ความเชื่อในเรื่องการทำพิธีศพนั้น แตกต่างกันออกไปในวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติศาสนา แต่พิธีกรรมสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นการฝัง หรือเผาศพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเผาศพดูเหมือนมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการฝังศพ แต่หนึ่งในข้อเสียซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกันทั่วโลก คือ กระบวนการเผาศพส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้ความร้อนสูง อุณหภูมิระหว่าง 760-1,150 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 75 นาที ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารพิษจำนวนมหาศาลออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและมลภาวะเป็นพิษ
และด้วยตระหนักว่า แม้ตัวตายจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังทิ้งผลกระทบที่เป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมไว้ด้วย ดังนั้น ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการฝังศพ Go Green คือ การฝังศพแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า การฝังศพแบบกรีน (Green Burial) ซึ่งใส่ใจรักษาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก
ผู้คนกลุ่มหนึ่งจึงได้คิดค้นวิธีการฝังศพแบบใหม่ที่จะช่วยย่อยสลายร่างคืนสู่ธรรมชาติ และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
• แคปซูลต้นไม้แห่งชีวิต
การฝังศพ Go Green แบบแคปซูลต้นไม้แห่งชีวิตที่มีชื่อว่า Capsula Mundi (โลกแคปซูล) เกิดจากแนวคิดของนักออกแบบชาวอิตาลี 2 คน คือ “แอนนา ซิเตลลี” และ “ราอูล เบรตเซล” ได้คิดค้นออกแบบโลงศพรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ลักษณะเป็นแคปซูลรูปไข่ ซึ่งเป็นรูปทรงโบราณ โดยใช้วัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพ
ผู้ออกแบบบอกว่า “เราเชื่อว่า ความตายเป็นหนทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่มันก็มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ” ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้สัญลักษณ์สากลของมนุษย์และชีวิต อาทิ ไข่และต้นไม้
แคปซูลรูปไข่นี้จะเป็นที่บรรจุศพในท่าที่เหมือนกับอยู่ในครรภ์มารดา จากนั้นนำแคปซูลฝังลงในดิน เสมือนการปลูกพืชด้วยเมล็ดพันธุ์ ส่วนด้านบนจะปลูกต้นไม้ซึ่งคนตายเป็นผู้เลือกไว้ขณะยังมีชีวิต ต้นไม้จะดูดซึมสารอาหารจากศพที่ค่อยๆเน่าเปื่อย โดยครอบครัวและญาติมิตรของผู้ตายจะคอยดูแลต้นไม้ให้เจริญเติบโต กลายเป็นอนุสรณ์ให้ได้รำลึกถึง และเป็นมรดกแก่ลูกหลาน รวมถึงเป็นอนาคตของโลกที่งดงามด้วย
และหากมีการนำแคปซูลต้นไม้จำนวนมากฝังลงดินในบริเวณเดียวกัน ก็จะทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นสุสาน Go Green หรือสุสานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลดีต่อโลก ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสุสานใหม่ จากหลุมฝังศพและป้ายหินแบบเดิมๆ ที่วางเรียงราย กลายเป็นป่าอันร่มรื่นมีชีวิตชีวา
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยทั่วโลกได้ให้ความสนใจอย่างมาก และคาดว่าจะกลายเป็นจริงในอีกไม่ช้า
• ชุดเห็ดมรณะ
ชุดเห็ดมรณะ (Mushroom Death Suit) หรือชุดฝังนิรันดร (Infinity Burial Suit) เป็นอีกหนึ่งไอเดียของการฝังศพ Go Green ซึ่งเกิดจากแนวคิดของ “แจ ริม ลี” ศิลปินสาวชาวอเมริกัน และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Coeio ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมองหาหนทางในการจากโลกนี้ไปอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องเกี่ยวกับเห็ด ทำให้เธอรู้ว่าเห็ดสามารถชำระล้างสิ่งปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมต่างๆ จึงนำมาสู่การออกแบบชุดเห็ดมรณะ
“ดิฉันได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดที่ว่า เห็ดเป็นสุดยอดนักย่อยสลายบนพื้นพิภพ และเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและความตาย เราสามารถใช้เห็ดเป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือเปลี่ยนวิธีคิดของคนเรา ในเรื่องความตายและการเชื่อมโยงระหว่างเรากับโลกได้หรือไม่”
ด้วยแนวคิดนี้ เธอจึงนำมาออกแบบตัดเย็บชุดเห็ดมรณะ ซึ่งเป็นชุดเสื้อกางเกงติดกัน ทอด้วยเส้นใยที่ซึมซับสปอร์ของเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ เมื่อนำชุดนี้สวมให้ผู้ตายและนำร่างฝังลงดิน เห็ดจะค่อยๆย่อยสลายร่างศพอย่างช้าๆ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยปรับสภาพดินที่ปนเปื้อนด้วยยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ โลหะหนัก หรือสารกันบูด ให้มีความเป็นกลาง
บริษัท Coeio บอกว่ามีลูกค้าหลายร้อยคนรอคิวสวมชุดเห็ดมรณะ ราคาขายประมาณ 999 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,000 บาท) ซึ่งพอๆกับราคาโลงศพเลยทีเดียว
ขณะนี้ทางบริษัทกำลังพัฒนาชุดเห็ดมรณะสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย เพื่อให้ซากของมันได้กลับคืนสู่ธรรมชาติเช่นกัน
• โกศย่อยสลายทางชีวภาพ
แม้ว่าแนวคิดการฝังศพ Go Green จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผาศพก็ยังคงดำเนินอยู่ในโลกใบนี้ ดังนั้น โกศบรรจุเถ้าอัฐิที่สามารถย่อยสลายได้ จึงถูกชายหนุ่มสองพี่น้องชาวสเปน “เจอร์ราด” และ “โรเจอร์ โมลิเน่” หยิบยกมาต่อยอดไอเดีย พวกเขาเชื่อว่า การออกแบบให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังนั้น บริษัท Bios Urn ของทั้งคู่ จึงได้นำเสนอวิธีการอันชาญฉลาด ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเดินสู่ขั้นตอนสุดท้ายของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปในเรื่องความตายจาก “จุดสุดท้ายของชีวิต” ให้กลายเป็น “ชีวิตใหม่” ในธรรมชาติ
โกศย่อยสลายทางชีวภาพรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า “Bios Urn” ได้ถูกออกแบบด้วยแนวคิดว่า เถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผาศพซึ่งได้บรรจุในโกศ จะเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่อไป ตัวโกศมีขนาด 16x16x32 ซม. น้ำหนัก 0.85 กก. ราคา 145 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,000 บาท) ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ภายในโกศจะบรรจุเถ้าอัฐิ ด้านบนของโกศจะใส่เมล็ดพันธ์พืช แร่ธาตุ และสารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของต้นไม้ จากนั้นฝังโกศลงในดิน และเมื่อเวลาผ่านไป โกศจะย่อยสลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อดิน ขณะที่ต้นไม้ก็จะเติบโตงอกงามขึ้นมา
และด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยในปัจจุบัน โกศย่อยสลายทางชีวภาพนี้สามารถนำไปใส่ในกระถางที่มีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับ (Bios Incube) และควบคุมด้วยแอปพลิเคชัน ซึ่งจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ แสงแดด และอุณหภูมิที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไปยังสมาร์ทโฟนของญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต เพื่อเตือนให้ดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโตต่อไป
ที่สำคัญ โกศย่อยสลายที่ใส่ลงในกระถางเซ็นเซอร์ ยังใช้เป็นแจกันหรือกระถางต้นไม้สำหรับประดับบ้านให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่แลดูงดงามสดชื่น เสมือนหนึ่งผู้ที่เรารักยังคงอยู่ใกล้ๆ ให้เราได้ระลึกถึงตลอดเวลา
แนวคิดใหม่เรื่องการฝังหรือเผาศพ เพื่อรำลึกถึงผู้ตายนี้ เป็นเรื่องดีไม่น้อย เมื่อหนึ่งชีวิตจากไป พร้อมกับให้หนึ่งชีวิตใหม่ขึ้นมา มันอาจจะช่วยเปิดมิติใหม่ของ “ชีวิตหลังความตาย” อย่างไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย บุญสิตา)