xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : พุทธอุทานคาถา ปฐมพุทธอุทานที่เข้าใจอย่างถ่องแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการสวดพระพุทธมนต์ บทสวดต่อจาก ปฏิจจสมุปบาท คือ พุทธอุทานคาถา ซึ่งเป็นปฐมพุทธอุทาน ที่เกิดจากการความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในปฏิจจสมุปบาท

บทสวดพุทธอุทานคาถา ประกอบด้วย ๓ คาถา คือ

คาถาที่ ๑ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ เพราะมารู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ

คาถาที่ ๒ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป
ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย

คาถาที่ ๓ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ
ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนาเสียได้
สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น.

ปฐมพุทธอุทานนี้ เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาแล้ว ทรงประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียว ตลอด ๗ วัน พอสัปดาห์นั้นล่วงไป พระพุทธองค์เสด็จออกจากสมาธินั้น ได้ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลมด้วยดีตลอดปฐมยามแห่งราตรี ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏ แก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ.”

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายความตอนนี้ไว้ว่า ในเวลาที่ทรงทราบเนื้อความปฏิจจสมุปบาทนั้นๆ ทรงเปล่งอุทานซึ่งมีญาณอันสัมปยุตด้วยโสมนัสเป็นแดนเกิด มีคำว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ เป็นต้นนี้ ซึ่งแสดงอานุภาพแห่งความทรงทราบเหตุและธรรมที่เกิดแต่เหตุ ในเนื้อความที่ทรงทราบแล้วนั้น มีคำอธิบายว่า ทรงเปล่งพระวาจาแสดงความเบิกบานพระหฤทัย

เนื้อความแห่งอุทานนั้นว่า ยทา หเว ได้แก่ ในกาลใดแล. ปาตุภวนฺติ ได้แก่ ย่อมเกิด. โพธิปักขิยธรรมซึ่งให้สำเร็จความตรัสรู้ปัจจยาการโดยอนุโลม ชื่อว่าธรรม. อีกอย่างหนึ่ง ปาตุภวนฺติ มีความว่า แจ่มแจ้ง คือเป็นของชัดเจน ปรากฏด้วยอำนาจความรู้ตรัสรู้. ธรรมคืออริยสัจ ๔ ชื่อว่าธรรม. ความเพียรเรียกว่า อาตาปะ เพราะอรรถว่าย่างกิเลสให้ร้อน อาตาปิโน ได้แก่ ผู้มีความเพียรอันบุคคลพึงตั้งไว้ชอบ. ฌายโต มีความว่า ผู้เพ่งด้วยฌาน ๒ คือ ด้วยการกำหนด คืออารัมมณูปนิชฌาน ๑ ด้วยการกำหนดคือลักขณูปนิชฌาน ๑. พฺราหฺมณสฺส ได้แก่ พระขีณาสพผู้ลอยบาปแล้ว. อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ มีความว่า เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้น คือผู้มีธรรมปรากฏแล้วอย่างนั้นย่อมสิ้นไป.

สพฺพา มีความว่า ความสงสัยในปัจจยาการที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อเขาถามว่า ใครเล่าหนอ? ย่อมถูกต้องพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ปัญหาไม่สมควรแก้ ดังนี้ และโดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อเขาถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ชราและมรณะเป็นอย่างไรหนอ ก็แลชราและมรณะนี้จะมีแก่ใคร? พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ปัญหาไม่สมควรแก้. ดังนี้ และความสงสัย ๑๖ อย่าง เป็นต้นว่า ในอดีตกาลเราได้มีแล้วหรือหนอ? ซึ่งมาแล้วเพราะยังไม่ได้ตรัสรู้ ปัจจยาการนั่นเอง (เหล่านี้) ทั้งหมดย่อมสิ้นไป คือย่อมปราศจากไป ย่อมดับไป. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่มาทราบธรรมพร้อมทั้งเหตุ. มีอธิบายว่า เพราะทราบ คือทราบชัด ตรัสรู้ธรรมคือกองทุกข์ทั้งมวล มีสังขารเป็นต้นนี้พร้อมทั้งเหตุ ด้วยเหตุมีอวิชชาเป็นต้น.

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อธรรมทั้งหมดปรากฏแก่พระญาณของพระองค์โดยอาการทั้งปวง ทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น เพราะปัจจยาการเป็นสภาพละเอียดลึกซึ้งและเห็นได้แสนยาก เหตุทรงทำความมั่นใจวิปัสสนาโดยมุข คือปฏิจจสมุปบาท ทรงเกิดโสมนัสอย่างรุนแรง จึงทรงเปล่งอุทานในข้อนี้ อันแสดงถึงอานุภาพแห่งการตรัสรู้ปัจจยาการนั้นของพระองค์พร้อม โดยเป็นปัจจัยตัดปฏิปักขธรรมได้เด็ดขาดแล.

มัชฌิมยามแห่งราตรี พระพุทธองค์ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นปฏิโลมด้วยดี ตลอดยามว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ คือ พระอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย.”

พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยในทุติยวารว่า ทรงเปล่งอุทานแสดงอานุภาพแห่งความตรัสรู้ ความสิ้นปัจจัย กล่าวคือนิพพานซึ่งปรากฏแล้ว เพราะได้รู้ คือได้ทราบชัด ได้ตรัสรู้ นิพพานกล่าวคือความสิ้นปัจจัยทั้งหลาย เมื่อใดธรรมทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้วปรากฏแก่พราหมณ์นั้น ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทุกอย่างที่จะพึงเกิดขึ้นเพราะไม่รู้นิพพาน ย่อมสิ้นไป.

ปัจฉิมยามแห่งราตรี พระพุทธองค์ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท เป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดยาม เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น.”

พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยในตติยวารว่า ทรงเปล่งอุทานแสดงอานุภาพแห่งอริยมรรคที่เป็นเหตุ ทรงทราบเนื้อความกล่าวคือความเกิดและความดับแห่งกองทุกข์นั้น ด้วยอำนาจกิจและด้วยทำให้เป็นอารมณ์. เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัด เสนามารด้วยโพธิปักขิยธรรมซึ่งเกิดแล้วเหล่านั้น หรือด้วยอริยมรรคเป็นเครื่องปรากฏแห่งจตุสัจธรรมดำรงอยู่

วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ ความว่า ย่อมกำจัดคือผจญ ปราบเสนามารมีประการดังกล่าวแล้ว. ถามว่า กำจัดอย่างไร? ตอบว่า เหมือนพระอาทิตย์ส่องอากาศให้สว่างฉะนั้น. อธิบายว่า พระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว เมื่อส่องอากาศให้สว่างด้วยรัศมีของตนแล ชื่อว่ากำจัดมืดเสีย ข้อนี้ฉันใด. พราหมณ์แม้นั้นเมื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยธรรมเหล่านั้นหรือด้วยมรรคนั้นแล ชื่อว่ากำจัดเสนามารเสียได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ใน ๓ พุทธอุทานนี้ พุทธอุทานที่ ๑ เกิดขึ้นด้วยอำนาจความพิจารณาปัจจยาการ, พุทธอุทานที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยอำนาจความพิจารณาพระนิพพาน พุทธอุทานที่ ๓ เกิดขึ้นด้วยอำนาจความพิจารณามรรค ด้วยประการฉะนี้.

พุทธอุทานคาถา สอนให้เราทั้งหลายได้ตระหนักรู้ว่า เมื่อเรียนรู้ในสิ่งใดแล้ว ควรจะพิจารณาสิ่งที่เรียนรู้นั้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วจะทำให้ทราบถึงวิถีธรรมของสิ่งนั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงบอกเราว่า วิถีธรรมของการตรัสรู้คือความเพียรจนถึงที่สุด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น