xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : เมื่อตาขาวกลายเป็น “ตาแดง” ส่งสัญญาณว่าตากำลังแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากดวงตาจะเป็นหน้าต่างของหัวใจ สะท้อนอารมณ์ของเจ้าของได้แล้ว ดวงตายังสะท้อนความผิดปกติในร่างกายของเราด้วย เพราะถ้าจู่ๆตื่นเช้ามา ตาขาวกลายเป็นสีแดง พักตาสองสามวันแล้วยังไม่หาย ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะนั่นบ่งบอกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งถ้าคัน ระคายเคือง แพ้หรือไวต่อแสงร่วมด้วยแสดงว่าตากำลังเจ็บป่วยแล้วล่ะ

ตาแดงเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. โรคเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือที่มักเรียกกันว่าโรคตาแดง เกิดจากดวงตาสัมผัสกับเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมส่วนนอกของดวงตาเกิดติดเชื้อ และอักเสบ

โรคนี้พบได้บ่อย ติดต่อง่ายจากการสัมผัส แม้จะไม่ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง แต่หากอักเสบบ่อยๆ เยื่อบุตาอาจกลายเป็นพังผืด จึงควรหมั่นล้างมือ รักษาความสะอาดให้ดี หากใช้ผ้าเช็ดหน้าก็ควรดูเรื่องความสะอาดด้วย ถ้าใช้ทิชชู่ได้ก็จะดูแลได้ง่ายกว่า ที่สำคัญ อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้ และถ้าเริ่มมีท่าทีจะเป็นตาแดงตามฤดูกาล ควรรีบไปพบจักษุแพทย์

2. โรคยูเวียอักเสบ (Uveitis) สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ เนื้อร้ายหรือมะเร็ง การได้รับสารพิษ และโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ยูเวียเป็นผนังชั้นกลางของนัยน์ตา อยู่ระหว่างเรตินาและตาขาว เป็นส่วนที่มีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงดวงตาจำนวนมาก การติดเชื้ออาจมาตามกระแสเลือดเหล่านี้ ทำให้อักเสบ เป็นรอยแดงรอบดวงตา ปวดตา ตามัว หากรักษาไม่ทันเวลา อาจทำให้ตาบอดถาวรได้

3. กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer) เกิดจากการติดเชื้อ หรือใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี นอกจากอาการตาแดงแล้ว การติดเชื้ออาจทำให้มีฝีหนอง ปวดตา มีขี้ตา ตาบวม การมองเห็นลดลง ต้องรีบพบแพทย์รักษาโดยเร็ว

4. ภาวะตาแห้ง (Dry eyes syndrome) หลายคนคงเคยรู้สึกตาแห้ง ไม่สบายตา รู้สึกเหมือนลูกตาไม่มีน้ำหล่อลื่น เหมือนมีเศษผงหรือเม็ดทรายอยู่ในตา ตาแดง คัน นั่นเป็นเพราะการระเหยของน้ำตาผิดปกติ หรือนัยน์ตาผลิตน้ำตาลดลง เนื่องจากเซลล์ต่อมน้ำตาเสื่อมตามธรรมชาติ หรือเกิดจากเหตุอื่น เช่น มีภาวะพร่องวิตามินเอ เป็นโรคเบาหวาน การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ การกินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียด ยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีน ยาแก้หวัด

การรักษาภาวะตาแห้งต้องแก้ที่สาเหตุ อาจดูแลจัดการเสริมได้ด้วยการประคบน้ำอุ่นเป็นประจำ การหยอดน้ำตาเทียม (artificial tears) อย่างถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่น้ำตาเทียมช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขสาเหตุของอาการตาแห้งได้ อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบ ในบางคนอาจช่วยให้ภาวะตาแห้งดีขึ้น

หากปล่อยให้ตาแห้งในระยะยาวจนเรื้อรัง จะทำให้ระคายเคืองจนอักเสบ เป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบ และกระจกตาเป็นแผลได้

5. จ้องหน้าจอนานเกินไป ถ้าจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเล่นสมาร์ทโฟนนานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ตาจะเริ่มแดง ให้หมั่นกะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากจอบ้าง โดยหันไปมองภาพที่อยู่ไกลๆ ให้ลูกตาได้คลายความตึงเครียด

6. การสัมผัสดวงตาบ่อยๆ บางคนติดนิสัยเอาโน่นนี่ไปสัมผัสตาบ่อยๆ แตะบ้าง ขยี้บ้าง ใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานบ้าง ทำให้ระคายเคืองตา ติดเชื้อ จนเกิดตาแดงอักเสบ จักษุแพทย์แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาให้มากที่สุด ทำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

7. ใส่คอนแทคเลนส์ การใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการไม่ดูแลให้ดีพอในระหว่างที่ใส่ เป็นสาเหตุทำให้ตาแดง และเป็นตัวจุดชนวนให้ระคายเคืองตา หรือตาติดเชื้อราได้

คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย เพราะสารนี้อาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา

8. โรคเริมที่ตา (Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1)ที่ตา ทำให้ตาแดง บวม ปวด น้ำตาไหล มีขี้ตา ตาสู้แสงไม่ได้ ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้เกิดแผลเป็นที่กระจกตา และเมื่อเป็นแล้ว แม้จะรักษาแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นได้อีก

9. ภูมิแพ้ (Allergies) สารก่อภูมิทั้งหลาย เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารเคมี หรือแม้แต่น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ทำให้บางคนเกิดอาการภูมิแพ้ ตาแดง

10. มลพิษในสภาพแวดล้อมและการทำงาน อากาศที่แห้งมาก เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ควัน และอยู่กลางแดดแรงนานเกินไป ยิ่งมีพวกเศษวัสดุที่ปลิวมากับลม เช่น ทราย เศษไม้ เศษโลหะ เศษแก้ว ยิ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติมากมาย รวมทั้งทำให้ระคายเคืองตา นำไปสู่โรคตาแดงได้

ถ้าต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา เช่น แว่นตานิรภัย ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ทำงาน เล่นกีฬา หรือแม้แต่งานเล็กๆน้อยๆ ที่บ้าน เช่น ตัดหญ้าในสนาม

11. โรคต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ทำให้ความดันตาสูง ส่วนใหญ่ในช่วงแรกที่เป็นมักไม่รู้ตัว เพราะโรคนี้ไม่มีอาการแสดง การดำเนินโรคจะเกิดช้าๆ จนขั้วประสาทตาถูกทำลายไปมากแล้วจึงเริ่มปวดตา เยื่อตาแดงรอบกระจกตา เมื่อมองดวงไฟจะเห็นเป็นสีรุ้งกระจายรอบดวงไฟ สูญเสียการมองเห็น คลื่นไส้ เข้าสู่ภาวะต้อหินชนิดมุมปิดแบบเฉียบพลัน (acute angle-closure glaucoma)

เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว อาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรตามมาภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงต้องพบแพทย์ด่วนเพื่อลดความดันภายในลูกตา ที่สำคัญโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คนที่มีความเสี่ยงจึงควรพบจักษุแพทย์สม่ำเสมอ

12. การว่ายน้ำ สารคลอรีนและสารฆ่าเชื้อต่างๆ ในสระว่ายน้ำ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่มักพบได้ตามธรรมชาติในน้ำทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเล ทะเลสาบ และแม่น้ำ สิ่งเหล่านี้ทำลายดวงตาของนักว่ายน้ำอย่างมาก ควรใส่แว่นตาว่ายน้ำก่อนลงสระ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และโรคเยื่อบุตาอักเสบในภายหลัง

สำหรับคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ ให้ถอดออกก่อนว่ายน้ำ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

13. อดนอน เป็นสาเหตุพื้นๆที่สุด ถ้าคุณนอนเพียงคืนละสามสี่ชั่วโมง ก็จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการตาแดง การขยี้ตาให้หายง่วงจะทำให้อาการตาแดงแย่ลงไปอีก แต่ไม่ใช่ต้นเหตุของโรคตาแดงถ้าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ฉะนั้น แค่นอนให้เพียงพออย่างน้อยคืนละ 7-8 ชั่วโมง ก็แก้ปัญหาได้แล้ว

14. หวัดและไข้หวัดใหญ่ ถ้าเป็นหวัดและไข้หวัดใหญ่ ตาคุณจะแดงไปจนกว่าอาการไอจาม ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่โพรงไซนัสหรือโพรงไซนัสถูกอุดกั้นนั้น จะบรรเทาลง

15. ยาหยอดตา สาวๆหลายคนอาจเคยใช้ยาหยอดตาพวก Whitening หรือ Brightening แก้อาการตาแดงให้ดวงตาขาวสดใส แต่รู้หรือไม่ว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา กลับเป็นการซ้ำเติมมากกว่า

ยาพวกนี้มีส่วนผสมของสาร vasoconstrictors ที่ทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดจะเข้ามาหล่อเลี้ยงดวงตาลดลง จนดูเหมือนตาหายแดงได้ แต่เมื่อหยุดใช้ อาการก็กลับมาใหม่ ยิ่งใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะยิ่งแดงมากขึ้น จึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือใช้เป็นประจำ

16. การสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่ เพราะมีสารพิษที่ทำให้ระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาคัน ตาแดง การสูบกัญชาก็ทำให้ตาแดงเช่นกัน เพราะในกัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งเป็นตัวทำให้เส้นเลือดในตาขยายตัว ส่งผลให้ตาแดงนานหลายชั่วโมงหรืออาจนานกว่านั้น

อาการแดงของดวงตาไม่ใช่เรื่องปกติ สาเหตุก็มีมากมาย ถ้าเราดูแลทะนุถนอมให้ดี จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของความผิดปกติได้ อย่าลืมว่า ดวงตาก็ต้องการการเอาใจใส่เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆเช่นกัน

ข้อปฏิบัติในการใช้ยาหยอดตา

• เมื่อเป็นตาแดง อย่าหายาหยอดตาเองโดยไม่ปรึกษาจักษุแพทย์
• ดูให้แน่ใจก่อนว่ายายังไม่หมดอายุ และถ้าเปิดใช้ยาแล้ว โดยทั่วไปจะมีอายุนับจากวันที่เปิดอีกไม่เกิน 30 วัน หากพ้นจากนั้นแล้ว ให้ทิ้งไป ห้ามใช้อีก
• ระวังอย่าให้ส่วนปลายของหลอดยาหยอดตาสัมผัสกับดวงตา
• อย่าหยอดยาลงที่ตาดำหรือกระจกตา
• อย่าหยอดตาขณะใส่คอนแทคเลนส์
• หากต้องหยอดยาต่างชนิดกันสองชนิด เมื่อหยอดยาตัวแรกไปแล้ว ให้เว้นระยะห่างไปสักครู่จึงหยอดยาตัวที่สองตามไป อย่าหยอดตามไปติดๆ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย วิรีย์พร)
กำลังโหลดความคิดเห็น