xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : พระพุทธศาสนาสอนด้วยอาการ ๓ อย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในการสดับและปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

วันนี้จักได้บรรยายธรรมะคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงสอนด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
๒. ทรงสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. ทรงสอนเป็นอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่การปฏิบัติ


พระพุทธเจ้าแม้จะเสด็จอุบัติขึ้นในท่ามกลางนักสอนศาสนา ที่มีแนวคิดผิดแผกกันหลายๆท่าน แต่พระองค์ก็ทรงสอนธรรมะที่ไม่ซ้ำกับเจ้าลัทธิเหล่านั้น และธรรมะที่เจ้าลัทธิเหล่านั้นสอน สิ่งนั้นก็มีสอนในพระพุทธศาสนาแทบทุกอย่าง แต่ว่ามีลักษณะแตกต่างกัน เช่นครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลมาณพกำลังไหว้ทิศต่างๆอยู่ เมื่อทรงซักถามก็ได้ความว่า ทำตามคำสอนของบิดามารดา และพระองค์ตรัสกับสิงคาลมาณพว่า คำสอนของพระองค์ก็มีสอนให้ไหว้ทิศเหมือนกัน แต่มิได้สอนให้ไหว้ทิศจริงๆ เพราะการไหว้ทิศจริงๆไม่มีประโยชน์ พระองค์สอนให้ไหว้ทิศอย่างที่มีคุณประโยชน์ เห็นได้พิสูจน์ได้ว่าดีจริงๆคือ

ให้ไหว้ ทิศเบื้องหน้า คือ บิดามารดา ด้วยการให้ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาของตนให้มีความสุข เช่น ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราต้องเลี้ยงท่านตอบ ๒. ทำกิจการงานแทนท่าน ๓. ดำรงวงศ์ตระกูล ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก ๕. เมื่อท่านตายล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศไปให้ท่าน

หรือไหว้ ทิศเบื้องขวา ด้วยการให้ปฏิบัติบำรุง ครูอาจารย์ ให้เป็นสุข เช่น ๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๒. ด้วยเข้าไปยืนรับใช้ ๓. ด้วยเชื่อฟัง ๔. ด้วยอุปัฏฐาก ๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

หรือไหว้ ทิศเบื้องซ้าย ด้วยการปฏิบัติบำรุง มิตรสหาย ให้เป็นสุข เช่น ๑. ด้วยให้ปัน ๒. ด้วยเจรจา ด้วยคำไพเราะ ๓. ด้วยประพฤติประโยชน์แก่กัน ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๕. ด้วยความไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

ไหว้ ทิศเบื้องหลัง สามีพึงปฏิบัติบำรุงภรรยา ให้เป็นสุข เช่น ๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

ไหว้ ทิศเบื้องต่ำ ด้วยการปฏิบัติบำรุงเลี้ยงดู บริวารคนใช้ ให้เป็นสุข เช่น ๑. ด้วยการจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล ๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกให้กิน ๕. ด้วยปล่อยให้เป็นอิสระในสมัย

ไหว้ ทิศเบื้องบน ด้วยการปฏิบัติบำรุงเลี้ยงดู สมณะชีพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เช่น ๑. ด้วยกายกรรม คือทำอะไรๆประกอบด้วยเมตตา ๒. ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไรๆประกอบด้วยเมตตา ๓. ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไรๆประกอบด้วยเมตตา ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน ๕. ด้วยให้อามิสทาน

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไหว้ทิศดังพรรณนามานี้ จะเห็นได้ชัดว่า มีคุณมีประโยชน์ทั้งแก่ผู้ไหว้และแก่ผู้รับไหว้ จะได้ทำหน้าที่ของตนๆให้ดี สมกับที่เป็นบิดารมารดากับบุตรธิดา อาจารย์กับศิษยานุศิษย์ มิตรกับมิตร สามีกับภรรยา นายกับคนใช้ สมณะชีพราหมณ์กับพุทธศาสนิกชนผู้เคารพนับถือ

หรือบางศาสนาสอนในเรื่องเทวดา เรื่องพรหม ที่มีอยู่บนฟ้าบนสวรรค์ เมื่อบุคคลทำความดีถึงขนาด เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมบนสวรรค์ หรือเมื่อเจริญสมาธิภาวนาก็จะไปเกิดอยู่ร่วมกับพวกพรหม เทวดา และพรหมอยู่ที่ไหน? ใครเล่าจะพิสูจน์ให้เห็นได้?

แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนเป็นเทวดาเป็นพรหม ด้วยความประพฤติดีประพฤติชอบ รู้เห็นกันได้ในโลกนี้ เช่น ทรงสอนว่า ผู้ใดมีกายวาจาใจดีครบไตรทวาร ที่เรียกว่า สุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีหิริความละอายใจ อดสูใจ มีโอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาป ความชั่ว ผู้นั้นเป็นเทพหรือเป็นเทวดาโดยความประพฤติ ดังพระพุทธภาษิตว่า

หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนาสุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเกเทวธมฺมาติ วุจฺจเร


แปลความว่า ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยหิริโอตัปปะ สมาทานสุกกธรรม ธรรมขาวคือสุจริต ๓ อย่าง เรา (ตถาคต) เรียกผู้นั้นว่า ผู้ทรงเทวธรรม ดังนี้ หรือถ้าผู้ใดมาประพฤติธรรมะ ๔ ข้อ คือ เมตตา ความปรารถนาสุขแก่ผู้อื่น ๑ มีกรุณาความสงสารเห็นคนอื่นสัตว์อื่นมีทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ทนอยู่ไม่ได้ คิดช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์ ๑ มีมุทิตาพลอยร่าเริงยินดีกับลาภยศสรรเสริญของคนอื่น ไม่อิจฉาริษยาเขา ๑ มีอุเบกขาเที่ยงตรงมัธยัสถ์ เป็นคนยุติธรรม ไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว หรือเพราะหลง ๑ เหมือนบิดามารดาที่มีธรรมะทั้ง ๔ นี้แก่บุตรธิดาของตนๆ ก็เป็นพระพรหมของบุตรธิดา ถ้ามีต่อคนทั่วไป ก็เป็นพระพรหมของโลก

พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นวิสุทธิเทพวิสุทธิพรหม คือเป็นเทวดาเป็นพรหม โดยความหมดจากกิเลสและกองทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ คนก็เข้าใจได้ว่า การจะเป็นเทวดาเป็นพรหมมีอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ความดีเด่นข้อนี้ ชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาด ทรงใช้หลักการสอนแหลมคม มีเหตุมีผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ ด้วยทรงมุ่งสอนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ซึ่งมนุษย์สามัญสามารถจะประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงๆ แม้เรื่องเทวดาเรื่องพระพรหม ซึ่งอยู่เบื้องสูงบนฟ้าบนสวรรค์ สุดเอื้อมของมนุษย์ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนเหนี่ยวรั้งลงมาให้คนธรรมดาสามัญเอื้อมถึงจนได้ จึงมีคุณน่าอัศจรรย์จริง คือประสบผลโดยสมควรแก่การปฏิบัติ เป็นการสอนปรัชญาจากฟ้ามาดิน ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ดูเหลือวิสัยให้อยู่ในวิสัย

ดังนั้น ผู้จะศึกษาปฏิบัติกิจกรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อไปพบเห็นสิ่งที่เหมือนกัน หรือขัดแย้งกันระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะให้ออกว่า ความหมายที่แท้จริงในเรื่องนั้นๆ ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เช่น ในเรื่องการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์ หรือการรดน้ำมนต์อาบน้ำมนต์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นไสยศาสตร์ของขลัง อาจชำระล้างมลทินเสนียดจัญไรได้

อันที่จริง พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ ว่าไม่สามารถชำระล้างคนทำชั่วให้หมดมลทิน หรือลบล้างเสนียดจัญไรให้คนบริสุทธิ์ได้ สิ่งจะชำระล้างมลทินได้อย่างแท้จริงนั้นคือ ธรรมะหรือศีลธรรมในพระพุทธศาสนา ดังมีเรื่องปรากฏในวัตถูปมสูตรมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

มีพราหมณ์ผู้หนึ่งไปชวนพระพุทธเจ้า ให้ไปอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ชื่อว่าแม่น้ำพหุกา อันชาวโลกนับถือและชนเป็นอันมากเชื่อกันว่า เป็นบุญนที เป็นที่ลอยบาปกรรมที่ทำแล้วได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบพราหมณ์ว่า คนพาลคนโง่ที่ทำชั่วแล้ว แม้ไปอาบน้ำที่แม่น้ำพหุกา แม่น้ำอธิกา แม่น้ำคยา แม่น้ำสุทธิกา แม่น้ำสรัสสตี แม่น้ำปายาคะ หรือแม่น้ำพหุมตี ก็ไม่พึงทำคนพาลคนโง่ ผู้มีเวร มีกรรมหยาบช้า ให้หมดจดบริสุทธิ์ได้ มงคลฤกษ์ในเดือนมีนาคม อุโบสถการจำศีลตามระยะกาลมีกำหนด และวัตรคือความประพฤติ ย่อมสำเร็จแก่ผู้บริสุทธิ์ มีการงานสะอาดทุกเมื่อ

ทรงชักชวนให้มาอาบน้ำในธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานี้ ก็จะทำความเกษมในสัตว์ทั้งหลาย คือ ถ้าไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อตามเหตุผล เป็นผู้ไม่ตระหนี่ ดังนี้เป็นต้น การอาบน้ำในแม่น้ำคยา เป็นต้น จะช่วยชำระล้างบาปได้อย่างไร

พระพุทธพจน์อันประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์มิได้อยู่ที่น้ำ แต่อยู่ที่ความประพฤติ ถ้าบุคคลประพฤติกายวาจาใจให้บริสุทธิ์แล้ว แม้น้ำดื่มในถ้วยแก้วก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปโดยไม่ต้องไปหาน้ำที่แม่น้ำไหนๆ ถ้าจะถามแย้งว่า ก็เมื่อพระพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่ไฉนในวงการคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันจึงมีการทำน้ำมนต์ ทั้งในงานมงคล ทั้งในงานอวมงคล เช่น ทำน้ำมนต์ปัดรังควาน หรือไล่ผีปีศาจ ตลอดถึงงานทำบุญอายุ ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

เรื่องน้ำมนต์นี้ เดิมทีเป็นเรื่องของลัทธิศาสนาอื่น มิใช่ของพระพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธในสมัยหนึ่งต้องการให้มีพิธีอย่างนี้ พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นจึงอนุโลมตามมา แต่มิใช่เป็นทางไสยศาสตร์ แต่ใช้คาถาหรือบทสวดทำน้ำมนต์เป็นธรรมคำสอน แสดงข้อปฏิบัติดีๆทั้งสิ้น ในเรื่องนี้มีสิ่งสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือน้ำอย่างหนึ่ง มนต์อย่างหนึ่ง น้ำไม่สู้สำคัญนัก จะใช้น้ำในแม่น้ำลำคลอง ในตุ่ม ในบ่อที่หาได้ง่าย สิ่งสำคัญอยู่ที่มนต์หรือคาถา เพราะถ้าเสกหรือท่องมนต์หยดเทียนลงในน้ำแล้ว น้ำธรรมดาก็กลายเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ไป

มนต์ที่ใช้ในทางไสยศาสตร์ล้วนๆ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอม” ซึ่งเป็นคำขึ้นต้นของศาสนาอื่น เนื้อหาของมนต์ทางไสยศาสตร์เป็นทำนองอ้อนวอนขอร้อง เชื้อเชิญเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ขอให้ช่วยดลบันดาลให้น้ำมนต์ขลัง สามารถกำจัดสิ่งร้ายๆเป็นเสนียดจัญไรเคราะห์ร้ายของผู้รดผู้อาบ หายทุกข์ หายโศกหายโรค ปราศจากภัยอันตราย

แต่ในทางพุทธศาสนา มนต์หรือคาถาที่พระสงฆ์สังวัธยายนั้น เป็นภาษาบาลี ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็จะได้เนื้อหาสาระเป็นธรรมะทั้งนั้น แสดงถึงข้อปฏิบัติดีทั้งสิ้น เป็นคำสอน มิใช่คำอ้อนวอนขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลเหมือนศาสนาอื่น เช่น บทสวดในมงคลสูตรขึ้นต้นว่า “อเสวนา จ พาลานํ” การไม่สมาคมคบหาคนชั่ว ๑, ปณฺฑิตานญฺจเสวนา การสมาคมกับบัณฑิตคนฉลาด ๑, ปูชา จ ปูชนียานํ การบูชาท่านที่ควรบูชา ๑, เอตมฺมงฺคลมุตตมํ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

แต่ละอย่างๆนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงมนต์หรือคาถาบทเดียว ก็ได้ข้อปฏิบัติเป็น ๓ ข้อ คือไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต และบูชาท่านผู้ควรบูชา นับเป็นสิริมงคลอันเลิศ แสดงว่ามนต์ในทางพระพุทธศาสนา ใช้แสดงข้อปฏิบัติในข้อปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ เช่น การใช้เสียงสวดทางไสยศาสตร์ ใช้เสียงสวดเบาๆ หรือภาวนาในใจ เพราะพูดกับเทพเจ้า ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง แต่การสวดในทางพระพุทธศาสนา ใช้สวดออกเสียงดังพอสมควร เพราะพูดกับมนุษย์ หรือพูดให้คนฟัง มิใช่พูดกับเทพเจ้า ส่วนด้ายสายสิญจน์ที่ใช้วงขันน้ำมนต์หรือหม้อน้ำมนต์นั้น เวลาจับด้ายสายสิญจน์เที่ยวแรกควบ ๓ เส้น ก็ใช้บริกรรมด้วยคาถา ๓ คำ คือ อิ, สวา, สุ ซึ่งเป็นคำย่อคุณพระศรีรัตนตรัย หรือถ้าจับ ๒ เที่ยวควบด้าย ๙ เส้น ก็ใช้คาถาบริกรรมว่า อ, สํ, วิ, สุ, โล, ปุ, ส, พุ, ภ, ซึ่งเรียกว่าหัวใจพระพุทธคุณ ๙ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาดูความแตกต่างในความสำคัญส่วนใหญ่ คือเรื่องตัวมนต์ และข้อปลีกย่อยเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ทางพระพุทธศาสนามิได้ทำสิ่งใดๆไร้เหตุผล ในที่ทุกแห่งแม้จะยากต่อการพิสูจน์ หรือมีสอนกันอยู่แล้ว ก็ทรงแทรกหลักธรรมเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ

อนึ่ง จุดประสงค์ของการรดหรืออาบน้ำมนต์ ก็เพื่อชำระล้างสิ่งไม่เป็นมงคลหรือบาปเคราะห์ ทางไสยศาสตร์ถือว่าน้ำที่เสกด้วยมนต์เป็นของขลัง สามารถชำระล้างสิ่งชั่วร้ายจากกายของผู้อาบ หรือผู้ถูกรดด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ไม่มีข้อพิสูจน์

ส่วนมนต์ในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องข้อปฏิบัติ มิใช่คำอ้อนวอนขอร้องให้ช่วย ฉะนั้น เมื่อเราอาบน้ำมนต์หรือถูกรดด้วยน้ำมนต์ อันเป็นวิธีสมมติในภายนอกแล้วไม่หยุดเพียงเท่านั้น ควรนำเอาตัวมนต์หรือคาถาที่พระสงฆ์สวดหรือสังวัธยายนั้น ไปอาบหรือรดจิตใจ คือปฏิบัติตามคำสอนหรือคำแปลนั้น ด้วยกายวาจาใจ ก็เท่ากับอาบน้ำมนต์ด้วยกาย อาบจิตใจด้วยการปฏิบัติพร้อมกันอีกชั้นหนึ่ง เคราะห์ร้าย เสนียดจัญไรโรคภัยไข้เจ็บจึงจะหลุดหายออกไป

ถ้าอาบน้ำมนต์เพียงกายเท่านั้น สิ่งที่จะหลุดหายไปก็มีแต่เพียงเหงื่อไคล อันเป็นมลทินกายภายนอก กายวาจาใจเคยประพฤติปฏิบัติอย่างไร ก็คงปกติเดิม

ต้องปฏิบัติละบาปบำเพ็ญบุญ ละชั่วประพฤติดี พร้อมกันกับการอาบน้ำมนต์ เสนียดจัญไรหรือบาปเคราะห์จึงจะหมดไป ตนเองก็จะบริสุทธิ์สะอาด ข้อนี้ขออ้างพระพุทธภาษิต ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานในขณะทอดพระเนตรเห็นคนเป็นอันมาก พากันอาบน้ำดำเกล้าในแม่น้ำ ฯลฯ ไว้ว่า

“ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ซึ่งคนส่วนมากพากันอาบ ผู้ใดมีสัจจะและธรรมะ ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด เป็นผู้ประเสริฐ ดังนี้”

ขอยุติคำบรรยาย เรื่องพระพุทธศาสนาสอนด้วยอาการ ๓ อย่าง ไว้เพียงเท่านี้

(จากการบรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น