Beauty and The Beast หรือ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร คือ หนึ่งในเทพนิยายสุดคลาสสิกของค่ายดิสนีย์ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในรูปแบบแอนิเมชั่น ถูกนำมาสร้างใหม่ในรูปแบบคนแสดง
เรื่องราวเริ่มต้นที่ปราสาทโอ่อ่าท่ามกลางป่าลึก ของเจ้าชายรูปงามองค์หนึ่ง ซึ่งโปรดปรานงานเลี้ยงหรูหรา เฉกเช่นในค่ำคืนที่พายุฝนภายนอกกระหน่ำ แต่ภายในงานเลี้ยงยังเต็มไปด้วยความครื้นเครง แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้งานเลี้ยงต้องหยุดชะงักก็เกิดขึ้น เมื่อหญิงชราท่าทางซอมซ่อคนหนึ่ง เข้ามาในงานพร้อมดอกกุหลาบสีแดงสด นางเอ่ยกับเจ้าชายรูปงามว่า ขอเข้ามาหลบพายุฝนให้คลายหนาว พลางยื่นดอกกุหลาบแดงเป็นการตอบแทน แต่ทว่าเจ้าชายกลับเปล่งเสียงหัวเราะเยาะเย้ยหญิงชรา
เมื่อเจ้าชายแสดงออกถึงการไร้น้ำใจต่อความลำบากของผู้อื่น เพียงเพราะรูปกายภายนอก ความจริงจึงปรากฏ หญิงชรากลายร่างเป็นผู้วิเศษ มอบบทลงโทษเจ้าชายรูปงาม ด้วยการสาปให้กลายเป็นอสูร รวมทั้งเหล่าข้าทาสบริวาร ที่ไม่มีใครแนะนำหรือห้ามปรามพฤติกรรมของเจ้าชาย ให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และร่ายเวทมนตร์ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆ หลงลืมความทรงจำทุกอย่างเกี่ยวกับปราสาทแห่งนี้อีกด้วย
วิธีการถอนคำสาปมีทางเดียว คือ เจ้าชายผู้มีรูปกายเป็นอสูร จะต้องมอบความรักให้ใครสักคนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันต้องได้รับความรักตอบแทนด้วย ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยมีดอกกุหลาบวิเศษ เป็นเสมือนนาฬิกา ทุกกลีบที่ร่วงโรย คือ การเตือนว่าเวลาแห่งการถอนคำสาปค่อยๆหมดไป
เรื่องราวตัดมาที่หมู่บ้านอันแสนสงบ “เบลล์” บุตรสาวของ “มัวริซ” นักประดิษฐ์ประจำหมู่บ้าน เธอเป็นสาวน้อยผู้ฉลาดปราดเปรียว มั่นใจในตัวเอง แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน เพราะความที่มีนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ทำให้แนวคิดและวิธีคิดของเธอก้าวล้ำไปไกลกว่าคนอื่นๆ ที่มองว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องประหลาด
แต่อดีตนายทหารเก่า “กัสตอง” หนุ่มรูปงามผู้หลงตัวเอง เย่อหยิ่งอย่างร้ายกาจ ก็ตกหลุมรักเบลล์ที่แตกต่างจากผู้หญิงอื่นๆ เพราะเบลล์ไม่ได้หลงใหลในตัวเขา ทำให้กัสตองอยากพิชิตใจสาวน้อยรายนี้ โดยมี “เลอฟู” เพื่อนของกัสตอง คอยสนับสนุน แต่เบลล์ก็ไม่ได้สนใจนายทหารรายนี้เลย
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในวันที่มัวริซออกเดินทาง เพื่อไปค้าขายต่างเมืองตามปกติ เขาสัญญากับบุตรสาวว่า จะนำดอกกุหลาบสวยๆกลับมาฝากเช่นทุกครั้ง แต่การเดินทางคราวนี้ เกิดพายุฝนระหว่างทาง ฟ้าผ่าทำให้กิ่งไม้โค่นล้ม เขาจึงควบม้าหนีไปยังผืนป่าลึก จนกระทั่งไปเจอปราสาทใหญ่ที่ไม่คุ้นตา
มัวริซเข้าไปขอหลบฝนหลบหนาว แต่เขาก็ได้ยินเสียงสนทนาที่ชวนให้ตกใจ ชายชราจึงรีบออกจากปราสาท แต่ก่อนออกไป เขาเห็นสวนกุหลาบสีขาวสวยอยู่ตรงหน้า ก็ตั้งใจว่าจะเก็บไปให้ลูกสาว เขาจึงถูกจับในฐานะหัวขโมย ม้าของมัวริซวิ่งเตลิดกลับไปที่หมู่บ้าน ทำให้เบลล์ต้องให้มันช่วยนำทางกลับไปหาพ่อ จนกระทั่งได้เผชิญหน้ากับเจ้าของปราสาท นั่นคือ เจ้าชายอสูร
ความเครียดที่มีอยู่ตลอดหลังถูกสาป ทำให้เจ้าชายไม่มีท่าทียอมอ่อนข้อให้มัวริซ เบลล์จึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ขอให้จองจำตัวเองแทนพ่อ มัวริซจึงถูกส่งตัวกลับหมู่บ้าน
ค่ำคืนแรกของการเป็นนักโทษ เบลล์คิดจะหลบหนี แต่บรรดาข้าวของเครื่องใช้พูดได้ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหล่าบริวารที่ต้องคำสาป ก็พากันปลุกปลอบใจสาวน้อยว่า ชีวิตในปราสาทไม่ได้แย่เกินไปนัก และพากันมาเป็นเพื่อนคุย ชวนเบลล์ไปกินมื้อค่ำ ทำให้เธอไม่รู้สึกเหงา พลางบอกว่าจริงๆแล้วเจ้าชายอสูรมีพื้นฐานเป็นคนดี แต่ด้วยความเครียด และไม่ได้เจอใครมานาน จึงมีปัญหาเรื่องเข้าสังคม
แต่ด้วยการเป็นคนแปลกหน้า และยังไม่เปิดใจให้กัน ทำให้เบลล์ตัดสินใจหลบหนีจากปราสาทอีกครั้ง แต่ก็พลัดหลงไปอยู่ในดงหมาป่า เจ้าชายอสูรที่รู้สึกห่วงใยอยู่ลึกๆ ก็เข้ามาช่วยได้ทันท่วงที จนตัวเองบาดเจ็บ สาวน้อยรู้สึกเป็นหนี้ชีวิต และไม่อาจทอดทิ้งให้เจ้าชายนอนเจ็บแบบนั้นได้ เธอจึงนำเขาขึ้นหลังม้า พากลับมารักษายังปราสาท
ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตในฐานะนักโทษของเบลล์ ก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าชายอสูรก็เริ่มลดความเกรี้ยวกราด หันมาพูดคุยกับเบลล์มากขึ้น และเปิดห้องสมุดที่มีหนังสือมากมายนับพันเล่ม ซึ่งนับเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่สาวน้อยนักอ่านต้องการ
ฝ่ายมัวริซ หลังจากกลับไปหมู่บ้าน ก็บอกชาวบ้านว่า ลูกสาวของตนถูกอสูรจับไปเป็นตัวประกัน แต่ทว่าไม่มีใครเชื่อ หาว่าเขากุเรื่อง มีเพียงกัสตองที่รับฟัง แต่เพื่อหวังผลประโยชน์ว่า จะช่วยเหลือชายชรา เพื่อใช้ความดีความชอบนี้ พิชิตใจสาวน้อย
แต่เมื่อมัวริซนำกัสตอง ไปตามเส้นทางที่เคยพลัดหลงไปปราสาท ก็พบว่าผืนป่ากลับคืนสภาพเดิม ไม่มีร่องรอยใดๆ กัสตองจึงคิดว่าชายแก่สติฟั่นเฟือน ทั้งคู่โต้เถียงกัน กัสตองจึงทำร้ายชายชราแล้วผูกไว้กับต้นไม้ หวังให้ตกเป็นเหยื่อของหมาป่า เพื่อตัดเสี้ยนหนามความรักของตนไปเสีย โชคดีที่เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงขอทานในหมู่บ้านมาช่วยชีวิตมัวริซไว้
ขณะที่ความสัมพันธ์ของเจ้าชายอสูรกับเบลล์ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เบลล์บอกว่า แม้ชีวิตในปราสาทไม่ลำบากก็จริง แต่เธอก็ยังมีความทุกข์ใจเพราะคิดถึงพ่อ เจ้าชายอสูรจึงมอบกระจกวิเศษให้ เพื่อส่องดูความเป็นอยู่ของมัวริซ จนกระทั่งพบความจริงว่า หลังจากมัวริซรอดชีวิต เขาพยายามจะแฉความเลวร้ายของอดีตทหารหนุ่ม กัสตองจึงกล่าวหาว่ามัวริซสติไม่ดี พร้อมทั้งเรียกโรงพยาบาลโรคจิตนำรถมาคุมขังชายชรา
เบลล์มองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงตัดสินใจขอเจ้าชายอสูรกลับไปหมู่บ้าน เพื่อช่วยพ่อ เจ้าชายรู้ดีว่านี่เป็นการมอบอิสรภาพแก่หญิงสาว และเธออาจจะไม่กลับมายังปราสาทแห่งนี้อีกเลยก็ได้ แต่เขาก็ตัดสินใจปล่อยหญิงที่ตนรักกลับไป
เมื่อเบลล์กลับมาที่หมู่บ้าน เธอใช้กระจกวิเศษฉายภาพ เพื่อพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า เรื่องอสูรเป็นเรื่องจริง และพ่อของเธอไม่ใช่คนสติไม่ดี แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อกัสตองบอกว่า เบลล์ถูกอสูรสาปให้หลงเสน่ห์ไปแล้ว อสูรร้ายตนนี้อาจมาทำร้ายลูกหลานของชาวบ้านได้ ขอให้ทุกคนร่วมมือกันไปบุกปราสาทและฆ่าอสูรตนนี้เสีย
กัสตองนำทัพชาวบ้านเดินทางไปยังปราสาท กัสตองได้เจอเจ้าชายอสูร และใช้ปืนยิงหวังสังหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เบลล์กลับมาพอดี การสิ้นสติจากความบาดเจ็บของเจ้าชายอสูร เกิดขึ้นพร้อมกับกุหลาบกลีบสุดท้ายกำลังร่วงโรย ทำให้ปราสาทสั่นคลอนและพังทลายลงบางส่วน กัสตองจึงพลัดตกปราสาทไป
สาวน้อยประคองร่างที่ไม่ได้สติของเจ้าชายอสูร ร้องไห้พลางเอ่ยคำว่ารักกับเจ้าชาย เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากใจจริงๆ ทำให้คำสาปถูกถอน และเจ้าชายกับบริวารก็คืนร่างกลับเป็นมนุษย์ดังเดิม
ประเด็นหลักใน Beauty and The Beast เป็นเรื่องความรัก ที่ไม่มองเพียงรูปกายภายนอก แต่เป็นความรักที่เกิดจากความคิดและการกระทำ แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์ให้ตรงกับหลักพุทธศาสนา เราจะพบว่าเนื้อหาของภาพยนตร์มีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรม สังคหวัตถุ 4 รวมทั้ง ฆราวาสธรรม
“สังคหวัตถุ 4” หมายถึง เครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน 4 ประการ ได้แก่ ทาน (การเสียสละ) ปิยวาจา (วาจาจริงใจ เป็นประโยชน์) อัตถจริยา (การสงเคราะห์และประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น) และสมานัตตา (ความเสมอต้นเสมอปลาย)
โดยเฉพาะประการแรก คือ “ทาน” ที่เป็นการให้ การเสียสละ หรือแบ่งปันของๆตน เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว เพราะหากเจ้าชายมีหลักธรรมข้อนี้แต่แรก เปิดรับหญิงชราเข้ามาพักพิงหลบหนาว ก็คงไม่ถูกสาปให้กลายร่างเป็นอสูร
ส่วนหลัก “ฆราวาสธรรม” อันเป็นคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วย สัจจะ (ความจริงแท้ ซื่อสัตย์) ทมะ (การข่มใจ ลดกิเลส) ขันติ (อดทนอดกลั้น, อดทนต่อกิเลส) และจาคะ (เสียสละความสุขส่วนตน รวมถึงละทิ้งสิ่งไม่ดีในตน)
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เน้นให้เห็นเรื่อง “จาคะ” ในการดำเนินชีวิตของเจ้าชายอสูรหลังถูกสาป ทำให้เขาเกิดความรักที่แท้จริงในใจ และทำให้ได้พบกับความรักตอบแทนจากผู้อื่นในที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
เรื่องราวเริ่มต้นที่ปราสาทโอ่อ่าท่ามกลางป่าลึก ของเจ้าชายรูปงามองค์หนึ่ง ซึ่งโปรดปรานงานเลี้ยงหรูหรา เฉกเช่นในค่ำคืนที่พายุฝนภายนอกกระหน่ำ แต่ภายในงานเลี้ยงยังเต็มไปด้วยความครื้นเครง แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้งานเลี้ยงต้องหยุดชะงักก็เกิดขึ้น เมื่อหญิงชราท่าทางซอมซ่อคนหนึ่ง เข้ามาในงานพร้อมดอกกุหลาบสีแดงสด นางเอ่ยกับเจ้าชายรูปงามว่า ขอเข้ามาหลบพายุฝนให้คลายหนาว พลางยื่นดอกกุหลาบแดงเป็นการตอบแทน แต่ทว่าเจ้าชายกลับเปล่งเสียงหัวเราะเยาะเย้ยหญิงชรา
เมื่อเจ้าชายแสดงออกถึงการไร้น้ำใจต่อความลำบากของผู้อื่น เพียงเพราะรูปกายภายนอก ความจริงจึงปรากฏ หญิงชรากลายร่างเป็นผู้วิเศษ มอบบทลงโทษเจ้าชายรูปงาม ด้วยการสาปให้กลายเป็นอสูร รวมทั้งเหล่าข้าทาสบริวาร ที่ไม่มีใครแนะนำหรือห้ามปรามพฤติกรรมของเจ้าชาย ให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และร่ายเวทมนตร์ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆ หลงลืมความทรงจำทุกอย่างเกี่ยวกับปราสาทแห่งนี้อีกด้วย
วิธีการถอนคำสาปมีทางเดียว คือ เจ้าชายผู้มีรูปกายเป็นอสูร จะต้องมอบความรักให้ใครสักคนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันต้องได้รับความรักตอบแทนด้วย ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยมีดอกกุหลาบวิเศษ เป็นเสมือนนาฬิกา ทุกกลีบที่ร่วงโรย คือ การเตือนว่าเวลาแห่งการถอนคำสาปค่อยๆหมดไป
เรื่องราวตัดมาที่หมู่บ้านอันแสนสงบ “เบลล์” บุตรสาวของ “มัวริซ” นักประดิษฐ์ประจำหมู่บ้าน เธอเป็นสาวน้อยผู้ฉลาดปราดเปรียว มั่นใจในตัวเอง แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน เพราะความที่มีนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ทำให้แนวคิดและวิธีคิดของเธอก้าวล้ำไปไกลกว่าคนอื่นๆ ที่มองว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องประหลาด
แต่อดีตนายทหารเก่า “กัสตอง” หนุ่มรูปงามผู้หลงตัวเอง เย่อหยิ่งอย่างร้ายกาจ ก็ตกหลุมรักเบลล์ที่แตกต่างจากผู้หญิงอื่นๆ เพราะเบลล์ไม่ได้หลงใหลในตัวเขา ทำให้กัสตองอยากพิชิตใจสาวน้อยรายนี้ โดยมี “เลอฟู” เพื่อนของกัสตอง คอยสนับสนุน แต่เบลล์ก็ไม่ได้สนใจนายทหารรายนี้เลย
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในวันที่มัวริซออกเดินทาง เพื่อไปค้าขายต่างเมืองตามปกติ เขาสัญญากับบุตรสาวว่า จะนำดอกกุหลาบสวยๆกลับมาฝากเช่นทุกครั้ง แต่การเดินทางคราวนี้ เกิดพายุฝนระหว่างทาง ฟ้าผ่าทำให้กิ่งไม้โค่นล้ม เขาจึงควบม้าหนีไปยังผืนป่าลึก จนกระทั่งไปเจอปราสาทใหญ่ที่ไม่คุ้นตา
มัวริซเข้าไปขอหลบฝนหลบหนาว แต่เขาก็ได้ยินเสียงสนทนาที่ชวนให้ตกใจ ชายชราจึงรีบออกจากปราสาท แต่ก่อนออกไป เขาเห็นสวนกุหลาบสีขาวสวยอยู่ตรงหน้า ก็ตั้งใจว่าจะเก็บไปให้ลูกสาว เขาจึงถูกจับในฐานะหัวขโมย ม้าของมัวริซวิ่งเตลิดกลับไปที่หมู่บ้าน ทำให้เบลล์ต้องให้มันช่วยนำทางกลับไปหาพ่อ จนกระทั่งได้เผชิญหน้ากับเจ้าของปราสาท นั่นคือ เจ้าชายอสูร
ความเครียดที่มีอยู่ตลอดหลังถูกสาป ทำให้เจ้าชายไม่มีท่าทียอมอ่อนข้อให้มัวริซ เบลล์จึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ขอให้จองจำตัวเองแทนพ่อ มัวริซจึงถูกส่งตัวกลับหมู่บ้าน
ค่ำคืนแรกของการเป็นนักโทษ เบลล์คิดจะหลบหนี แต่บรรดาข้าวของเครื่องใช้พูดได้ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหล่าบริวารที่ต้องคำสาป ก็พากันปลุกปลอบใจสาวน้อยว่า ชีวิตในปราสาทไม่ได้แย่เกินไปนัก และพากันมาเป็นเพื่อนคุย ชวนเบลล์ไปกินมื้อค่ำ ทำให้เธอไม่รู้สึกเหงา พลางบอกว่าจริงๆแล้วเจ้าชายอสูรมีพื้นฐานเป็นคนดี แต่ด้วยความเครียด และไม่ได้เจอใครมานาน จึงมีปัญหาเรื่องเข้าสังคม
แต่ด้วยการเป็นคนแปลกหน้า และยังไม่เปิดใจให้กัน ทำให้เบลล์ตัดสินใจหลบหนีจากปราสาทอีกครั้ง แต่ก็พลัดหลงไปอยู่ในดงหมาป่า เจ้าชายอสูรที่รู้สึกห่วงใยอยู่ลึกๆ ก็เข้ามาช่วยได้ทันท่วงที จนตัวเองบาดเจ็บ สาวน้อยรู้สึกเป็นหนี้ชีวิต และไม่อาจทอดทิ้งให้เจ้าชายนอนเจ็บแบบนั้นได้ เธอจึงนำเขาขึ้นหลังม้า พากลับมารักษายังปราสาท
ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตในฐานะนักโทษของเบลล์ ก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าชายอสูรก็เริ่มลดความเกรี้ยวกราด หันมาพูดคุยกับเบลล์มากขึ้น และเปิดห้องสมุดที่มีหนังสือมากมายนับพันเล่ม ซึ่งนับเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่สาวน้อยนักอ่านต้องการ
ฝ่ายมัวริซ หลังจากกลับไปหมู่บ้าน ก็บอกชาวบ้านว่า ลูกสาวของตนถูกอสูรจับไปเป็นตัวประกัน แต่ทว่าไม่มีใครเชื่อ หาว่าเขากุเรื่อง มีเพียงกัสตองที่รับฟัง แต่เพื่อหวังผลประโยชน์ว่า จะช่วยเหลือชายชรา เพื่อใช้ความดีความชอบนี้ พิชิตใจสาวน้อย
แต่เมื่อมัวริซนำกัสตอง ไปตามเส้นทางที่เคยพลัดหลงไปปราสาท ก็พบว่าผืนป่ากลับคืนสภาพเดิม ไม่มีร่องรอยใดๆ กัสตองจึงคิดว่าชายแก่สติฟั่นเฟือน ทั้งคู่โต้เถียงกัน กัสตองจึงทำร้ายชายชราแล้วผูกไว้กับต้นไม้ หวังให้ตกเป็นเหยื่อของหมาป่า เพื่อตัดเสี้ยนหนามความรักของตนไปเสีย โชคดีที่เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงขอทานในหมู่บ้านมาช่วยชีวิตมัวริซไว้
ขณะที่ความสัมพันธ์ของเจ้าชายอสูรกับเบลล์ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เบลล์บอกว่า แม้ชีวิตในปราสาทไม่ลำบากก็จริง แต่เธอก็ยังมีความทุกข์ใจเพราะคิดถึงพ่อ เจ้าชายอสูรจึงมอบกระจกวิเศษให้ เพื่อส่องดูความเป็นอยู่ของมัวริซ จนกระทั่งพบความจริงว่า หลังจากมัวริซรอดชีวิต เขาพยายามจะแฉความเลวร้ายของอดีตทหารหนุ่ม กัสตองจึงกล่าวหาว่ามัวริซสติไม่ดี พร้อมทั้งเรียกโรงพยาบาลโรคจิตนำรถมาคุมขังชายชรา
เบลล์มองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงตัดสินใจขอเจ้าชายอสูรกลับไปหมู่บ้าน เพื่อช่วยพ่อ เจ้าชายรู้ดีว่านี่เป็นการมอบอิสรภาพแก่หญิงสาว และเธออาจจะไม่กลับมายังปราสาทแห่งนี้อีกเลยก็ได้ แต่เขาก็ตัดสินใจปล่อยหญิงที่ตนรักกลับไป
เมื่อเบลล์กลับมาที่หมู่บ้าน เธอใช้กระจกวิเศษฉายภาพ เพื่อพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า เรื่องอสูรเป็นเรื่องจริง และพ่อของเธอไม่ใช่คนสติไม่ดี แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อกัสตองบอกว่า เบลล์ถูกอสูรสาปให้หลงเสน่ห์ไปแล้ว อสูรร้ายตนนี้อาจมาทำร้ายลูกหลานของชาวบ้านได้ ขอให้ทุกคนร่วมมือกันไปบุกปราสาทและฆ่าอสูรตนนี้เสีย
กัสตองนำทัพชาวบ้านเดินทางไปยังปราสาท กัสตองได้เจอเจ้าชายอสูร และใช้ปืนยิงหวังสังหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เบลล์กลับมาพอดี การสิ้นสติจากความบาดเจ็บของเจ้าชายอสูร เกิดขึ้นพร้อมกับกุหลาบกลีบสุดท้ายกำลังร่วงโรย ทำให้ปราสาทสั่นคลอนและพังทลายลงบางส่วน กัสตองจึงพลัดตกปราสาทไป
สาวน้อยประคองร่างที่ไม่ได้สติของเจ้าชายอสูร ร้องไห้พลางเอ่ยคำว่ารักกับเจ้าชาย เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากใจจริงๆ ทำให้คำสาปถูกถอน และเจ้าชายกับบริวารก็คืนร่างกลับเป็นมนุษย์ดังเดิม
ประเด็นหลักใน Beauty and The Beast เป็นเรื่องความรัก ที่ไม่มองเพียงรูปกายภายนอก แต่เป็นความรักที่เกิดจากความคิดและการกระทำ แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์ให้ตรงกับหลักพุทธศาสนา เราจะพบว่าเนื้อหาของภาพยนตร์มีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรม สังคหวัตถุ 4 รวมทั้ง ฆราวาสธรรม
“สังคหวัตถุ 4” หมายถึง เครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน 4 ประการ ได้แก่ ทาน (การเสียสละ) ปิยวาจา (วาจาจริงใจ เป็นประโยชน์) อัตถจริยา (การสงเคราะห์และประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น) และสมานัตตา (ความเสมอต้นเสมอปลาย)
โดยเฉพาะประการแรก คือ “ทาน” ที่เป็นการให้ การเสียสละ หรือแบ่งปันของๆตน เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว เพราะหากเจ้าชายมีหลักธรรมข้อนี้แต่แรก เปิดรับหญิงชราเข้ามาพักพิงหลบหนาว ก็คงไม่ถูกสาปให้กลายร่างเป็นอสูร
ส่วนหลัก “ฆราวาสธรรม” อันเป็นคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วย สัจจะ (ความจริงแท้ ซื่อสัตย์) ทมะ (การข่มใจ ลดกิเลส) ขันติ (อดทนอดกลั้น, อดทนต่อกิเลส) และจาคะ (เสียสละความสุขส่วนตน รวมถึงละทิ้งสิ่งไม่ดีในตน)
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เน้นให้เห็นเรื่อง “จาคะ” ในการดำเนินชีวิตของเจ้าชายอสูรหลังถูกสาป ทำให้เขาเกิดความรักที่แท้จริงในใจ และทำให้ได้พบกับความรักตอบแทนจากผู้อื่นในที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)