xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : เราจะเลือกกิน “ไขมัน” อย่างไร (อาหารต้านโรค ตอนที่ 12)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านผู้อ่านครับ ไขมันที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีหลายประเภท ดังนี้

1. ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ได้แก่ น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันวัว เนยสด น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันชนิดนี้มีประโยชน์ นำมาใช้ได้

2. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monoumsaturated Fat) พวกนี้ได้แก่ น้ำมันมะกอก (Olive oil) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรด Oleic พวกนี้มีประโยชน์นำมาใช้ได้ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ (Extravergin Olive Oil) นำมาใส่สลัดผัก ปรุงอาหาร

3. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fat) กลุ่มนี้ มี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 6 ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด ราคาถูก พวกนี้ควรจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากมันเป็นตัวทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายถ้ากินมากไป ซึ่งนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

อีกพวกหนึ่งคือ ไขมันโอเมก้า 3 คือ ไขมันจากปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคคาเรล ปลาทูน่า ปลาเทร้าส์ เป็นต้น หรือปัจจุบันมีผู้ผลิตเป็นเม็ดแคปซูล น้ำมันชนิดนี้มีประโยชน์ นำมาใช้ได้ ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงประโยชน์ของมันในฉบับก่อนบ้างแล้ว

4. ไขมันทรานส์ (Trans Fat) ได้แก่ พวกมาการีน เนยขาว(Shortening) ครีมเทียม พวกนี้ใส่ในอาหารแปรรูป พวกขนมปังอบกรอบ เค้ก คุกกี้ โดนัท กาแฟซอง ขนมอบกรอบที่บรรจุหีบห่อสวยงามทุกชนิด ที่วางขายในห้างสะดวกซื้อ

ไขมันกลุ่มนี้เป็นไขมันที่แปรรูปมาจากน้ำมันพืชโอเมก้า 6 เพื่อใส่ในอาหารแปรรูปให้กรอบร่วน อยู่ได้นานไม่เหม็นหืน ต้นทุนสินค้าถูกลง พวกนี้อันตรายไม่ควรกิน เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ

นี่คือไขมันที่ใช้กันอยู่ทุกวัน เราต้องเลือกใช้ให้ดีจึงจะเป็นประโยชน์ ไขมันแปรรูปต่างๆ ไขมันโอเมก้า 6 ที่ขายตามท้องตลาด เช่น พวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน พวกนี้ควรหลีกเลี่ยง ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ใช้ได้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแก่นปาล์ม น้ำมันมะกอก น้ำมันปลาโอเมก้า 3 มีประโยชน์ นำมาบริโภคได้ และให้หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ในขนมอบกรอบสำเร็จรูปต่างๆ กาแฟซอง ครีมเทียม มาการีน เนยขาว ฯลฯ

ท่านผู้อ่านครับ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไขมันซึ่งมีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาจำนวนมากคือ ศ.เฟรด คัมเมอรอว์ (Dr.Fred Kummerow) นักชีวเคมี แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ สหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี ปัจจุบันอายุ 102 ปีแล้ว นับว่าอายุยืนมาก

เนื่องในโอกาสท่านมีอายุครบรอบ 100 ปี วารสารทางการแพทย์ World Nutrition ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2015 ได้ลงตีพิมพ์บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน ในฐานะนักวิจัยด้านอาหารที่มีอายุยืนถึงร้อยปี บรรณาธิการขอให้ท่านเขียนเกี่ยวกับอาหารที่ท่านรับประทานในแต่ละวันด้วย ท่านเขียนไว้อย่างน่าสนใจมากครับ ว่าคนอเมริกันเป็นโรคหัวใจกันมาก เป็นสาเหตุตายอันดับหนึ่งเนื่องจาก

1. คนอเมริกันกินไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ไขมันโอเมก้า 6 จากพืชมากเกินไป โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้แทนไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เนื่องจากความเชื่อในทฤษฎีไขมัน (Lipid Hypothesis) โดยเฉพาะอาหารเนื้อสัตว์ที่ทอดน้ำมันพืชโอเมก้า 6 โดยใช้อุณหภูมิสูงและนาน จะทำให้โคเลสเตอรอลในเนื้อสัตว์ถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการเติมออกซิเจน (Oxidation) กลายเป็นออกซี่ไดซ์โคเลสเตอรอล (Oxidized cholesterols) ซึ่งตัวนี้เองที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ ไม่ใช่ตัวโคเลสเตอรอลในเนื้อสัตว์โดยตรง โคเลสเตอรอลไม่ได้ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ

ต่อมานักวิจัยชาวญี่ปุ่น ฮารูมิ โอกายามา (Harumi Okayama) ได้ศึกษาพบว่า คนอเมริกันกินไขมันโอเมก้า 6/โอเมก้า 3 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10 เท่า (ปกติไม่ควรกินเกิน 4 เท่า) เมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่นซึ่งกินไขมันโอเมก้า 6 น้อย สัดส่วนนี้มากเกินไป ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งคนญี่ปุ่นเป็นโรคนี้น้อยกว่ามาก

2. ก่อนหน้านี้รัฐบาลอเมริกันแนะนำประชาชนให้กินโคเลสเตอรอลน้อยลง ทั้งๆที่มีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ (โคเลสเตอรอลมีมากในเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่) ทำให้การบริโภคอาหารเหล่านี้ลดลงอย่างชัดเจนในเวลาที่ผ่านมา

ศ.คัมเมอร์รอว์ เชื่อว่า โคเลสเตอรอลไม่ใช่สาเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ไมเคิล เดอเบกี้ ศัลยแพทย์ด้านโรคหัวใจ รัฐบุรุษด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ท่านผ่าตัดโรคหัวใจในคนไข้ 15,000 ราย พบว่า โคเลสเตอรอลไม่ใช่สาเหตุของการตีบตันในเส้นเลือดหัวใจ และพบว่าในคนไข้ที่ผ่าตัดเส้นเลือดไปแล้ว ที่กลับมาตีบตันใหม่ มี 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ตีบใหม่ภายใน 3 ปี กลุ่มที่ 2 ตีบใหม่ภายใน 6-7 ปี กลุ่มที่ 3 ตีบใหม่ในเวลา 9 ปีขึ้นไป ทั้งสามกลุ่มไม่มีความสัมพันธ์กับระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเลย

3. คนอเมริกันกินไขมันทรานส์มาก ไขมันชนิดนี้ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปมาจากน้ำมันพืช เป็นไขมันที่เกิดจากการเติมไฮโดรเจนแบบไม่สมบูรณ์ (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันพืชโอเมก้า 6 ทำให้ได้ไขมันสงเคราะห์ 14 ชนิด นำมาผสมอาหาร ได้แก่พวกมาการีน เนยขาว ครีมเทียม ขนมเค้ก คุกกี้ โดนัท กาแฟซองสำเร็จรูป ขนมอบกรอบบรรจุเสร็จทุกชนิด ทำให้ขนมกรอบร่วน ไม่เหม็นหืน สามารถบรรจุใส่ห่ออยู่ได้นาน

ศ.คัมเมอร์รอว์ศึกษาพบไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบซึ่งพบที่ก้อนไขมันอุดตันที่ผนังเส้นเลือดผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ เริ่มตั้งแต่ ปี 1957 ท่านจึงศึกษาต่อมาจนพบว่า ตัวไขมันทรานส์ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวและทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตัน เรื่องนี้ท่านได้ต่อสู้มาตลอดชีวิต โดยการให้ข้อมูลการศึกษาวิจัยแก่ภาครัฐ ให้การศึกษาแก่ประชาชน

ทั้งนี้ การรับประทานมาการีนเริ่มในปี 1910 ตอนนั้นอาหารขนมต่างๆ มีมาการีนร้อยละ 44 โรคหัวใจก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี 1968 มาการีนมีไขมันทรานส์ลดลงเหลือร้อยละ 26 โรคหัวใจก็เริ่มลดลง ในปี 2003 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา บังคับให้ติดฉลากอย่างชัดเจนในอาหารที่ใส่ไขมันทรานส์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่า มีไขมันทรานส์อยู่ร้อยละเท่าไหร่ แต่ท่านต้องการให้รัฐบาลห้ามใส่ไขมันทรานส์ลงไปในอาหารเลย

ดังนั้น ในปี 2013 ท่านจึงยื่นฟ้ององค์การอาหารและยา รัฐบาลสหรัฐ ว่าละเลยไม่ปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ และล่าสุด 16 มิถุนายน 2015 รัฐบาลได้ออกกฎห้ามใส่ไขมันทรานส์ลงในอาหาร ให้เวลาผู้ผลิตค่อยๆถอนไขมันทรานส์ออกจากตำรับอาหาร โดยให้เวลา 3 ปี หลังจากต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 50 ปี ศ.คัมเมอร์รอว์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า “วิทยาศาสตร์ชนะแล้ว”

ศ.คัมเมอร์รอว์มีอายุ 100 ปีในเดือนตุลาคม 2014 ท่านกล่าวว่า เมนูอาหารที่ท่านกินธรรมดาทั่วไป มีดังนี้

มื้อเช้ากินไข่ทอดกับเนยสด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ผลไม้ผิวสีเข้ม กล้วย กินถั่ววอลนัส พีเคน อัลมอนด์บ้าง โยเกิร์ต นม

มื้อกลางวัน มีเนื้อแดง เนื้อปลา มันฝรั่งอบเล็กน้อย ผักสด ผักสลัดใส่น้ำมันมะกอก และน้ำส้ม (vinegar) ผลไม้ นม

มื้อเย็น จะกินอาหารน้อยลง คล้ายอาหารกลางวัน มีเนื้อ ผัก ผลไม้ นม

ท่านจะกินอาหารแนวนี้ ออกกำลังกายทุกวัน ควบคุมน้ำหนัก โดยชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์

ท่านผู้อ่านครับ หลังเกษียณอายุทำงาน ท่านก็ยังคงทำงานต่อที่ห้องแลบส่วนตัว ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย 2-3 คูหา และยังคงผลิตผลงานวิจัยออกมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นตัวอย่างของคนกินเนื้อ ไข่ เนย นม เป็นประจำ แล้วอายุยืน 100 ปีขึ้นไป ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าไปฟังคำบรรยายของท่านที่ www.youtube.com/professor Fred Kummerow.

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น