xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ อดีตแดนประหารกบฏอั้งยี่ สมัย ร.3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตะวันตก ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

พระอารามแห่งนี้เดิมเรียกกันว่า “วัดหลักเมือง หรือ “วัดหน้าเมือง” เพราะเป็นวัดสำคัญกลางใจเมืองเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆว่า “วัดเมือง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์จะใช้เมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันอริราชศัตรูจากการทำศึกสงครามกับญวน จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) พระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นต้นราชกุล “พึ่งบุญ” เป็นแม่กองยกกำลังไปก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการเมืองฉะเชิงเทรา โดยมีพระอนุชาร่วมพระโสทร คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต หรือ “พระองค์เสือ” เป็นผู้ช่วยคุมงาน

ในขณะที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศได้ทรงงานก่อสร้างป้อมปราการอยู่นั้น พระองค์ได้ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมกันเมื่อ พ.ศ. 2377 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามวัดอย่างเป็นทางการตามพระฐานันดรศักดิ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งเป็นอาของพระเจ้าแผ่นดินว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” แปลว่า วัดที่อาของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง (คำว่า ปิตุลา ตามพจนานุกรมแปลว่า ลุง อา (พี่น้องผู้ชายข้างพ่อ) ในที่นี้หมายถึง อา เพราะทรงเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของรัชกาลที่ 3 คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นลุง)

เมื่อ พ.ศ. 2391 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่วัดแห่งนี้ โดยมีพวกจีนอั้งยี่ “ก๊กเส่งท่ง” ค้าฝิ่นเถื่อน ออกปล้นสะดมฆ่าชาวบ้านมากมาย พระยาวิเศษฤาชัย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรายกกำลังไปปราบ แต่กลับถูกพวกอั้งยี่ฆ่าจนเสียชีวิต แล้วตั้งตัวเป็นกบฏ ออกเผาเมือง ยึดป้อมปราการและวัดเป็นที่มั่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) นำทัพหลวงไปปราบอั้งยี่ที่ฉะเชิงเทรา

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดยาวนาน ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่เล่าลือกันต่อมาว่า แม่น้ำบางปะกงต้องเป็นสีเลือดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ในที่สุดพวกอั้งยี่ก็ถูกปราบราบคาบ กล่าวกันว่า พวกอั้งยี่เสียชีวิตในการก่อกบฏครั้งนั้นไม่น้อยกว่า 3,000 คน ส่วนพวกที่ถูกจับได้ ก็โดนโทษประหารชีวิตทั้งหมด และสถานที่ประหารชีวิตพวกอั้งยี่ ก็คือบริเวณโคนต้นจันทน์ใหญ่ของวัดเมือง ที่อยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร (ต้นจันทน์อายุกว่า 170 ปี) โดยพบหลักฐานเมื่อครั้งล้างป่าช้าหลังวัดเมือง มีโครงกระดูกหัวขาดและโซ่ตรวนยังติดขาอยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2395 จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯให้ยกวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวง

โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สำคัญของวัด ได้แก่

• พระอุโบสถ กว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 8 เมตร มีมุขเด็จด้านหน้าและหลัง หน้าบันมุขเด็จเป็นลวดลายปูนปั้น มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จปร" (รัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 5 ใช้ จปร. เหมือนกัน) ลงรักปิดทอง ประดับกระจก

• สมเด็จพระมหาพุทธรักษ์รณเรศ หรือ “หลวงพ่อเมือง” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก ฝีมือช่างเมืองหลวง

• พระวิหาร กว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ ภายในพระวิหารมีพระประธานและพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 3 ศอก จำนวน 4 องค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อทองสำริด และมีรอยพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยสำริด มีภาพมงคล 108 สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

• พระปรางค์ ตั้งอยู่มุมกำแพงรอบพระวิหาร มี 4 องค์ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

• ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แต่มีการบูรณะโดยยกสูงจากพื้นเดิม ทำเป็น 2 ชั้น มีระเบียงรอบตัวอาคาร หน้าบันมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ภายในมีโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ ธรรมาสน์บุษบก ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ สร้างสมัยรัชกาลที่ 3, ธรรมาสน์เทศน์ เป็นธรรมาสน์ชั้นตรี เขียนลายรดน้ำ เป็นเครื่องสังเค็ด (ของที่ระลึก, ของชำร่วย) งานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัชกาลที่ 6 สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานสำหรับพระอารามหลวง

• พระเจดีย์ สูง 6-7 เมตร บรรจุพระอัฐิพระยาวิเศษฤาชัย อดีตเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บริเวณรั้วของวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา

• ศาลากรมหลวงรักษ์รณเรศ ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงวัด มีรูปหล่อกรมหลวงรักษ์รณเรศ ทรงชุดออกศึก ประทับนั่ง ขนาดเท่าองค์จริง หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ด้านแม่น้ำบางปะกง พระองค์เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และเหล่าพ่อค้าคนจีน ที่เชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดได้สัมผัสพระแสงดาบของพระองค์ จะมีบารมีเอาชนะศัตรูคู่แข่งขัน และหากได้สัมผัสฉลองพระบาท จะมีบารมีด้านปกครอง เป็นใหญ่เป็นโต

วัดเมืองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2451 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสวัดเมือง และบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2521 โดยชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา

ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมกับทางวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยใน พ.ศ. 2558 ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร และพระปรางค์ 4 องค์ จนแล้วเสร็จ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์จึงหวนคืนสู่ความสง่างามสมนามพระอารามหลวงอีกวาระหนึ่ง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น