xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๔๕) ทิฐิ ๑๐

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


สมุทัยกับคู่อาสวะได้ส่งสมุนทั้งหลายเข้าไปคุมใจชาวจิตตนคร ส่งมิจฉาทิฐิเข้าไปชักชวนให้พากันเห็นผิด จนถึงได้ส่งนายเที่ยงกับนายสูญ เข้าไปชักชวนให้เกิดความเห็นแยกกันออกไปเป็นความเห็นว่า “เที่ยง” หรือ “ขาดสูญ” นอกจากนี้ ยังได้ส่งพรรคพวกของคนทั้งสองนั้นอีก ๑๐ คน เข้าไปชักนำความเห็นไปในทางต่างๆ ทั้ง ๑๐ คนนั้นมีชื่อเรียกยากสักหน่อย คือเรียกชื่อว่า “อันตคาหิกทิฐิ ความเห็นอันถือเอาที่สุด คือแล่นไปถึงที่สุดในทางหนึ่งๆ” ได้แก่ความเห็นว่า

๑. โลกเที่ยง
๒. โลกไม่เที่ยง
๓. โลกมีที่สุด
๔. โลกไม่มีที่สุด
๕. ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น
๖. ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น
๗. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก (เกิดอีก)
๘. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก
๙. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี
๑๐. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกหามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้


ทั้ง ๑๐ คนนี้เที่ยวแสดงชักชวนให้ชาวจิตตนครเชื่อไปตาม ใช้คำพูดที่เรียกว่า “วาทศิลป” ต่างๆยกเหตุผลแวดล้อมต่างๆ ให้ผู้ฟังเกิดความทึ่งในใจและยอมเชื่อตาม ความเห็นทั้ง ๑๐ นี้จัดเป็น ๕ คู่ แต่ละคู่ขัดกันตรงกันข้าม แต่รวมเป็นพวกเดียวกันได้ เพราะเป็นพวกมิจฉาทิฐิก๊กเดียวกัน และเพื่อจะจับใจของคนทั้งปวงไว้ให้หมด จึงออกแสดงนัยต่างๆกันออกไป สุดแต่ใครจะติดในกระแสไหน

ตั้งต้นแต่จูงใจให้เห็นว่าโลกนี้เที่ยงนะ โอกาสโลกคือพื้นพิภพนี้ก็เที่ยงแท้ สังขารโลก คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายก็เที่ยงแท้ เพราะต้องปรุงแต่งกันอยู่ไม่หยุดหย่อน สัตวโลก คือหมู่สัตว์ทั้งหลายก็เที่ยงแท้ ย่อมดำรงอยู่นิรันดร ที่ขึ้นชื่อว่าโลกดังกล่าวเป็นสิ่งเที่ยงทั้งนั้น ชาวจิตตนครพากันเชื่อในฝ่ายนี้ก็มาก ที่ไม่เชื่อก็มี จึงจูงใจอีกอย่างหนึ่งว่า โลกไม่เที่ยงเลยนะ บรรยายในทางตรงกันข้าม ก็ได้ใจของคนที่ไม่เชื่อในประการแรกมานับถือ

นอกจากนี้ ยังกล่าวชักนำให้เป็นนักคิดนักเชื่อที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด” เพราะก็น่าคิดเหมือนกันว่าโลกจะมีที่สุดหรือไม่ น่าจะมีคนเชื่อแตกความเห็นกัน จึงส่งมิจฉาทิฐิไปแสดงไว้ทั้ง ๒ ทาง มองดูเข้ามาในตนก็เกิดปัญหาอีกเหมือนกันว่า “ชีพก็อันนั้นสรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพก็อันอื่นสรีระก็อันอื่น” เป็นปัญหาสองแง่สองมุม จึงส่งมิจฉาทิฐิไปแสดงไว้ทั้ง ๒ ทางเหมือนกัน

ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับองค์พระตถาคต ซึ่งเป็นองค์พระศาสดาของโลก ว่าจะทรงเกิดอีกหรือหาไม่ หรือไม่ใช่ทั้งสอง ทำให้ชาวจิตตนครแตกความเห็นกัน และทุ่มเถียงกันว่าความเห็นของใครจะถูก บางคนได้นำความเห็นเหล่านี้ไปกราบทูลถามองค์พระบรมครูก็เคยมี แต่พระองค์หาได้ทรงตอบไม่ เพราะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ แม้จะทรงตอบก็ไม่ทำให้ใครดีหรือชั่วได้ จะแก้ทุกข์ร้อนประการใดก็หาได้ไม่ อันที่จริงทั้ง ๑๐ ประการนั้น ก็รวมเข้าในจำพวกเที่ยงกับสูญดังกล่าวแล้วนั่นเอง

การไม่สนใจในสิ่งไร้ประโยชน์ ที่จะไม่ทำให้ใครดีหรือชั่วได้ ที่จะไม่เป็นการแก้ทุกข์ร้อน แต่สนใจในสิ่งมีประโยชน์ ที่จะทำให้ใครดีหรือชั่วได้ ที่จะเป็นการแก้ทุกข์ร้อนนี้เป็นการบริหารจิตโดยตรง ที่บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรพิจารณาปฏิบัติอย่างยิ่ง

เหตุการณ์ไม่แน่นอน
ฝ่ายคู่บารมีเห็นสมุทัยและคู่อาสวะส่งมิจฉาทิฐิกับพรรคพวก เข้าชักชวนชาวจิตตนครให้มีความเห็นผิดไขว้เขวไปมากมายหลายอย่าง ทั้งได้ส่งพรรคพวกเข้ายึดครองใจคนไว้อย่างหนาแน่น เช่นพวกโลโภ โทโส โมโห พวกอุปกิเลส ๑๖ พวกกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด คุมทางสื่อสารไว้ทั้งชั้นนอกชั้นใน ส่งอารมณ์เข้าไปโดยทางสื่อสารเหล่านี้ สร้างนิทรรศการไตรภูมิอันวิจิตรตระการ ชักชวนให้ชาวจิตตนครเที่ยวชมหลงวนเวียนหาทางออกไม่ได้ เป็นการแสดงนิทรรศการที่ไม่มีที่ไหนจะทำได้เสมอเหมือน

แม้คู่บารมีจะได้ขออนุญาตนครสามี ส่งศีลและพรรคพวกเข้ามาช่วยกอบกู้ ทั้งส่งเพิ่มเข้ามามากขึ้น ศีลกับพรรคพวกได้ช่วยต้านทานต่อสู้ขับไล่ฝ่ายอาสวะกับสมุทัยอย่างได้ผล ทำให้สมุทัยกับพรรคพวกซบเซาไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ผลเด็ดขาด ยังผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในที่หลายจุด ดังเช่นที่จุดทวารของเมืองทั้ง ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร บางคราวหัวโจกทั้ง ๓ คือโลโภ โทโส โมโห ยึดได้ บางคราวศีลกับหิริโอตตัปปะเป็นต้นยึดได้ เมื่อหัวโจกร้ายยึดได้ก็เปิดประตูให้พวกทุจริตมิจฉาชีพต่างๆเข้ามา แต่ปิดมิให้สุจริตต่างๆเข้ามา เมื่อฝ่ายศีลยึดได้ก็เปิดประตูรับพวกสุจริตสัมมาชีพต่างๆ แต่ปิดมิให้พวกทุจริตมิจฉาชีพเข้า

ทางระบบสื่อสารก็เช่นเดียวกัน เมื่อพวกกิเลสร้ายต่างๆยึดได้ ก็ส่งอารมณ์ปนเข้ามาคือ เช่นที่เรียกว่า “กามคุณารมณ์” ซึ่งเข้ามายั่วยวนชาวจิตตนครให้หลงใหล เห็นเป็นเรื่องราวจริงจังดังดูภาพยนตร์ ก่อให้เกิดนิวรณ์ทั้ง ๕ ขึ้นครอบงำ เมื่อฝ่ายคู่บารมียึดได้ก็ส่งอารมณ์อีกประเภทหนึ่ง ดังที่เรียกว่า “อารมณ์กรรมฐาน” ซึ่งเข้ามาระงับดับนิวรณ์ดังกล่าว นับว่าได้ต่อสู้กันกระชั้นชิดเข้ามาถึงนิวาสสถานแห่งนครสามี

แต่คู่อาสวะก็ยังส่งพวกมิจฉาทิฐิต่างๆ ส่งอย่างหยาบเข้ามาก่อน ครั้นคู่บารมีส่งสัมมาทิฐิเข้ามาแก้ ก็เป็นการได้ช่วยชาวจิตตนครให้พ้นจากมิจฉาทิฐิชนิดที่น่ากลัว ที่เป็นภัยอันตรายอย่างร้ายแรง

สมุทัยและคู่อาสวะก็หาได้หยุดยั้งไม่ ยังได้ส่งมิจฉาทิฐิที่ละเอียดกว่า ดังที่เรียกว่านายเที่ยงนายสูญ และอีกชุดหนึ่งซึ่งมีอยู่ ๑๐ ด้วยกันเข้ามา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสมุนของนายเที่ยงนายสูญทั้งสองนั่นแหละ ยังให้เกิดผล คือแม้ชาวจิตตนครจะกลับมาเป็นฝ่ายสัมมาทิฐิ เชื่อในกรรมและผลของกรรมเป็นต้น แต่ก็ยังเรรวนไม่แน่นอน และนอกจากนี้ คู่อาสวะกับพวกซึ่งเป็นพวกชั้นในด้วยกันก็ยังยึดนิวาสสถานชั้นในส่วนหนึ่งของนครสามีได้อยู่อย่างมั่นคง คู่บารมีจึงเห็นว่าจำจะต้องหาทางปฏิบัติปราบปรามคู่อาสวะกับสมุทัยและพรรคพวกให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ก็เป็นอนิยต คือไม่แน่นอน

กล่าวอีกอย่างก็คือ คู่บารมีหรือฝ่ายสร้างสรรค์ความดีเห็นว่า ถ้าไม่สามารถทำลายคู่อาสวะหรือฝ่ายสร้างสรรค์ความชั่ว ให้พ่ายแพ้ถอยพ้นออกจากใจให้ได้อย่างสิ้นเชิง ใจก็จะต้องไม่แน่นอน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวรักทำบุญเดี๋ยวรักทำบาป เดี๋ยวนิยมชอบเดี๋ยวนิยมผิด กลับไปกลับมาอยู่นั่นเอง เหมือนดังที่สามัญชนทั่วไปเป็นกันอยู่เป็นธรรมดา

บรรดาผู้มาบริหารจิต คือผู้ที่กำลังพยายามจะสร้างสรรค์ความดีขึ้นให้มาก ขณะเดียวกันพยายามจะถอดถอนความชั่วให้น้อยลง ทำได้ผลเพียงใด ความกลับไปกลับมาของใจก็จะน้อยลงเพียงนั้น จะดีมากกว่าร้าย จะรักทำบุญมากกว่ารักทำบาป จะนิยมชอบมากกว่านิยมผิด ความกลับไปกลับมาวุ่นวายของใจดังกล่าวลดน้อยลงเพียงใด ความสงบมั่นคงด้วยความดีก็จะมียิ่งขึ้นเพียงนั้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น