xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : จงถอนลูกศร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
เยน สลฺเลน โอติณฺโณ ทิสา สพฺพา วิธาวติ
ตเมว สลฺลํ อพฺพุยฺห น ธาวติ น สีทตีติ.

ขุ.มหา.๒๙/๕๐๑

บัดนี้ จักได้แสดงศาสนธรรม คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ว่าด้วย “วิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดลูกศรออกจากใจ” เป็นธรรมเทศนานัย อบรมศรัทธา ความเชื่อ และปสาทะ ความเลื่อมใส ของท่านสาธุชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา ตามสมควรแก่เวลา

ดำเนินความตามพระพุทธภาษิต ซึ่งได้นิกขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

เยน สลฺเลน โอติณฺโณทิสา สพฺพา วิธาวติ
ตเมว สลฺลํ อพฺพุยฺหน ธาวติ น สีทติ


แปลว่า บุคคลอันลูกศรชนิดใดเสียบแทงแล้ว ย่อมวิ่งพล่านไปทั่วทิศ ถอนลูกศรนั้นนั่นแลได้แล้ว ย่อมไม่วิ่งพล่าน ย่อมไม่จม ดังนี้

พระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงกิเลสที่เสียบแทงใจ อุปมาเหมือนลูกศรที่บุคคลยิงซัดไปถูกผู้อื่นให้เจ็บ ในพระพุทธภาษิตนี้ เบื้องต้นแสดงปริยัติ คือ ข้อที่จะต้องจำจะต้องศึกษาเล่าเรียน คือ พระพุทธภาษิตตอนที่ว่า

เยน สลฺเลน โอติณฺโณทิสา สพฺพา วิธาวติ

บุคคลอันลูกศรชนิดใดเสียบแทงแล้ว ย่อมวิ่งพล่านไปทั่วทิศ นี้แสดงปริยัติธรรม คือ การที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน คือจะต้องศึกษาให้รู้ว่าลูกศรคืออะไร มีเท่าไร เสียบแทงอย่างไร และวิ่งพล่านไปทั่วทิศอย่างไร นี้เป็นส่วนที่จะต้องกำหนดจดจำ ตอนที่ ๒ ว่า ตเมว สลฺลํ อพฺพุยฺห ถอนลูกศรชนิดนั้นนั่นแลได้แล้ว นี้แสดงข้อปฏิบัติเป็นปฏิบัติธรรม คือว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะถอนลูกศรอกไป ตอนที่ ๓ ที่ทรงแสดงว่า น ธาวติ น สีทติ ย่อมไม่วิ่งพล่านและไม่จม นี้แสดงปฏิเวธ ในพระพุทธภาษิตนี้จึงเป็นอันได้ชื่อว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิปัตติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเว” บริบูรณ์

ปริยัติ คือ ข้อที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติ คือ การดำเนินตาม ปฏิเวธ คือ ผล

ท่านอุปมาไว้ว่า ปริยัติ เหมือนหนทางที่เขาสร้างไว้แล้ว ปฏิบัติ เหมือนการเดินไปตามทางเพื่อให้ถึงที่ประสงค์ ปฏิเวธ เหมือนความสบายใจ เพราะได้เดินถึงที่สุดทาง

อีกอุปมาหนึ่ง ปริยัติ เหมือนเครื่องปรุงอาหารที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ปฏิบัติ เหมือนกับการปรุงอาหารเสร็จแล้วบริโภค ปฏิเวธ เหมือนความอิ่มหนำสำราญสบายหายหิว เพราะการได้บริโภคอาหาร

เพราะฉะนั้น ในการศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา ปริยัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ คือ การให้จำ กำหนดจดจำให้ได้ความเข้าใจนี้เป็นของสำคัญ ตามหลักพระพุทธศาสนา การเรียนปริยัตินั้นก็มีลักษณะต่างๆกัน

ประการที่ ๑ เรียกว่า อคลัททูปริยัติ ศึกษาปริยัติดังงูพิษ ทราบแล้วว่างูพิษนั้นเป็นสัตว์ร้าย ถ้าขบกัดแล้วเป็นอันตราย อย่างน้อยๆก็เจ็บ อย่างแรงก็ถึงเสียชีวิต คือ ผู้ที่เลี้ยงงูพิษไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยฉันใด การศึกษาปริยัติเปรียบด้วยงูพิษก็ฉันนั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับก่อความเดือดร้อนให้แก่ตน พอได้ศึกษาแตกฉานในธรรมหมวดใดหมวดหนึ่ง เช่น ได้ศึกษาพระอภิธรรมจนได้เข้าใจ รู้จักจิตว่า จิตชนิดนั้นเท่านั้นดวง จิตชนิดนี้เท่านี้ดวง เข้าใจแจ่มแจ้งในเชิงปริยัติแล้ว ก็นึกว่าเรามีความรู้พอแล้ว และยังพูดเป็นเชิงยกตนว่า คนไม่รู้อภิธรรมไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนา ดังนี้เป็นต้น

แทนที่อภิธรรมที่ศึกษาเล่าเรียนมานั้นจะช่วยถอนลูกศร กลับเป็นเครื่องตอกลูกศรให้ลึกลงไปอีก เพราะเรียนด้วยอาการที่ถือมั่นว่า เอตํ มม อภิธรรมนั้นเป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนักอภิธรรม เอโส เม อตฺตา คัมภีร์อภิธรรมนั่นแหละเป็นตัวของเรา นี้ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งที่ตรงกันข้าม คนที่ไม่พอใจเรียนอภิธรรม เพราะต้องจำมาก จิตนั้นเท่านั้นดวง จิตนี้เท่านี้ดวง จนถึงต้องมีเมล็ดมะขามไว้ครบ ๑๒๐ นำมานั่งนับว่า จิตชนิดนั้นเท่านั้นดวง วางเมล็ดมะขามไว้กองหนึ่ง หนักเข้าๆมันจำไม่ได้ รู้สึกรำคาญใจ ก็ทึกทักเอาว่าพระอภิธรรมไม่ใช่พระพุทธภาษิต ที่ว่าพระพุทธเจ้าขึ้นไปแสดงแก่พระพุทธมารดาบนดาวดึงส์นั้น เหลือเชื่อ ไม่สมเหตุผล สัตว์โลกในพื้นพิภพมากมายยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จะขึ้นไปบนสวรรค์ให้ลำบากพระองค์ทำไม พระอภิธรรมไม่ใช่พระพุทธภาษิต เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นจะต้องจำ นี่ก็เข้าใจผิดอีก และก็จะถือมั่นอยู่อย่างนี้เหมือนงูพิษ

แทนที่จะทำให้การศึกษาปฏิบัตินั้นเป็นประโยชน์ เพื่อจะช่วยถอนลูกศร แต่กลายเป็นช่วยตอกลูกศรให้ลึกลงไป ถอนยากแก้ยาก นี้อธิบายเป็นตัวอย่าง เรื่องอคลัททูปริยัติ ปริยัติดังงูพิษ

ประการที่ ๒ ภัณฑาคาริกปริยัติ ศึกษาปริยัติเหมือนขุนคลัง หรือเหมือนพระภิกษุที่รักษาเรือนคลังของสงฆ์ ผู้รักษาเรือนคลังนั้น ของในเรือนคลังไม่ใช่ของตัว แต่ก็ต้องรักษาโดยกวดขัน หายไม่ได้ ต้องคอยเก็บคอยนับคอยดูว่า สิ่งนั้นมีเท่านั้น อันนั้นใช้จ่ายไปเท่านั้น สิ่งนั้นเขาส่งคืนแล้วเท่านั้น ยังไม่ได้ส่งคืนเท่านั้น มัวแต่นับ ไม่ได้ประโยชน์ เหมือนเฝ้าเรือนคลัง แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเฝ้าเรือนคลัง จะเอาของในเรือนคลังมาใช้เป็นส่วนตัวก็ไม่ได้ เพราะเป็นของกลาง ถ้าของวัดเรียกว่าเป็นของสงฆ์ ภัณฑาคาริกภิกษุแตะต้องไม่ได้ ให้หายเสื่อมเสียไปไม่ได้

ก็เป็นอันว่าเรียนปริยัติเหมือนกับนั่งนับลูกประคำว่า อิติอิโส ภควา นับจนครบร้อยแปด ว่าเรื่อยไป อิติปิ โส สฺวากฺขาโต สุปฏิปนฺโน จำได้ว่าได้คล่อง นับเรื่อยจนครบร้อยแปด หรือกว่าร้อยแปด แล้วแต่ฉันทะอุตสาหะ แต่ก็ไม่ได้อะไร จิตไม่สงบระงับ ใครมาแตะต้องเป็นโกรธทันที อย่างที่เรียกว่า เส้นตื้น คือ โกรธอยู่ตื้น โกรธง่าย ใครขัดคอก็โกรธ เข้าสมาคมที่ไหน มีธรรมสากัจฉาที่ไหน ถือความเห็นของตนเป็นที่ตั้ง ขัดคอนิดหน่อยก็โกรธ พูดผิดหูหน่อยก็โกรธ อย่างนี้เรียกว่า เฝ้าเรือนคลัง

ประการที่ ๓ นิสสรณัตถาปริยัติ ศึกษาเพื่อถอนทุกข์ ได้ศึกษาอะไรสักข้อ ๑ หรือ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ก็ศึกษาเพื่อถอนทุกข์ นี้เป็นการศึกษาที่ถูกหลักพระพุทธศาสนา ข้อ ๑ ข้อ ๒ ไม่ถูกหลัก พึงเว้นเสีย ข้อ ๓ ถูกตามหลักพระพุทธศาสนา และพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาอย่างนี้

จะอธิบายเรื่องคำว่า “ลูกศร” ต่อไป พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะโดยอุปมาอุปไมย อย่างนี้โปรดทรงแสดงมาก เพราะคนเข้าใจ จำได้ดีจำได้แม่น เพราะอาศัยอุปมาเทียบเคียง เพราะฉะนั้น คำว่า “ลูกศร” ก็คือกิเลสนั่นเอง มิได้หมายความว่า ลูกปืนหรือลูกศรที่ยิงมาแต่ทิศทั้ง ๔ ทรงหมายเอากิเลสที่ครอบงำใจนั่นเอง และในพระบาลีท่านแสดงไว้ ๗ ชนิด คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ โสกะ ๑ ความแห้งใจ ๑ กถังกถา ความสงสัย ๑ รวมเป็น ๗ อย่าง เรียกว่า ราคสลฺลํ ลูกศรคือราคะ โทสสลฺลํ ลูกศรคือโทสะ โมหสลฺลํ ลูกศรคือโมหะ มานสลฺลํ ลูกศรคือมานะ ทิฏฐิสลฺลํ ลูกศรคือทิฏฐิ โสกสลฺลํ ลูกศีคือความโศก กถงฺกถาสลฺลํ ลูกศรคือกถังกถา ความสงสัย รวมเป็น ๗ อย่าง

กิเลสเพียงดังลูกศรทั้ง ๗ ประการนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นลูกศรอย่างเดียว เป็นอย่างอื่นก็ได้ เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ บางแห่งท่านเรียกว่า อัคคิ คือไฟ เช่น ในอาทิตตปริยายสูตร ทรงแสดงว่า ราคคฺคิ ไฟคือราคะ โทสคฺคิ ไฟคือโทสะ โมหคฺคิ ไฟคือโมหะ เป็นต้น

แต่ในที่นี้ทรงแสดงว่าเป็นลูกศร โดยอธิบายว่า กิเลสเมื่อครอบงำใจแล้ว แสดงอาการเสียบแทงให้เจ็บใจ ถ้าแสดงอาการให้ร้อนใจ เรียกว่า อัคคิ คือ ไฟ ร้อนใจเพราะราคะ ร้อนใจเพราะโมหะ ร้อนใจเพราะมานะ ร้อนใจเพราะทิฏฐิ ร้อนใจเพราะความโศก ร้อนใจเพราะความสงสัย อย่างนี้เป็นลักษณะของไฟ

บางแห่งทรงแสดงว่า เป็นโอฆะคือห้วงน้ำ เช่น ทิฏฐิก็เป็นทิฏฐิโอฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ ราคะก็เป็นกามโอฆะ โอฆะคือกาม โมหะก็เป็นอวิชชาโอฆะ โอฆะคืออวิชชา นี้แสดงตามลักษณะที่มันครอบงำใจ คือรู้สึกว่าขณะนั้นมันท่วมใจ อย่างที่เราเรียกกันว่าน้ำท่วมปากพูดไม่ได้ แต่จิตใจดิ้นรนกระวนกระวาย วิ่งพล่านไปทั่วทิศ ชนิดนี้ท่านเรียกว่าโอฆะ ที่เป็นลูกศรนั้น เมื่อครอบงำแล้วทำให้เจ็บใจ อย่างเสียรู้ผู้อื่น เสร็จแล้วมีคนไปถามว่าโกรธไหม ตอบว่าไม่โกรธ แต่มันเจ็บใจ

คำว่าเจ็บใจนี้พูดแรงๆหนักๆ นี้เขาเรียกว่าโทสะ ตัวนี้เป็นลูกศร ราคะก็เหมือนกัน เวลาครอบงำแล้ว มันย้อมจิตใจแล้ว พอพลาดก็ทำให้เจ็บใจ ร้อนมันก็ไม่ร้อน มันเจ็บอยู่ที่ใจ บางคนเขาว่าเจ็บที่หัวใจ เข้าไปถามเขาจะเอามือคลำที่หัวใจ เป็นกิริยาแทนการบอกว่ามันเจ็บใจ ชนิดนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดว่าเป็นสัลละ คือ ลูกศร ที่เกิดขึ้นแล้วเสียบแทงหรือครอบงำทำให้เจ็บใจ โทสะครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ โมหะครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ มานะครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ ทิฏฐิครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ โสกะะครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ กถังกถาคือสงสัยครอบงำก็ทำให้เจ็บใจ ชนิดนี้เรียกว่า ลูกศร

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติเราจึงควรจำไว้ว่า กิเลส ๗ ชื่อนี้ ไม่ใช่เป็นลูกศรอย่างเดียว เป็นลูกศรในเวลาที่ครอบงำและทำให้เจ็บใจ เราสังเกตที่ใจของเราเอง ถ้าเจ็บใจแล้วนั่นเราถูกลูกศร ถ้าถามว่าศรที่มาเสียบใจเรานั้น ใครยิงมาใครแผลงมา ตอบว่า พญามาร คือ ศรพญามาร

แต่ท่านว่าอย่าค้น ถ้าค้นแล้วมันช้า คล้ายๆเราถูกปืนแล้ว แทนที่เราจะเรียกหมอมาผ่าเอาลูกปืนออก เราจะบอกว่ารอก่อนๆ ประเดี๋ยวฉันจะสืบให้รู้ก่อนว่าปืนนี้มาจากไหน ลูกชนิดนี้ใครเป็นผู้ยิง ยิงมาจากทิศไหน คนยิงนั้นผู้หญิงหรือผู้ชาย กว่าจะสอบสวนได้ก็ตายเปล่า อุปมาข้อนี้ฉันใด ท่านว่าเวลากิเลสครอบงำก็เหมือนกัน อย่าไปนึกถึงผู้อื่น เช่น คนอื่นด่าเราให้เจ็บใจ เราอย่าไปนึกว่าคนที่ด่าเรานั้นเป็นอย่างนั้นๆมันช้าไป ถ้าเขาด่าให้เจ็บใจแล้ว เราต้องรีบถอนความเจ็บใจให้ออกไป ใครทำให้เราพลาดหวัง เราอย่าไปเสียใจ เพราะคนนั้นทำให้เราเจ็บใจ อย่าไปเสียใจ อย่าไปค้นว่าคนนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ มีการงานอย่างไร อย่าไปสืบ ถ้าสืบช้าไป จิตใจเดือดร้อน พอถูกศรก็ต้องรีบถอนลูกศรทันที นี้ว่าด้วยเรื่องปริยัติ คือ ลูกศร

ที่ว่าย่อมวิ่งพล่านไปทั่วทิศ ก็คือหมายความว่า เมื่อถูกศรแล้วมันเจ็บใจ เมื่อเจ็บใจแล้ว ใจก็ดิ้นรนวิ่งพล่านไปทั่ว นึกอย่างโน้นอย่างนี้ เพิ่มความเจ็บใจเข้าไปอีก นี้เป็นตอนปริยัติ เราจำไว้ตอนหนึ่ง

คราวนี้ถึงตอนปฏิบัติ พอรู้ว่าลูกศรและบัดนี้ถูกศรแล้ว พญามารแผลงมาถูกเราแล้ว เราก็รู้ว่าพญามาร คือ กิเลสมารแผลงศร หรืออาจจะเป็นของขันธมารก็ได้ ของอภิสังขารมารก็ได้ พญามาร ๓-๔ ตนนี่แหละ แผลงศรมาแล้วถูกเรา เราเจ็บใจ เราก็ต้องรีบถอนลูกศรด้วยวิธีปฏิบัติ นี้เป็นปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือการปฏิบัติ

ถอนอย่างไร โดยทั่วไปคำว่า “ถอน” ในที่นี้ ก็เหมือนเรารับประทานยาแก้สำแดง เมื่อผิดสำแดงแล้วต้องใช้ยาถอนฉันใด ถูกลูกศรของพญามารก็ต้องถอนด้วยอาการฉันนั้น คือ ถอนด้วยการปฏิบัติ แต่ว่าโดยวิธีทั่วไปนั้น ให้เอาอย่างช้างที่ตกหล่ม ช้างที่ตกหล่มนั้น มันพยายามถอนตัวขึ้นจากหล่มด้วยเท้าหน้าเท้าหลัง ด้วยงวงด้วยงาของมันจนขึ้นได้ฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ต้องถอนลูกศรตามวิธีการฉันนั้น ข้อนี้มีพระพุทธภาษิตประพันธ์ว่า

อปฺปมาทรตา โหถสจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร


แปลว่า ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท จงตามรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนกุญชรตกหล่มแล้วถอนตนของมันขึ้นจากหล่ม ฉะนั้น

ตามพระพุทธภาษิตนี้ ได้ข้อปฏิบัติ ๒ อย่าง คือ อัปปมาทะกับจิตตานุรักขนะ อัปปมาทะ คือ เป็นผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระโมฆราชว่า สทาสโต ให้มีสติทุกเมื่อ ตาดู หูฟัง ก็มีสติ ได้เห็นได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้อง ได้นึกคิด ก็ให้เป็นไปด้วยสติทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้มีสติ แม้จะหลับก่อนหลับก็ให้หลับด้วยสติ อย่าหลับด้วยปมาทะ คือ ความปราศจากสติและให้ตามรักษาจิตของตน

ตามรักษาจิตของตนนี้มีวิธีหลายอย่าง โดยมากท่านผู้ฟังก็ได้ยินอยู่เสมออย่างที่ท่านอธิบายไว้นั่นแหละ เช่น ให้ทำกัมมัฏฐานก็เป็นการตามรักษาจิต ให้เพ่งจิตของตนก็คือตามรักษาจิต ในเวลาที่จิตฟุ้งซ่านก็ให้เพ่ง ในเวลาที่จิตเดือดร้อนหงอยเหงาก็ให้ทำให้ร่าเริง ในเวลาที่จิตหดหู่ ก็ทำให้อาจหาญขะมักเขม้นขึ้น เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า การตามรักษาจิต

พูดไปก็มากผู้ฟังจะรำคาญ เรื่องตามรักษาจิตนี้ ฝอยตั้งหลังช้าง เพราะฉะนั้น จะพูดในพระธรรมเทศนาเพียง ๓๐ นาทีนี้พูดไม่หมด แต่ญาติโยมทั้งหลายก็ได้ฟังอยู่แล้ว อย่างไหนๆรักษาจิตทั้งนั้น เช่น ท่านสอนให้ภาวนาว่า อรหํๆ นี้ก็ตามรักษาจิต พุทฺโธๆ ก็ตามรักษาจิต ถ้าเกี่ยวด้วยทำจิตให้สะอาด ให้สงบ ให้สว่างแล้วก็เป็นการตามรักษาจิตทั้งนั้น ให้ทำจิตให้สงบระงับ เมื่อจิตสงบระงับแล้วลูกศรมันตื้นขึ้น เมื่อลูกศรมันตื้นก็จะหลุดออกมาเอง คล้ายๆกับไม้หลักปักอยู่บนดิน เมื่อดินมันแข็งตื้นขึ้นๆ หลักก็ถอนไปเอง เพราะไม่มีใครไปตอกซ้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น ข้อนี้งดไว้เพียงนี้

คราวนี้จะว่าโดยวิธีถอนเป็นอย่างๆ โดยวิธีเฉพาะเป็นอย่างๆนั้น เรามุ่งราคะ โทสะ โมหะ เป็นประมาณ เพราะฉะนั้น อีก ๔ อย่างต้องสงเคราะห์เข้าใน ๓ อย่าง มานะก็คือโมหะ ทิฏฐิก็คือโมหะ โสกะเป็นทั้งราคะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ กถังกถาเป็นทั้งราคะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ รวม ๗ อย่างย่อลงเป็น ๓ อย่าง เพราะฉะนั้น มานะ ทิฏฐิ โสกะ กถังกถา ไม่ต้องพูด เพราะรวมอยู่ใน ๓ อย่างแล้ว

เพราะฉะนั้น ว่าเฉพาะการถอนราคะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างเท่านั้น โดยเฉพาะราคะท่านให้ถอนด้วยอสุภะ คือพิจารณาสิ่งทั้งหลายว่าไม่งาม ให้มีอสุภารมณ์ อารมณ์ว่าไม่งามประจำใจ พิจารณาให้เห็นว่ามันไม่งามทั้งนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งให้พิจารณาว่า ไม่ใช่ของเราเพิ่มเข้าไปอีก แต่โดยหลักใหญ่แล้วคือไม่งาม เพราะราคะนั้นเกิดขึ้นเพราะเรื่องงาม คือ มีสุภารมณ์ อารมณ์ว่างามประจำใจจึงจะเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาเห็นว่าไม่งาม ราคะมันก็ดับ ได้ชื่อว่าถอนลูกศร คือ ราคะ

ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ ก็ตอบว่า ต้องนึกอยู่เสมอว่าไม่งาม นั่งนึกว่ามันไม่งาม อะไรทั้งหมดมันไม่งาม ไม่ควรที่จะถือว่ามันงาม โน่นก็ไม่งามนี่ก็ไม่งาม ไม่งามทั้งหมดนั่นแหละ นั่งพิจารณาไป จนจิตดิ่งแน่วแน่เห็นตามความเป็นจริงราคะก็ถอน

โทสะให้ถอนด้วยเมตตา คือ เจริญเมตตา เพราะเมตตาเป็นคู่ปรับกับโทสะ คู่ปรับกับพยาบาท คู่ปรับกับโกธะ เมื่อเจริญเมตตาแล้วโทสะดับ เจริญอย่างไร เจริญว่า สพฺเพ สตฺตา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ในเวลาที่จะโกรธ รู้สึกว่าโกรธก็ว่า สพฺเพ สตฺตา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ หรือยาวไปให้ตัดให้สั้นว่า สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ สพฺเพ สุขี โหนฺตุ โทสะก็ดับ นี้ให้ว่าอยู่เสมอ ให้นึกเสมอ ไม่ใช่ว่าพอศึกมาเข้าพระนครแล้วป้องกัน ต้องป้องกันไว้ก่อน ศึกยังไม่มา แต่เราต้องนึกว่าศึกมันจะมา ต้องให้นึกว่ามันจะมาอยู่เสมอ ถ้าต่างว่าพอโกรธปึงปังๆแล้ว เราจะว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ว่าไม่ถูกและไม่สำเร็จ แม้แต่เพียงว่า นโม ก็ว่าไม่ถูก ยุ่งไปหมดเพราะโกรธปิดบังครอบงำ เพราะฉะนั้น เราต้องเตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อเจริญเมตตาแล้วโทสะดับ นี้เรียกว่า ถอนโทสะขึ้น

โมหะให้ถอนด้วยโยนิโสมนสิการ
“โยนิโส” โดยแยบคาย “มนสิ” ในใจ “การ” กระทำ โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถ้าเราทำในใจว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ มันสวยมันงาม เป็นตัวเป็นตน มันเที่ยง มันเป็นสุข อย่างนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ ทำในใจไม่แยบคาย ที่ทำในใจโดยแยบคายนั้น ทำในใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่สวยไม่งาม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ควรยึดถือ ไม่ใช่เป็นสุข มันเป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ พิจารณาทำในใจโดยแยบคาย ทำในใจโดยแยบคายก็คือทำให้เกิดปัญญานั่นเอง

เพราะฉะนั้น เราจะพูดคลุมๆว่า ถอนโมหะ คือ ถอนด้วยปัญญาก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร ปิดกระแสแห่งตัณหาได้ด้วยปัญญา ดังนี้ เพราะฉะนั้น พูดคลุมๆว่า ปัญญาก็ได้ โยนิโสมนสิการเป็นเหตุ ปัญญาเป็นผล เมื่อทำโยนิโสมนสิการให้มีปรากฏขึ้น ปัญญาก็เกิดปรากฏขึ้นที่ใจ โมหะก็ถอน

นี้เป็นอันได้ชื่อว่า เราได้ถอนลูกศร คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ กถังกถา ได้หมด เมื่อเราถอนได้จริงๆแล้ว คำว่า เจ็บใจๆ ไม่มี หายหมด ไม่มีเจ็บใจ เขาด่าก็สบายใจ ได้มาก็สบายใจ เสียไปก็สบายใจ ไม่ได้อะไรเลยก็สบายใจ มาวัดท่านเรี่ยไร แจกฎีกา ก็สบายใจ ไม่ขุ่นไม่มัว ท่านบอกถึงทำบุญอะไร ก็สบายใจ เราสบายใจทั้งนั้น ไม่เจ็บใจ มีแต่สบายใจ เพราะลูกศรหมดแล้ว ไม่มีลูกศรปรากฏขึ้น ที่เราเจ็บใจนั้นเป็นเพราะลูกศรมันแทง นี้วิธีปฏิบัติ

ส่วนปฏิเวธ คือ ผล รับสั่งว่า น ธาวติ น สีทติ ไม่วิ่งพล่านและไม่จม คือไม่ฟุ้งซ่าน และไม่จมดิ่งลงด้วยอำนาจกิเลสครอบงำ นี้แสดงผล

ตามหลักพระพุทธภาษิตนี้ จึงได้ชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงหลักธรรมไว้เป็น ๓ ระยะ ระยะต้นเป็นปริยัติ คือ จะต้องศึกษาให้รู้ว่า กิเลสเพียงดังลูกศรนั้นมันมี ๗ อย่าง และใน ๗ อย่างนั้นสงเคราะห์เหลือเป็น ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ

วิธีถอนลูกศร คือ การปฏิบัตินั้น ปฏิบัติทั่วไป ก็คือ ไม่ประมาท ให้มีสติ และตามรักษาจิตของตน การถอนโดยเฉพาะนั้น ราคะถอนด้วยอสุภะ โทสะถอนด้วยเมตตา โมหะถอนด้วยปัญญา หรือโยนิโสมนสิการ นี้เป็นปฏิบัติ จิตสงบระงับไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วิ่งพล่าน และไม่จมไม่ทรุด ไม่ทึบไม่หนัก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส นี้ชื่อว่า ไม่จมลง เป็นปฏิเวธคือผล ตามพระพุทธภาษิตซึ่งบรรยายมาแล้วนั้น

สาธุชนได้ทราบแล้ว กำหนดพิจารณานำไปปฏิบัติ ก็จะเกิดวุฒิสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ไพบูลย์พูนผลในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกทิพาราตรี มีอรรถาธิบายดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น