สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
• ธรรมขันธ์
การรณรงค์ระหว่างคู่บารมีกับคู่อาสวะและสมุทัย ซึ่งตลอดเวลาปรากฏผลไม่แน่นอน คือผลัดกันเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะเรื่อยมา เป็นเหตุให้คู่บารมีเห็นว่า จำจะต้องหาทางปราบปรามคู่อาสวะกับสมุทัยและพรรคพวกให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้น เหตุการณ์ก็เป็นอนิยต คือไม่แน่นอน
ฝ่ายคู่บารมีครั้นได้ดำริตริตรองอยู่ว่า จะปราบคู่อาสวะกับสมุทัยลงได้ด้วยประการไร ก็ระลึกขึ้นได้ถึงธรรมขันธ์ทั้งปวงขององค์พระบรมครู ซึ่งเป็นกองทัพอันทรงพลังยิ่งใหญ่ที่สุด สัจจะทั้งปวงได้รวมอยู่ในธรรมขันธ์ คล้ายกับต้นไม้ ภูเขา บ้านเมือง ป่าดงพงไพร ตลอดถึงมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย รวมอยู่บนพื้นแผ่นปฐพีนี้ทั้งสิ้น
อันที่จริง ศีลกับพรรคพวกก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมขันธ์ ซึ่งองค์พระบรมครูได้ทรงอนุญาตให้ส่งเข้าไปสู่จิตตนคร ธรรมขันธ์นี้มีจำแนกเป็นกองเป็นเหล่าต่างๆกัน เช่น จำแนกออกเป็นแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ แบ่งจำนวนออกตามปิฎกทั้ง ๓ ดังนี้ วินัยปิฎก สองหมื่นหนึ่งพันธรรมขันธ์ สุตตันตปิฎก สองหมื่นหนึ่งพันธรรมขันธ์ อภิธรรมปิฎก สี่หมื่นสองพันธรรมขันธ์ เท่ากับแบ่งออกเป็น ๓ เหล่า
บางทีก็แบ่งออกเป็น ๕ ธรรมขันธ์ คือ สีลขันธ์ กองศีล สมาธิขันธ์ กองสมาธิ ปัญญาขันธ์ กองปัญญา วิมุตติขันธ์ กองวิมุติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ในวิมุตติที่แบ่งเป็น ๕ นี้ เป็นการแบ่งโดยย่อตามประเภทของธรรม คล้ายกับแบ่งกองทัพของชาติออกเป็น ๓ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แต่ละกองทัพก็มีจำนวนทหารประจำการมากมาย เหมือนดังจำนวนแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์นั้น
คู่บารมีระลึกถึงธรรมที่องค์พระบรมครูทรงสั่งสอน ก็ได้เห็นว่ามีปริยายคือนัยต่างๆ บางคราวทรงแสดงเพียงข้อเดียว เท่ากับธรรมขันธ์เดียว บางคราวสองข้อ บางคราวสามข้อ สี่ข้อ ห้าข้อ หกข้อ เจ็ดข้อ แปดข้อ เก้าข้อ สิบข้อ เป็นต้น บางคราวรวมเข้าสามสิบเจ็ดข้อ เช่น “โพธิปักขิยธรรม ๓๗”
ว่าถึงที่รวมกันเข้านี้จะมีจำนวนเท่าไร ก็สุดแต่หมวดหมู่ที่สังกัด เช่น ศีล ๒๒๗ อันหมายถึงสิกขาบทที่มาในปาติโมกข์ของภิกษุ ทำไมจึงได้แบ่งจำนวนไว้ต่างๆกันดังนี้ คู่บารมีได้พิจารณาแล้วก็มองเห็นตระหนักว่า ธรรมขันธ์จะมีจำนวนเท่าไรสุดแต่ความจำเป็น ที่จะส่งธรรมออกไปปราบปรามสมุทัยและคู่อาสวะกับพรรคพวก เหมือนอย่างเมื่อเกิดโจรผู้ร้ายขึ้น บางรายก็ส่งตำรวจไปเพียงคนเดียว บางคราวก็สองคน สามคน สี่คน ห้าคน หรือยิ่งกว่า บางคราวต้องส่งกองทหารจำนวนมากออกไปปราบปรามตามความจำเป็น
ในการปราบปรามสมุทัยกับคู่อาสวะและพรรคพวกก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเรื่องที่พวกนี้ก่อขึ้น ก็ส่งธรรมออกปราบตามควรแก่เหตุ บางคราวข้อเดียวก็พอระงับเหตุ บางคราวก็สองข้อหรือหลายข้อ สุดแต่ว่าจะระงับเหตุได้อย่างไร ฉะนั้น เมื่อประเมินเหตุการณ์หลายๆคราวที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์พระบรมครูได้ทรงส่งธรรมออกไประงับดับเหตุการณ์ ตามความเหมาะสมของแต่ละครั้งคราว จึงได้ธรรมต่างข้อต่างประการกันมากมาย
คู่บารมีครั้นตรองเห็นความประจักษ์ดังนี้ ก็ยิ่งซาบซึ้งในพระธรรมคุณ ซึ่งทรงกำลังไม่มีประมาณ ไม่มีจำนวน อาจจะจำแนกว่าเท่าไรๆก็ได้ แต่ไม่มีหมดสิ้น เช่นว่ามิใช่ว่าจะหมดสิ้นเพียงแปดหมื่นสี่พันเท่านั้น อีกกี่แปดหมื่นสี่พันก็ไม่หมดสิ้น จำเป็นที่จะส่งออกไประงับเหตุการณ์เท่าใด ก็ส่งออกไปได้เท่านั้นทันที แล้วก็กลับมารวมกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กองทัพใดไม่มีกำลังเสมอเหมือนกองทัพธรรม ผู้ไม่ปรารถนาความพ่ายแพ้ในชีวิต จึงต้องศึกษาธรรม อบรมธรรม ปฏิบัติธรรม ให้เกิดกองทัพธรรมขึ้นในตน จักได้มีชัยชำนะในชีวิตยั่งยืนอย่างยิ่ง
• กองทัพใหญ่มรรค
คู่บารมีได้ตรองเห็นความทรงกำลังอันไม่มีประมาณแห่งธรรม มีความมั่นใจไม่หวั่นไหว ว่าจะต้องปราบคู่อาสวะและสมุทัยลงได้แน่นอน จึงได้ตรวจดูกำลังที่ส่งเข้าประจำไว้ในจิตตนครโดยลำดับมาแล้ว คือ ศีล หิริ โอตตัปปะ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ การชำระจิตจากนิวรณ์ห้า และสัมมาทิฐิ ผู้แก้ความเห็นผิดต่างๆ เป็นต้น กำลังต่างๆเหล่านี้ก็ได้เข้าตั้งมั่นอยู่ในจิตตนครตามสมควรแล้ว ยากที่สมุทัยกับพรรคพวกจะทำลายขับไล่ออกไปได้
ทั้งนครสามีเองก็รับรองให้อาศัยอยู่ในจิตตนครเป็นการถาวรแล้ว และเริ่มมีศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระบรมครู คู่บารมีก็มีโอกาสเข้าพบสนทนาหารือกิจการต่างๆบ่อยๆ ไม่น้อยกว่าคู่อาสวะหรืออาจจะมากกว่า
ครั้นได้ตรองเห็นดังนั้น ได้ดำริว่าควรจะส่งอัปปนาสมาธิและญาณทัสสนะ หรือที่มีนามเรียกกันโดยมากว่า “สมถ-วิปัสสนา” เข้าไปได้ แต่ก็ได้คิดว่า ควรจะจัดรวมกำลังที่ส่งเข้าไปแล้วและที่จะส่งเข้าไปอีก ให้เป็นหมวดหมู่เหมือนอย่างการจัดกองทัพของชาติ การที่จะปล่อยให้กระจัดกระจายกันอยู่ โดยขาดการประสานงานกัน ก็จะอ่อนกำลัง ไม่เข้มแข็ง จึงได้กราบทูลความดำรินี้แด่องค์พระบรมครู
พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระมหากรุณาตรัสอนุสาสน์ ให้รวมกำลังเป็น “มรรคมีองค์ ๘” เท่ากับรวมกำลังเข้าเป็นกองทัพใหญ่อันเดียว แต่ประกอบด้วยกองทัพที่สังกัดอยู่ด้วย ๘ กองทัพ ได้แก่ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ๑
และได้ตรัสสอนวิธีต่อสู้ต่างๆ ซึ่งจะต้องจัดกำลังออกไปในรูปต่างๆ เป็นกองใหญ่บ้างเล็กบ้าง คล้ายกับกลยุทธ์หรือยุทธวิธีของทหาร แต่ละยุทธวิธีมีแบบลักษณะและชื่อเรียกต่างๆ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง ทุกวิธีเหล่านี้รวมกันเข้าเรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ”
จะใช้วิธีไหนอย่างไรสุดแต่ข้าศึกที่จะปราบปราม แต่กำลังที่จะปราบปรามได้ผลดีที่สุดนั้น ต้องเป็นกำลังสามัคคี เช่น มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องเป็น “มรรคสมังคี” คือมรรคสามัคคีนั้นเอง เมื่อสามัคคีกันอย่างละเอียดประณีต อย่างปรมาณู จะมีกำลังมหาศาล ปราบปรามอาสวะสมุทัยได้หมดสิ้นในชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
นึกถึงระเบิดปรมาณู เมื่อระเบิดขึ้น ก็มีพลังทำลายสิ่งทั้งปวงภายในรัศมีพินาศไปชั่วแวบเดียวเท่านั้น พลังแห่งมรรคสมังคีแรงและเร็วกว่านั้น แต่เป็นพลังที่ทำลายความชั่วถึงถอนราก ทำให้เป็น “ขีณาสวะ” ผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิง
ธรรมของพระพุทธองค์ทรงคุณ ทรงพลัง มหัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บรรดาผู้เชิญธรรมของพระพุทธองค์ไปใช้ ย่อมได้ประจักษ์ผลด้วยตนเอง ย่อมควรรำลึกถึงพระกรุณาคุณที่โปรดประทานธรรมไว้ เป็นเครื่องปราบอธรรมคือความชั่ว โดยเฉพาะความชั่วในใจตน ที่จะปราบด้วยอะไรอื่นนอกจากด้วยธรรมหาได้ไม่
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
• ธรรมขันธ์
การรณรงค์ระหว่างคู่บารมีกับคู่อาสวะและสมุทัย ซึ่งตลอดเวลาปรากฏผลไม่แน่นอน คือผลัดกันเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะเรื่อยมา เป็นเหตุให้คู่บารมีเห็นว่า จำจะต้องหาทางปราบปรามคู่อาสวะกับสมุทัยและพรรคพวกให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้น เหตุการณ์ก็เป็นอนิยต คือไม่แน่นอน
ฝ่ายคู่บารมีครั้นได้ดำริตริตรองอยู่ว่า จะปราบคู่อาสวะกับสมุทัยลงได้ด้วยประการไร ก็ระลึกขึ้นได้ถึงธรรมขันธ์ทั้งปวงขององค์พระบรมครู ซึ่งเป็นกองทัพอันทรงพลังยิ่งใหญ่ที่สุด สัจจะทั้งปวงได้รวมอยู่ในธรรมขันธ์ คล้ายกับต้นไม้ ภูเขา บ้านเมือง ป่าดงพงไพร ตลอดถึงมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย รวมอยู่บนพื้นแผ่นปฐพีนี้ทั้งสิ้น
อันที่จริง ศีลกับพรรคพวกก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมขันธ์ ซึ่งองค์พระบรมครูได้ทรงอนุญาตให้ส่งเข้าไปสู่จิตตนคร ธรรมขันธ์นี้มีจำแนกเป็นกองเป็นเหล่าต่างๆกัน เช่น จำแนกออกเป็นแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ แบ่งจำนวนออกตามปิฎกทั้ง ๓ ดังนี้ วินัยปิฎก สองหมื่นหนึ่งพันธรรมขันธ์ สุตตันตปิฎก สองหมื่นหนึ่งพันธรรมขันธ์ อภิธรรมปิฎก สี่หมื่นสองพันธรรมขันธ์ เท่ากับแบ่งออกเป็น ๓ เหล่า
บางทีก็แบ่งออกเป็น ๕ ธรรมขันธ์ คือ สีลขันธ์ กองศีล สมาธิขันธ์ กองสมาธิ ปัญญาขันธ์ กองปัญญา วิมุตติขันธ์ กองวิมุติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ในวิมุตติที่แบ่งเป็น ๕ นี้ เป็นการแบ่งโดยย่อตามประเภทของธรรม คล้ายกับแบ่งกองทัพของชาติออกเป็น ๓ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แต่ละกองทัพก็มีจำนวนทหารประจำการมากมาย เหมือนดังจำนวนแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์นั้น
คู่บารมีระลึกถึงธรรมที่องค์พระบรมครูทรงสั่งสอน ก็ได้เห็นว่ามีปริยายคือนัยต่างๆ บางคราวทรงแสดงเพียงข้อเดียว เท่ากับธรรมขันธ์เดียว บางคราวสองข้อ บางคราวสามข้อ สี่ข้อ ห้าข้อ หกข้อ เจ็ดข้อ แปดข้อ เก้าข้อ สิบข้อ เป็นต้น บางคราวรวมเข้าสามสิบเจ็ดข้อ เช่น “โพธิปักขิยธรรม ๓๗”
ว่าถึงที่รวมกันเข้านี้จะมีจำนวนเท่าไร ก็สุดแต่หมวดหมู่ที่สังกัด เช่น ศีล ๒๒๗ อันหมายถึงสิกขาบทที่มาในปาติโมกข์ของภิกษุ ทำไมจึงได้แบ่งจำนวนไว้ต่างๆกันดังนี้ คู่บารมีได้พิจารณาแล้วก็มองเห็นตระหนักว่า ธรรมขันธ์จะมีจำนวนเท่าไรสุดแต่ความจำเป็น ที่จะส่งธรรมออกไปปราบปรามสมุทัยและคู่อาสวะกับพรรคพวก เหมือนอย่างเมื่อเกิดโจรผู้ร้ายขึ้น บางรายก็ส่งตำรวจไปเพียงคนเดียว บางคราวก็สองคน สามคน สี่คน ห้าคน หรือยิ่งกว่า บางคราวต้องส่งกองทหารจำนวนมากออกไปปราบปรามตามความจำเป็น
ในการปราบปรามสมุทัยกับคู่อาสวะและพรรคพวกก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเรื่องที่พวกนี้ก่อขึ้น ก็ส่งธรรมออกปราบตามควรแก่เหตุ บางคราวข้อเดียวก็พอระงับเหตุ บางคราวก็สองข้อหรือหลายข้อ สุดแต่ว่าจะระงับเหตุได้อย่างไร ฉะนั้น เมื่อประเมินเหตุการณ์หลายๆคราวที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์พระบรมครูได้ทรงส่งธรรมออกไประงับดับเหตุการณ์ ตามความเหมาะสมของแต่ละครั้งคราว จึงได้ธรรมต่างข้อต่างประการกันมากมาย
คู่บารมีครั้นตรองเห็นความประจักษ์ดังนี้ ก็ยิ่งซาบซึ้งในพระธรรมคุณ ซึ่งทรงกำลังไม่มีประมาณ ไม่มีจำนวน อาจจะจำแนกว่าเท่าไรๆก็ได้ แต่ไม่มีหมดสิ้น เช่นว่ามิใช่ว่าจะหมดสิ้นเพียงแปดหมื่นสี่พันเท่านั้น อีกกี่แปดหมื่นสี่พันก็ไม่หมดสิ้น จำเป็นที่จะส่งออกไประงับเหตุการณ์เท่าใด ก็ส่งออกไปได้เท่านั้นทันที แล้วก็กลับมารวมกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กองทัพใดไม่มีกำลังเสมอเหมือนกองทัพธรรม ผู้ไม่ปรารถนาความพ่ายแพ้ในชีวิต จึงต้องศึกษาธรรม อบรมธรรม ปฏิบัติธรรม ให้เกิดกองทัพธรรมขึ้นในตน จักได้มีชัยชำนะในชีวิตยั่งยืนอย่างยิ่ง
• กองทัพใหญ่มรรค
คู่บารมีได้ตรองเห็นความทรงกำลังอันไม่มีประมาณแห่งธรรม มีความมั่นใจไม่หวั่นไหว ว่าจะต้องปราบคู่อาสวะและสมุทัยลงได้แน่นอน จึงได้ตรวจดูกำลังที่ส่งเข้าประจำไว้ในจิตตนครโดยลำดับมาแล้ว คือ ศีล หิริ โอตตัปปะ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ การชำระจิตจากนิวรณ์ห้า และสัมมาทิฐิ ผู้แก้ความเห็นผิดต่างๆ เป็นต้น กำลังต่างๆเหล่านี้ก็ได้เข้าตั้งมั่นอยู่ในจิตตนครตามสมควรแล้ว ยากที่สมุทัยกับพรรคพวกจะทำลายขับไล่ออกไปได้
ทั้งนครสามีเองก็รับรองให้อาศัยอยู่ในจิตตนครเป็นการถาวรแล้ว และเริ่มมีศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระบรมครู คู่บารมีก็มีโอกาสเข้าพบสนทนาหารือกิจการต่างๆบ่อยๆ ไม่น้อยกว่าคู่อาสวะหรืออาจจะมากกว่า
ครั้นได้ตรองเห็นดังนั้น ได้ดำริว่าควรจะส่งอัปปนาสมาธิและญาณทัสสนะ หรือที่มีนามเรียกกันโดยมากว่า “สมถ-วิปัสสนา” เข้าไปได้ แต่ก็ได้คิดว่า ควรจะจัดรวมกำลังที่ส่งเข้าไปแล้วและที่จะส่งเข้าไปอีก ให้เป็นหมวดหมู่เหมือนอย่างการจัดกองทัพของชาติ การที่จะปล่อยให้กระจัดกระจายกันอยู่ โดยขาดการประสานงานกัน ก็จะอ่อนกำลัง ไม่เข้มแข็ง จึงได้กราบทูลความดำรินี้แด่องค์พระบรมครู
พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระมหากรุณาตรัสอนุสาสน์ ให้รวมกำลังเป็น “มรรคมีองค์ ๘” เท่ากับรวมกำลังเข้าเป็นกองทัพใหญ่อันเดียว แต่ประกอบด้วยกองทัพที่สังกัดอยู่ด้วย ๘ กองทัพ ได้แก่ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ๑
และได้ตรัสสอนวิธีต่อสู้ต่างๆ ซึ่งจะต้องจัดกำลังออกไปในรูปต่างๆ เป็นกองใหญ่บ้างเล็กบ้าง คล้ายกับกลยุทธ์หรือยุทธวิธีของทหาร แต่ละยุทธวิธีมีแบบลักษณะและชื่อเรียกต่างๆ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง ทุกวิธีเหล่านี้รวมกันเข้าเรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ”
จะใช้วิธีไหนอย่างไรสุดแต่ข้าศึกที่จะปราบปราม แต่กำลังที่จะปราบปรามได้ผลดีที่สุดนั้น ต้องเป็นกำลังสามัคคี เช่น มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องเป็น “มรรคสมังคี” คือมรรคสามัคคีนั้นเอง เมื่อสามัคคีกันอย่างละเอียดประณีต อย่างปรมาณู จะมีกำลังมหาศาล ปราบปรามอาสวะสมุทัยได้หมดสิ้นในชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
นึกถึงระเบิดปรมาณู เมื่อระเบิดขึ้น ก็มีพลังทำลายสิ่งทั้งปวงภายในรัศมีพินาศไปชั่วแวบเดียวเท่านั้น พลังแห่งมรรคสมังคีแรงและเร็วกว่านั้น แต่เป็นพลังที่ทำลายความชั่วถึงถอนราก ทำให้เป็น “ขีณาสวะ” ผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิง
ธรรมของพระพุทธองค์ทรงคุณ ทรงพลัง มหัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บรรดาผู้เชิญธรรมของพระพุทธองค์ไปใช้ ย่อมได้ประจักษ์ผลด้วยตนเอง ย่อมควรรำลึกถึงพระกรุณาคุณที่โปรดประทานธรรมไว้ เป็นเครื่องปราบอธรรมคือความชั่ว โดยเฉพาะความชั่วในใจตน ที่จะปราบด้วยอะไรอื่นนอกจากด้วยธรรมหาได้ไม่
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)