xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : อย่าติดเหยื่อในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
เอตํ โลกามิสํ โฆรํเอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต
เอตญฺจ สมติกฺกมฺมสโต พุทฺธสฺส สาวโก
มารเธยฺยมติกฺกมฺมอาทิจฺโจ ว วิโรจตีติ.

ส.สํ. ๑๕/๑๖๖

บัดนี้ จักได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา พรรณนาคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดโลกามิส หรือบ่วงแห่งมาร เพื่อเป็นพระธรรมเทศนาฉลองศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ของพุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา และผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติเป็นลำดับไป

ในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านจะอธิบายธรรม นิยมอธิบายเป็น ๒ วิธี คือ เป็นปุคคลาธิษฐาน และเป็นธรรมาธิษฐาน ตามความเหมาะสมแก่ผู้ฟัง คำว่า ปุคคลาธิษฐาน คือยกบุคคลขึ้นแสดง มีบุคคลเป็นที่ตั้ง แสดงว่าเป็นคนๆ อย่างนี้เรียกว่า ปุคคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน ยกธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ยกสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เช่น ยกว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอัพยากฤต อย่างนี้เรียกว่า ธรรมาธิษฐาน

อีกอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์แก่การอธิบาย อธิบายได้สะดวก เพราะยกบุคคลเป็นที่ตั้ง ผู้ฟังจำง่าย เช่น ในที่มาซึ่งกล่าวด้วยเรื่องมาร ท่านก็แสดงมารเป็นตัวเป็นตน ในภาษาพระพุทธศาสนาเรียกว่า ยักษ์ก็มี เรียกว่า มารก็มี แต่ถ้าเรียกว่ายักษ์ โดยมากมักจะเป็นมารหรือเป็นยักษ์ชั้นสูง ไม่ใช่ชั้นต่ำๆ

ถ้าคำว่า “มาร” หมายเอาชั้นต่ำ เช่นคำว่า มาโร ปาปิมา มารผู้ใจบาป เพราะฉะนั้น คำว่ายักษ์ว่ามารนั้น ในคำไทยเราเรียกว่า “ยักษ์” แต่ก็หมายเอามาร คำว่า “มาร” ในพระพุทธศาสนาหมายเอากิเลส ไม่ใช่เป็นคน เป็นธรรมาธิษฐาน แต่ถ้าพูดเป็นธรรมาธิษฐาน คนที่แรกศึกษาเข้าใจยาก ท่านจึงอธิบายเป็นปุคคลาธิษฐาน ยกเป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตนให้เห็นว่าน่ากลัว อย่างรูปยักษ์ที่เขาปั้นไว้หน้าวัดพระแก้ว หน้าวัดพระเชตุพนฯ เป็นตัวอย่าง มีเขี้ยวมีเล็บ น่าเกลียดน่ากลัว นี้วาดเป็นมโนภาพเป็นคนๆ แต่อันที่จริงหมายเอากิเลส

ในพระพุทธภาษิตที่จะได้แสดงต่อไปนี้ ท่านก็แสดงว่า มารมารังควาน หรือจะมาทำพระพุทธเจ้าให้เห็นผิดไป แม้พระพุทธเจ้าจะทรงเห็นผิดไปไม่ได้ ก็ให้พระสาวกเห็นผิด แต่สมเด็จพระธรรมสามิสและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะฉะนั้น มารกับทั้งเสนามารไม่สามารถที่จะมาครอบงำพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตพุทธสาวกได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเป็นธรรมิกอุบายแนะนำผู้ปฏิบัติ เพื่อกำจัดบ่วงมาร ตามพระพุทธภาษิตบรรหาร ซึ่งได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

เอตํ โลกามิสํ โฆรํเอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต
เอตญฺจ สมติกฺกมฺมสโต พุทฺธสฺส สาวโก
มารเธยฺยมติกฺกมฺมอาทิจฺโจ ว วิโรจตีติ.


แปลว่า รูป เสียง เป็นต้นนั้น เป็นโลกามิสที่มีโทษร้ายแรง เป็นที่หมกหมุ่นจมอยู่แห่งชาวโลก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติก้าวล่วงโลกามิสนั้นเสียได้ ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ แดนเป็นที่ตั้งของมารเสียได้ ย่อมรุ่งโรจน์สว่างไสว ดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืดให้หมดไป ฉะนั้น

นี้เป็นเนื้อความในพระพุทธภาษิต ในพระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงโลกามิส อามิสของโลก ว่ามีโทษมีพิษมีภัย เป็นที่จมติดหมกมุ่นอยู่ของชาวโลก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติก้าวล่วงได้ ผู้ก้าวล่วงโลกามิสได้ ก็ก้าวล่วงภูมิเป็นที่ตั้งที่อยู่ของมาร ย่อมไพโรจน์ชัชวาล เหมือนดวงอาทิตย์อันอุทัยขึ้น กำจัดมืดให้หมดไปฉะนั้น โดยพระพุทธภาษิตนี้ยกให้โลกามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างหรือจะรวมธรรมารมณ์ด้วยก็ได้ รวมเป็น ๖ อย่าง แต่ที่ท่านว่าเพียง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นก็เพราะเหตุว่าธรรมารมณ์นั้นเป็นส่วนภายใน และก็เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเอง

เพราะฉะนั้น คำว่า โลกามิส ท่านจึงกล่าวแต่เพียง ๕ ตั้งแต่รูปจนถึงโผฏฐัพพะ เพราะธรรมารมณ์ ก็คือ เชื้อสายที่ตกตะกอนมาจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเอง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า “โลกามิส” อามิสในโลก อามิสประจำโลก เรียกว่า “มารพันธนะ” เครื่องผูกของมารก็ได้ เรียกว่า “มารปาสะ” บ่วงสำหรับดักคนของมารก็ได้ โดยทั่วไปเรียกว่า “เบญจพิธกามคุณ” แปลว่า กามคุณมีอย่าง ๕ หรือ ๕ อย่าง เพราะทั้ง ๕ อย่างนี้เป็น อิฏฐํ น่าปรารถนา กนฺตํ น่าใคร่ มนาปํ ยังใจให้เอิบอาบ ปิยํ เป็นที่รัก มโนรมํ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ปิยรูปํ เป็นรูป เป็นที่รัก สาตรูปํ เป็นรูปเป็นที่ติดใจหวานสนิทใจ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณ ๕ อย่าง

ที่ท่านเรียกว่าโลกามิส หมายความว่า เหยื่อประจำโลก ใครติดในโลกก็ติดเหยื่อ ใครไม่ติดในโลกก็ไม่ติดเหยื่อ แต่เหยื่อในโลกก็มีอยู่เป็นธรรมดา ติดเฉพาะคนที่ไม่รู้เท่าทันเรื่องของโลก ถ้ารู้เท่าทันเรื่องของโลกแล้ว ก็เป็นอันแล้วกัน เพียงเท่านี้เรายังไม่ได้เจ้าของ ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะคำว่า ในโลก ในที่นี้อาจจะเป็นโอกาสโลกก็ได้ อาจจะเป็นสัตวโลก คือ หมู่สัตว์บุคคลก็ได้

เพราะฉะนั้น โลกามิส อามิสประจำโลก อามิสในโลกนั้นเราต้องค้นหาตัวว่าใครเป็นเจ้าของอามิส ไม่ใช่โลกเป็นเจ้าของแน่นอน แต่เจ้าของเขามาดักไว้ในโลก เพราะฉะนั้น ต้องค้นหาเจ้าของ ค้นไปค้นมาสักครู่ก็พบ ไม่มีใคร คือ พญามารนั้นเอง มาโร ปาปิมา มารผู้มีบาป พญามารนั่นเองเป็นเจ้าของเหยื่อ วางเหยื่อไว้ในโลก เมื่อวางเหยื่อไว้ในโลกแล้ว สัตวโลกติดเหยื่อเหมือนปลาติดเบ็ด พญามารเหมือนเจ้าของเบ็ด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเหมือนเหยื่อ โลกเหมือนกับห้วยหนองคลองบึง แม่น้ำเจ้าพระยา สัตวโลกเหมือนปลาที่ติดเบ็ด เพียงเท่านี้เรารู้ได้แล้วว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชน จนถึงพระภิกษุสามเณร รวมทั้งผู้เทศน์ด้วยเป็นสัตวโลก โอกาสโลก เป็นที่อยู่ของสัตวโลก พญามารเจ้าของเหยื่อ คือ เป็นเจ้าของอามิส และวางเหยื่อวางอามิสไว้ในโลก พวกเราติดเหยื่อของพญามารที่วางไว้ในโลก จำเนื้อความสั้นๆไว้อย่างนี้ก่อน ในวิธีปฏิบัติต้องคิดอย่างนี้ ถ้าไม่คิดอย่างนี้ธรรมะไม่แตก การปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ถูก

เพราะฉะนั้น ต้องคิดตั้งไว้เป็นข้อๆว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นๆ เราเป็นสัตวโลก คือ เป็นปลา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหยื่อ พญามารเป็นเจ้าของเบ็ด ปรารถนาพอใจรักใคร่อุปมาเหมือนเบ็ด แต่ข้อนี้ผู้เทศน์อุปมาขึ้นเอง ในแบบไม่ปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสัตวโลกหมกมุ่นอยู่ แต่พุทธสาวกผู้มีสติก้าวล่วงได้ หรืออย่างในพุทธภาษิตหนึ่งว่า ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ ที่คนเขาติดจมอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องไม่ คนเขลาติด ผู้รู้ไม่ติด จึงเป็นอันได้แนวทางในการปฏิบัติไว้ชั้นหนึ่ง

ในชั้นแรกควรทราบคำว่า “มาร” ก่อน มารในแบบ เช่น ในธรรมวิภาคปริจเฉทที่สอง มีถึง ๕ ชื่อ คือ

ประการที่ ๑ ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้แหละเป็นมาร ขันธ์เรานี้แหละ ไม่ใช่ขันธ์คนอื่น ขันธ์นาย ก. ก็เป็นมารของนาย ก. ขันธ์นาย ข. ก็เป็นมารของนาย ข. แต่บางทีขันธ์นาย ข. ก็เป็นมารของนาย ก. ก็อาจมีได้บ้าง แต่ในทางปฏิบัติท่านถือว่าขันธ์ใครก็เป็นมารของคนนั้น

ทำไมเป็นมาร ขอให้เรานึกเวลาจะทำดี แล้วขันธ์ไม่ค่อยสู้ อย่างเรานั่งกัมมัฏฐานสักชั่วโมงอย่างนี้ แทบจะทนไม่ไหวหรือทนไม่ไหว แต่ถ้าเรานั่งทำอย่างอื่นตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงย่ำค่ำ ทุ่มสองทุ่มไม่เมื่อย ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าพอทำดีเข้าแล้ว ขันธมารก็เข้ามาสะกิดเลยทีเดียวว่าอย่าทำเลย ทรมานสังขารทำไม นั่งฟังเทศน์เมื่อยหลัง นอนฟังเทศน์วิทยุก็ได้ เดี๋ยวนี้วันหนึ่งๆมีเทศน์ไม่รู้กี่กัณฑ์ จะต้องไปวัดทำไม แต่ถ้าเราจะไปเที่ยวที่อื่นให้สนุกสนานเบิกบานใจ มารเขาไม่ว่าเพราะไปหาอาหารให้เขา นี้เป็นขันธมาร

ประการที่ ๒ กิเลสมาร ก็คือ กิเลสที่ทำให้เศร้าหมองใจ ความโลภก็เศร้าหมองใจ ความรักก็เศร้าหมองใจ ความโกรธก็เศร้าหมองใจ ผูกโกรธก็เศร้าหมองใจ อิจฉาริษยาก็เศร้าหมองใจ นี้เป็นกิเลสมาร

ประการที่ ๓ อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร ผู้ปรุง โดยมารปรุงให้ชั่ว ปรุงให้โกรธ ปรุงให้โลภ ปรุงให้รัก ปรุงให้เห็นแก่ตัว ปรุงให้อยากได้ใคร่มี อยากมีอยากเป็น ที่จะปรุงให้เป็นบุญนั้นน้อยนัก เพราะมารเขาไม่ชอบปรุงให้เป็นบุญ นานๆเขาปรุงทีหนึ่งเพื่อให้ตายใจ คล้ายๆคนใช้ที่ไม่ซื่อสัตย์ ทำดีแต่ต่อหน้าเพื่อให้นายตายใจฉะนั้น

ประการที่ ๔ มัจจุมาร คือ ความตาย นี้เห็นอยู่ชัดๆ ไม่ต้องอธิบาย

ประการที่ ๕ เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทวดา เทวบุตรถ้าเป็นฝ่ายชั่ว ท่านว่าเป็นมารเหมือนกัน แต่ไม่ประสงค์อธิบายในที่นี้

มารทั้ง ๕ ประการนี้ เมื่อรวมลงแล้วอยู่ในอำนาจของกิเลสมารทั้งหมด ถ้ากิเลสไม่มีตัวเดียวแล้ว ขันธ์ก็ไม่เป็นมารเพราะเป็นขันธ์เปล่า อภิสังขารก็ไม่เป็นมาร เพราะปรุงไม่ได้ ปรุงจิตของคนผู้ไม่มีกิเลสไม่ได้ “มัจจุมาร” มารคือความตาย ก็ไม่เป็นมาร เพราะผู้ไม่มีกิเลสไม่ตาย “เทวปุตตมาร” มารคือเทพบุตรก็มาเป็นมารไม่ได้ เพราะท่านผู้มีจิตปราศจากกิเลสแล้วมารรังควานไม่ได้ เหมือนน้ำตกลงในใบบัว ไม่ซึมซาบในใบบัวฉะนั้น

เพราะฉะนั้น กิเลสมารสำคัญกว่าใครหมด ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อิจฉาริษยา เป็นกิเลสมารทั้งนั้น จะอธิบายเป็นข้อๆก็มากไป เป็นแต่ให้รู้ว่ากิเลสมารวางโลกามิส วางอามิสไว้ในโลก ใครหลงโลกามิสก็ติดบ่วงมาร ใครไม่หลงโลกามิสก็ไม่ติดบ่วงของมาร

พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ให้ปฏิบัติให้ก้าวล่วงให้ก้าวพ้นเหยื่อ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะก้าวพ้น ในพระพุทธภาษิตนี้ทรงแสดงข้อปฏิบัติอย่างเดียว คือ ให้มีสติ ได้ในคำว่า สโต พุทฺธสฺส สาวโก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ มีสติตัวเดียวก้าวล่วงโลกามิสได้ สติมีหลายลักษณะพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้

สติสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยสติ ให้เห็นด้วยสติ ฟังเสียงด้วยสติ ดมกลิ่นด้วยสติ ลิ้มรสด้วยสติ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยสติ รู้ธรรมารมณ์ด้วยสติ การปฏิบัติอย่างนี้ เราต้องสมมติกายของเราเองเป็นเมืองเมืองหนึ่ง คือ กายนคร มีประตูชั้นนอกเข้าในเมืองได้ ๕ ประตู ประตูชั้นใน ๑ ประตู รวมเป็น ๖ ประตู ตั้งสติตัวเดียวไว้เป็นทหารยามคอยเฝ้าถือปืน ถือหอกถือดาบคอยเฝ้าอยู่ คอยตรวจดูเหมือนทหารรักษาวัง ทหารรักษาวังนั้นเฝ้าอยู่ที่ประตูวัง พอคนจะเข้าประตูพระราชวังก็ต้องค้นตัวซักไซ้ไล่เลียงไต่ถามธุระว่ามาทำอะไร ต้องการพบใคร สืบสวนให้ดีว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว คนทุจริตหรือสุจริต ถ้าไม่สมควรก็ไม่ให้เข้าไป ให้เข้าแต่คนสมควรฉันใด ประตูกายนครก็มีฉันนั้น

เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ให้ทหาร คือ สติคอยสอบถาม คือ ใคร่ครวญพิจารณาไตร่ตรอง เพราะเวลาเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น เกิดความรู้สึกสองอย่างคือ ชอบกับไม่ชอบ บางคราวก็ชอบ บางคราวก็ไม่ชอบ รูปดีก็ชอบ รูปชั่วก็ไม่ชอบ เสียงเพราะก็ชอบ เสียงไม่เพราะก็ไม่ชอบ ให้ถามว่ามาทำไม มาธุระอะไร ต้องการไปหาใคร เมื่อเห็นว่าไม่สมควร จะเข้าไปประทุษร้ายท้าวจิตราชผู้เป็นเจ้าของกายนคร เราก็ไม่ให้เข้าไป สติไม่ให้เข้า ไล่กลับไปเสีย ถ้ามาในทางที่ดี ไม่ประทุษร้ายจิตก็ให้เข้า อย่างนี้เรียกว่า สำรวจด้วยสติ หรือสติสังวร

สติตัวเดียวคุมได้ทั้ง ๖ ประตู คือ ประตูชั้นนอก ๕ ประตูชั้นใน ๑ คุมได้ทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เปิดคราวละประตู ไม่ได้เปิดพร้อมกัน เมื่อเปิดคราวละประตูแล้ว ทหารยามคนเดียวก็รักษาได้ คือ สติ อย่างนี้เรียกว่า สติสังวร สำรวมระวังด้วยสติ เรียกว่า อินทรีสังวร สำรวมอินทรีย์ นี้เป็นประการต้น

เมื่อสำรวมอินทรีย์อย่างนี้แล้ว เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ เรารู้ทั่วทั้งหมด ในเวลาที่จะเกลียด สติก็ห้ามว่าอย่าเกลียด ในเวลาที่จะรัก สติก็ห้ามว่าอย่ารัก สมมติให้เห็นง่ายๆ ต่างว่าลูกเขาจะเอาหลานมาให้เลี้ยง บอกว่าอยู่กับคุณย่าคุณยายนะ ตาเราก็เห็นหลาน หลานเป็นรูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นภายใน พอเห็นก็เกิดรัก สติก็ถามว่ารักทำไม พ้นทุกข์ไหม สติสอบไปสอบมา ประเดี๋ยวก็แพ้สติ พอได้สติก็ตอบไปว่า ข้าไม่เลี้ยงหรอก ข้าเหนื่อย ข้าจะไปฟังเทศน์ ไปจ้างคนเลี้ยงเอาสิ สติทำให้มีทางออกอย่างนี้ จิตใจไม่เศร้าหมอง นี้เป็นประการหนึ่ง

ให้สติสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า สติพละ ทำสติให้มีกำลังขึ้น กิเลสเกิดครอบงำ สติมีกำลังมากกว่า กิเลสมารก็สู้ไม่ได้ เพราะสติเต็มไปหมด มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติรู้ทุกขณะ พอจะโกรธ สติก็รู้เสียแล้วว่าจะโกรธ โกรธก็สงบ พอจะรัก สติก็รู้เสียแล้วว่าจะรัก รักก็สงบ สติรู้ทันหมด อย่างนี้เรียกว่า สติพละ ทำให้ใจมีกำลัง ให้เป็นสติเต็มบริบูรณ์ที่ใจ ในใจนี้ไม่มีที่ว่าง ไม่มีที่ที่จะให้พญามาร คือ กิเลสเข้ามาอาศัย เพราะมีสติประจำใจ

สมมติว่าในจิตใจของเรามีห้องแต่ไม่มีว่าง สติอยู่หมดทุกห้อง กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย สติพละ สติเป็นกำลังนั้นก็ให้นึกอยู่เสมอว่า กำลังอื่นสู้กำลังคือสติไม่ได้ กำลังคือสติ วิเศษกว่าอะไรหมด นึกถึงสติอยู่เสมอ เรียกมาไว้เสมอ กำลังก็เกิดขึ้น

สตินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าใหญ่ สติก็คือสติ สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ที่ตา เป็นใหญ่ที่หู เป็นใหญ่ที่จมูก เป็นใหญ่ที่ลิ้น เป็นใหญ่ที่กาย เป็นใหญ่ที่ใจ สติเขาเป็นนายหมด เป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหมด เราไม่สามารถที่จะแบ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปให้คนอื่นอีก เพราะสติเขาไม่อนุญาต มีสติเต็มไปหมด โลกามิสก็ครอบงำไม่ได้เหมือนกัน

สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ ไม่ยุ่งในทางอื่น ดูแต่ที่กาย เวทนา จิต ธรรมเท่านั้น กายของเราเองสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เวทนาของเราเอง คือ รู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จิตของเราเองที่เศร้าหมองบ้าง ที่ผ่องใสบ้าง ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา สักแต่ว่าคิดๆเท่านั้น ธรรมของเราเองคือที่เราคิดขึ้นในใจ บางคราวเราคิดดี บางคราวเราก็คิดชั่ว หรือธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจเรา เช่น นิวรณ์ เราก็รู้ว่ามันชั่ว โพชฌงค์เกิด เราก็รู้ว่าดี อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสติ คือ สติปัฏฐาน ๔ นั้นเอง

สูงขึ้นไปอีก สติโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ถ้าได้สติตัวนี้ไว้แล้วตรัสรู้แน่ๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า อวินิปาตธมฺโม มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา นิตโย เป็นผู้แน่นอน สมฺโพธิปรายโน มีอันจะต้องตรัสรู้ในเบื้องหน้า ที่เราจะรู้ว่าเป็นสติสัมโพชฌงค์นั้น เพราะสติตัวนี้เมื่อเกิดขึ้นเป็น วิเวกนิสฺสิตํ อาศัยวิเวก คือรู้สึกตัวว่าสงัดสบาย แม้อยู่บ้านคนอยู่มากๆ แต่รู้สึกว่าสบายโปร่งว่าง เรารู้แล้วว่า บัดนี้ สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้ว วิราคนิสฺสิตํ อาศัยวิราคะคลายกำหนัด ไม่ติด ไม่กำหนัด ไม่เสียดาย ไม่พอใจอะไรเกินประมาณ เมื่อใดใจเป็นอย่างนี้ เมื่อนั้นพึงทราบว่า สติสัมโพชฌงค์เกิดแล้ว โลกามิสก็ดับ โลกามิสครอบงำไม่ได้ นิโรธนิสฺสิตํ อาศัยความดับ คือ ดับร้อนใจ กลุ้มใจ อึดอัดใจ ไม่สบายใจดับหมด โวสฺสคฺคปริณามึ น้อมไปสู่โวสสัคคะ คือ ความสละลง ได้แก่ วางภาระยอมใจปฏิบัติ นี้เป็นสติสัมโพชฌงค์

ผู้ใดมีสติเป็นชั้นๆดังกล่าวมา ผู้นั้นก้าวล่วงโลกามิสได้ เมื่อโลกามิสครอบงำไม่ได้ ชอบไม่ชอบก็ไม่เกิด เกิดแต่เฉยๆคือ อุเบกขา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นอันได้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพญามาร คือ ไตรวัฏฏ์ กิเลส กรรมวิบาก ๓ อย่างนี้ก็ไม่วนที่ท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า มารเธยฺยสมติกฺกโม ผู้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนของมาร อาทิจฺโจ ว วิโรจติ สว่างไสวไพโรจน์ คือ จิตใจสว่างไสวเรื่อยไป ไม่มีมืด เหมือนดวงอาทิตย์อันอุทัยขึ้น กำจัดความมืดให้หมดไป ฉะนั้น มีนัยดังบรรยายมาฉะนี้

หลักพระพุทธภาษิตนี้ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดโลกามิส หรือบ่วงของมาร หรือเครื่องผูกของมาร หรือเบญจพิธกามคุณ เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ที่ใจ ครอบงำใจไม่ได้ สักแต่ว่าผ่านๆมา เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้ดมสักแต่ว่าได้ดม ได้ลิ้มสักแต่ว่าได้ลิ้ม ได้ถูกต้องสักแต่ว่าได้ถูกต้อง ดังนี้ จิตใจก็เฉยๆ สบายโปร่งว่างหายอึดอัด ไม่มีความอึดอัดขัดข้อง เป็นอันได้ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา และจะเป็นสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ มีอรรถาธิบายดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้

(จากการแสดงธรรมวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น