xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภัยเงียบใกล้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยวิธีอะไรบ้าง มารู้จักกับโรคนี้กันครับ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น หัวใจเต้นเร็ว กับ หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ

สาเหตุ
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะมีได้หลายอย่าง อาทิ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม มักจะสัมพันธ์กับโรคหัวใจที่เป็นอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็สามารถทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม หัวใจเต้นผิดจังหวะก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ครับ

ในบางกรณีไม่เลือกวัยของผู้ป่วย อายุน้อยๆ ก็เป็นได้เช่นเดียวกัน อาจจะเกิดจากมีวงจรไฟฟ้าผิดปกติที่หัวใจ โดยไม่เคยรู้เลยมาก่อน ทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นมาอย่างทันที ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมากถึงแม้ว่าจะไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม แต่อาจจะมีความเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้ามาก และอาจจะมีอันตรายได้

อาการ
อาการของผู้ป่วยอาจจะขึ้นกับชนิดของจังหวะหัวใจที่ผิดปกติ ถ้าจังหวะของหัวใจผิดปกติ เป็นชนิดเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการใจสั่น ผู้ป่วยมักจะรู้ว่ามีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยก็จะรู้สึกว่าหัวใจเต้นปกตินะ บางครั้งผู้ป่วยก็จะบอกว่าเต้นรัว หรือไม่สม่ำเสมอ แล้วก็มาพบแพทย์

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหัวใจเต้นช้า ก็จะมาหาแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ในบางรายอาจจะถึงกับหมดมีสติและก็ฟื้นขึ้นมา และญาตินำส่งแพทย์

เพราะฉะนั้น จะขึ้นกับชนิดของจังหวะของหัวใจที่ผิดปกติว่าเป็นอย่างไร อาการบางอย่างอาจจะแยกยากจากความผิดปกติหรือโรคหัวใจอย่างอื่น บางครั้งผู้ป่วยอาจะมาด้วยอาการเหนื่อยผิดปกติ ก็สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากจังหวะหัวใจผิดปกติบางชนิดอาจจะรบกวน ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ทำให้มีอาการเหนื่อยได้

กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัดหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ พวกนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจเต้นผิดปกติ มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีโรคหัวใจอยู่เดิมก็จะมีอาการหัวใจ ฉะนั้น ถ้ามีอาการผิดปกติสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็นอาการเกี่ยวกับใจสั่น หัวใจเต้นรัว หรือว่าอาการคล้ายๆหน้ามืดเป็นลม ก็ปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยโรค และรักษาต่อไป

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีทั้งชนิดที่เป็นอันตรายมาก และชนิดที่มีอันตรายน้อย ชนิดที่มีอันตรายมากมักจะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม โดยที่จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติอาจจะเต้นรัวมาก บางชนิดอาจจะเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ชนิดที่เป็นอันตรายน้อยก็มี บางรายโดยเฉพาะอายุน้อยๆ ถึงแม้จะมีหัวใจเต้นผิดปกติ แต่ความเสี่ยงของผู้ป่วยอาจจะน้อย ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ควรจะปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาบางอย่างสามารถทำให้จังหวะหัวใจที่ผิดปกติกลับหายเป็นปกติได้

การรักษา
แนวทางการรักษามีได้หลายชนิด ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาวิธีพิเศษ นอกเหนือจากการรับประทานยา แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเองว่า หัวใจเต้นผิดปกติชนิดไหน ควรจะต้องการรักษาอย่างไร บางรายแพทย์แนะนำให้รับประทานยาอย่างเดียว บางรายอาจแนะนำให้รักษาวิธีอื่นนอกเหนือจากการรับประทานยา ตัวอย่างเช่น การใส่สายตรวจสวนหัวใจเข้าไปตรวจเช็ควงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติที่หัวใจ และก็ทำการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้บริเวณวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ สามารถทำให้วงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติหายขาดได้ ซึ่งจะใช้วิธีการรักษาชนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีจังหวะหัวใจที่เต้นรัว เร็ว ผิดปกติในบางราย

ในบางรายแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้วิธีการรักษา โดยฝังเครื่องที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือ Pacemaker ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหัวใจเต้นช้าและนำไปสู่อาการเป็นลมหมดสติ ในบางรายที่มีจังหวะหัวใจผิดปกติที่อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิต แพทย์อาจจะแนะนำให้ฝังเครื่องที่เรียกว่าเครื่องกระตุกหัวใจ หรือ Internal Defibrillator เพื่อที่จะรักษาผู้ป่วย ในกรณีที่มีจังหวะผิดปกติที่จะทำให้เสียชีวิต เครื่องก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อกให้หัวใจกลับมาเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้น การรักษาจะขึ้นกับผู้ป่วยชนิดที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ว่าควรจะรักษาอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ผู้ป่วยทั่วไปถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่ ควรจะรักษาตามที่แพทย์แนะนำ รับประทานยาสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหัวใจ ควรจะทำตามแพทย์แนะนำ มาตรวจตามนัด และรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจที่เป็นอยู่ได้

ถ้าเราไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ก็ควรจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลไม่ดีต่างๆ และตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะๆ ควรจะรู้อาการว่าอาการเบื้องต้นของโรคต่างๆ เป็นอย่างไร ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ ควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยตรวจเช็คเพิ่มเติมต่อไป

(ข้อมูลจาก www.si.mahidol.ac.th)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
กำลังโหลดความคิดเห็น