xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : บุญบันเทิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ผู้ทำบุญไว้ย่อมบันเทิงในโลกนี้ บันเทิงในโลกหน้า ชื่อว่าบันเทิงในโลกทั้งสอง เขาเห็นกรรมที่บริสุทธิ์ของตนย่อมบันเทิงยินดี”

พระพุทธภาษิตนี้แสดงถึงผลที่ผู้ทำบุญไว้ได้รับ ซึ่งตรงกันข้ามผลที่ผู้ทำบาปไว้ได้รับ และแสดงให้เห็นว่า คติของผู้ทำบุญก็เช่นกันกับคติของผู้ทำบาป คือย่อมมีอยู่ตั้งแต่ในโลกนี้ จะกล่าวว่ามีตั้งแต่ทำก็ได้ คือ ทำบาปเมื่อใด ทางดำเนินก็เป็นทุคติคือคติที่ชั่วเมื่อนั้น ทำบุญเมื่อใด ทางดำเนินก็เป็นสุคติคือคติที่ดีเมื่อนั้น คือในปัจจุบันทันทีนั่นเอง ที่การทำบุญและการทำบาปจะให้ผล มิได้ชักช้า อยู่แต่ที่ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ก็เพราะถูกบังคับอยู่ด้วยผลของกรรมเก่าที่แรงกว่าบ้าง เพราะกิเลสในจิตใจทำให้แลไม่เห็นตามความเป็นจริงบ้าง

อาจยกตัวอย่างได้ว่า ร่างกายที่ยังแข็งแรง เมื่อมีโรคอะไรเริ่มเกิดขึ้น สมมติว่าเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ขึ้น เริ่มแรกก็ต้องไม่รู้ เพราะความแข็งแรงทั่วไปของร่างกายต้านทานอยู่ กำลังของโรคร้ายแรงกว่ากำลังต้านทานเมื่อใด เมื่อนั้นจึงปรากฏอาการของโรคให้รู้ แต่ก็อาจสายเกินไปได้

ส่วนแพทย์หากได้ตรวจดูอาการเมื่อใด แม้เมื่อเป็นอาการเริ่มแรกก็อาจรู้ได้ เพราะแพทย์เป็นผู้มีความรู้ มิใช่เป็นผู้ไม่มีความรู้ในเรื่องของโรค ถ้าจะเปรียบในที่นี้ก็อาจเปรียบได้ว่า แพทย์ไม่มีกิเลส คือ แพทย์เป็นผู้มีความรู้ถูกในเรื่องของโรค ส่วนผู้มิใช่แพทย์ มีเพียงความหลงในเรื่องของโรค แพทย์จึงรู้อาการของโรค ผู้มิใช่แพทย์ไม่รู้การให้ผลของกรรมทั้ง ๒ ประการ คือกรรมดีและกรรมชั่ว หรือบุญและบาป ก็เป็นเช่นนี้ เจ้าตัวเองอาจไม่เห็นผลที่เกิดแล้วทันที เพราะอาจไปเห็นผลที่แรงกว่าเสียหมด ทั้งนี้ เพราะมีกิเลสโดยเฉพาะคือปิดบังความเห็นถูกไว้

แต่ผู้มีปัญญา มีความเห็นถูก ย่อมเห็นผลของกรรมดีและกรรมชั่วที่เกิดขึ้นได้ทันทีเสมอไป ผู้มีปัญญาเห็นได้เช่นนั้น จึงเชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ผู้ทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น

ผู้มีปัญญาจึงพยายามทำแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ตรงกันข้ามกับผู้ขาดปัญญาเห็นตามความจริงแม้เพียงสมควร คือไม่เห็นแม้เพียงที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้จริงในเรื่องกรรมและผลของกรรม จึงทำกรรมทุกอย่างไปตามชอบใจ มิได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนแล้วจึงทำ ไม่พยายามทำแต่กรรมดี ไม่พยายามละเว้นกรรมชั่ว เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าต้องทำเช่นนั้นทำไม ผลก็คือผู้ที่เชื่อกรรม และผลของกรรม ย่อมประกอบกรรมอันจะนำไปสู่ความสุข ส่วนผู้ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมย่อมประกอบกรรมอันจะนำไปสู่ความทุกข์

เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับทุกชีวิต ผู้เชื่อกรรมก็คือผู้เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้านั่นเอง เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมที่กล่าวถึงกรรมดีกรรมชั่วตลอด ส่วนผู้ไม่เชื่อกรรมก็คือผู้ไม่เชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะดังกล่าวแล้วธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น กล่าวถึงเรื่องกรรมโดยตลอด ทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว

ผู้มาบริหารจิตทั้งหลายพึงได้พิจารณาความจริงนี้ แม้ท่านผู้ใดไม่เชื่อกรรม ก็ไม่เชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง เป็นศาสนิกของพระพุทธองค์ไม่เชื่อธรรมะของพระพุทธองค์แล้ว จะเป็นศาสนิกที่เคารพพระพุทธองค์ในแง่ไหนจุดไหน

พระพุทธองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคารพของโลก ก็เพราะพระธรรมที่ทรงค้นพบที่ตรัสรู้ มิได้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าด้วยเหตุอื่น ธรรมของพระพุทธองค์จึงมีค่าล้ำเลิศ อันเป็นเหตุให้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนทั่วโลกทั้งหลาย

จะขึ้นชื่อว่าเคารพเทิดทูนพระองค์ท่านได้อย่างไร หากไม่เชื่อธรรมที่ตรัสรู้ คือ ไม่เชื่อกรรมที่ทรงสอนไว้ในธรรมโดยตลอด ไม่เชื่อเรื่องของกรรม ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ก็เท่ากับไม่เชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า เหมือนไม่เคารพเทิดทูนพระพุทธเจ้าในความเป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง

(ข้อมูลจากหนังสือการบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น