวัสดี แปลเป็นไทยว่า ความรุ่งเรือง หรือ ความเจริญ ดังนั้น คำทักทายกันและกันว่า “สวัสดี” จึงหมายถึงคำให้พรกันและกัน แต่ความสวัสดีหรือความเจริญความรุ่งเรืองนั้น ไม่ใช่สำเร็จได้ด้วยการให้พรกันและกัน พระพุทธศาสนาท่านแสดงว่าผลดีหรือผลชั่ว ย่อมมาจากเหตุคือกรรม ความกระทำด้วยตนเอง เมื่อทำกรรมอย่างใดแล้วย่อมมีวิบาก คือผลที่คนผู้นั้นจะต้องได้รับ มิใช่แทนหรือรับผลแทนกันได้

ดังนั้น ความเจริญความรุ่งเรืองซึ่งมาจากศัพท์ว่า “โสตฺถิ” ในภาษามคธ หรือ “สวสฺติ” ในภาษาสันสกฤต จึงเป็นความสวัสดีที่เกิดจากการประพฤติธรรมะ อันเป็นต้นเหตุให้เกิดความสวัสดี เมื่อคนประพฤติธรรมแล้ว ย่อมหายหวาด หายกลัว หายสะดุ้งตกใจ หายทุกข์ใจ ที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน และจะต้องประสบในภพหน้าโลกหน้า

ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอบแก่สุพรหมเทพบุตร อันมีที่มาในอรรถกถา สารัตถปกาสินี ใจความย่อว่า เทพบุตรตนหนึ่งชื่อ สุพรหม ส่องทิพยญาณเห็นนางเทพอัปสรผู้บริวารของตน จุติจากเทวพิภพแล้วไปบังเกิดในนิรยาบาย ก็เกิดความทุรนทุราย ความโศกเศร้าอาลัยถึง แล้วจึงหวนคำนึงพิจารณาดูสังขารอายุแห่งตน ก็ทราบว่าอีก ๗ วัน ตนก็จะต้องจุติจากเทวพิภพ พร้อมด้วยนางเทพอัปสรที่เหลืออยู่แล้ว ไปบังเกิดในนิรยาบายเช่นเดียวกัน ก็กลับทวีความทุรนทุรายหวาดหวั่นทุกข์ใจยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในเทวโลก ที่จะสามารถระงับด้วยความทุกข์ทุรนทุรายของตนได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้อันตรธานหายไปจากเทวโลก มาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษยโลก ณ พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ กราบทูลวิงวอนด้วยคำเป็นคาถา แปลความว่า

“จิตใจของข้าพระองค์มีความสะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งในทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่ในบัดนี้ ทั้งในทุกข์ที่จะบังเกิดขึ้นข้างหน้า ถ้ามีวิถีทางใดซึ่งไม่ทุกข์ ไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวแล้ว ขอพระองค์จงทรงพระมหากรุณาตรัสบอกทางนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด”

เมื่อสุพรหมเทพบุตรกราบทูลถามเช่นนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสตอบชี้ทางอันไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวว่า

นาญฺญตฺร โพชฺฌงฺคตปสานาญฺญตร อินฺทริยสํวรา
นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคาโสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ


แปลความว่า “เราไม่เห็นความสวัสดีของเหล่าสัตว์มีชีวิต นอกจากโพชฌงค์ คือธรรมะเป็นองค์แห่งความรู้ ๑ นอกจากตปะ คือความเพียรเผาบาป ๑ นอกจากอินทรียสังวระ ความสำรวมอินทรีย์ ๑ นอกจากสัพพนิสสัคคะ คือความสละคืนหรือส่งคืนซึ่งความยิดถือทั้งปวง ๑ พระคาถานี้มีชื่อว่า “ทางแห่งความสวัสดี”

ทรงยกธรรมะ ๔ ประการว่าล้วนเป็นทางแห่งความสวัสดีแต่ละประการ และเมื่อบำเพ็ญให้เกิดมีเป็นธรรมสมังคีหรือธรรมสามัคคี พร้อมเรียงกันดีแล้ว ก็ทำให้ถึงความสวัสดีในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ หายสะดุ้ง หายหวาดกลัว หายทุกข์ ทั้งที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่จะต้องประสบในชาติหน้าภพหน้า เพราะเมื่อใจสุขสบายดีแล้ว ก็หายทุกข์ หายหวาดกลัวในที่ทั้งปวง ในเรื่องทั้งหมด

ก็คนที่กลัวจนก็ทำให้เกิดทุกข์ใจในความขาดแคลน คนกลัวความไม่สำเร็จในการงานก็ทำให้เกิดทุกข์ใจในความไม่สามารถแห่งตน คนกลัวคำนินทาว่าร้ายก็ทำให้เกิดทุกข์ใจถึงการเสียชื่อเสียงวงศ์สกุล คนกลัวแก่หรือกลัวเจ็บไข้ไม่สบายก็ทำให้เกิดทุกข์ใจในความเสื่อมโทรมแห่งร่างกาย คนกลัวตายก็ทำให้เกิดทุกข์ใจถึงการพลัดพรากที่ไม่มีเวลากลับ หรือทุกข์เพราะการที่จะต้องไปเกิดในนิรยาบาย ดังสุพรหมเทพบุตรในเรื่องนี้

ความกลัวต่างๆล้วนมีมูลมาจากความอยากได้ อยากเป็น อยากเปลี่ยน หรืออยากไม่เป็น ซึ่งเรียกโดยศัพท์ว่า “ตัณหา” เช่น อยากมั่งมี อยากร่ำรวย จึงกลัวยากจน กลัวขาดแคลน อยากเป็นผู้สามารถในการงาน จึงกลัวความไม่สำเร็จในกิจการ อยากได้ความสรรเสริญเยินยอ จึงกลัวถูกนินทาว่าร้าย อยากหนุ่ม อยากสาว จึงกลัวแก่ อยากสุขสบาย จึงกลัวเจ็บไข้ไม่สบาย อยากมีอายุยืน จึงกลัวตาย ดังนี้เป็นต้น

การที่จะหมดกลัว ก็ต้องหมดความอยาก เพราะความอยากเป็นต้นเหตุให้เกิดความกลัวดังกล่าวมา มติทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า “เมื่อเหตุมี ผลก็มี เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับ” ทุกข์ต่างๆดังกล่าวแล้วข้างตน ล้วนเป็นผลเกิดจากเหตุ คือ ตัณหา ความอยาก เมื่อยังมีตัณหา ความอยาก ทุกข์ก็มี ความกลัวก็มี เมื่อตัณหาดับทุกข์ก็ดับเช่นกัน เหมือนต้นไม้เมื่อรากขาดเสียแล้ว ผลและดอกก็มีต่อไปไม่ได้ แม้แต่ลำต้นก็จะเฉาทรุดโทรมตายไปเหมือนตัณหาไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี ความสะดุ้งความหวาดกลัวก็ไม่มี ฉะนั้น

ความสะดุ้ง ความหวาดกลัวทั้งหลาย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจมีประการต่างๆ จะดับทุกข์ใจเหล่านั้นได้ ก็ต้องมาเจริญธรรมะ ประพฤติธรรมะ รวม ๔ ประการ คือ โพชฌงค์ ๑ ตปะ ๑ อินทรียสังวระ ๑ สัพพนิสสัคคะ ๑ ตามนัยพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอบแก่สุพรหมเทพบุตรนั้น

ก็คำว่า “โพชฌงค์” นั้นแปลว่า ธรรมะเป็นองค์แห่งความรู้ ก็ได้ หรือธรรมเป็นองค์แห่งญาณเครื่องให้ถึงความตรัสรู้ ก็ได้ มีประเภทถึง ๗ ประการ คือ

๑. สติ ระลึกรู้ตัว เช่น ระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หรือควรจะทำอย่างไรต่อไป หรือได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
๒. ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม คือพิจารณาเลือกว่า ชนิดไหนควรหลีกควรละ ชนิดไหนควรประกอบกระทำให้เกิด ให้มี หรือเจริญให้มาก ให้บริบูรณ์
๓. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความกล้าทำในสิ่งที่ได้พิจารณาเลือกแล้วนั้น ด้วยความหมั่น ความอดทน พยายาม ไม่เกียจคร้าน
๔. ปีติ ความอิ่มใจ ได้แก่ ความอิ่มเอิบในการงานที่ทำสำเร็จแล้วนั้นๆ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบระงับ ได้แก่ ความสงบใจระงับความอิ่มเอิบที่ได้รู้จักแล้วว่า อะไรเป็นอะไร ไม่ยินดีตื่นเต้น
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ได้แก่ ใจที่มีความมั่นคง แน่วแน่อยู่ในกิจที่ทำนั้น ไม่โลเลจับจด ไม่วอกแวกส่งไปสู่ที่อื่น
๗. อุเบกขา ความวางเฉย ได้แก่ ความเพ่งดู คือใจจ้องดูที่สมาธิ หรือดูความเกิดดับ ความเป็นไปของจิตในสมาธินั้นให้เฉยอยู่ ไม่เอนเอียงไปข้างยินดียินร้าย

รวมเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ เมื่อกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านเรียกว่า “อังคะ” หรือองค์ เหมือนอวัยวะต่างๆที่รวมกันเข้าแล้วเรียกว่า องค์ หรือ ตัว หรือ กาย ฉะนั้น

ธรรมะที่รวมกันเป็นองค์นี้ทำให้เกิดโพชฌะ คือความตรัสรู้ โพชฌะ กับ อังคะ รวมกันจึงเป็นโพชฌังคะ แปลว่า ธรรมะอันเป็นองค์แห่งความตรัสรู้ หรือเป็นองค์แห่งญาณเครื่องให้ถึงความตรัสรู้ก็ได้ โพชฌังคะนี้เป็นธรรมฝ่ายปัญญา ท่านจึงจัดไว้ในจำพวก โพธิปักขิยธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมะเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ เมื่อจะสงเคราะห์เข้าในไตรสิกขา ก็อยู่ในตำแหน่งปัญญาสิกขา คือข้อปฏิบัติทางปัญญาหรือตัวปัญญานั่นเอง นี้เป็นอธิบายในคำว่า โพชฌงค์ ความสวัสดีข้อที่ ๑

ตปะ ความเพียรเผาบาป ข้อที่ ๒ นั้น หมายถึง ความพยายามทางใจที่จะไม่ให้บาปอกุศลทางใจ เช่น นิวรณ์ เป็นต้น เกิดขึ้นได้ ที่กำลังจะเกิดก็พยายามปราบปรามด้วยทมะอุบายให้หมดไปหายไป ที่ยังไม่เกิดก็ระวังไว้มิให้เกิด หรือที่เกิดแล้วก็ต้องกำจัดให้หมดไปหายไป แล้วระวังมิให้กลับเกิดขึ้นได้อีกต่อไป นี้เป็นลักษณะของตปะความเพียรเผาบาป เมื่อจะสงเคราะห์ด้วยไตรสิกขาก็จัดเข้าในจิตตสิกขา ซึ่งได้แก่ ตัวสมาธินั่นเอง

อินทรียสังวระ ทางแห่งความสวัสดี ข้อที่ ๓ นั้น ได้แก่ ความสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ดูอะไร ฟังอะไร ลิ้ม ดม ถูกต้องอะไร และคิดนึกอะไรๆจนเกิดอกุศลบาปธรรม มีอภิชฌา ความยินดี โทมนัส ความยินร้าย เป็นต้น การสำรวมระวังอินทรีย์นี้ตามนัยอรรถกถาท่านประสงค์อินทรียสังวรศีลในปาริสุทธิศีล ๔ เพราะฉะนั้น เมื่อจะสงเคราะห์ในไตรสิกขา ก็ต้องเป็นสีลสิกขา ข้อปฏิบัติทางศีลหรือตัวศีลนั่นเอง

สัพพนิสสัคคะ ข้อที่ ๔ นั้น แปลตามศัพท์ว่า ความสละคืนหรือส่งคืนซึ่งความยึดถือด้วยประการทั้งปวง เช่น ยึดถือพัสดุกามอย่างหมกมุ่นด้วยอำนาจกามตัณหาว่า นั่นของเรา นี่เป็นตัวเรา จนเป็นเหตุให้เกิดอิจฉาริษยา หรือหึงหวง ยึดถือความเห็นผิดด้วยอำนาจความดื้อรั้น จนเป็นเหตุให้เกิดทะเลาะวิวาท ทุ่มเถียงกัน ยึดถือความประพฤติที่เคยมาจนชิน ด้วยเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ จนเป็นเหตุให้งมงาย ยึดถือวาทะที่กล่าวว่าตัวตนด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุให้ถือเราถือเขา มีพวกเขาพวกเรา จนเป็นเหตุให้ถือก๊ก ถือพวก ถือชาติชั้นวรรณะ เป็นต้น

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้เสียทั้งหมด ชื่อว่าสละคืนหรือส่งคืนซึ่งความยึดถือทั้งปวง ก็สัพพนิสสัคคะข้อที่ ๔ นี้ ตามนัยอรรถกถาแสดงว่าเป็นตัวอริยมรรค ที่ทำพระนิพพานเป็นอารมณ์เป็นปัญญาความรู้ชั้นสูงสุด เมื่อเกิดขึ้นก็ฆ่ากิเลสที่ทำจิตให้สะดุ้งหวาดกลัว ต่อนั้นไปก็เป็นอริยผลคือธรรมารมณ์ที่เสวยกำไร อันมรรคนั้นได้ทำไว้

ท่านอุปมาความข้อนี้ไว้ว่าเหมือนการรักษาโรค ความสะดุ้ง ความหวาดกลัวเป็นดังตัวโรค อริยมรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย อริยผลได้แก่ความสุขสบายอันเกิดแต่การสิ้นโรค หรือหมดโรค

นัยเช่นนี้ ทำให้สันนิษฐานเห็นว่า เหตุสำคัญโดยตรงที่ทำให้เกิดความสามัคคี ก็อยู่ที่ตัวสัพพนิสสัคคะคือการปล่อยวาง ไม่เอาใจเข้าไปพัวพันยึดถืออะไรๆทั้งสิ้น ว่าเป็นจริงเป็นจังด้วยอำนาจกิเลส คือความอยาก ที่เรียกว่าตัณหาบ้าง ด้วยอำนาจความดื้อรั้นที่เรียกว่าทิฏฐิบ้าง ด้วยอำนาจความหลงงมงายเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโมหะบ้าง ด้วยอำนาจถือตัวถือตนที่เรียกว่ามานะบ้าง ธรรมะนอกจากนี้เป็นเพียงอุปการะเครื่องสนับสนุนให้สัพพนิสัคคะเกิดขึ้นเท่านั้น

อุปการธรรมเหล่านี้ก็คือ โพชฌงค์ ตปะ อินทรียสังวระ หรือ ปัญญา สมาธิ และศีล อันเป็นไตรสิกขานั่นแล แต่ที่ตรัสปัญญาสิกขา คือโพชฌงค์ไว้ข้อต้น ตรัสตปะ ตัวสมาธิไว้ท่ามกลาง ตรัสอินทรียสังวระ คือศีลไว้สุดท้าย ผิดลำดับกันนั้น ก็เหมือนตรัสอริยมรรค ๘ ก็ตรัสเรียงสัมมาทิฏฐิ ตัวปัญญาสิกขาไว้ข้อต้น เพราะในคาถานี้โพชฌงค์เป็นอาสันนเหตุที่ใกล้ชิด คือเป็นตัวการให้เกิดสัพพนิสสัคคะ ส่วนตปะและอินทรียสังวระเป็นตัวการให้เกิดโพชฌงค์อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียงปัญญาไว้ต้น อีกนัยหนึ่ง การที่ตรัสทวนลำดับเช่นนี้ น่าจะมีจำกัดว่าโพชฌงค์ที่ตรัสถึงนี้ ต้องเป็นโพชฌงค์ที่เกิดจากตปะ จะเกิดจากอื่นใช้ไม่ได้ ตปะเล่าก็ต้องเป็นตปะที่เกิดจากอินทรียสังวระ จะเกิดจากอื่นก็ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุปความตามนัยพระพุทธดำรัส ที่ตรัสตอบแก่สุพรหมเทพบุตรในพระคาถานี้ มีธรรมะ ๔ ข้อ คือ โพชฌงค์ ๑ ตปะ ๑ อินทรียสังวระ ๑ สัพพนิสสัคคะ ๑ แต่เมื่อย่นกล่าวแล้วก็ตรัสไตรสิกขากับสัพพนิสสัคคะเพียง ๒ ข้อเท่านั้น คือ เหตุ ๑ ผล ๑ ไตรสิกขาเป็ นตัวเหตุ สัพพนิสสัคคะเป็นตัวผล หรือเมื่อกล่าวโดยใจความก็ทรงมุ่งจะตรัสเพียงสัพพนิสสัคคะ การปล่อย การวาง การส่งคืนซึ่งความยึดถือเสียทั้งหมด ข้อเดียวเท่านั้น เพื่อให้สุพรหมเทพบุตรนั้นทราบทางอันไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัว จะได้บำเพ็ญตนให้ถึงความสวัสดี แต่ก็ต้องอาศัยธรรมะข้ออื่นๆ สนับสนุนให้บรรลุสัพพนิสสัคคะถึงที่สุดได้ ชื่อว่าทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพยัญชนะด้วยประการฉะนี้

เราทั้งหลายได้สดับพระพุทธภาษิตดังนี้แล้ว ควรน้อมธรรมะนั้นเข้ามาสู่ตนว่า เราเจริญธรรมะข้อไหนบ้าง บริบูรณ์ทุกข้อหรือขาดตกบกพร่อง แล้วรีบปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่อง ทำให้บริบูรณ์ และรักษาธรรมะส่วนที่บริบูรณ์ดีแล้วให้คงอยู่ตลอดไป ทั้งในพรรษาทั้งนอกพรรษาได้อย่างนี้ เราทั้งหลายจึงจะชื่อว่าเจริญด้วยศีล เจริญด้วยธรรม ขอจบคำบรรยายทางแห่งความสวัสดีเพียงเท่านี้...

(จากการบรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น