xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กุ้งมีโคเลสเตอรอลสูงจริงหรือ ต้องเลิกกินมั้ย?
เมื่อก่อนหมอไม่นับกุ้งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจ บอกว่ากุ้งมีโคเลสเตอรอลสูง จะทำให้ระดับไขมันไม่ดี (LDL) เพิ่ม แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่แล้ว

เพราะหลังจากมีการวิจัยนานหลายปี นักวิทยาศาสตร์บอกว่ากุ้งเป็นอาหารชั้นดี มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน กุ้ง 1 หน่วยบริโภค มีโคเลสเตอรอล 189 มิลลิกรัม คิดเป็นประมาณ 60% ของปริมาณโคเลสเตอรอลที่แนะนำต่อวัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีโคเลสเตอรอลรวมสูง แต่ทว่าเป็นไขมันอิ่มตัวเพียงเล็กน้อย และไม่มีไขมันทรานส์ด้วย ซึ่งทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ต่างหากที่เป็นตัวเพิ่มโคเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL)

แต่กุ้งช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) ซึ่งดีต่อสุขภาพหัวใจ เป็นอาหารไขมันต่ำ โปรตีนสูง และมีแร่ธาตุอื่นๆอีกมากมาย เช่น ซีลีเนียม ซึ่งเป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ช่วยลดอนุมูลอิสระ เป็นแหล่งวิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง มีฟอสฟอรัสที่จำเป็นสำหรับการกำจัดและซ่อมเซลล์ที่สึกหรอ

และเรื่องที่ควรทำความเข้าใจใหม่ คือ ตัวกุ้งไม่ได้ส่งผลเสียต่อระดับโคเลสเตอรอล แต่เป็นวิธีการนำกุ้งไปปรุงเป็นอาหารต่างหากที่ต้องระวัง

สมุนไพรไทย 6 ชนิดสุดยอด ไล่แมลงวันบ้านได้ดีทีเดียว
หน้าร้อนบ้านเรามักมีแมลงวันชุกชุม ปัดกันจนเมื่อยมือ แต่ตอนนี้มีผู้ช่วยแล้ว ชื่อว่า “สมุนไพรไทย” ซึ่งวิจัยมาแล้วว่าได้ผลดี และเตรียมต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงวันบ้าน

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพในการไล่แมลงวันบ้านของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร พบว่า ที่ความเข้มข้น 15% มีน้ำมันหอมระเหย 6 ชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการไล่แมลงวันบ้านได้มากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ โหระพา ตะไคร้หอม กานพลู ยูคาลิปตัส ตะไคร้ต้น และมะกรูด นอกจากนี้ ยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยโหระพาและตะไคร้หอมที่ความเข้มข้น 15% มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการไล่แมลงวันบ้าน

คุณหมอยังบอกว่า การใช้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรในการไล่แมลงวัน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาทดแทนการใช้สารเคมี เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรมีความเป็นพิษต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมการใช้สมุนไพรท้องถิ่น รวมทั้งลดต้นทุนการนำเข้าสารเคมี ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เดินเล่นหลังอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
งานวิจัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ชี้ว่า การเดินเล่นหลังอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการเดินนาน 30 นาที ไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหนของวัน

นักวิจัยได้ทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นาน 1 เดือน โดยแยกการเดินเป็น 2 แบบ แบบละ 2 สัปดาห์ คือ เดิน 30 นาทีต่อวันแบบเดิม กับเดิน 10 นาทีหลังอาหารมื้อหลักแต่ละมื้อ ผู้วิจัยจะวัดกิจกรรมและความสามารถทางกาย และวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยทุก 5 นาที

ผลปรากฏว่า ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารของผู้ป่วยที่เดินเล่นหลังอาหาร ต่ำกว่าผู้ป่วยที่เดินเล่นในทุกช่วงเวลาของวัน ร้อยละ 12 แต่ช่วงที่ค่าเฉลี่ยน้ำตาลต่ำที่สุด คือ หลังอาหารมื้อเย็น ต่ำกว่าถึงร้อยละ 22 อาจเป็นเพราะปกติมื้อเย็นจะมีคาร์โบไฮเดรตสูงสุด และหลังอาหารก็มักจะนั่งๆนอนๆ ไม่ทำกิจกรรมอะไร

ระดับน้ำตาลหลังอาหารสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความสำคัญ เพราะหากควบคุมได้ ก็จะลดความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขนาดการใช้อินซูลินรวม หรือต้องฉีดอินซูลินเพิ่มระหว่างมื้ออาหาร รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจด้วย

แค่ปรับอาหารก็รักษาโรคซึมเศร้าได้แล้ว
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในโลก มหาวิทยาลัยดีคิน ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยเป็นครั้งแรกในโลกว่า ได้ทำการทดลองและพบแนวทางใหม่ในการรักษาด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่ปรับปรุงอาหารการกินเสียใหม่เท่านั้น

จากการทดสอบอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยผู้ใหญ่นานกว่า 3 เดือน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้รับคำปรึกษาด้านสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการปรึกษาจากนักโภชนบำบัด

กลุ่มที่ปรับอาหารจะได้รับคำแนะนำให้กินผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย พืชตระกูลถั่ว ปลา เนื้อแดงไร้มัน น้ำมันมะกอก ผลไม้เปลือกแข็งเมล็ดเดียว เช่น เฮเซลนัต เพิ่มขึ้น และให้ลดการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมหวาน ธัญพืชผ่านการขัดสีแล้ว อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟูดส์ เนื้อสัตว์แปรรูป และเครื่องดื่มผสมน้ำตาล

ผลทดสอบพบว่าใน 3 เดือนนั้น กลุ่มปรับอาหารสามารถลดอาการซึมเศร้า ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคม โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการทดลอง ในกลุ่มปรับปรุงอาหาร พบผู้ที่มีอาการลดลงจนอยู่ในเกณฑ์โรคสงบถึง 1 ใน 3 ขณะที่กลุ่มรับการสนับสนุนทางสังคมมีผู้เข้าเกณฑ์เพียง 8%

ผลที่ได้ครั้งนี้จึงสนับสนุนงานวิจัยหลายชิ้น ทั้งที่ทดลองในมนุษย์และในสัตว์ ที่ชี้ว่าอาหารเป็นกุญแจไขไปสู่สุขภาพกายและใจที่ดี

เชื้อไม่ทิ้งแถวรึเปล่า... ถ้าพ่อหัวล้าน ลูกต้องหัวล้าน?
ใครที่มีคุณพ่อผมบาง คงต้องกังวลกับอนาคตผมของตนเองเป็นพิเศษ นักวิจัยจึงศึกษาหาความจริงอีกครั้งว่า เป็นเรื่องของพันธุกรรมที่ถ่ายทอดถึงลูกหลานจริงไหม แล้วก็ได้ข้อมูลมากพอที่จะใช้คาดการณ์ล่วงหน้ามาตอบคำถามความกังวลนี้

ผลการวิจัยของนายริกคาร์โด มาริโอนิ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศอังกฤษ ที่ศึกษาภาวะผมร่วงและผมบางในผู้ชาย จากดีเอ็นเอของผู้ชายจำนวน 52,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน ทำให้รู้ว่าสัญญาณพันธุกรรมที่บอกลักษณะหัวล้านมี 287 ตัว ถ้ามีสัญญาณนี้ไม่ถึงครึ่ง ทำนายได้ว่าโอกาสหัวล้านมีน้อย คือ พบว่าหัวล้านแค่ 14% และอีก 39% ไม่พบปัญหาผมร่วง แต่หากมีสัญญาณนี้มากในกลุ่มสูงสุด 10% พบว่ากว่าครึ่งมีผมร่วง

ที่น่าสนใจคือ ยีนหัวล้านจำนวนมากอยู่ในโครโมโซมเอ็กซ์ ซึ่งเป็นพันธุกรรมที่ลูกๆ ได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ ฉะนั้น ดูหน้าพ่อก็ยังบอกอนาคตผมของลูกไม่ได้แม่นยำเท่าตรวจดีเอ็นเอหรอกจะบอกให้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย ธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น