xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เปลี่ยนโลกใหม่ ด้วยมุมมองที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หาคนดีมีศีลธรรมในใจ หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา
ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ
เพราะเงินล้านไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดีมาทำประโยชน์”

(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

น้ำดีเพียงหนึ่งแก้วที่สะอาดบริสุทธิ์ มีประโยชน์มากกว่าน้ำเน่าทั้งคลอง เพราะน้ำดีใช้ดื่มดับกระหายได้ คนดีเพียงหนึ่งคนสร้างประโยชน์ให้กับโลกได้มากมหาศาล เช่น พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย แต่ละท่านมีคุณค่ามากกว่าเงินทองอย่างเอนกอนันต์

แต่โลกในอุดมคติกับโลกแห่งความเป็นจริง ดูเหมือนจะสวนทางกัน ทุกวันนี้ตามข่าวหน้าสื่อต่างๆ หาอ่านข่าวคนดีได้ยากยิ่ง หากอยากเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นเบ้าหลอมมนุษย์พันธุ์ดีขึ้นมา ต้องเริ่มด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์กว่า เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่า วิธีเก่าๆ ที่เคยทำมา มันแก้ปัญหาไม่ได้จริง ดังที่ “ไอน์สไตน์” กล่าวไว้

“คุณไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยความคิด
ในระดับเดียวกับที่สร้างปัญหาขึ้นมาได้”


คำวิพากษ์วิจารณ์ตัดสิน นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นแล้ว บางครั้งกลับตอกย้ำให้เลวร้ายลงไปอีก การจะเปลี่ยนคนคนหนึ่งได้ ต้องเริ่มจากเปลี่ยนที่ระบบความคิด ด้วยการให้เจ้าตัวยินยอมพร้อมใจที่จะเปลี่ยนตัวเองจากภายใน คือเปลี่ยนทัศนคติปรัชญาชีวิต ระบบความเชื่อที่ผิดพลาดบกพร่อง ภาษาธรรมะเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ”

ทิฏฐินั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอยู่ ๖๒ ประการ เป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมให้มนุษย์ดำเนินชีวิตไปตามทิฏฐิความเชื่อนั้น เหมือนแหที่ชาวประมงใช้ทอดลงไปในน้ำ ทำให้ปลาติดอยู่ในข่ายว่ายออกไปไหนไม่ได้ นั่นคือกรอบความคิด เป็นข่ายแห่งทิฏฐิหรือระบบความเชื่อที่ผิด ซึ่งเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมชั่วร้าย ที่บุคคลแสดงออกมา ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนใครบางคน ก็ต้องเปลี่ยนที่ระบบความคิดหรือมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ของเขา

มีเรื่องเล่าว่า กาลครั้งนั้นมีครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิก ๔ คน คือ พ่อ แม่ ลูกชาย และน้าสาว เป็นครอบครัวสัมมาทิฏฐิที่มีฐานะร่ำรวย ต่างรักใคร่ปรองดอง เคารพยกย่องกันและกัน ยกเว้นลูกชายเพียงคนเดียว ที่มีพฤติกรรมตรงข้ามกับทุกคนในครอบครัว

วันหนึ่งโรงเรียนได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับต่างประเทศ “จอย” ผู้เป็นน้าสาว กับเด็กชายบอย ก็เป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ทางโรงเรียนได้ส่งหนังสือมาถึงผู้ปกครอง ทั้งพ่อและแม่ต่างก็เห็นดี จึงอนุญาตให้จอยและบอยเดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย

หลังสิ้นสุดกิจกรรรม เมื่อคณะนักเรียนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว พนักงานโรงแรมพบว่า รูปที่แขวนโชว์ไว้ในโรงแรมหายไปสามภาพ เจ้าหน้าที่เปิดกล้องวงจรปิดเช็กดู ก็พบว่าเด็กชายบอย นักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศไทย เป็นผู้ขโมยไป แต่ผู้จัดการโรงแรมมีเมตตาไม่เอาผิดตามกฎหมาย เพราะเห็นว่าภาพราคาไม่กี่ตังค์ แต่เด็กยังมีอนาคต จึงให้โอกาสเขาได้กลับตัว เพียงแจ้งไปยังโรงเรียนต้นสังกัดในประเทศไทยเท่านั้น

ทางโรงเรียนจึงรีบโทรแจ้งผู้ปกครอง เมื่อผู้เป็นแม่ทราบเรื่อง ถึงกับทรุดลงนั่งร้องไห้โฮ กอดลูกชายไว้แนบอก พลางตำหนิตัวเองว่า “เป็นความผิดของแม่เอง ที่ไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องนี้กับลูก”

ฝ่ายพ่อกลับมาจากทำงาน ได้ทราบเรื่องราวจากภรรยา จึงกล่าวว่า “เธออย่าตำหนิตัวเองไปเลย พี่ต่างหากที่ผิด พี่มัวแต่ทำงานโดยไม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องนี้กับลูก...พี่ผิดเอง”

ส่วนจอยผู้เป็นน้าสาว เมื่อเห็นพี่สาวกับพี่เขยกำลังกอดหลานแล้วร้องไห้ ก็สอบถามเรื่องราวทั้งหมด แล้วปลอบทั้งคู่ว่า “พี่ทั้งสองอย่าตำหนิตัวเองไปเลย เรื่องนี้ต้องโทษหนู เพราะหนูมัวแต่หลับ หลานนอนไม่หลับก็ยังไม่รู้ พี่ทั้งสองไม่ผิดหรอกเรื่องนี้ เพราะพี่มอบหน้าที่ให้หนูดูแลหลานแล้ว แต่หนูกลับทำหน้าที่ของตัวเองบกพร่อง ดูแลหลานไม่ดี ถ้าหนูไม่เห็นแก่นอน แล้วตื่นขึ้นมาดูแลหลานสักหน่อย เรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น”

ขณะที่บอยเองรู้สึกละอายใจ และสำนึกผิด จึงก้มลงกราบเท้าพ่อแม่ แล้วเอ่ยคำขอโทษ พร้อมกับสัญญาว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีกต่อไป แล้วเข้าไปในห้อง หยิบภาพที่ขโมยมา ขอร้องให้พ่อกับแม่ช่วยพาเขาไปที่โรงแรม เพื่อขอขมาลาโทษต่อผู้บริหารโรงแรมแห่งนั้น

นิทานเรื่องนี้สะท้อนแง่มุมที่ต่างออกไป โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยแพะรับบาปมากมาย นั่นเพราะเราต่างมุ่งไปที่เหตุผลถูกผิด หรือฟังเพียงคำพิพากษาตัดสินจากใครบางคน ถ้าวิธีที่ใช้อยู่นี้มันดีจริงได้ผลจริง เหตุใดเรือนจำยังเต็มจนล้น ในประเทศที่เจริญแล้วต่างรู้เรื่องนี้ดี ว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนคนปวดหัวให้กินยาแก้ปวดก็จบ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่จบ ควรกลับไปดูที่เหตุตั้งต้นของการปวดหัว ว่ามาจากอะไร ไม่ใช่เอาแต่จ่ายยาให้กิน พอยาหมดฤทธิ์เดี๋ยวโรคก็กำเริบขึ้นอีก เพราะมันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุให้หายขาด

มิจฉาทิฏฐิ ความเชื่อที่ผิด เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมา ดังนั้น การที่จะเปลี่ยนเขาได้ จึงไม่ใช่การตัดสินหรือแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมาทำสิ่งที่ต่างออกไปบ้าง เช่น ให้ความรัก ความเมตตา เพื่อหยิบยื่นโอกาสให้เขาได้กลับตัว

ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ความดีแฝงอยู่ในจิตส่วนลึก ภาษาธรรมะเรียกว่า “จิตแห่งพุทธะ” ที่พร้อมจะตื่นรู้เบิกบานขึ้นมาได้เสมอ เมื่อถึงเวลาหรือพบใครบางคน หรือถูกสถานการณ์บางอย่างสะกิดให้จิตพุทธะดวงนี้เติบโตตื่นรู้ขึ้นมา นั่นหมายความว่า เขาต้องเปลี่ยนตัวเองจากภายใน คือที่ความคิด ทัศนคติ ที่เป็นความเชื่อของเขา

สอดคล้องกับที่ “วิลเลียม เจมส์” นักจิตวิทยาชาวตะวันตกกล่าวไว้ “การค้นพบที่ยิ่งใหญ่สุดของข้าพเจ้าก็คือพบว่า มนุษย์เริ่มเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้ โดยการเปลี่ยนทัศนคติกับความคิดอ่านของพวกเขา”

ดังนั้น ทางเดียวที่เราจะช่วยกันบำรุงเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ ให้เติบโตขึ้นมาได้คือ อย่าไปตัดสิน ซ้ำเติม แต่ควรเมตตาให้โอกาส หรือมองหาข้อดีในตัวของเขา เหมือนที่ “ท่านพุทธทาส” แนะนำไว้

“เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนค้นหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง”


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น