xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อินเดียไฮเทค..เตรียมใช้ 3D จำลองพุทธสถานโบราณ
อินเดีย : เว็บไซต์ aninews รายงานว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอินเดีย เตรียมจำลองโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา โดยใช้เทคโนโลยี 3D, CPS (เทคโนโลยีผสมผสานโลกดิจิตอลเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง) และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อส่งเสริมมรดกทางสถาปัตยกรรมของชาติ

“เราไม่ต้องนั่งรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว แค่นั่งอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ก็สามารถเยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆได้ โดยรับข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆได้ดีกว่าฟังจากไกด์ทัวร์ เนื่องจากเป็นข้อมูลจากวิกิพีเดีย” ศ.อาชุโทช ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอินเดีย กล่าวในการเปิดการประชุมเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์” ซึ่งจัดโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย

ศ.ชาร์มากล่าวถึงโครงการจำลองมรดกทางสถาปัตยกรรม ที่ดำเนินงานโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (IIT) ในนครนิวเดลี ว่า “พวกเขาสร้างเมืองฮัมปิ เมืองหลวงสุดท้ายของอาณาจักรฮินดูในอดีตขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยี 3D และจารึกข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถาน รูปประติมากรรม และประวัติที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงบนรูปจำลองด้วย และเราเตรียมที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างโบราณสถานต่างๆทั่วประเทศ เริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองพาราณสี ซึ่งถ้าคุณล่องเรือในแม่น้ำคงคา จะเห็นด้านหน้าของอาคารต่างๆ ประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาตามที่ต่างๆด้วย”

ยูเนสโกขึ้นบัญชีวัดอุนจูซาในเกาหลีใต้ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมชั่วคราว
เกาหลีใต้ : เว็บไซต์ yonhapnews.com รายงานว่า กองมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติเกาหลีใต้ เผยว่า การที่รัฐบาลได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกเมื่อเดือนมกราคม 2017 ให้ขึ้นบัญชีวัดอุนจูซาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมชั่วคราวนั้น บัดนี้ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะขึ้นบัญชีเป็นทางการว่า “พระพุทธรูปและเจดีย์หินแห่งวัดอุนจูซา เขตฮวาซัน”

วัดอุนจูซา (Unjusa Temple) ตั้งอยู่ในเขตฮวาซัน จังหวัดช็อลลาใต้ ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ราว 330 กม. สร้างในยุคต้นราชวงค์โครยอ (ค.ศ. 918-1392) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทำด้วยหิน 115 องค์ และเจดีย์หิน 141 องค์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 วัดนี้ถูกเผาทำลายระหว่างการบุกรุกของประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน จึงเหลือพระพุทธรูปหินเพียง 91 องค์ และเจดีย์หิน 21 องค์ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ขึ้นทะเบียนวัดอุนจูซา และเจดีย์หิน 9 ชั้นภายในวัดเป็นสมบัติชาติ

อนึ่ง การขอขึ้นบัญชีสถานที่เป็นมรดกโลกชั่วคราวนั้น ถือเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการเสนอชื่อเข้าเป็นมรดกโลก เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวต้องอยู่ในรายชื่อมรดกโลกชั่วคราวก่อนอย่างน้อย 1 ปี การประกาศครั้งนี้ ทำให้เกาหลีใต้มีโบราณสถานอยู่ในรายชื่อมรดกโลกชั่วคราวถึง 16 แห่ง
(เครดิตภาพ : en.wikipedia.org)

“องค์ทะไล ลามะ” เผยเคล็ดลับให้คนมองโกเลียเลิกเหล้า
สหรัฐอเมริกา : เว็บไซต์ munchies.vice.com รายงานว่า รายการ Last Week Tonight with John Oliver ซึ่งเป็นรายการทอล์กโชว์และข่าว ออกอากาศในสหรัฐอเมริกาทางช่อง HBO ทุกวันอาทิตย์ช่วงดึก

โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2017 องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณและผู้นำสูงสุดของชาวทิเบต ทรงเป็นแขกรับเชิญในรายการดังกล่าว และมีจอห์น โอลิเวอร์ นักแสดงตลก เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ในช่วงกลางของการสนทนา องค์ทะไล ลามะ ทรงเปิดเผยถึงเรื่องที่ทรงทำสำเร็จเมื่อครั้งยังหนุ่มว่า ทรงทำให้คนมองโกเลียเลิกดื่มเหล้า ด้วยการให้ดื่มน้ำนมม้าแทน

“ในอดีต อาตมาเคยเดินทางไปเยือนประเทศมองโกเลีย คนที่นั่นดื่มวอดก้ากันหนักมาก อาตมาจึงแนะให้ดื่มน้อยลง และหันมาดื่มน้ำนมม้า ซึ่งเป็นเครื่องดื่มพื้นเมืองของมองโกเลียแทน พวกเขาก็ทำตามที่อาตมาบอก ตั้งแต่นั้นมา อาตมาคิดว่า ชาวมองโกเลียส่วนใหญ่เลิกดื่มเหล้าไปเลย” องค์ทะไล ลามะ ตรัส

โอลิเวอร์จึงถามย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งองค์ทะไล ลามะ ตรัสตอบด้วยความมั่นพระทัยว่า “ใช่.. มันไม่เห็นจะมีอะไรต่างกัน ระหว่างนมวัวหรือนมม้า”

อนึ่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลียเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า ม้าถือเป็นศูนย์กลางในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมองโกเลีย แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชัดว่า การดื่มนมม้าช่วยเลิกเหล้าได้ แต่นมม้าเป็นอาหารพื้นเมืองในมองโกเลีย น้ำนมจากม้าตัวเมียมักถูกนำไปบ่มเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลต่ำ ซึ่งหากไม่ผ่านการบ่ม ก็ไม่ควรดื่ม เพราะมันจะเป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์แรง

ชาวพุทธจีนกินมังสวิรัติ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกปีละ 40 ล้านตัน
จีน : เว็บไซต์ lionsroar.com รายงานว่า การกินอาหารมังสวิรัติเป็นไลฟสไตล์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในหมู่พุทธศาสนิกชน และอาจเป็นหนทางหนึ่งในการรักษาโลกใบนี้ด้วย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยพุทธศาสนิกชนชาวจีน ด้วยการกินอาหารมังสวิรัติ : การวัดเชิงปริมาณ” โดย แอมเพียร์ เอ เซ็ง จากมหาวิทยาลัยรัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพุทธศาสนาร่วมสมัย ระบุว่า ชาวพุทธในประเทศจีนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40 ล้านตันในแต่ละปี ด้วยการกินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเทียบเท่ากับ 9.2% ของจำนวนก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ที่ถูกปล่อยออกมาในประเทศฝรั่งเศส และผลดีที่เกิดต่อสภาพแวดล้อมนี้ อาจส่งเสริมให้ชาวพุทธหันมากินมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้น

การกินมังสวิรัติมิใช่หลักคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ กระนั้นก็ตามครูบาอาจารย์ในพุทธศาสนาจำนวนมาก ก็ยังสนับสนุนให้บรรดาลูกศิษย์กินอาหารมังสวิรัติ และวัดในบางนิกายห้ามการกินเนื้อสัตว์ โดยมีการส่งเสริมการกินมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้นในพุทธศาสนาวัชรยานของทิเบต

ขณะที่นารายัน เฮเลน ลีเบนสัน นักเขียนและผู้สอนการทำสมาธิ เคยกล่าวในบทความหัวข้อ “การเลิกหรืออย่างน้อยที่สุด ลดการกินเนื้อสัตว์ เป็นการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ” ว่า ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพุทธศาสนิกชนแต่ละคนนั่นเอง

ชาวบ้านเรียกร้องรัฐบาลปากีสถาน อนุรักษ์วิหารพุทธอายุ 1,800 ปี
ปากีสถาน : เว็บไซต์ The Express Tribune รายงานว่า วิหารพุทธโบราณรูปทรงโดม 2 หลัง อายุ 1,800 ปี ยังคงตั้งตระหง่านใกล้เมืองมินโกรา เขตสวัต แคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา ประเทศปากีสถาน ภายหลังรอดพ้นจากภัยสงครามอันโหดร้าย การทำลายล้าง และขาดการเหลียวแลจากรัฐบาล

วิหารดังกล่าวถูกค้นพบโดยเซอร์ ออเรล สไตน์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เป็นวิหารยุคแรกที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 2 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการบูชาของชาวพุทธ ในยุคที่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองในเขตสวัต

ตัววิหารประกอบด้วยโดม 2 หลังวางซ้อนกัน จึงถูกเรียกว่า วิหารโดม 2 หลัง ซึ่งนักโบราณคดีระบุว่า มันเป็นหนึ่งใน “อาคารโบราณที่ดีที่สุดและมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุด” ของเอเชีย ถึงแม้ว่าตัววิหารยังคงสภาพเดิม ไม่ถูกทำลายในช่วงที่มีการสู้รบในเขตสวัต แต่อาคารหลายหลังรูปทรงเดียวกันที่อยู่รายรอบ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

อาร์ชาด อาลี ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า มีบ้านของชาวพุทธหลายหลัง และสถูปหลายองค์ ตั้งรายรอบวิหารดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็พังทลายลง เหลือเพียงวิหารโดม 2 หลัง ที่มีโครงสร้างทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่นี้

ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเสื่อมลงในเขตสวัต วิหารดังกล่าวยังคงความสำคัญ เนื่องจากชาวฮินดูได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ทัชดาร์ อลัม ชาวบ้านอีกรายเผยว่า ก่อนหน้าการสู้รบใน ค.ศ.2007 มีพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เดินทางมาแสวงบุญในบริเวณนี้ แม้การสู้รบจะยุติลงแล้ว แต่มีเพียงนักท่องเที่ยวท้องถิ่นเท่านั้นที่เดินทางมาเยือน

“ควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวนานาชาติ ให้เดินทางมาเยือนสวัต” เขากล่าว

ปัจจุบัน วิหารโดม 2 หลัง เป็นพื้นที่อนุรักษ์และอยู่ในการดูแลของกองโบราณคดีแห่งชาติปากีสถาน ซึ่งได้รับการบูรณะจากภารกิจโบราณคดีของอิตาลีในปากีสถาน ที่เข้ามาอนุรักษ์และทำวิจัยทางโบราณคดีในเขตสวัต ตั้งแต่ค.ศ. 1956

ทึ่ง! ฝรั่งทำ “มันดาลา” รังสีไมโครเวฟของจักรวาล
สหรัฐอเมริกา : เว็บไซต์ mentalfloss.com รายงานว่า การจะมองเห็นรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล หรือรัศมีของรังสีที่เหลือจากการระเบิดครั้งใหญ่ (ทฤษฎี Big Bang) อันเป็นจุดกำเนิดของจักรวาลนั้น ต้องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ทันสมัยเท่านั้น แต่มีศิลปินรายหนึ่งหาทางสร้างมันขึ้นมาให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยไม่ใช้อะไรเลยนอกจากเม็ดทรายย้อมสี

รายงานจากนิตยสาร WIRED เผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ราเชล ซูสแมน ช่างภาพศิลปะชั้นสูงชาวอเมริกัน ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการสร้างมันดาลารังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล ด้วยกรวยโลหะตามแบบฉบับทิเบต ที่ New Museum เมืองลอส กาโต รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลที่ว่า ตามประเพณีฮินดูและพุทธ มันดาลาเป็นตัวแทนของจักรวาล เช่นเดียวกับที่รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล มีความเก่าแก่พอๆกับจักรวาลนั่นเอง

และหลังจากทำเสร็จแล้ว เธอได้ทำลายมันดาลาทิ้งตามประเพณีของทิเบต

ศูนย์รวมคัมภีร์พุทธศาสนารูปแบบดิจิตอล ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรวบรวมคัมภีร์
ฮ่องกง : เว็บไซต์ Buddhistdoor Global รายงานว่า ศูนย์รวมคัมภีร์พุทธศาสนาทิเบต ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์รวมคัมภีร์พุทธศาสนารูปแบบดิจิตอล” หรือ Buddhist Digital Resource Center (BDRC) อย่างเป็นทางการแล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ทำบัญชีรายชื่อ แปลงเป็นรูปแบบดิจิตอล และเผยแพร่คัมภีร์พุทธศาสนาทิเบต ซึ่งทางศูนย์จะเริ่มต้นอนุรักษ์และเผยแพร่คัมภีร์และประเพณีทางพุทธศาสนาเป็นภาษาอื่นๆ ได้แก่ จีน บาลี และสันสกฤต ภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรวบรวมคัมภีร์ที่กระจัดกระจาย ให้มาอยู่ในที่เดียวกันในรูปแบบดิจิตอล เพื่อใช้เป็นแกนหลักของคัมภีร์ในพุทธศาสนา

BDRC ได้สร้างห้องสมุดออนไลน์และแหล่งข้อมูลพุทธศาสนาที่คนจำนวนมากทั่วโลกเข้าถึงได้ ซึ่งปัจจุบันติดอันดับแหล่งรวมข้อมูลวรรณกรรมทางพุทธศาสนาของทิเบต ที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลก และจะขยายให้ครอบคลุมแหล่งคัมภีร์จากเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“โดยพื้นฐานแล้ว เราได้ทำงานด้านอนุรักษ์คัมภีร์พุทธศาสนาทิเบตมานาน 17 ปี ในค.ศ. 2015 คณะกรรมการของเรามองเห็นความเป็นไปได้และศักยภาพในการดำเนินการ จึงตัดสินใจที่จะอนุรักษ์คัมภีร์ภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากทิเบต แม้ว่าเรามีความสามารถที่จะขยายขอบเขตการทำงาน แต่เราต้องขยายด้านกำลังคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น เราได้เริ่มต้นโครงการในกรุงเทพฯ เพื่อสแกนคัมภีร์ต้นฉบับที่เป็นภาษาพม่า ภาษาไทย ภาษาบาลีของพม่า และภาษาบาลีของไทย

เราได้แปลงต้นฉบับต่างๆ เป็นรูปแบบดิจิตอล จากนั้นทำบัญชีรายชื่อและระบุว่าเป็นคัมภีร์อะไร มาจากไหน ฯลฯ โดยจัดทำอย่างระมัดระวัง และนับแต่ก่อตั้งมา เราได้จัดทำคัมภีร์ทิเบตแล้วเสร็จไปราว 13 ล้านหน้า ซึ่งถือเป็นงานอนุรักษ์ความทรงจำและมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากงานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้าไปยังภาษาใหม่ๆในสหรัฐอเมริกาและตะวันตก หรือแม้แต่ทั่วเอเชีย ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งคัมภีร์ต้นฉบับ เพื่อการแปลที่สมบูรณ์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ” เจฟฟรีย์ วอลแมน ผู้อำนวยการบริหารของ BDRC กล่าว

อนึ่ง BDRC เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นในค.ศ. 1999 โดย อี จีน สมิท (1936-2010) นักศึกษาด้านพุทธศาสนา วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ของทิเบต มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ อาทิ มูลนิธิครอบครัวโรเบิร์ต เอช เอ็น โฮ, มูลนิธิกรูเบอร์ และมูลนิธิเค็นเซ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย เภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น