xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : ทองดีฟันขาว บุรุษต้นแบบแห่งแผ่นดินสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทองดีฟันขาว” เป็นหนังไทยที่ผู้สร้างได้ศึกษาข้อมูลจากประวัติศาสตร์ และตำนานในอดีตของ “พระยาพิชัยดาบหัก” นำมาดัดแปลงผสมจินตนาการ เพื่อสร้างอรรถรสความสนุกแบบภาพยนตร์

เรื่องราวเริ่มต้นด้วย “จ้อย” เด็กชายลูกชาวบ้าน ที่มักถูก “เชิด” ลูกเจ้าเมืองพิชัย (ปัจจุบันคือจังหวัดอุตรดิตถ์) และบรรดาสมุน รุมกลั่นแกล้งอยู่เสมอ เขาจึงใช้เวลาฝึกฝนมวยด้วยตนเอง จนตอบโต้เชิดถึงขั้นเลือดตกยางออกได้ แล้วก็กังวลใจว่าจะนำความเดือดร้อนมาให้ครอบครัว จึงหนีออกจากบ้านไป

หนังตัดมาอีกครั้งเมื่อจ้อยโตเป็นหนุ่ม หน่วยก้านบึกบึน แต่ยังคงโดนเชิดและพรรคพวกไล่ตามราวีอยู่ ทว่าความเก่งกาจในเชิงต่อสู้ ทำให้จ้อยเอาตัวรอดได้ พร้อมฝากรอยฟกช้ำติดตัวให้กับอีกฝ่ายเช่นเคย

จ้อยกลายเป็นหนุ่มพเนจร เลี้ยงชีพด้วยการต่อยมวยตามสังเวียนเล็กๆ ในหมู่บ้าน แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในวันหนึ่ง หลังจากที่เขาชนะคู่ต่อสู้ได้แบบเหงื่อไม่ทันซึมในสังเวียนริมแม่น้ำ ก็มีหนุ่มใหญ่แปลกหน้า บุคลิกสุขุมรายหนึ่งมาขอเปรียบมวย คู่ชกหน้าใหม่มีเชิงมวยที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด และชั่วพริบตาก็เตะก้านคอจ้อยคว่ำลงไปในลำธาร

คนดูไม่มีใครสนใจจ้อยที่นอนจมในน้ำ ยังดีที่ลุงขี้เมารายหนึ่งลากเขาขึ้นมา พร้อมให้ข้อคิดว่า จ้อยมีเพียงพละกำลังในการต่อสู้ แต่ไม่มีทักษะแม่ไม้มวยไทย หากอยากพัฒนาฝีมือเชิงมวยให้เก่งกาจ ต้องไปร่ำเรียนวิชาจากครูมวย

การเดินทางครั้งใหม่ของนักมวยไร้สังกัดจึงเริ่มขึ้น จ้อยไปเจอค่ายมวยของ “ครูเที่ยง” ครูมวยอาวุโสในหมู่บ้านเล็กๆ และด้วยความไม่อยากให้ใครรู้ที่มาที่ไป เขาจึงบอกว่าตัวเองชื่อ “ทองดี” ก่อนจะได้ฉายาพ่วงท้ายว่า “ฟันขาว” เนื่องจากมีฟันขาว เพราะไม่กินหมากเหมือนคนอื่นๆในยุคนั้น

ทองดีฝึกฝนมวยและพัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นศิษย์รักของครูเที่ยง แต่แล้วเหตุบาดหมางในอดีตก็ตามมารังควาน เมื่อสมุนของเชิดผ่านมาเห็นจ้อยฝึกมวยอยู่ จึงไปบอกเจ้านาย เชิดได้นำกำลังทหารมาพร้อมกับน้าชาย ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นใหญ่ ล้อมค่ายมวยไว้ จนกระทั่งจ้อยต้องออกมามอบตัว โดยขอร้องน้าชายของเชิดว่า ครูเที่ยงกับศิษย์คนอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้จับกุมตนเพียงคนเดียว

ทว่าเหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด นายทหารใหญ่กลับสั่งให้ทหารเผาค่ายมวย จ้อยพร้อมกับศิษย์ในค่ายจึงต้องต่อสู้ เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน สุดท้ายแล้วทหารใหญ่ และเหล่าทหาร รวมทั้งเชิด ก็พ่ายแพ้กลับไปด้วยสภาพร่างกายสะบักสะบอม

หลังความวุ่นวาย ทองดีกราบลาครูเที่ยง เนื่องจากไม่อยากให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเพราะตน ครูเที่ยงแนะว่าให้เดินทางขึ้นเหนือไปหา “ครูเมฆ” ณ บ้านท่าเสา ซึ่งเป็นครูมวยยอดฝีมือ ทองดีมีเด็กหนุ่มชื่อ “บุญเกิด” ขอติดตามไปด้วย เพราะอยากฝึกมวยให้เก่ง

ระหว่างทางทั้งคู่เจองานวัดและดูการแสดงงิ้ว จึงได้รู้จักกับ “หมวยเล็ก” เด็กสาวผู้เป็นลูกของ “ลี” เจ้าของโรงงิ้ว การชมงิ้วในครั้งนั้น สร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจให้กับทองดี ด้วยการแสดงที่โลดโผน ตีลังกาแบบจีน น่าจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นทักษะการต่อสู้ป้องกันตัวได้ สุดท้ายจึงขอเข้าฝึกฝนจากลี จนได้ทักษะงิ้วติดตัวมา

ทองดีออกเดินทางต่อไป โดยทิ้งบุญเกิดไว้กับคณะงิ้ว เนื่องจากมัวแต่นอนขี้เซา ระหว่างทางเขาได้ช่วยเหลือเกวียนของเจ้านายคณะหนึ่ง ซึ่งถูกโจรปล้นกลางทาง ทำให้รู้จักสาวสวยชื่อ “รำยง” ซึ่งเป็นนางกำนัลและผู้คุ้มกันเจ้านายฝ่ายหญิงในเกวียนนั้น หล่อนประทับใจในความมีน้ำใจและกล้าหาญของทองดี จึงมอบแหวนให้วงหนึ่ง และบอกว่า อาจจะช่วยเหลือได้ในยามคับขัน

เมื่อมาถึงบ้านท่าเสา ทองดีพบว่า บุญเกิดล่วงหน้ามาถึงก่อนแล้ว ทั้งคู่จึงได้ร่วมเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ภายใต้ค่ายมวยของครูเมฆ เมื่อฝึกฝนได้ระยะหนึ่ง ก็มีงานบุญประจำปีที่วัด มีการเปรียบมวยระหว่างค่ายคู่ปรับชื่อครูนิล ซึ่งมีเจ้าถึกเป็นศิษย์เอก นักมวยคนแล้วคนเล่าของครูเมฆ โดนเจ้าถึกเตะสลบ จนทองดีขอขึ้นเวทีเป็นคนสุดท้าย แล้วก็ปราบได้ทั้งเจ้าถึก และครูนิล สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

ครูเมฆถ่ายทอดวิชาให้ทองดีจนหมด แล้วแนะนำให้ไปฝึกวิชาดาบที่สวรรคโลก เพราะเชื่อว่าเพลงดาบจะเป็นสิ่งสำคัญในภายภาคหน้า การเดินทางคราวนี้ มีหมวยเล็กที่กลายเป็นเพื่อนสนิทบุญเกิด กับเจ้าถึก ร่วมทางไปด้วย

การเดินทางไปพบครูดาบที่สวรรคโลก ทั้งหมดใช้เวลาฝึกฝนไม่นานก็สำเร็จวิชา จากนั้นจึงเดินทางต่อไป แต่ระหว่างทาง ศัตรูคู่อาฆาตอย่างเชิดและน้าชาย ก็ตามมาทำร้าย แม้ทองดีจะปราบศัตรูเก่าได้อย่างเด็ดขาดในครั้งนี้ แต่บุญเกิดพลาดท่าโดนยิงบาดเจ็บสาหัส ทองดีจึงกลับมาขอม้าจากครูเพลงดาบ แล้วควบไปยังวัดข่อยเขาแก้ว ณ เมืองตาก ซึ่งมีพระอาจารย์ที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ แต่ก่อนที่จะถึงตัวเมือง ม้าเกิดพยศล้มและวิ่งหนีไป

ทองดีอุ้มร่างไร้สติของบุญเกิดไปในตลาด ขอเช่าม้าจากชาวบ้านแถวนั้น แต่กลับได้รับคำดูถูก เขาหยิบแหวนที่รำยงเคยให้ไว้ มาขอแลกกับม้า ก็กลับถูกโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี แต่ “เรือง” ชายหนุ่มลึกลับคนหนึ่ง หยิบแหวนขึ้นมาดู แล้วจึงเข้าไปจัดการชาวบ้านเหล่านั้น และช่วยให้ทองดีนำบุญเกิดไปรักษาได้ทันท่วงที ทองดีซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือของเรืองมาก จึงกล่าวคำสัตย์ว่า จะไม่ขัดข้องใดๆ หากมีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณ

การเดินทางมาที่วัดข่อยเขาแก้ว ทำให้ทองดีได้พบกับรำยงอีกครั้ง เขาจึงได้รู้ว่าหล่อนเป็นนางกำนัลผู้ทำหน้าที่อารักขาภรรยาเจ้าเมืองตากคนใหม่ และในอีกไม่กี่วันจะมีการเปรียบมวยแข่งขัน เพื่อฉลองตำแหน่งเจ้าเมือง ทองดีจึงแวะไปดูการเปรียบมวย และได้พบกับหนุ่มใหญ่ ผู้เคยเตะเขาจนสลบไปในลำธาร ซึ่งแท้จริงแล้ว คือ “ครูห้าว” ครูมวยของเจ้าเมืองตาก แถมยังมีศักดิ์เป็นน้าของรำยงอีกด้วย บุญเกิดที่หายดีแล้วขอให้ทองดีได้แก้มือกับครูห้าว

การชกบนสังเวียนใหญ่ต่อหน้าเจ้าเมืองตาก ทองดีปราบครูห้าวได้สำเร็จ รวมทั้งครูมวยอีกรายหนึ่งด้วย เจ้าเมืองจึงเตรียมจะมอบรางวัล ทันใดนั้น เรืองก็ปรากฏกายออกมา พร้อมกับพรรคพวก เข้าทำร้ายทหาร หมายจะลอบสังหารเจ้าเมืองตาก ทองดีกับเจ้าถึกต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว แต่เมื่อเห็นว่าเป็นเรือง ซึ่งเคยมีพระคุณ ทองดีจึงไม่อาจสังหารได้ ด้วยเคยลั่นวาจาจะตอบแทนคุณไว้

แต่แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดก็กลับตาลปัตร ทุกเรื่องเป็นเพียงการสมมติลองใจ เพราะแท้จริงแล้ว เรืองคือพระยาตากตัวจริง ที่ต้องการคัดคนที่กล้าหาญและมีความซื่อสัตย์มารับใช้ เพื่อศึกใหญ่ในภายภาคหน้า การที่ทองดีและเจ้าถึก ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ไม่วิ่งหนีไปแบบนักมวยคนอื่น และยังยืนหยัดเรื่องบุญคุณที่เคยลั่นวาจาไว้ ต่อมานายทองดีจึงกลายเป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสิน เป็นวีรบุรุษที่คนไทยรู้จักในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก” นั่นเอง

หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่เห็นชัดที่สุดในภาพยนตร์ทองดีฟันขาว คือ “อิทธิบาท 4” อันเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จในการกระทำสิ่งใดๆ ได้แก่

ฉันทะ ความพอใจ ความรักในสิ่งนั้น วิริยะ ความเพียร เข้มแข็งอดทนในสิ่งนั้น จิตตะ ความเอาใจใส่ ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น วิมังสา ความหมั่นไตร่ตรอง ปรับปรุงในสิ่งนั้น

พื้นฐานของหลักธรรม 4 ประการนี้ ปรากฏชัดในภาพยนตร์ นับตั้งแต่จ้อยยังเป็นเด็ก มีใจรักในศิลปะการต่อสู้ จึงอดทนพยายามในการฝึกฝน ตระเวนออกไปเรียนรู้ หาทักษะเพิ่มเติมจากครูมวย เอาใจใส่ฝึกซ้อม พร้อมทั้งยังเรียนรู้วิชาใหม่ๆอยู่เสมอ ไม่ละทิ้งสิ่งที่ตนรัก และสิ่งใดที่เป็นข้อผิดพลาดก็ใส่ใจแก้ไข จนกระทั่งกลายเป็นยอดนักสู้ที่หาใครเทียบได้ยาก

นอกจากนี้ ความเป็นวีรบุรุษต้นแบบของนายทองดีที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ก็คือการยึดมั่นใน “สัจจะ” ซึ่งเป็นหลักธรรมใน “ฆราวาสธรรม 4” ที่ผู้ครองเรือน ผู้ใช้ชีวิตทางโลกพึงมีไว้

สัจจะ หมายถึง ความจริง ความเที่ยงแท้ ความซื่อสัตย์ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ควรมี เพราะทำให้เป็นคนหนักแน่นมั่นคง ไม่โอนอ่อนไปกับสิ่งที่มาทำให้ใจไขว้เขว ผู้คนก็ย่อมเคารพยำเกรงในคำพูดและการกระทำต่างๆ การที่ทองดีกล่าวคำสัตย์ และยึดมั่นในสัจจะ ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญให้พระยาตากมองเห็นว่า บุคคลประเภทนี้ คู่ควรแก่การเป็นทหารหาญ ที่จะเคียงข้างพระองค์ในการร่วมกอบกู้เอกราชของชาติไทย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
กำลังโหลดความคิดเห็น