xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : กรมอนามัยย้ำ “นม” แหล่งโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ “นม” แหล่งโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี ดื่มได้ ทุกวัย ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง สะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้น และเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยสูงอายุ

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า นมเป็นแหล่งของสารอาหารโปรตีน แคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่จะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก

เด็กไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน เพราะมีแหล่งพลังงานคือไขมันและวิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งละลายได้ดีในไขมัน วิตามินเอช่วยให้เนื้อเยื่อมีการเจริญเติบโต ช่วยในการมองเห็น และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย วิตามินบี 1 ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ถ้าขาดจะทำให้เกิดโรคเหน็บชา วิตามินบี 2 ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการเผาผลาญอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ป้องกันโรคปากนกกระจอก ไขมันในนมมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น CLA (Conjugated Linoleic Acid) และ Sphingolipidsซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แต่ในนมพร่องมันเนยมีไขมันน้อยกว่า 1 ใน 3 ของนมพร้อมดื่มปกติ

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพิ่ม เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน จึงแนะนำให้ดื่มนมสดรสจืด โดยเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน ควรดื่ม 2-3 แก้วต่อวัน หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรดื่มนม 2 แก้วต่อวัน และบริโภคปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อนกินข้าว หรือผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แนะนำให้ดื่มนม 2 แก้วต่อวัน

ส่วนผู้ที่มีปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมไร้ไขมัน 1-2 แก้วต่อวัน ผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่พอ อาจจะมีอาการถ่ายบ่อยเมื่อดื่มนม แนะนำให้เริ่มดื่มนมครั้งละน้อยหรือประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้วได้ในเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือรับประทานผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลกโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ต เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่นิยมดื่มนมมักได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ เพราะในอาหารอื่นมีแคลเซียมต่ำ และร่างกายนำไปใช้ไม่ได้ดีเท่าแคลเซียมในนม

ทางด้านแพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า นม 1 แก้ว ปริมาณ 200 มิลลิลิตร ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม หรือประมาณร้อยละ 15-20 ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน ให้แคลเซียม 236 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 24-30 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน ให้วิตามินเอประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน ให้วิตามินบี 1 ประมาณ 0.1 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันให้วิตามินบี 2 ประมาณ 0.5 มิลลิกรัม หรือประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน และมีไขมันประมาณ 7.5 กรัมหรือประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

ทั้งนี้ ควรอ่านฉลากก่อนเลือกดื่ม และที่สำคัญควรบริโภคอาหารอื่นๆ ให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 199 กรกฎาคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น